เผยแพร่ |
---|
ดูเหมือนว่าการเมืองไทยมีเงื่อนไขที่ทำความเข้าใจได้ยากขึ้น
ก่อนหน้านั้นชัดเจนว่าเป็นการช่วงชิงอำนาจระหว่างที่เรียกว่า “พรรคการเมือง” กับ “พรรคข้าราชการ”
“พรรคการเมือง” ซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่นายทุน นักธุรกิจ จนถึงประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจบริหารจัดการประเทศ
“พรรคข้าราชการ” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทำโดยทหาร โดยกองทัพ มีข้าราชการกระทรวงต่างๆ และพนักงานรัฐวิสาหกิจให้การสนับสนุน
ที่มาของอำนาจไม่มีความซับซ้อน “พรรคการเมือง” อาศัยอำนาจประชาชนกาบัตรเลือกเข้า
ส่วน “พรรคข้าราชการ” อาศัยการทำรัฐประหาร ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ
สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามามีบทบาทดูแลผลประโยชน์ของประเทศ เวียนกันเป็นวงจร
จริงอยู่ว่าเพราะประเทศเราเลือกประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่า “ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” ทำให้ความชอบธรรมของการ “รัฐประหาร” ไม่มีมากนัก
และเหตุนี้จึงทำให้ “พรรคข้าราชการ” พยายามเปลี่ยนวิธีเข้าสู่อำนาจโดยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ซึ่งที่สุดแล้วล้มเหลว พ่ายแพ้จาก “พรรคการเมือง” ของกลุ่มประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่
กระทั่งถึง “ยุคแช่แข็งประเทศ” เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อนัด “กลไกอำนาจ” ไปจัดการพรรคการเมือง จึงทำให้ “พรรคข้าราชการและผู้สนับสนุน” สืบทอดอำนาจมาได้
แม้ครั้งที่ผ่านมาจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งยับเยิน แต่กลไกที่ยัดไว้ในรัฐธรรมนูญยังมีประสิทธิภาพ ให้การควบคุมโครงสร้างอำนาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก สามารถควบคุมให้เกิดการพลิกขั้วของพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนให้มายืนอยู่ฟากพรรคข้าราชการได้
แม้จะขัดเคืองใจคนในฝ่ายเดียวกันแต่การทำให้รับรู้ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
เพราะถึงวันนี้สภาพของการยอมจำนนว่าเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ได้รับการรับรู้โดยทั่วกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้จะรับรู้ถึงภาวะยอมจำนน แต่ความพยายามที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับดูจะยังไม่ประสบความสำเร็จนัก
สัญญาณหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” เชื่อมั่นและปรารถนาการให้เกียรติให้คุณค่ากับอำนาจประชาชน นั่นคือการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาปลดล็อกให้ “อำนาจประชาชน” กลับมาเป็นหลัก
“ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง” ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของการเอา “กลไกอำนาจแช่แข็งประเทศ” เข้าไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด “นิด้าโพล” ทำสำรวจเรื่องนี้ “ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง”
เมื่อถามถึงการมีสิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากพบบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 81.37 ระบุว่า ประชาชนควรจะมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง, ร้อยละ 16.42 เห็นว่าไม่ควรจะมี และร้อยละ 2.21 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ในคำถามเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 61.30 ระบุว่า ควรมีการลงโทษด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การยุบพรรค, ร้อยละ 36.10 เห็นว่า ควรมีการลงโทษยุบพรรค และร้อยละ 2.60 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 39.54 เห็นว่า ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง เฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น, ร้อยละ 31.68 เห็นว่าควรลงโทษด้วยวิธีอื่นเฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น, ร้อยละ 19.31 ควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด, ร้อยละ 6.26 ควรลงโทษด้วยวิธีอื่นกับกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด
และร้อยละ 3.21 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
จากผลสำรวจนี้ชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการตัดสินการจัดการกับพรรคการเมือง ต้องการแก้ไขกติกาเกี่ยวกับการลงโทษด้วยมุ่งด้อยค่า และทำลายพรรคการเมือง
ผลโพลนี้สะท้อนว่าประชาชนยังยืนหยัดที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ “พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นว่าการให้เกียรติและให้คุณค่ากับพรรคการเมืองควรจะเป็นแบบไหน
แต่ “กลไกที่ออกแบบยัดไว้ในรัฐธรรมนูญ” นับวันยิ่งชัดเจนว่า ยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ประชาชนส่วนใหญ่ทำได้แค่นั่งมอง “โครงสร้างอำนาจที่ไม่ชอบมาพากล” นั้น ตาปริบๆ
ด้วยตระหนักถึงสภาวะหมดหนทางที่จะทำให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022