ฐากูร บุนปาน : จิตใจจดจำวนเวียนเหตุการณ์สารพัดที่เกิดขึ้นก่อน 14 ตุลาคม 2516

อย่างที่โบราณท่านว่าไว้ละครับ

พออายุอานามมากขึ้น เรื่องข้างหลังที่สั่งสมไว้ก็รุงรังมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่เรื่องข้างหน้าก็เหลือน้อยลง

คนแก่ถึงชอบเล่าเรื่องเก่า

เข้าใจว่าเพื่อปลอบใจตัวเองที่มองไม่เห็นอนาคต

หรือเห็นแล้วกลัว

ฮา

รําพึงรำพันขึ้นมาเพราะว่าสองสามวันที่ผ่านมานี้ ไม่รู้ทำไมจิตใจถึงไพล่ไปจดจำวนเวียนอยู่แต่เหตุการณ์สารพัดที่เกิดขึ้นก่อน 14 ตุลาคม 2516

เอาตั้งแต่เรื่องชาวบ้านต่อแถวซื้อข้าวสาร ที่รัฐบาลประกาศ “จำกัด” การซื้อ ว่าได้บ้านละไม่เกินกี่ถังต่อสัปดาห์ต่อเดือน

ถึงขนาดร้านขายข้าวสารต้องมีบัญชีจดเอาไว้เลย ไว้สำหรับให้เจ้าหน้าที่มาตรวจ

ต่อด้วยเรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร

ที่ลูกชายคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองขณะนั้นขนพวกพ้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของหลวง ในข้ออ้างว่าจะไปตรวจราชการจังหวัดกาญจนบุรี

แต่ขากลับเฮลิคอปเตอร์ดันตกกลางทางแถวนครปฐม

ซากสัตว์สงวนสัตว์ป่าที่ถูกล่ามากระจัดกระจาย

ในจำนวนคนเจ็บมีดาราสาวชื่อดังของยุคนั้นรวมอยู่ด้วย

ตรวจราชการประสาอะไรไม่ทราบได้

ชาวบ้านที่อึดอัดทั้งจากเรื่องการเมือง (เพราะอยู่ใต้ระบบเผด็จการมากว่า 10 ปี)

จากเรื่องเศรษฐกิจ (ข้าวยากหมากแพงถึงขั้นต่อคิวซื้อข้าวสาร)

ก็เลยวิพากษ์วิจารณ์กรณีทุ่งใหญ่กันอย่างเอิกเกริก

ขนาดสมัยนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย

คนใหญ่คนโตทั้งหลาย (รวมทั้งสมุนที่ออกมาช่วยปกช่วยปิด) ก็ได้รับพรชยันโตจากชาวบ้านไม่เว้นแต่ละวัน

คุ้นๆ ไหม

และก่อนจะเกิดเหตุการณ์ “13 กบฏประชาธิปไตย” ที่ออกเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (และการเลือกตั้ง) แล้วถูกจับ

ประวัติศาสตร์บอกเล่าตอนหนึ่งบอกว่า

ในการประชุมกันแถวกระทรวงข้างคลองหลอด

หนึ่งในสามของผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมืองขณะนั้น เปรยๆ ออกมาว่า

ที่บ้านเมืองยุ่งเหยิงวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากคนไม่กี่คนเท่านั้น

ถ้าทำให้ “หายไป” สัก 20,000 คน บ้านเมืองคงสงบเรียบร้อย

เดชะบุญที่ปรารภนั้นไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง

เพราะแค่จับ 13 คนไปคุมขัง

ที่ตามมาก็คือนักศึกษา-ประชาชนนับล้านออกมาเดินขบวนโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ

ท่านที่ปรารภแบบนั้นต้องนิราศร้างจากบ้านเกิดเมืองนอนไปในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังเหตุการณ์ปะทุ

นี่ก็คุ้นๆ อีกเหมือนกัน

ใช่ไหม?

นึกอะไรคมๆ ที่จะจบ-ตบท้ายไม่ได้

ก็ขออนุญาตใช้วิชาครูพักลักจำดื้อๆ อีกหน

ตัดตอนข้อเขียนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์นี่ละครับ ฉบับ 21 กันยายน 2560

ที่อาจารย์เขียนเรื่องประวัติศาสตร์

ตอนทิ้งท้ายนั้น อาจารย์เขียนไว้ว่า

“ผมจึงคิดว่า แม้แต่คนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ก็อย่าไปเรียกร้องอะไรกับหัวหน้าคณะรัฐประหารเลย

เพราะเขาไม่ได้มีเสรีภาพหรืออำนาจมากพอจะทำตามใจผู้เรียกร้องได้

ยิ่งอะไรที่ยากๆ ก็ยิ่งไม่น่าเรียกร้อง อย่าลืมว่าความชอบธรรมเพียงอย่างเดียวของคณะรัฐประหาร ก็คือพรรคพวกของคณะรัฐประหาร หัวหน้าไม่ได้กินเหล็กกินไหลมาจากไหน

โดยปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป จะให้เขาลุยไปคนเดียวหรือกลุ่มเดียวได้อย่างไร

นี่แหละครับบริบททางประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญมาก สำคัญเสียจนประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอยเลย ไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในบริบทเดิมได้อีก

(เหมือนเราเดินลงแม่น้ำสายเดียวกันสองทีไม่ได้ เพราะน้ำที่ลงในทีแรกได้ไหลเลยไปแล้ว)

ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยได้ก็ต่อเมื่อเราไม่คำนึงถึงบริบท หรือไปเชื่อว่าประวัติศาสตร์มีสัจจะนิรันดรบางอย่างแฝงอยู่

…ดังนั้น ตราบเท่าที่คิดว่า ประวัติศาสตร์ถูกกำหนดขึ้นจากการตัดสินใจของบุคคลโดยอิสระ

ตราบเท่าที่คิดว่า จะรักษาทุกอย่างให้เหมือนอดีตไว้ให้มากที่สุด

ตราบเท่าที่คิดว่า จะใช้อำนาจเท่าที่ตนมีดำรงรักษาอดีตไว้ไม่ยอมให้เปลี่ยน

ตราบนั้นอดีตย่อมซ้ำรอยเสมอ

และตราบนั้นย่อมนำสังคมไปสู่หายนะ”

ตามนั้นละครับ