ย้อนมหากาพย์ ‘เขต พท.-ศธจ.’ สู่ปม ‘ขัดแย้ง-แตกหัก’!!

ปัญหาความ “ขัดแย้ง” ระหว่าง “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” (สพท.) ที่ขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ “ศึกษาธิการจังหวัด” (ศธจ.) กับ “ศึกษาธิการภาค” (ศธภ.) ที่ขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมายาวนาน และต่อเนื่อง

โดยตำแหน่ง ศธจ.และ ศธภ.ในปัจจุบัน เกิดขึ้นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

คสช.ให้เหตุผลในการปลุก ศธจ.และ ศธภ.ฟื้นคืนชีพ หลังจากเคยถูกยุบไปเมื่อครั้งประเทศไทยเกิดการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการใหม่ ทำให้ ศธ.เหลือเพียง 5 องค์กรหลัก จากเดิมที่มี 14 กรม หรือ 14 องค์ชาย ว่า เพราะต้องการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของ สพท.โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ในเวลานั้น ที่มีปัญหาวิ่งเต้น และเรียกใต้โต๊ะกันใหญ่โตมโหฬาร

ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่หลักๆ ของ ศธจ.ซึ่งมีบุคลากรไม่ใช่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่เป็นข้าราชการพลเรือน เป็นหน่วยงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาของ ศธ.แบบเดิมในส่วนภูมิภาค เนื่องจาก คสช.มองว่าการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ ไม่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งเชิงการดำเนินงาน และการบริหารจัดการ ระหว่างสถานศึกษาสังกัดต่างๆ ใน ศธ.

โดยให้ ศธจ.และ ศธภ.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากส่วนกลาง ลงสู่ภูมิภาค และจังหวัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถกำกับติดตามงานได้ใกล้ชิด และทำให้หน่วยงานในพื้นที่ตอบสนองนโยบายส่วนกลางอย่างรวดเร็ว

รวมทั้งดูเรื่องการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การสรรหา บรรจุ และการแต่งตั้งโยกย้าย

ซึ่งในช่วงที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดูแลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีเสียงสะท้อนว่าการแต่งตั้งโยกย้ายค่อนข้างโปร่งใส

ขณะที่ สพท.มองว่า สพท.เองก็ทำหน้าที่บริหารจัดการศึกษา ดูแลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหลายแสนคน และเข้าถึงสถานศึกษาหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศได้ดีกว่า เพราะรู้จักแทบทุกซอกทุกมุม ทำให้การทำงานลักลั่น และซ้ำซ้อน

ที่สำคัญ สพท.ต้องอยู่ภายใต้ ศธจ.ที่กลายมาเป็น “ผู้บังคับบัญชา” และถูกสั่งให้ทำนั่นทำนี่โดยปริยาย

จนทำให้ สพท.ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง ขอ “ปลดแอก” จาก ศธจ.และ ศธภ.ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

ปัญหากระทบกระทั่งระหว่าง สพท.และ ศธจ.ยังคงเกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารงานบุคคล

จนในช่วงที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เรื่องตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 เขต และตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 เขต รวม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 254 เขต มีผลวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566

ซึ่งเป็นการ “ดึง” อำนาจ “การบริหารงานบุคคล” จาก ศธจ.คืนให้กับ สพท.อย่างเป็นทางการ ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.

ถือว่าความขัดแย้งระหว่าง สพท.กับ ศธจ.ยุติลงได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าจำเป็นต้องปรับบทบาทของ ศธจ.ครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมา ศธจ.จะมุ่งเน้นเรื่องของการบริหารงานบุคคลเป็นหลัก จนละเลยการพัฒนางานการศึกษาในพื้นที่ในด้านต่างๆ และไม่สามารถบูรณาการงานได้ดีเท่าที่ควร

โดยบทบาทใหม่ของทั้ง ศธจ.และ ศธภ.ภายหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ คือ ศธภ.จะทำหน้าที่ผู้แทนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในแต่ละภูมิภาค

ขณะที่ ศธจ.จะทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในจังหวัด ให้เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ ทั้งเรื่องคุณภาพ ศักยภาพ การแข่งขัน และเพิ่มจีดีพีของจังหวัดนั้นๆ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจให้ ศธจ.ปฏิบัติราชการแทน พ.ศ.2567 ทำให้เกิดความ “ตื่นตระหนก” ในกลุ่มผู้อำนวยการ สพท.ทั่วประเทศ เพราะมองว่าอำนาจการบริหารงานบุคคล จะถูกถ่ายโอนกลับไปให้ ศธจ.อีกครั้งหรือไม่

ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แจกแจงว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ที่มีคำสั่งตามระเบียบมานานแล้ว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สื่อสารทำความเข้าใจให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือองค์กรครูในกลุ่มต่างๆ ซึ่งทุกฝ่ายมีความเข้าในตรงกัน

“ขอย้ำว่า ภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังอยู่กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งเมื่อโอนภารกิจมาอยู่ที่เขตพื้นที่ฯ แล้ว จะไม่มอบอำนาจทั้งหมดกลับไปเหมือนเดิมอย่างแน่นอน” พล.ต.อ.เพิ่มพูนย้ำ

ทั้งนี้ บิ๊กอุ้ม ได้นั่งยันนอนยันว่าการออกระเบียบดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการปฏิบัติงานเท่านั้น เพราะขณะนี้ยังมีปัญหาการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ที่ยังไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการเชื่อมโยงประสานงาน และภารกิจต่างๆ ของทุกหน่วยงานในพื้นที่การศึกษา ซึ่ง ศธจ.จะทำหน้าที่เชื่อมการทำงานในมิติต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันมากขึ้น

โดยหลักเกณฑ์และวิธีการมอบอำนาจให้ ศธจ.ปฏิบัติราชการแทนนั้น จะเป็นเฉพาะงานด้านวิชาการ การพัฒนาผู้เรียน เรื่องการศึกษาปฐมวัย หรือการตรวจติดตามภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด ศธ.ที่ไม่มีหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่

อาทิ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ฯลฯ เท่านั้น

 

แม้บิ๊กอุ้มจะยืนยันเสียงหนักแน่น แต่ดูเหมือนบรรดาผู้อำนวยการ สพท.ยังไม่นิ่งนอนใจ ทำให้ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ต้องตอกย้ำว่า ประกาศดังกล่าว มีเจตนาสำหรับหน่วยงานที่ไม่มีหน่วยปฎิบัติงานในพื้นที่ เช่น สช., สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารงาน กำกับดูแล และบูรณาการการศึกษาของ ศธ.ในจังหวัด หรือกรุงเทพฯ โดยให้เลขาธิการ หรืออธิบดี มอบอำนาจให้ ศธจ.ปฏิบัติราชการแทน คือ การบริหารงานบุคคล วิชาการ บริหารงานทั่วไป งบประมาณ และทรัพย์สิน

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลในส่วนของงานในสังกัด สพฐ.โดยเฉพาะประเด็นการบริหารงานบุคคลนั้น เลขาธิการ กพฐ.บอกชัดเจนว่าไม่ต้องกังวล เพราะการบริหารงานบุคคล ยังเป็นอำนาจของเขตพื้นที่ฯ เหมือนเดิม เพราะได้ปรับแก้กฎหมายตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ไปเมื่อปี 2565 ซึ่งเป็นการโอนภารกิจด้านการบริหารงานบุคคลมาอยู่กับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

ดังนั้น ไม่สามารถใครเอางานในส่วนนี้ของเขตพื้นที่ฯ คืนไปได้…

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ยังไม่ไว้ใจ ทางชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ได้เสนอ 4 ประเด็นต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องในการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ฉบับใหม่ โดย 1 ในข้อเสนอ คือ ให้ “ยกเลิก” คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่19/2560 ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และนำหน่วยงาน หรือบุคลากร ที่ถูกจัดตั้งขึ้นจากคำสั่งนี้

โดยเฉพาะ “ศธจ.” ให้ไปไว้ในกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อ “ตอกฝาโลง” ไม่ให้ใครมาปลุก ศธจ.ให้ฟื้นคืนชีพได้อีกในอนาคต…

ต้องติดตามว่า ปัญหา “ความขัดแย้ง” ระหว่าง “สพท.” กับ “ศธจ.” จะจบลงแบบไหน…

แต่ถ้าทุกฝ่ายยังคิดแต่เรื่อง “อำนาจ” และ “ประโยชน์ส่วนตัว” ก็ไม่อยากจะคิดเลยว่า “อนาคตการศึกษาชาติ” จะเป็นอย่างไร!! •