ความล้มเหลวการประชุม สนธิสัญญาพลาสติกโลก

การประชุมเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก ครั้งที่ 5 เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โดยจะจัดการประชุมเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อยากให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับนี้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ภายในปี 2567 นี้ เพื่อเป็นการร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการมลพิษจากพลาสติก ที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาคมโลก ท่ามกลางวิกฤตมลพิษจากพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกแห่งนี้

โดยบรรดาองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ต่างก็ช่วยกันผลักดันสนธิสัญญาฉบับนี้ เพื่อที่จะได้เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาปริมาณการผลิตและสารเคมีพิษที่ใช้ในผลิตภัณฑ์พลาสติก และคาดหวังกันว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมนัดสุดท้าย และทำให้เกิดสนธิสัญญาฉบับแรกของโลกว่าด้วยการลดการใช้พลาสติก ที่รัฐบาลปานามาเป็นผู้เสนอขึ้นมา

โดยแอนโธนี อาโกธา ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ได้กล่าวไว้ก่อนปิดการประชุมว่า มีกว่า 100 ประเทศที่มุ่งมั่นในการจัดการกับปัญหามลพิษที่มาจากขยะพลาสติก แต่ก็ยังมีบางประเทศที่คัดค้าน

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ก็จบลงด้วยความล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อลงนามในสนธิสัญญากันได้ เพราะยังมีเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ที่ตกลงกันไม่ได้

 

กลุ่มประเทศผู้ผลิตปิโตรเคมีอย่างซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผู้ผลิตสารตั้งต้นพลาสติกที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่างก็คัดค้านการบรรลุสนธิสัญญานี้ โดยกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันสนับสนุนเพียงมาตรการการจัดการกับขยะพลาสติกเท่านั้น

โดยประเด็นที่เห็นขัดแย้งกันมากที่สุดคือเรื่องของการจำกัดปริมาณการผลิตพลาสติก การจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกและสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และความเห็นต่างกันในเรื่องการจ่ายเงินสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการลดการใช้พลาสติกด้วย

ที่สุดแล้ว จึงเป็นที่มาของการ “ล่ม” ในความพยายามบรรลุสนธิสัญญาฉบับนี้

 

สํานักข่าวเอพีได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเลขต่างๆ ของพลาสติก จากองค์กรต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ

โดยยูเอ็นระบุว่า มีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พลาสติกมีอยู่แทบทุกที่ และทุกๆ วัน จะมีขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในมหาสมุทร แม่น้ำ และทะเลสาบทั่วโลก เทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะ 2,000 คัน

ขณะที่นานาชาติตกลงที่จะจัดทำข้อตกลงระดับโลกฉบับแรก เกี่ยวกับมลพิษจากพลาสติก ภายในสิ้นปีนี้ ที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงในมหาสมุทรด้วย

ตามข้อมูลขององค์กรระหว่างรัฐบาลเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบุว่า การผลิตและการใช้พลาสติกทั่วโลก คาดว่าจะสูงถึง 736 ล้านตัน ภายในปี 2583

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก ระบุว่า ประเทศจีนยังถือเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2566 ตามด้วยประเทศเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อ 3 ประเทศรวมกัน จะเท่ากับ 33 เปอร์เซ็นต์ของการค้าพลาสติกทั้งโลกเลยทีเดียว

โดยมีพลาสติกที่ถูกนำมารีไซเคิลไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และพลาสติกส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นขยะอยู่ทั่วไป สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่ก็ถูกเผาไหม้

ยูเอ็นระบุอีกว่า ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกทั้งหมดถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งรวมทั้งพลาสติกที่ไว้ใส่อาหารและเครื่องดื่ม ที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างเช่น พวกขวดน้ำ หลอด ถุงพลาสติก ที่มักจะจบลงที่กลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม แม้ความพยายามในการบรรลุข้อตกลงเพื่อลดมลภาวะจากพลาสติก ต้องจบลงด้วยความล้มเหลว แต่บรรดาผู้สนับสนุนก็ยังเดินหน้าพยายามกันต่อไป และเตรียมหารือกันใหม่อีกครั้ง

ที่ก็ไม่รู้ว่า จะบรรลุข้อตกลงกันได้หรือไม่