ทีวีช่อง 3 ปรับตัว

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยกรณี ทีวี “ช่อง 3” กับการปรับตัวทางธุรกิจ หลายครั้งหลายคราในช่วงเปลี่ยนผ่านสื่อไทยในทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นแผนการปรับตัวครั้งใหญ่ทางธุรกิจที่น่าสนใจ ในฐานะองค์กรธุรกิจที่มีประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

รายงานข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ ว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานถึง 30% อย่างไรยังไม่มีการยืนยัน หรือมีคำชี้แจงจาก “ช่อง 3” อย่างเป็นทางการ ในฐานะบริษัทในตลาดหุ้น (บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC) มักอ่อนไหวกับกระแสข่าว มีแต่รายงานล่าสุด (8 พฤศจิกายน) เกี่ยวกับผลประกอบการไตรมาส 3 “ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า”

ว่ากันอีกว่า แผนการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับลดพนักงานของ “ช่อง 3” ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบ 4 ปี ขณะช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น มีความพยายามนำ “คนนอก” เข้ามาบริหารกิจการด้วย

เป็น “คนนอก” ซึ่งเป็น “ตัวแทน” ธุรกิจใหม่ ซึ่งคาบเกี่ยว และสะท้อนถึงภาวะคุกคามอันน่าเกรงขาม

 

ตั้งแต่ต้นปี 2560 นำทีมโดย สมประสงค์ บุญยะชัย เวลานั้นวัยกว่า 60 ปีแล้ว ผู้คลุกคลีกับธุรกิจสื่อสารไร้สายมานาน ช่วงท้ายๆ เขายืนในจุดที่มองเห็นภาพกว้างๆ ขณะธุรกิจสื่อสารไร้สายกำลังผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงก่อนหน้าเขามีประสบการณ์อย่างเข้มข้น เป็นผู้นำบุกเบิกการสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุม จากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส (ปี 2542-2551) จากนั้นเขาถอยห่างจากธุรกิจสื่อสารไร้สาย ไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินทัช โฮลดิ้งส์ (2551-2558)

สมประสงค์ บุญยะชัย มาจากธุรกิจทรงอิทธิพล ผู้นำในธุรกิจสื่อสารไร้สาย เครือข่ายธุรกิจใหญ่ ในช่วงเวลา แสวงหาโอกาสธุรกิจโมเดลใหม่ การหลอมรวมเข้ากับยุคอินเตอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบ ในจังหวะก้าวข้ามจากระบบ 3 G สู่ 4 G-5 G

กับอีกครั้งซึ่งสัมพันธ์กันอย่างตั้งใจ ในช่วงต้นๆ ปี 2562 การปรับโครงสร้างบริหารอีกครั้ง BEC ประกาศให้ อริยะ พนมยงค์ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ (President)

ดูเป็นภาพอันสมบูรณ์ ที่ลงตัวอย่างยิ่ง

 

อริยะ พนมยงค์ ขณะนั้นอยู่ในวัย 46 ปี ผ่านประสบการณ์เข้มข้น จากธุรกิจสื่อสารไร้สายในยุคต้นๆ สู่ยุค Social media เมื่อ Google เข้ามาปักหลักในสังคมไทย เขาเป็นหัวหน้าทีมผู้บริหาร Google คนแรกในไทย (ตั้งแต่ปี 2554) มีประสบการณ์โดยตรงกับ YouTube (ธุรกิจสำคัญของ Google) เข้ามาเมืองไทยอย่างจริงจัง และเมื่อเขาก้าวข้ามฟากจากโลกตะวันตก มายัง Social media โลกตะวันออก ซึ่งมีฐานมั่นคงในเมืองไทย มาเป็นผู้บริหาร LINE Thailand (ปี 2559) ถือว่าเป็นจังหวะ LIINE TV เพิ่งเดินหน้า (ปี 2557)

เวลานั้น Social media สื่อระดับโลกใหม่ ได้เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย ในจังหวะที่น่าสนใจ เพิ่มความท้าทายยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาสื่อกระแสหลักดั้งเดิมไทย กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วง

เปิดฉากโดย Google ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการในโลกอินเตอร์เน็ต เปิดสำนักงานในประเทศไทย (ปี 2554) ในเวลาใกล้เคียงกัน LINE เครือข่ายสื่อสังคมระดับโลกอีกรายแห่งเอเชีย มีสมาชิกในสังคมไทยทะลุ 10 ล้านคน(ปี 2555)

YouTube ผู้ครองตลาดธุรกิจเครือข่ายบริการแชร์คลิปวิดีโอ (video-sharing website) แห่งสหรัฐอเมริกา (ธุรกิจหนึ่งในเครือข่ายของ Google) เปิดบริการในประเทศไทย

Facebook เครือข่ายสื่อสังคม (social networking service) ซึ่งทรงอิทธิลพลมากที่สุดในโลกอีกราย เปิดตัวในประเทศไทย (ปี 2558)

และ Netflix เครือข่ายธุรกิจบริการผ่านอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet video streaming เปิดบริการในไทย (ปี 2559)

ปัจจุบัน สมประสงค์ บุญยะชัย ยังคงมีตำแหน่งเป็นกรรมการ BEC ส่วนอริยะ พนมยงค์ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงปีเดียวได้ลาออกไป ดูเหมือนมีแรงเหวี่ยงมากเกินไป จากปะทะระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่”

 

ช่วงทศวรรษหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น เปิดฉากด้วยปรากฏการณ์ทีวีดิจิทัลในสังคมไทย (ปี 2557) มีมากถึง 48 ช่อง ในมิติ “ผู้เล่น” สะท้อนภาพความพยายามครั้งใหญ่ กับความหวังอย่างสูงในโอกาสทางธุรกิจ แต่เป็นไปในจังหวะไม่เอื้ออำนวย เชื่อมโยงกับธุรกิจสื่อซึ่งเผชิญความผันแปรมาตลอดช่วงทศวรรษ

โดยเฉพาะบรรดาธุรกิจสื่อเดิม ใช้ความพยายามอย่างมากๆ เพื่อเข้ามาสู่ช่วงเวลาใหม่ เครือข่ายธุรกิจทีวีดั้งเดิมได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างคึกคัก ขณะที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์หลายรายเข้าสู่เกมทีวิดิจิทัลอย่างตื่นเต้น ด้วยหวังว่าจะแก้ปัญหาอนาคตที่มีปัญหามากขึ้น

มุมมองว่าด้วยโอกาสที่ว่า มาจากปัญหาที่มีอยู่ ทีวีดิจิทัลไทยในกำมือสื่อเดิมซึ่งมีฐานมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ เผชิญความผันแปรมากเป็นพิเศษ กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับกรณีทีวีเสรี เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว

ผ่านไปแค่ปีเดียว มีการเพิกถอนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลรายหนึ่งเป็นรายแรก (กุมภาพันธ์ 2559) และต่อมามีบางกรณี ด้วยเปลี่ยนไปอยู่ในมือเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย

 

“ช่อง 3” เองอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ เป็นไปค่อนข้างรวดเร็วเช่นกัน

จากมุมมองโลกในแง่ดี ในปี 2557 ประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน (DTTV) มาถึง 3 ช่อง ตามระยะสัญญา 15 ปี (2557-2572) เชื่อว่าไม่คาดคิดว่าจะเผชิญสถานการณ์พลิกผันอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาทิศทางและแนวโน้ม ผลประกอบการ BEC (อ้างอิง ข้อสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรายงานประจำปี-โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) จากช่วงเติบโตอย่างน่าทึ่ง (2545-2556) เฉพาะรายได้ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

จากระยะก่อนหน้านั้น (จากระดับ 5,000 ล้านบาท จนทะลุ 15,000 ล้านบาท) พอข้ามายุคทีวีดิจิทัล ทั้งๆ ที่มีช่องทีวีเพิ่มขึ้น กลับมีรายได้ลดลงฮวบฮาบอย่างต่อเนื่อง ลดลงมาสู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2561 และลดลงอีกมาอยู่ในระดับ 5,000 ล้านบาท (ปี 2563-2565) จากนี้ดูเหมือนจะไม่หยุดแค่นั้น งบฯ ปีล่าสุด (2566) ระบุรายได้ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เหลือไม่ถึง 5,000 ล้านบาท

แผนการปรับตัวครั้งใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปรับลดจำนวนพนักงาน และปรับทีมบริหารใหม่ เป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญในเวลาเดียวกันด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่เรียกว่า แพลตฟอร์มโทรทัศน์ ด้วยมุมมองทีวีดิจิทัลที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากมาย

จากระบบอะนาล็อกภาคพื้นดิน (Analogue Terrestrial TV) ภายใต้สัญญากับ อสมท สิ้นสุดลงเมื่อต้นปี 2563 ในช่วงคาบเกี่ยว กับได้มาซึ่งสัญญาใหม่ ในระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial TV) ในปี 2557

ในจังหวะช่วงปี 2562 รัฐออกมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถคืนใบอนุญาตได้ “ช่อง 3” หรือ BEC ตัดสินใจ คืนช่อง 28 SD และช่อง 13Family โดยสิ้นสุดการดำเนินงานบนโทรทัศน์ดิจิทัลทั้ง 2 ช่องดังกล่าว ในช่วงปลายปีนั้น (30 กันยายน 2562) เพื่อให้เหลือเพียงช่องเดียว ในระยะกระชั้นนั้นได้ยุติออกอากาศโทรทัศน์สีช่อง 3 อสมท ไปด้วย (มีนาคม 2563)

การปรับตัวของ “ช่อง 3” ท่ามกลางช่วงเปลี่ยน ที่มีแรงกระเพื่อมต่อเนื่องมา นับเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับสื่อไทยกระแสหลัก •