หน่วยไร้ประสิทธิภาพ กับ 3 ปัญหาเรื้อรัง

(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

ถ้าจะดู “ความล้าหลัง” ของการเมืองไทย ให้ดูจาก “พฤติกรรม” ของผู้นำรัฐประหารที่ทั้งหมดมาจากทหารบก

ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 26 หรือกว่า 60 ปีมานี้ ผู้นำทหารบกก่อรัฐประหารเสร็จ ก็เขียนกติกาใหม่ ตั้งพรรคการเมือง ใช้กลยุทธ์บีบ-ดูดนักการเมืองเข้าพรรคแล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง สืบทอดอำนาจ บริหารประเทศ ทำความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ สังคมเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ พอไปไม่รอดก็ตั้งอยู่ในความสงบ

เมื่อเลือกตั้งใหม่ทุกครั้งพรรคของทหารบกจะพ่ายแพ้ยับเยิน จำเป็นต้องปล่อยให้นักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเล่นกันไปสักพัก

รอจนได้โอกาสสุกงอม ก็ทำรัฐประหารอีก ไม่เคยถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา ที่ระวางโทษให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

การเมืองไทยล้าหลัง ฉุดรั้งพัฒนาการทุกด้านของประเทศ!

แต่ถ้าจะดู “ความล้าหลัง” ของระบบราชการไทย ให้ดูจาก “วิธีคิด-วิธีทำ” เพื่อจัดการกับปัญหาเรื้อรัง 3 ด้านของประเทศ

 

1.ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศล่มจมได้

ตั้งแต่ยุค “ถนอม-ประภาส” เมื่อปี 2515 เคยจัดให้มี “ก.ต.ป.” หรือสำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ ให้ทำหน้าที่ตรวจและติดตามการปฎิบัติงานของราชการ รวมทั้งให้สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่ปรากฏว่า ในยุคสมัยนั้นผู้มีอำนาจทางการเมืองมีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งเป็นชนวนนำไปสู่การเดินขบวนขับไล่ “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี สั่งยุบ “ก.ต.ป.” พร้อมกับมีคำสั่งจัดตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ” ซึ่งต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงจนเป็น “ป.ป.ป.” พัฒนาเป็น “ป.ป.ช.” ในปัจจุบัน มีภารกิจชัดเจนคือ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มีเครือข่ายองค์กร และมีบุคลากรครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย

โปรดอย่าได้ถาม ถึงสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย!

วันนี้ พัฒนาไปถึงขั้นที่ไม่ได้รู้สึกว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่น่าละอาย!

ทัศนคติต่อการทุจริตเลวลง ถึงแม้จะเป็นคนทุจริตก็ยังมีคนนับหน้าถือตา

องค์กรจัดอันดับความโปร่งใสระหว่างประเทศ จัดให้ “ไทย” เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ จากที่เคยอยู่ในอันดับ 88 จาก 174 ประเทศ

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อันดับร่วงไปถึง 108

คะแนนความโปร่งใสของประเทศไม่กระเตื้องขึ้นเลย ทั้งๆ ที่จัดให้มีหน่วยงานทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอยู่มากมาย

 

2.ปัญหายาเสพติด

กรมตำรวจตั้งหน่วยปราบปรามยาเสพติด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 ชื่อ “กองกำกับการ 7” สังกัดกองปราบปราม กองบัญชาการสอบสวนกลาง ซึ่งต่อมาก็ได้ยกชั้นเป็น “ศปส.ตร.” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการ ประสานงานสืบสวนปราบปรามยาเสพติดกับหน่วยงานอื่น ทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ถึงกับยกเป็น “กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด”

ส่วนระดับชาตินั้นในปี พ.ศ.2504 ก็เคยบอกว่า “ต้องแก้ไขปัญหาโดยด่วน” จึงจัดตั้งคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ หรือ “ก.ป.ส.” ขึ้นมา จากนั้นก็ปรับปรุงองค์กร จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น “สำนักงาน ป.ป.ส.” ขณะที่หน่วยงานอื่นก็ตั้งคณะกรรมการหรือศูนย์ปราบขึ้นมามากมาย เช่น ตำรวจนครบาลก็มี ตำรวจภาคก็มี กรุงเทพมหานครก็มี หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังมี “ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด”

ทุกองค์กรมีโครงสร้าง มีคน มีเครือข่ายกว้างขวางใหญ่โตชนิดที่ชวนให้เชื่อได้ว่า ยาเสพติดไม่น่าจะมีหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ “ความจริง” คือ ยาเสพติดมีทุกตรอกซอกซอย และคนไทยจำนวนมากที่อยู่ในวัยทำงานคือ ขี้ยา

 

3.ปัญหาความมั่นคง

ตั้งแต่ยุคทหารบกหากินกับอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินสนับสนุนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกา “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง” ก็ได้กลายเป็นขุมทรัพย์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงกอบโกยกันจนมั่งคั่ง

หน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติถูกจัดตั้งขึ้นมากมายทั้งระดับนโยบาย อำนวยการ ข่าวกรอง และปฏิบัติการ ในจำนวนนั้น เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตำรวจสันติบาล ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หน่วยข่าวกรองของกองทัพ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือ “กอ.รมน.”

โดยเฉพาะ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” นั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้ตราเป็นพระราชบัญญัติสภาป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ.2487 และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2502 มีองค์กรซึ่งเรียกว่า “สมช.” มีโครงสร้างใหญ่โตครอบคลุมในแทบทุกมิติของความมั่นคงกันเลยทีเดียว เช่น มีกองงานความมั่นคงกิจการชายแดนประเทศรอบบ้าน, กองความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามข้ามชาติ, กองความมั่นคงชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม, กองความมั่นคงด้านการเตรียมพร้อมป้องกันประเทศ, กองความมั่นคงทางทะเล, กองความมั่นคงภายในประเทศ, กองความมั่นคงระหว่างประเทศ, กองประเมินภัยคุกคาม

ยังมียุบยิบอื่นๆ อีกมากมาย จนชวนให้เชื่อว่า ประเทศไทยจะตั้งมั่นอย่างมั่นคงอยู่ภายใต้หน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพสูงเหล่านี้

แต่ความจริงก็คือ ทั้ง 3 ปัญหาเรื้อรังมากว่าครึ่งศตวรรษ บ่อนทำลายความเข้มแข็งของประเทศ ทั้งๆ ที่อวดอ้างกันว่ามีหน่วยงานรับผิดชอบอยู่มากมาย ทุกหน่วยมีโครงสร้างองค์กรใหญ่โต มีบุคลากรครบครัน บรรยายภารกิจยืดยาวกันชนิดน้ำไหลไฟดับ

ปัญหามีว่า “ประสิทธิผล” เป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ “ว้าแดง” ชนกลุ่มน้อยที่ผลิตยาเสพติดมากที่สุดในโลก แสดงแสนยานุภาพเคลื่อนกำลังเข้ายึด “ดอยหัวม้า” กับ “ดอยหนองหลวง” ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมกับอ้างสิทธิว่าไม่ใช่เขตพื้นที่ของไทย หากใครล้ำมา กองกำลังว้าแดงจะปกป้องอธิปไตย ไม่ถอยแม้แต่ก้าวเดียว

กรณี “ว้าแดง” เป็นภัยความมั่นคงที่ยกมานั้นแค่น้ำจิ้ม

ที่ตั้งใจจะบอกกล่าวคือ ประเทศควรทบทวนการแก้ไข 3 ปัญหาที่เรื้อรังเหล่านั้นเพราะเปรียบไปก็เหมือนการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

ใช้งบประมาณไปตั้งเท่าไหร่ในการสร้างองค์กรขึ้นมามากมาย ขยายโครงสร้างกันใหญ่โต ค่าใช้จ่ายก็สูง ภารกิจก็ซ้ำซ้อน คิดน้อย ทำน้อย ให้ผลตอบแทนแสนจะต่ำ

คำถามจึงมีว่า กว่าครึ่งของหน่วยที่มีอยู่ “ยุบทิ้ง” ได้หรือไม่!?!!!