คนมองหนัง : RHYTHM & BOYd THE CONCERT

คนมองหนัง

คอนเสิร์ต “BOYdKO50th #1 RHYTHM & BOYd THE CONCERT” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระอายุครบรอบ 50 ปี ของ “บอย โกสิยพงษ์” ศิลปิน-นักแต่งเพลง-ผู้บริหารค่ายเพลงชื่อดัง และเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 24 ปี ของการจัดทำผลงานชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” อัลบั้มเต็มชุดแรกสุดของบอย หนึ่งในอัลบั้มคลาสสิคของวงการเพลงไทยสากลช่วงทศวรรษ 2530

เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

ในฐานะผู้ชมคนหนึ่ง ขอแสดงความเห็นต่อคอนเสิร์ตวันนั้น ดังนี้

จุดน่าสนใจประการแรก คือ โครงสร้างของโชว์ที่แปลกประหลาดและผิดแผกแหวกแนวจากคอนเสิร์ตส่วนใหญ่ (อย่างน้อยก็ของเมืองไทย)

หากจะตั้งชื่อใหม่ให้คอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยเลียนแบบพวกหนังสือรวมเรื่องสั้นไทยยุคหลังๆ ก็คงต้องใช้ชื่อว่า “Rhythm and Boyd และอื่นๆ”

ถ้าให้เปรียบเทียบกับภาพยนตร์ คอนเสิร์ตหนล่าสุดของบอยก็มีโครงสร้างสองส่วนใหญ่ๆ ที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดชัดเจน

จนชวนให้นึกถึง “Chungking Express” ของ “หว่องกาไว” หรือหนังหลายๆ เรื่องของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

อธิบายให้เห็นรายละเอียดได้ว่า โครงสร้างของโชว์ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน คอนเสิร์ตเปิดฉากขึ้นในเวลาประมาณสองทุ่ม แล้วก็ระดมซัดอาวุธหนักใส่ผู้ชมด้วยบทเพลง 12 เพลงแรก

ใช่แล้ว 12 เพลงแรกของคอนเสิร์ต “RHYTHM & BOYd THE CONCERT” นั้นเป็นบทเพลงทั้งหมดจากอัลบั้มชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” แถมยังจัดเรียงตามลำดับในเทปเพลง/ซีดีเป๊ะ

หมายความว่าไฮไลต์สำคัญของคอนเสิร์ตนั้นถูกเทไปกระจุกตัวอยู่ในช่วงแรกแบบเสร็จสรรพ! (ถ้าใครมาถึงอิมแพ็ค อารีน่า ประมาณสองทุ่มครึ่ง -ซึ่งมีอยู่หลายคน- ย่อมพลาดของสำคัญไปเกือบหมด!!)

จากนั้น จึงเข้าสู่ครึ่งหลังของคอนเสิร์ต ที่มีอารมณ์ราวๆ “บอย โกสิยพงษ์ เชิญแขก” ผ่านการแวะโน่นชมนี่ไปเรื่อยๆ อย่างเพลิดเพลินพอสมควร

ตั้งแต่เบิร์ดกะฮาร์ท, กันต์ เดอะสตาร์, ตูนและโครงการก้าวคนละก้าว, นิชคุณ, การโปรโมตคอนเสิร์ต BOYdKO50th ตอนที่ 2 และ 3 ในปลายปีนี้-ต้นปีหน้า รวมถึงช่วง “เบเกอรี่ เดอะ คอนเสิร์ต” ฉบับมินิ

การแหวกจารีตทำนองนี้นำไปสู่ภาพรวมของโชว์ที่แปลกๆ แปร่งๆ อยู่ไม่น้อย ความใจเด็ดของบอยและทีมงานกลายเป็นการวัดใจกับคนดู

ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ชมที่ไม่ใช่ “แฟนพันธุ์แท้” หลายราย ต่างทยอยเดินออก และเดินเพ่นพ่านไปมา (ไปซื้อเบียร์มาดื่มเพิ่ม แวะเข้าห้องน้ำ หรือแวะคุยกับคนรู้จักที่นั่งอยู่ต่างโซน) ภายหลังโชว์เด่น 12 เพลงแรก ที่กินเวลาแค่ราวหนึ่งชั่วโมง ยุติลง

ตามโจทย์หรือโครงสร้างของโชว์ข้างต้น หลายคนอาจคิดว่าช่วงแรกสุดของคอนเสิร์ตครั้งนี้น่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญอันทรงพลัง

ทั้งเพราะตัวเพลงที่สอดคล้องกับชื่อและธีมหลักของงาน และเพราะตัวศิลปินบนเวที (ซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของเสียงร้องฉบับออริจินัลในอัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์”) รวมถึงโปรดักชั่นแสง สี เสียง ระดับอลังการ (ใช้ไฮดรอลิกเป็นว่าเล่น)

อย่างไรก็ตาม การวางลำดับโชว์ล้อไปกับการเรียงเพลงในอัลบั้มดั้งเดิมแบบเป๊ะๆ เสมือนผู้ชมกำลังนั่งฟังเทปคาสเส็ตม้วนเก่าอยู่ และการไม่เปิดโอกาสให้นักร้องพูดจาทักทายหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนดูเลย (กระทั่ง บอยขึ้นมาปิดท้ายโชว์ช่วงนี้ พร้อมเพลง “จะเก็บเธออยู่ในใจเสมอ” แล้วหันเหคอนเสิร์ตไปสู่ทิศทางอื่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้ชมจึงค่อยเกิดขึ้น)

นั้นส่งผลให้ครึ่งแรกของคอนเสิร์ตดำเนินไปแบบเรื่อยๆ เรียงๆ ปราศจากจุดพีกอย่างน่าเหลือเชื่อ

การเลือกจะผลิตซ้ำเทปคาสเส็ตบนเวทีคอนเสิร์ตนำไปสู่ “การสื่อสารทางเดียว” เพลงจากอัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยหน่อย เช่น “คลั่ง” “เก็บดาว” และ “ข่าวของเธอ” ดูจะไม่สามารถส่งพลังไปสู่ผู้ชมได้ ผ่านวิธีการขึ้นมาร้องๆ เล่นๆ บนเวทีแล้วรีบระเหยหายจากไป

ครั้นถึงช่วงครึ่งหลัง เมื่อมีการโต้ตอบเล่นมุขกับคนดูเยอะขึ้น ความสนุกสนานเฮฮาผ่อนคลายจึงบังเกิด ทว่า โชว์ส่วนนี้ก็กระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ จึงมีทั้งโมเมนต์ที่ดี น่าประทับใจ และน่าตื่นเต้นเอามากๆ และช่วงที่ความน่าตื่นตาตื่นใจดร็อปลงไปนิดหน่อย (เพราะสามารถหาดูได้จากคอนเสิร์ต/เทศกาลดนตรีอื่นๆ)

สําหรับผมเอง ไปๆ มาๆ ช่วงที่ตนเองรู้สึกชอบมากที่สุดในคอนเสิร์ตคราวนี้ กลับไม่ได้อยู่ตรงไฮไลต์ตอนต้นๆ แต่เป็นโชว์ย่อมๆ บนเวทีเล็กกลางฮอลล์ ในช่วงกึ่งกลางคอนเสิร์ต

นั่นคือการมาร่วมร้องเพลง “ตัดสินใจ” (เพลงจากอีพีชุด “วัน” อันเป็นรอยต่อระหว่างอัลบั้มเต็มชุดแรกและชุดที่สองของบอย ระหว่างปี 2538-2539) โดย “นภ พรชำนิ” และ “วิทูร-พรวิช ศิลาอ่อน”

นี่คือการมาร่วมร้อง/แสดงสดเพลง “ตัดสินใจ” เป็นครั้งแรกสุดของทั้งสามคนนี้ ซึ่งพวกเขาทำหน้าที่กันได้ดีทีเดียว (โดยเฉพาะการขึ้นเสียงสูงของวิทูร)

ถ้าหากผลงานชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” มีความยึดโยงกับแนวดนตรี “ริธึ่ม แอนด์ บลูส์” โชว์ของนภและสองพี่น้องศิลาอ่อน ก็มีความเป็น “อาร์แอนด์บี” มากที่สุดในคอนเสิร์ต แม้บทเพลงที่พวกเขาร่วมกันขับร้องจะไม่ได้มาจากอัลบั้มชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ก็ตาม

จุดที่ผมแอบผิดหวัง (นิดๆ) กลับกลายเป็นการร้องเพลง “คืนนี้” ของ “น้อย กฤษดา สุโกศล แคลปป์”

ก่อนจะเปิดตัวเป็นนักร้องนำของวง “พรู” เมื่อกลางทศวรรษ 2540 ในครึ่งหลังทศวรรษ 2530 น้อยเคยลองมาชิมลางร้องเพลง “คืนนี้” เพลงที่สามหน้าเอในอัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ตัวเพลงอาจไม่โด่งดังฮิตระเบิดระดับ “รักคุณเข้าแล้ว” หรือ “ฤดูที่แตกต่าง”

แต่คนที่ฟังงานทั้งชุด ย่อมมีโอกาสตกหลุมหลงรักเพลงช้าๆ เศร้าๆ เพลงนี้ได้ไม่ยาก ทั้งเพราะสำเนียงกีตาร์เท่ๆ เสียงพูดบ่นพึมพำช่วงต้นและท้ายเพลงของบอย และสำเนียง/วิธีการร้องเพลงของน้อย ที่จะเป็นหญิงก็ไม่ใช่ชายก็ไม่เชิง จนมีเสน่ห์ไปอีกแบบ

พอมาทำวงพรู น้อยมีวิธีการร้องเพลงที่เปลี่ยนแปลงไป แม้เสียงของเขายังคงเล็ก สูง บาง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนอยู่ตามเดิม แต่อาการมีจริตจะก้าน/กระมิดกระเมี้ยน ซึ่งเคยล่องลอยอบอวลอยู่ใน “คืนนี้” ได้ถูกแทนที่ด้วยอารมณ์อันรุนแรง เกรี้ยวกราด และเปิดเผยยิ่งขึ้น

น่าเสียดายที่ ณ ต้นปี 2561 น้อยกลับมาร้องเพลง “คืนนี้” แบบสดๆ อีกหน ด้วยสำเนียงในแบบ “พรู” ไม่ใช่สำเนียงแบบที่เขาเคยเปล่งออกมาในอัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” เมื่อปี 2537

ขออนุญาตทิ้งท้ายด้วยข้อสังเกตเพิ่มเติมบางอย่าง

หลังดู “BOYdKO50th #1 RHYTHM & BOYd THE CONCERT” จบลง ผมพบว่า “บอย โกสิยพงษ์” นั้นไม่ใช่นักแต่งเพลงเซเลบอย่าง “ดี้ นิติพงษ์” ไม่ใช่กีตาร์ฮีโร่อย่าง “โอม ชาตรี” แล้วก็ไม่เหมือนพวกมืออาชีพรุ่นเก๋าที่อยากมาล้อมวงเล่นดนตรีแบบง่ายๆ เล็กๆ อย่าง “ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์” หรือ “นั่งเล่น”

ตามความเห็นของผม สถานะปัจจุบันของบอยเริ่มมีความคล้ายคลึงกับ “เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์” ผู้ล่วงลับ เพราะสองคนนี้เป็นนักแต่งเพลงเหมือนกัน (ณ ปี 2561 บอยอาจมีเพลงฮิตมากกว่าเต๋อแล้วด้วยซ้ำ) พวกเขาไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ แต่ก็สามารถขึ้นมาบนเวทีคอนเสิร์ตเพื่อเอ็นเตอร์เทนผู้ชมหลายหมื่นคนเบื้องหน้าได้อย่างแพรวพราว

ที่สำคัญ พวกเขาเป็นศิลปิน/ผู้บริหารค่ายเพลงเหมือนๆ กัน (น่าแปลกใจทีเดียว ที่ค่าย “เลิฟอีส” ของบอยมีศิลปินรุ่นใหม่อยู่ในมือเยอะและหลากหลายมาก ราวกับเขายังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมดนตรีนั้นมีอนาคต หากคิดเป็นทำเป็น)

และแน่นอน บอยมิใช่นักธุรกิจเต็มตัวอย่าง “อากู๋” หรือ “อาเฮีย”

การขึ้นมาพูดจายกย่องชื่นชมบอย โดย “สุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์” “เอื้อง สาลินี ปันยารชุน” และ “สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์” ช่วยตอกย้ำสถานภาพแบบ “เต๋อ” ของบอยในวัย 50 ปี ได้เป็นอย่างดี

บอยที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมก่อตั้งบริษัท “เบเกอรี่ มิวสิค” ร่วมกับสุกี้, เอื้อง และสมเกียรติ ในฐานะหุ้นส่วนที่เยาว์วัยสุดและมีชื่อเสียงน้อยสุด ณ ขณะนั้น

ถ้าจะมีอะไรที่บอยแตกต่างกับเต๋อ นั่นก็เห็นจะเป็นเรื่อง “ประสบการณ์”

กลายเป็นว่าคนรุ่นหลังที่วัยเพิ่งขึ้นต้นด้วยเลข 5 อย่างบอย นั้นดูเหมือนจะผ่านช่วงเวลาอันระหกระเหินของวงการเพลงมามากกว่ารุ่นพี่ผู้ลาลับ

ในฐานะคนฟัง บอยคือแฟนเพลงของ “เบิร์ดกะฮาร์ท” ในยุคก่อน “สองค่ายยักษ์ใหญ่”

ในฐานะคนทำเพลง/ผู้บริหารค่ายเพลง บอยและผองเพื่อนเคยหาญกล้าท้าชนจน “สองค่ายใหญ่” ต้องสั่นสะเทือน และทำให้อุตสาหกรรมดนตรีเปลี่ยนโฉมหน้าไปในห้วงเวลาสั้นๆ (ถ้าไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธุรกิจเพลงไทยช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงสิบปีแรกของทศวรรษ 2000 อาจมีรูปโฉมอีกแบบ และรับมรดกตกทอดจากเบเกอรี่ มิวสิค มามากกว่าที่เป็นอยู่)

ในฐานะผู้บริหารเช่นกัน บอยเคยล้มเหลวพร้อมกับการปิดฉากลงของค่ายเบเกอรี่

แต่การประสบความสำเร็จของคอนเสิร์ต “BOYdKO50th #1” ที่ขายบัตรหมดเกลี้ยง (และจะมีภาคต่ออีกสองตอนตามมา) แถมได้สปอนเซอร์รายใหญ่ๆ มาร่วมสนับสนุน

การยังคงดำเนินกิจการของค่ายเลิฟอีสพร้อมศิลปินในสังกัดอีกหลายเบอร์ และการพยายามเชื่อมต่อเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างเลิฟอีสกับสื่อบันเทิงแขนงอื่นๆ (ที่ปรากฏตัวอย่างให้เห็นในคอนเสิร์ตครั้งล่าสุด)

ก็อาจบ่งบอกว่าชีวิตบนเส้นทางสายธุรกิจดนตรี-บันเทิงของ “บอย โกสิยพงษ์” นั้นยังคงทอดยาวไปอีกไกล