รัฐบาลลุย ‘ปฏิรูปภาษี’ ครั้งใหญ่ ขึ้น VAT-ลดภาษีบุคคล/นิติบุคคล ต้อน ‘ภาษีทรัพย์สิน’ คนรวย

หลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีงาน “Forbes Global CEO Conference” เมื่อ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวทางยกเครื่องเศรษฐกิจไทย ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อดึงดูดการลงทุน พร้อมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

โดยมีระบบการคืนภาษีให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ที่เรียกว่า Negative Income Tax เพื่อดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

จากนั้นประเด็นเรื่องปฏิรูปโครงสร้างภาษีก็มีเสียงตอบรับจากฟากฝั่งกระทรวงการคลังชัดเจนมากขึ้น

 

ล่าสุด นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่อัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ต่ำมานาน ทำให้สะสมปัญหา ซึ่งหลังจากโควิด ประเทศอื่นๆ กลับมาโตกันได้ดี แต่ไทยยังต่ำแค่ระดับ 1-2%

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหารายได้เพิ่ม ซึ่งแนวทางก็คือ “ปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่” เพื่อให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะมาลงทุนขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ เพราะปัจจุบันงบประมาณรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นงบฯ สวัสดิการ ไม่ใช่งบฯ ลงทุน

ปลัดคลังอธิบายว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากภาษีเพียง 14% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าต่ำมาก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะมีรายได้ภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 18-20% ต่อจีดีพี

เรื่องปฏิรูปโครงสร้างภาษี ต้องเป็นความกล้าหาญทางการเมือง

เพราะเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีก็ต้องดูจังหวะเวลาว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากโควิด แล้วแข็งแกร่งพอหรือยัง ไทม์มิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ต้องดูว่าถ้าขึ้นภาษีแล้วสามารถเยียวยาคนบางกลุ่มได้หรือไม่ ตอนนี้ให้การบ้านทีมงานไปทำแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี คาดว่าจะเสร็จและนำเสนอ รมว.คลังได้ก่อนสิ้นปีนี้

โดยแนวทางปฏิรูปจะมีตั้งแต่การปรับขึ้นภาษีการบริโภคหรือ VAT ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเก็บอยู่ 7% ตามกฎหมายสามารถขึ้นไปได้ถึง 10%

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยโครงสร้างแบบใหม่จะเป็นแบบอัตราเดียว (flat rate) “ยกเลิกภาษีแบบขั้นบันได้” พร้อมกับการยกเลิกรายการหักลดหย่อนภาษีทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดี เรื่องการขึ้น VAT ถือเป็นประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหลายคนมองว่าจะเป็นการสร้างภาระให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นด้วย

ปลัดคลังระบุว่า แม้คนรวยกับคนจนจะเสีย VAT อัตราเท่ากัน แต่ก็มีรูปแบบการบริโภคที่ต่างกัน และที่สำคัญแนวทางใหม่คนที่ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี คลังก็จะมีช่องทางที่จะคืนภาษีกลับไป

“อย่าไปกลัวภาษีการบริโภคมากนัก เพราะประเทศไทยมีกลไกการดูแลและชดเชยคนตัวเล็กเยอะ” นายลวรณกล่าว

โดยปลัดคลังชี้แจงเรื่องนี้ว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งจะเป็นผลมาจากการที่กระทรวงการคลังมีฐานข้อมูล ทั้งข้อมูลด้านภาษี ข้อมูลการรับสวัสดิการ ข้อมูลการเป็นหนี้ ข้อมูลเงินฝาก ครอบคลุมประชากรไทยประมาณ 60 ล้านคน เพื่อที่จะทำให้เข้าใจความเป็นอยู่ของประชาชน และแก้ปัญหาได้ตรงจุดขึ้น ขณะที่ปัจจุบันมีข้อมูลผู้ยื่นแบบภาษีในระบบ 11 ล้านคน และผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น

ดังนั้น หลักสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีคือ ทุกคนต้องยื่นแบบภาษี และถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ไปจ่ายภาษีกับกรมสรรพากร

ส่วนคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรือจำเป็นต้องได้รับสวัสดิการ ก็จะส่งกลับมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อจัดแพ็กเกจสวัสดิการที่เหมาะสมให้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเปิดลงทะเบียนทุก 1 ปี หรือ 2 ปี เพราะรัฐบาลจะมีข้อมูลจากการยื่นแบบภาษีอยู่แล้ว

และระบบนี้ก็จะช่วยให้การเบิกจ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการไม่เกิดความซ้ำซ้อนด้วย ซึ่งจะโยงไปเรื่อง NIT (negative income tax) ที่จะตอบโจทย์เรื่องการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ปลัดคลังอธิบายเพิ่มเติมว่า รูปแบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ปัจจุบันเป็นแบบขั้นบันไดจะต้องทบทวนใหม่ เพราะใช้มานานแล้วแต่ก็ไม่เห็นลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนลงได้ ดังนั้น เครื่องมือนี้ใช้ไม่ได้ เพราะมีการวางแผนภาษีได้มีค่าลดหย่อนสารพัด

โครงสร้างใหม่เมื่อปรับลดอัตราภาษีเป็นอัตราเดียว พร้อมกับการยกเลิกรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด เพื่อไม่ให้คนรวยมีความได้เปรียบ

ขณะเดียวกันยังต้องมีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) จากทรัพย์สินที่มีทะเบียน อาทิ บ้าน รถยนต์ ที่ดิน เงินฝาก เป็นต้น

รวมถึงภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) โดยอาจให้หักขาดทุนก่อนได้ คือแต่ละปีหักสุทธิแล้วมีกำไรค่อยเก็บภาษี

ถือเป็นการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งของคนรวย ซึ่งก็จะทำให้ได้เม็ดเงินมากขึ้น

สำหรับ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” ก็จะมีการปรับโครงสร้างด้วยเช่นกัน จากที่ไทยมีข้อตกลงของ OECD ไม่ให้เก็บต่ำกว่า 15% ก็มีการพิจารณากันว่าจะเก็บที่ 15% เลยดีไหม จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 20% ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนด้วย ซึ่ง 15% ถือเป็นอัตราต่ำที่สุด

“เรามีกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เราออกพระราชกำหนดไป ทำให้สรรพากรจะรู้หมดว่าใครมีรายได้ในต่างประเทศอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันเราก็ต้องส่งข้อมูลเงินได้ต่างชาติที่เกิดในประเทศไทยให้สรรพากรต่างประเทศด้วย มีการรับรู้ข้อมูลเงินได้จากทั่วโลก ก็จะนำมาสู่การเก็บภาษีได้ ใครมีเงินฝากอยู่เมืองนอกเท่าไหร่ แต่ตอนนี้รู้หมดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ซ่อนเงินแล้ว”

นายลวรณมั่นใจว่า นี่คือการปฏิรูปภาษีของจริงที่จะตื่นเต้น ไม่ใช่การปะผุเหมือนในอีตที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้สำเร็จออกมาก่อนเกษียณแน่นอน

 

ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน Sustainabillity Forum 2025 ว่าได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล

ภาษีที่มีส่วนสำคัญคือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องปรับให้สอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเก็บอยู่ที่ 7% จากเพดานที่เก็บได้ 10% ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศทั่วโลก ที่มีการเก็บภาษี VAT เฉลี่ย 15-20%

“เรื่อง VAT เป็นภาษีที่เก็บจากทุกคน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหว แต่ถ้าสามารถเก็บสูงขึ้นและเหมาะสม จะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลดลง เพราะคนรวยที่ใช้จ่ายมากก็ต้องเสียภาษีมากขึ้น ก็จะทำให้เงินภาษีกองกลางใหญ่ขึ้น ก็จะส่งกลับไปให้โอกาสกับคนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล สถานศึกษา” นายพิชัยกล่าว

ขณะเดียวกันก็สามารถนำเงินภาษีกองกลางไปสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้มีต้นทุนต่ำได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เรื่องการปรับโครงสร้างภาษี นอกจากปรับขึ้น VAT แล้ว ยังต้องมีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% ให้เหลือ 15% เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และแข่งขันกับชาวโลกได้ ซึ่งประเทศอื่นเขาก็ทำกัน

เรียกว่าเมื่อสัญญาณการเมืองที่พร้อมลุยชัดเจน ก็ทำให้แนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ถือเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องยากมีโอกาสเกิดขึ้นจริง