เผยแพร่ |
---|
มอบรางวัล “มติชนเกียรติยศ” อรุณ วัชระสวัสดิ์ “นักวาดการ์ตูน-สื่อ” ผู้มีผลงาน “โดดเด่น”
จากกรณีที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีการประกวดเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม “มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567” ขึ้น โดยจะมีการประกาศผลในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 นั้น กิจกรรมสำคัญหนึ่งที่จะมีขึ้นในวันดังกล่าว คือการประกาศ “รางวัลมติชนเกียรติยศ” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในวงการสื่อมวลชนเป็นผู้รับรางวัลดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มีฉันทามติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ มอบ “รางวัลมติชนเกียรติยศ” ในงานประกาศ “มติชนอวอร์ด ประจำปี 2567” ให้แก่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ ในฐานะนักวาดการ์ตูนสะท้อนการเมือง สังคม โดยมีประกาศเชิดชูเกียรติดังนี้
“นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ ถือเป็นสื่อมวลชน และศิลปินผู้ทรงคุณค่าแห่งวงการการ์ตูนประเทศไทย มีคุณูปการต่อวงการสื่อสารมวลชนและสังคมไทยอย่างสูง ด้วยการใช้ศิลปะการวาดการ์ตูนสะท้อนความจริงทางสังคมและการเมือง ผ่านงานศิลปะอันทรงพลัง สามารถสื่อสารประเด็นที่ซับซ้อนด้วยภาพการ์ตูนที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ใช้อารมณ์ขันและการเสียดสีเป็นเครื่องมือในการสะท้อนสังคมได้อย่างแยบยล กล้าหาญ
ตลอดระยะเวลากว่าห้าทศวรรษ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ได้ยืนหยัดในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ด้วยการนำเสนอความจริงผ่านลายเส้นการ์ตูนที่ปราศจากอคติทางการเมือง ไม่เชิดชูหรือโจมตีฝ่ายใด แต่มุ่งสะท้อนความเป็นจริงของสังคมด้วยความรักและความห่วงใยต่อบ้านเมือง
ผลงานของอรุณ วัชระสวัสดิ์ จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมประชาธิปไตยและความโปร่งใสในสังคมไทย สมดังคำกล่าวที่ว่า “การ์ตูนคือลมหายใจของประชาธิปไตย”
คุณูปการต่อวงการสื่อมวลชนและสังคมของอรุณ วัชระสวัสดิ์ ปรากฏชัดผ่านผลงานการ์ตูนนับหมื่นภาพ ที่ได้ตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำของประเทศ ตั้งแต่สยามรัฐรายวัน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ประชาชาติรายวัน เดอะเนชั่น จนถึงมติชนรายวัน และมติชนสุดสัปดาห์ ผลงานเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาสังคมและการเมือง แต่ยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างสร้างสรรค์ ผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในด้านเทคนิคและลายเส้นที่งดงาม รวมถึงการใช้สัญลักษณ์และการเล่าเรื่องที่ชาญฉลาด โดยเฉพาะการ์ตูนไร้คำบรรยายที่ปล่อยให้ภาพสื่อความหมายด้วยตัวเอง ซึ่งแสดงถึงความเชี่ยวชาญขั้นสูงในการสื่อสารผ่านภาพ แต่ก็พัฒนาผลงานของตนเองอยู่ตลอดเวลา ค้นคว้าศึกษาสิ่งใหม่ๆ เพื่อมานำเสนอผ่านการ์ตูนอยู่เสมอ
ผลงานตลอดชีวิตของอรุณ วัชระสวัสดิ์ ไม่เพียงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมและการเมืองไทยที่ทรงคุณค่า แต่ยังเป็นแบบอย่างของการใช้ศิลปะเพื่อรับใช้สังคมอย่างแท้จริง และเป็นแรงบันดาลใจแก่นักการ์ตูนรุ่นหลังสืบไป บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) จึงขอยกย่องและมอบรางวัล “มติชนเกียรติยศ ปี 2567” ให้แก่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์
ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2567
อรุณ วัชระสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2490 ที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบชั้นประถมที่โรงเรียนวัดกาญจนาราม และชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นเข้ากรุงเทพฯ ศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เริ่มต้นงานวาดการ์ตูนล้อการเมืองครั้งแรกในปี 2515 กับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งในขณะนั้นเขายังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 6 คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย 2 รุ่นพี่คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร และนักข่าวสยามรัฐ เป็นผู้ “เปิดประตูบานแรก” ให้น้องร่วมสำนักก้าวเข้าสู่อาชีพการ์ตูนนิสต์ หลังเขาส่งการ์ตูนชุด 5 รูปที่ล้อหนังไทยไปยังกอง บก. สยามรัฐอันเป็นจุดเริ่มต้นของการ์ตูนเด็กไทยหัวโต “ม้าหิน-จอมปลวก” ล้อเลียนเสียดสีสังคม ซึ่งปรากฏอยู่บนหน้ากลางของสยามรัฐรายวัน
ขณะที่ สุทธิชัย หยุ่น ถือเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ช่วย “เปิดโลกทัศน์ทางการ์ตูน” ของอรุณ วัชสวัสดิ์ ให้ยกระดับและก้าวไปสู่การ์ตูนระดับสากล โดยในช่วงอรุณ วัชระสวัสดิ์ ทำงานให้เครือเดอะเนชั่น (The Nation) 1 ใน 2 หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษของไทยในยุคนั้น สุทธิชัย หยุ่น มักสรรหาการ์ตูนต่างประเทศมาแบ่งปันให้อรุณ วัชระสวัสดิ์ ได้ดูและศึกษาอยู่เสมอ
อรุณ วัชระสวัสดิ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่รู้ภาษาอังกฤษ ไม่รู้จะเขียนแคปชั่น (คำบรรยาย) อย่างไร จึงต้องศึกษาทำการบ้านอย่างมาก เพื่อทำให้การ์ตูนสามารถสื่อความได้หมดโดยไม่ต้องมีแคปชั่น” ซึ่งนี่เองที่นำมาสู่การ์ตูนไร้คำบรรยาย ซึ่งเป็นสากล ที่คนทั่วโลกดูแล้วสามารถเข้าใจและสื่อความได้
แนวทางการวาดการ์ตูนอันโดดเด่นของ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ไม่เน้นตัวบุคคล แต่เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง หรือ “เน้นความ มากกว่าเน้นคน” เป็นผลให้อายุการ์ตูนของเขามีอายุยืนยาว นอกจากนี้ ยังยึดหลักมีเมตตากับนักการเมืองและผู้ที่ถูกเขียนถึงเสมอ โดยเลือกใช้วิธี “ติ” มากกว่า “ด่า”
อรุณ วัชระสวัสดิ์ นิยามหน้าที่การงานของตัวเองเป็นการทำงานศิลปะร้อยละ 50 และเขียนการ์ตูนร้อยละ 50
อรุณ วัชระสวัสดิ์ เติบโตขึ้นมาในบรรยากาศห้องข่าว นอกจากศึกษารูปแบบและถอดวิธีเขียนจากการ์ตูนต่างประเทศแล้ว ยังศึกษาวิธีคิดและการตีประเด็นจากการอ่านหนังสือพิมพ์วันละหลาย ๆ ฉบับ ฟังการสนทนาของนักข่าวภายในกองบรรณาธิการ ได้ยินเสียงนักข่าวคุยข่าว ได้เห็นการถกเถียงประเด็นในห้องประชุมข่าว การ์ตูนของอรุณ ในหลายๆครั้ง จึงเป็นความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับ ไม่ใช่ความคิดเห็นของนักวาดการ์ตูน เรียกว่า editorial cartoon (การ์ตูนบรรณาธิการ) ไม่ใช่ political cartoon (การ์ตูนการเมือง)
ในหนังสือรวมผลงานของอรุณ วัชระสวัสดิ์ “อรุณตวัดการเมือง” ของสำนักพิมพ์มติชน ให้นิยามผลงานการ์ตูน ของ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ไว้อย่างกระชับ ว่า “ล้อเลียน-เสียดสี-ประชดประชัน-อารมณ์ขัน-คมกริบ” ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น โดยอรุณ วัชระสวัสดิ์ ได้รับการยอมรับในผลงานโดดเด่น ต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปี ผลิตงานการ์ตูนผ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ รวมถึง มติชนรายวัน มติชนสุดสัปดาห์ มากกว่าหมื่นผลงาน โดยภาพการ์ตูนเหล่านั้นสะท้อนเหตุการณ์บ้านเมือง สังคม ที่เกิดขึ้น อย่างแยบยล คมคาย เต็มไปด้วยศิลปะที่ซ่อนนัยและความหมายให้คนอ่านตีความได้อย่างลึกซึ้งและมากด้วยอารมณ์ขัน
งานของอรุณ วัชระสวัสดิ์ จึงเสมือนเป็น “บันทึกประวัติศาสตร์” สังคมไทย ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อสังคม ด้วยความรักและใส่ใจในศิลปะการ์ตูนอย่างจริงจัง งดงาม รอบคอบและมีความยุติธรรม ที่สำคัญสามารถดำรงจุดยืน ความเป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงหลักคิดอันเที่ยงตรง เป็นธรรม และความมีคุณภาพเอาไว้ได้กว่าครึ่งศตวรรษ
อรุณ วัชระสวัสดิ์ พยายามวางตนเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ไม่ใช่ “ผู้แสดง” จึงไม่ทุกข์ร้อน หรือร่วมไปกับความขัดแย้งทางการเมือง จึงสามารถขับเคลื่อนงานไปด้วย “ความรักในศิลปะ” ไม่ใช่ “ความชอบ-ความชังในทางการเมือง” ไม่เคยคิดว่างานที่ทำเป็น “สิ่งที่ยิ่งใหญ่” แต่เห็นเป็น “ส่วนประกอบ” ที่นำไปจัดวางเข้ากับส่วนอื่นๆ แล้วเหมาะสมลงตัว
อรุณ วัชระสวัสดิ์ มักเปรียบเปรยข่าวสารเป็นอาหารหลากรสที่อยู่บนโต๊ะจีน ส่วนการ์ตูนเป็นน้ำจิ้มที่ทำให้อาหารอร่อยและมีรสชาติขึ้น นี้เอง ทำให้งานการ์ตูนในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้
ด้วยผลงานและบทบาทอันโดดเด่นดังกล่าว นี้บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จึงมีฉันทามติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ มอบรางวัล”มติชนเกียรติยศ ปี 2567″ ให้แก่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ ดังกล่าว
อนึ่ง การมอบรางวัล “มติชนเกียรติยศ ปี 2567” ให้แก่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ จะจัดขึ้นพร้อมกับพิธีการประกาศผลการประกวด เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ การ์ตูนการเมืองสะท้อนสังคม “มติชนอวอร์ด 2024” ในเวลา 10.00 น. วันจันทร์ ที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ อาคารมติชน •
ประกาศ Short List มติชนอวอร์ด 2024 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022