ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
โลกร้อน (Global Warming) เป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลกยุคใหม่ นั่นคืออุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยค่อยๆ สูงขึ้นจากผิวโลกขึ้นไป 10 ก.ม.
สาเหตุสำคัญคือกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์สร้างได้เพิ่มขึ้นๆ เป็นลำดับนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในทศวรรษ 1750 และภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 3-4 ทศวรรษ
ล่าสุดที่ก๊าซต่างๆ เพิ่มขึ้น เรียกรวมๆ ว่า ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) อันเกิดจากไฟฟ้า, ความร้อน และการคมนาคมขนส่ง ผลที่เกิดตามมาก็คือ ไฟป่าบ่อยครั้ง ภัยแล้งนานขึ้นในหลายพื้นที่, พายุรุนแรงขึ้น และปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคลื่นอากาศร้อนแรงขึ้น น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย และระดับน้ำในทะเลสูงขึ้น
น่าสังเกตว่าในรอบปีที่กำลังจะสิ้นสุดนี้ ปัญหาภัยน้ำท่วม พายุรุนแรง ภัยแล้ง เกิดมากขึ้นในทวีปต่างๆ ทั่วโลก
ภูเขาไฟฟูจีไม่มีหิมะในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นครั้งแรก
ฝนตกหนักและน้ำท่วมมากโดยเฉพาะที่แม่สาย, เชียงราย และเชียงใหม่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบร้อยปี
การเกิดฝนหลายครั้งในเดือนพฤศจิกายนที่เชียงใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในอดีต
และล่าสุดฝนตกหนักและน้ำท่วมหนักที่ภาคใต้ตอนล่างทั้งภาคในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
มี 2 เรื่องใหญ่เกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วมในปีนี้ในสังคมไทย คือ
หนึ่ง ฝนตกหนักยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มา ใน 2 ภาคของประเทศ คือเหนือตอนบนและใต้ตอนล่าง
และ สอง โคลนจำนวนมหาศาลสูงราว 2 เมตรที่มากับน้ำเข้าถล่มอำเภอแม่สาย และโคลนสูงประมาณ 2 คืบที่มากับน้ำปิงท่วมในเขต 3 อำเภอหลักของเมืองเชียงใหม่ (แม่ริม, อ.เมือง, สารภี)
แน่นอนว่า ความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในปีนี้แยกไม่ออกจากภาวะโลกร้อนที่กล่าวข้างต้น
ขณะเดียวกัน ภาวะน้ำท่วมรุนแรงก็ได้เกิดขึ้นอีกหลายประเทศในปีนี้ สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และปรากฏว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากปริมาณโคลนที่แม่สาย และเชียงใหม่ และน้ำท่วมใหญ่ที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เชียงราย และภาคใต้ ได้ทำให้ปัญหาที่มีมาระยะหนึ่งปรากฏแจ่มชัดมากขึ้นๆ
นั่นคือ จุดอ่อนสำคัญยิ่งของระบบการเมืองและการบริหารประเทศนี้ในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ประการแรก รัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และโครงสร้างดังกล่าวไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยตลอด 132 ปีมานี้ (2435-2567) แม้รัฐบาลช่วง 15 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 จะพยายามแก้ไขในบางมาตรการ แต่ก็มิอาจทำได้ด้วยหลายปัจจัย หลังอำนาจเก่าฟื้นตัว และกระแสอำนาจนิยม-อนุรักษนิยมหวนคืนตั้งแต่ พ.ศ.2500 มาเป็นลำดับและทวีความรุนแรงขึ้น รัฐรวมศูนย์อำนาจก็ยิ่งเข้มข้นกว่าเก่า
กรุงเทพฯ ใหญ่ขึ้นๆ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐไทย ดึงดูดผู้คน ทรัพยากรและความเจริญ ตลอดปัญหาต่างๆ มาไว้ที่นั่น กลายเป็น เอกนคร (เมืองโตเดี่ยว – Primate City) ที่ใหญ่โตทุกๆ ด้าน และแตกต่างจากเมืองอื่นๆ ในประเทศหลายสิบเท่า นับเป็นเอกนครระดับคลาสสิคโดยแท้
สาเหตุสำคัญก็คือ ระบอบอำนาจนิยมที่แข็งแกร่ง การสลับไปมาๆ ของระบอบรัฐบาลจากรัฐประหารกับรัฐบาลเลือกตั้ง และระบบการบริหารอำนาจที่รวมศูนย์อำนาจทุกๆ มิติ โดยเฉพาะการศึกษา ศาสนา และการบริหารทรัพยากรและงบประมาณ
จนกระทั่งในปลายทศวรรษที่ 2520 ที่ความเห็นเรื่อง “กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย” แรงขึ้นๆ สอดรับกับเทคโนโลยีอาคารสูงมีการพัฒนา บวกกับความรู้สึกของผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มอึดอัดกับสภาพและปัญหาของเมืองโตเดี่ยวของประเทศในเวลานั้น
จากนั้น นโยบายของรัฐและความเจริญแต่ละด้านก็หลั่งไหลไปสู่เมืองเชียงใหม่
ส่งผลให้ล่าสุด เชียงใหม่เติบโตกลายเป็น เมืองโตเดี่ยวระดับภาค (Regional Primate City) ที่แตกต่างจาก 20 กว่าอำเภอรอบๆ และจังหวัดรอบๆ ราวฟ้ากับดิน
มีสถาบันอุดมศึกษาถึง 11 แห่ง โรงเรียนนานาชาติราว 20 แห่ง มีนิคมอุตสาหกรรม (อยู่ลำพูนแต่ติดอำเภอสารภี) โรงเรียนมัธยมศึกษาชั้นดีเกือบ 10 แห่ง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางระบบราชการ เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรมทุกๆ ด้านและการท่องเที่ยวของภาค
ไม่ต่างอะไรกับกรุงเทพฯ-เมืองโตเดี่ยวระดับประเทศ และแน่นอน ผู้คนที่มีรายได้และแสวงหาโอกาสในชีวิตก็โยกย้ายไปสร้างบ้านที่ 2-3 หรือบ้านหลังแรกที่เชียงใหม่ และที่ราบอันเป็นเขตเกษตรอันอุดมรอบๆ เมืองและบนเขาทั้งใกล้และไกลก็ได้กลายเป็นบ้านพัก หมู่บ้านจัดสรร ร้านค้า ร้านอาหาร โรงเรียน โรงแรม หน่วยราชการ รีสอร์ต โรงงาน สนามกอล์ฟ วัดป่า ฯลฯ
ตัวอย่างในปี พ.ศ.2539 เชียงใหม่แย่งความเป็นศูนย์กลางหน่วยราชการของภาคเหนือไปจากลำปาง และมีหน่วยราชการส่วนกลางไปตั้งอยู่ถึง 196 หน่วย
และล่าสุด พ.ศ.2566 ตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 300 หน่วย
เทียบกับภาคอีสานกับภาคใต้ สภาวะของเมืองโตเดี่ยวระดับภาคของเชียงใหม่แจ่มชัดยิ่ง ขณะที่ภาคอีสานมีเมืองใหญ่หลายเมืองกระจาย ส่วนภูเก็ตก็เน้นความเป็นเมืองท่องเที่ยว
แต่เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทุกๆ ด้าน ขาดเพียง 2 อย่างที่หลายคนคงอยากให้เชียงใหม่มีคือ ชายทะเล กับหิมะบนยอดดอยอินทนนท์-ดอยหลวง
ประการที่ 2 รัฐที่รวมศูนย์อำนาจแข็งแกร่งมายาวนาน ผู้ว่าฯ แต่งตั้งส่วนใหญ่มาทำงานปี-2 ปี ก็ย้ายไปแทบทุกราย ยากจะมีเวลาตรวจสอบประสิทธิภาพและปัญหาของการทำงานของหน่วยราชการส่วนภูมิภาคได้ในเวลาสั้นเพียงนั้น
ประกอบกับตลอดมา การศึกษาของเราที่ทำภาคประชาสังคมให้อ่อนแอ ไม่ได้สอนนักเรียน นักศึกษา-บัณฑิตให้เข้าใจความสำคัญและผลกระทบของภาพรวมการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม
ศาสนาก็สอนให้ละทิ้งเสียทุกอย่าง (แต่ไม่ทิ้งการทำบุญและสร้างถาวรวัตถุ)
เมื่อระบอบการเมืองย้ายขั้วไปมาตลอด 6 ทศวรรษ ขาดความต่อเนื่อง และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หน่วยราชการส่วนภูมิภาคจึงมิได้ทำหน้าที่ที่จำเป็น
เช่น ผังเมืองให้ส่วนกลางทำ และไม่ลงมาดูแลปัญหาที่ท้องถิ่น ไม่แบ่งเขตที่อยู่อาศัยชัดเจน
เขตเกษตรกลายเป็นอย่างอื่น ลำน้ำถูกทับถม
การศึกษาไม่ใส่ใจเรื่องผังเมือง ป่าเขา ต้นไม้ใหญ่หายไปๆ โดยมีการปลูกทดแทนน้อยมากๆ แทบทุกป่า
ลิดรอนสิทธิของคนที่เคยอยู่ ป่าเขาจึงลดลง ใครที่ไหนจะมาโอบอุ้มดูดซับน้ำไว้ในแต่ละฤดู? แถมปล่อยให้เกิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หน้าดินถูกทำลายมีแต่โคลนถล่มลงมา
ทางหลวงมีแต่เพิ่มๆ เกิดวงแหวนมากมาย แต่ทางไหลของน้ำไม่ปรากฏ แม่น้ำลำคลองไม่มีการขุดลอกมากี่ปีแล้ว โรงเรียนในชนบทถูกยกเลิกสะท้อนท้องถิ่นที่อ่อนล้า แต่วัดกลับใหญ่ขึ้นๆ
รถไฟสยามเกิดก่อนใครในเอเชีย 103 ปีแล้วที่ทางรถไฟกรุงเทพฯ-เชียงใหม่หยุดนิ่งที่สันป่าข่อย ไม่คืบต่อไปถึงฝาง-แม่ฮ่องสอน-เชียงแสน-ลี้-เถิน-ตาก-น่าน, ความเร็วก็ไปอย่างช้าๆ
องค์กรปกครองท้องถิ่นมีงบประมาณ-อำนาจ-และบุคลากรจำกัด หน้าที่ส่วนภูมิภาคก็เอาไปทำเสียหมด
แทบทุกเมือง ระบบขนส่งมวลชนด้อยประสิทธิภาพอย่างที่สุด
ขณะที่บางกอกมีรถไฟฟ้าทันสมัย 8-9 สาย เชียงใหม่วันนี้ รถติดทั้งวัน มีแต่รถยนต์-มอเตอร์ไซค์ส่วนตัวและรถนักท่องเที่ยว ฯลฯ
หลายปีมานี้ เขื่อนได้ช่วยลำเลียงน้ำลงที่ลุ่มเป็นลำดับ ฝนตกน้ำท่วมจึงมีไม่มากนักที่ริมน้ำสายต่างๆ ที่ริมน้ำปิง ย่านฟ้าฮ่าม แก้วนวรัฐ บ้านเด่น และเจริญประเทศ ผลคือ การเติบโตของเมืองเชียงใหม่เกิดและขยายออกอย่างรวดเร็วในทุกทิศจากในเมืองสู่รอบนอกตลอด 3 ทศวรรษมานี้ ที่ดินสมบูรณ์เพื่อการเกษตรหดหายไป
และแล้วปีนี้ การสะสมทางปริมาณของโลกร้อนก็ส่งผลแล้ว นั่นคือเม็ดฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก
ผลออกมาอย่างฉับพลันนั่นคือ ปัญหาอันเกิดจากผังเมือง ถนน ทางหลวง ป่าไม้ที่สร้างการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ป่าไม้ที่ไร้ต้นไม้ใหญ่ ทั้งในเขตพม่าที่มีผลต่อแม่สายเกิดการถล่มของโคลนจำนวนมหาศาล
การปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่แม่ริม แม่แตง เชียงดาว ทำให้เกิดโคลน ลงสู่ที่ราบของเชียงใหม่แม้ไม่มากเท่ากับที่แม่สาย
อำนาจที่จำกัดและการขาดอุปกรณ์ทุกๆ ด้านที่ อปท.ไม่เคยได้รับการขยายบทบาทตลอดมา เพราะรัฐบาลกลางและหน่วยงานส่วนภูมิภาคควบคุมไว้อย่างมากมายาวนาน
ทั้งหมดนี้กลายเป็นปัญหาที่เราเห็นได้ทั้งที่แม่สาย เชียงราย รอบเมืองเชียงใหม่ และรอให้ 4-5 จังหวัดภาคใต้ที่กำลังน้ำท่วมใหญ่จะสรุปปัญหาอย่างไร ฯลฯ
ในการเสวนาเรื่อง “ท้องถิ่นกับการจัดการภัยพิบัติ” เมื่อ 29 พฤศจิกายน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิทยากรจากภาคประชาสังคม และภาควิชาการมีความเห็นร่วมกันว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจและบท บาทที่จำกัดตลอดมา
แทบทุกอย่างต้องรอคอยคำสั่งของรัฐบาลและราชการส่วนภูมิภาค ทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ต่างๆ และบุคลากร การจะประกาศว่าสถานการณ์ถึงขั้นไหน ท้องถิ่นก็ยังไม่มีอำนาจตัดสินใจ ฯลฯ
ปรากฏว่าในวันเดียวกัน มีการประชุม ครม.สัญจร ที่เชียงใหม่ ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สภาพัฒน์เสนอโครงการเร่งด่วนและระยะยาวของเชียงใหม่และเชียงราย วงเงิน 1.92 หมื่นล้านบาท ถือเป็นข่าวใหญ่ยิ่ง “เพื่อนำมาแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนใน 2 จังหวัด โดยเชียงใหม่ของบฯ แก้ไขถนนที่พังจากอุทกภัย ส่วนที่เชียงราย เป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง…” (มติชนรายวัน 1 ธันวาคม 2567 หน้า 13)
คำถามจึงมีว่า น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่แม่สาย ตัวเมืองเชียงราย และที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นเรื่องใหญ่มากที่สะท้อนความสลับซับซ้อนของมิติต่างๆ ของสังคมไทย แต่เหตุใดการพิจารณาปัญหาจึงมีเพียงข้อเสนอของสภาพัฒน์มามอบให้จังหวัดรับทราบและเสนอต่อ ครม.เช่นนี้ได้?
เหตุใดเรื่องใหญ่ขนาดนี้จึงขาดการประชุมพิจารณาจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ อปท. สถาบันการศึกษา-ศาสนา หน่วยราชการ ภาคธุรกิจ และองค์กรประชาชนทุกสาขาอาชีพ ฯลฯ และทำราวกับว่าซ่อมถนนเสร็จ ปัญหาเหล่านี้ก็จะได้รับการแก้ไข??
โลกพัฒนาไปมากและรวดเร็วยิ่ง ความรู้และความคิดของผู้คนประเทศนี้ก็ไปไกลมาก แต่เหตุใดเราใช้เวลาแสนสั้นเพื่อพินิจพิจารณาโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยเฉพาะภัยพิบัติที่พี่น้องจากเหนือและใต้ที่ได้ประสบมาและกำลังประสบ??
ภัยน้ำท่วมใหญ่ใน 2 ภาค ภัยโคลนถล่ม จากโลกร้อนถึงเมืองโตเดี่ยว และระบบการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจที่มีผลต่อทุกๆ ท้องถิ่น
วันนี้ ได้เวลาที่สังคมไทยจะต้องเปิดหูเปิดตารับฟังและร่วมกันถกปัญหาและเสาะหาทางออกกันอย่างจริงจัง
แนวทางแรก ได้แก่ โลกที่ร้อนขึ้น ฝนมากขึ้น ชาวโลกจะมีส่วนลดทอนปัญหาได้อย่างไร การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรื้อฟื้นผืนป่าต้องเป็นงานเร่งด่วน การปฏิรูประบบคมนาคมขนส่งในระดับประเทศ จังหวัดและท้องถิ่น จัดการศึกษาในโรงเรียนและเทศนาในองค์กรศาสนา การประชาสัมพันธ์ของรัฐและเอกชนเพื่อให้สังคมโดยรวมได้ตระหนักในปัญหาและผลกระทบของโลกร้อน และมาตรการแก้ไขรูปธรรม แน่นอน ไม่ใช่เพิ่มแต่ทางหลวง รถส่วนตัว แต่เน้นระบบขนส่งสาธารณะ เน้นการปลูกป่า และปลูกต้นไม้ในเมือง ทั้งต้องลงมือทำอย่างจริงจัง
แนวทางที่สอง การปฏิรูประบบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและผลที่ได้เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นต่อไป และระบบการเตือนภัยไปสู่ทุกๆ หน่วยงานและทุกๆ ระดับ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องทันเวลาทั้งในการเตรียมการและการแก้ไขแต่ละปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้คนจำนวนมากไม่รู้หรือได้รับข้อมูลผิดๆ
แนวทางที่สาม ยุติระบบการเมืองที่ล้าหลัง ยุติการใช้กลุ่มเพื่อขับไล่และลงโทษรัฐบาลเลือกตั้งและนักการเมืองแทนประชาชน ยุติการใช้อำนาจแทรกแซงทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและฉีกรัฐธรรมนูญ ที่ได้ทำมารวม 13 ครั้ง นับแต่ พ.ศ.2490 ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายมีมติร่วมกันที่จะเคารพและเทิดทูนหลักการประชาธิปไตยและหลักการนิติรัฐอย่างเคร่งครัด นั่นคือ ให้รัฐประหารในปี พ.ศ.2557 เป็นครั้งสุดท้ายของประเทศนี้ ขอให้รัฐไทยมีระบอบการปกครองที่ทันสมัยเช่นนานาอารยประเทศ มีการเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี ไม่มีการแทรกแซงจากองค์กรภายนอกใดๆ อีก ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบการบริหารชัดเจน มั่นคง แก้ไขเร็ว
แนวทางที่สี่ รัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจที่ยาวนานเกินไป ไม่ทันสมัยกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ต้องลดขนาดของระบบราชการโดยเฉพาะส่วนภูมิภาคที่ทับซ้อนและครอบงำท้องถิ่นไว้ ให้การศึกษาเป็นของท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ใช่ครอบงำด้วยกระทรวงที่ผ่านมา มีแต่แนวคิดด้านเทคนิค แต่ไม่เคยสนใจกระจายอำนาจการศึกษาให้ท้องถิ่น และสถาบันศาสนาก็ไม่ถูกควบคุมจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา
บัดนี้ ได้เวลาที่หัวหน้าคณะรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ได้ปราศรัยหาเสียงเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ลงมือทำตามที่เคยประกาศไว้คือ จัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดใหญ่ๆ ก่อน เช่น โคราช นนทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ และภูเก็ต ฯลฯ
และเพิ่มอำนาจและบทบาทของ อปท. ทั้ง 3 ระดับคือ อบต. เทศบาล และ อบจ. ทีละขั้น เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลาง เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยราชการส่วนภูมิภาคและ อปท.
และเพื่อเสริมสร้างบทบาทพลเมืองเข้มแข็งของประชาชนในทุกๆ จังหวัดในการดูแล รักษา และพัฒนาท้องถิ่นของเขาให้เจริญมากขึ้นเป็นลำดับ
หากคนท้องถิ่นในทุกๆ พื้นที่ไม่มีโอกาสและแสดงความสามารถในการดูแลและพัฒนาท้องถิ่นของเขา แล้วเราจะหวังให้ใครเล่าไปหวงแหน ดูแล และพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ??
แนวทางที่ห้า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างมีขั้นตอนจะมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมกรุงเทพฯ มิให้ใหญ่โตไปยิ่งกว่านี้ และเช่นเดียวกัน นโยบายสร้างเชียงใหม่หรือจังหวัดอื่นๆ ให้เป็นเมืองโตเดี่ยวระดับภาคก็ต้องสิ้นสุดลง เพื่อให้ความเจริญกระจายตัวออกไปสู่จังหวัดอื่นๆ
แนวทางที่หก ในระยะผ่านที่หน่วยราชการส่วนภูมิภาคยังคงมีบทบาทในหลายๆ จังหวัด ภาคประชาสังคมจะต้องผลักดันการทำงานของหน่วยราชการทั้งหลาย เช่น ฟื้นผืนป่าอย่างเป็นรูปธรรม ให้พี่น้องที่อยู่บนผืนป่ามายาวนานในอดีตมีอำนาจในการดูแลรักษาและเร่งฟื้นฟูป่าและต้นน้ำลำธาร ยุติการปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนเขาเพื่อป้องกันดินโคลนถล่ม, มีการขุดลอกแม่น้ำลำคลองอย่างต่อเนื่อง
ชีวิตของคนไทยอยู่กับน้ำตลอดมา ท้องถิ่นจึงต้องจัดระบบทางเดินของน้ำให้ชัดเจน ยกเลิกการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ทั้งในเมืองในป่า และสุดท้าย ชาวเมืองต้องปลูกต้นไม้ และรณรงค์ให้เกิดระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพในทุกๆ จังหวัดและท้องถิ่น
รื้อฟื้นระบบรถไฟรถราง และลดทอนระบบยานพาหนะส่วนตัวให้เหลือน้อยลงๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022