ใช้ม็อบล้มรัฐบาล ยังจะทำได้หรือ?

มุกดา สุวรรณชาติ

1. การใช้ม็อบสร้างกระแส ล้มรัฐบาลในอดีต

การจัดงานความจริงมีหนึ่งเดียวที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล น่าจะถือเป็นการทดสอบวัดกระแสแรงสนับสนุน และเป็นการโยนหินถามทางโดยหยิบยกเรื่อง เอ็มโอยู 44 เรื่องที่ดินเขากระโดง มาเป็นประเด็นจุดชนวนต้านรัฐบาลปัจจุบัน

ในอดีต วิธีนี้เป็นขั้นตอนแรกของการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ครั้งนี้อาจจะเดินตามรอยที่เคยเคลื่อนไหวในอดีตหรือไม่ยังไม่แน่

การประท้วงขับนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลางปี 2548 เริ่มจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของนายสนธิ ซึ่งมาจัดขึ้นทุกเย็นวันศุกร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และถ่ายทอดผ่านเอเอสทีวี แล้วก็กลายเป็นการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “การชุมนุมกู้ชาติ” ต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จนขยายมากขึ้น

แม้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะประกาศยุบสภา กุมภาพันธ์ 2549 กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเมษายน 2549 แต่การชุมนุมและการเดินขบวนยังดำเนินต่อ หลายแห่ง หลายครั้ง ทั้งที่สนามหลวง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล สะพานมัฆวานรังสรรค์

มีการเคลื่อนขบวนย่อยไปชุมนุมที่สถานที่ต่างๆ เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ถนนสีลม สยามสแควร์ และถนนสุขุมวิท

 

2. ล้มการเลือกตั้งทั่วไป เมษายน พ.ศ.2549

พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

แม้ผลการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยได้รับที่นั่งในรัฐสภาถึง 460 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 56%

แต่วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8-6 เสียง ให้เพิกถอนการเลือกตั้ง

ดังนั้น กกต.จึงเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2549

 

3. ลอบสังหาร…คาร์บอมบ์ สิงหาคม พ.ศ.2549

24 สิงหาคม พ.ศ.2549 พบรถซึ่งบรรทุกวัตถุระเบิดกว่า 67 กิโลกรัมจอดบริเวณใกล้ที่พักของนายกฯ ทักษิณซึ่งเป็นเส้นทางผ่าน ตำรวจจับ ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อดีตคนขับรถส่วนตัว พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ซึ่ง ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และ พล.อ.พัลลภถูกปลดออกจากตำแหน่งในทันที

ในภายหลังได้มีการจับกุมนายทหารเพิ่มอีก 5 นาย เนื่องจากสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่นายทหาร 3 นาย รวมทั้ง ร.ท.ธวัชชัยถูกปล่อยตัว ภายหลังการก่อรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

(19 สิงหาคม พ.ศ.2552 ศาลทหารมีคำสั่งลงโทษ พ.อ.มนัส พ.อ.สุรพล จำคุก 6 ปี ร.ท.ธวัชชัย จำคุก 4 ปี 6 เดือน ในข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครอง)

 

4. สุดท้ายต้องรัฐประหาร

นายกฯ ทักษิณไม่ได้กลัวจนหนีออกนอกประเทศ ตามแผน ดังนั้น การเคลื่อนไหวของม็อบก็ถูกเร่ง เพื่อให้สถานการณ์สุกงอม

2 กันยายน 2549 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าเครือข่ายแพทย์ เภสัช พยาบาล อาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ออกมาต่อต้านทักษิณ

แต่รัฐบาลรักษาการของนายกฯ ทักษิณก็ยังอยู่ ถ้าปล่อยไปอีกเพียง 1 เดือนก็จะถึงวันเลือกตั้งซึ่งทุกฝ่ายประเมินกันแล้วว่าพรรคไทยรักไทยก็คงได้รับชัยชนะเหมือนเดิม และได้เกินครึ่งด้วย

สุดท้าย การชิงอำนาจรัฐครั้งนี้ก็ต้องมาจบด้วยการให้คณะทหาร คมช.เข้ามาทำการรัฐประหาร ในวันที่ 19 เดือน 9 ปี 2549 ในขณะที่นายกฯ ทักษิณเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก

การชุมนุมอย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรฯ และเครือข่าย โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศยุติการชุมนุมทันที

 

ครั้งนี้ม็อบจะจุดติดหรือไม่?

นายสนธิเคยประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำว่า “จะให้ความรู้คนมากกว่า การออกถนนคงไม่ออก คิดว่าหมดยุคของการออกถนนแล้ว”

แต่วันนี้มาขยับเท้าเปลี่ยนจุดยืน จึงทำให้มีการประเมินว่า ม็อบนี้จะจุดติดหรือไม่

โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองอดีตกับปัจจุบัน

ความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ในปี 2549 ปัจจัยหลักที่สำคัญคือ

1. มีอำนาจนอกระบบที่เป็นรัฐซ้อนรัฐ สนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณไม่ว่าจะเป็นม็อบคนธรรมดาหรือม็อบระดับปัญญาชนหรือผู้ที่ติดอาวุธแม้แต่ส่วนราชการก็ไม่มีความเกรงกลัวรัฐบาล

2. กลุ่มทุนที่สูญเสียผลประโยชน์ก็ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ

3. กลุ่มทหารส่วนใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ และทำตามอำนาจนอกระบบ

4. กลุ่มการเมืองฝ่ายค้านต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างเต็มที่พร้อมทำทุกอย่างโดยไม่สนใจแนวทางรัฐสภา

ถ้าหากย้อนมาดูสถานการณ์ปัจจุบันและเปรียบเทียบกับเส้นทางเดิมจะพบว่า

1. อำนาจนอกระบบแทบทุกส่วนไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร แบบรุนแรงเท่ายุคทักษิณ แถมยังมีอำนาจบางส่วนที่ช่วยค้ำจุนรัฐบาลนี้อยู่ด้วย

2. ในกลุ่มทุนก็มีทั้งที่ได้ประโยชน์เสียประโยชน์แต่มีลักษณะประนีประนอมที่ต้องทำมาหากินกันในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ แถมยังต้องพึ่งรัฐบาล จึงหาคนเป็นท่อน้ำเลี้ยงม็อบยาก

3. กลุ่มทหารก็ไม่มีลักษณะต่อต้านแบบรุนแรงเหมือนเก่าแต่มีการประนีประนอมกันอย่างมาก

4. กลุ่มการเมืองฝ่ายค้านที่มีน้ำหนักคือพรรคประชาชนในปัจจุบัน ก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีนอกระบอบประชาธิปไตย

5. ฝ่ายประชาชนเองปัจจุบันส่วนใหญ่ฉลาดกว่าเดิม มีบทเรียน ได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่า 20 ปีที่แล้ว สามารถวิเคราะห์และคิดปัญหาต่างๆ ได้ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

สรุปว่า…ฝ่ายแค้นคงต้องรอดูสถานการณ์ไป ปีต่อปี ฝ่ายค้านรอเลือกตั้งใหม่

ส่วนฝ่ายรัฐบาลบาดแผลในพรรคร่วม ถ้าไม่ผ่าตัด อาจอักเสบลามไปทั้งตัวได้