Amamata the First Mom สำรวจบทบาทของเพศหญิง ผ่านตำนาน อมมาตะ แม่คนแรกของชาวอาข่า ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Amamata the First Mom

สำรวจบทบาทของเพศหญิง

ผ่านตำนาน อมมาตะ แม่คนแรกของชาวอาข่า

ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024

 

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินอีกคนที่ร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า บู้ซือ อาจอ (Busui Ajaw)

ศิลปินชาวอาข่า กลุ่มชาติพันธุ์จากที่ราบสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอเกิดที่เมืองท่าขี้เหล็ก ในรัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศพม่า เธอถูกบังคับให้ต้องอพยพลี้ภัยสงครามพร้อมกับครอบครัวของเธอตั้งแต่ยังเด็ก โดยเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงราย

เธอเป็นศิลปินที่ไม่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันแห่งไหน หากแต่เธอหัดวาดภาพด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมของครอบครัวช่างฝีมือ และวัฒนธรรมมุขปาฐะ (วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อเรื่องราวด้วยการบอกเล่าปากเปล่าเป็นหลัก) เธอพัฒนาแนวทางการทำงานที่สื่อสารถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิต จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของชาวอาข่าอย่างลึกซึ้งและทรงพลัง

รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ความเป็นผู้หญิง และความเป็นแม่ในสังคมร่วมสมัย ผ่านผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และผลงานศิลปะจัดวางของเธอ

Amamata the First Mom (2024) ภาพจาก BACC

บู้ซือ อาจอ พำนักและทำงานอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย เธอมีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการสำคัญๆ อย่าง Mother : Amamata (เอ็นซีเอ | หอศิลป์ร่วมสมัยนิชิโดะ โตเกียว ญี่ปุ่น (2023,) มหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย (2023) และสิงคโปร์เบียนนาเล่ (2020)

การทำงานศิลปะของบู้ซือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในรูปแบบคล้ายอัตชีวประวัติ ผสานกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และตำนานมุขปาฐะของชาวอาข่า ที่เล่าขานสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ ผ่านบทเพลงและการบอกเล่าปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น ของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน

ในขณะที่งานของบู้ซือ ในมหกรรมศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 อย่าง Mor Doom and Ya Be E Long (2023) (ม้อดุ่ม (โลงศพ) และ อะเพมิแย ตำนานด้านมืด พระเจ้าผู้สร้างโลกของชาวอาข่า) นั้น เป็นการพูดถึงโลงศพ พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย และการเดินทางไปยังโลกหน้าของชาวอาข่า

หากในทางกลับกันผลงานในชุด Amamata the First Mom (2024) ของเธอในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ กลับพูดถึงการถือกำเนิดหรือความเป็นแม่ของชาวอาข่านั่นเอง

Amamata the First Mom (2024) ภาพโดย จิราภรณ์ อินทมาศ

ผลงานของบู้ซือที่จัดแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นการเทิดทูนความเป็นผู้หญิง ใช้เรื่องเล่าอันทรงพลังที่มาจากคติชาวบ้านของชาวอาข่า เกี่ยวกับ อมมาตะ (Amamata) แม่คนแรกของชนเผ่าอาข่า ซึ่งเป็นที่ยกย่องบูชา เสมือนหนึ่งเทพเจ้าของการเจริญพันธุ์และการให้กำเนิดบุตร ด้วยเรื่องเล่าที่ว่านี้ บู้ซือสำรวจแก่นความคิดเรื่องความเป็นแม่ สายสัมพันธ์กับบรรพบุรุษ ตลอดจนความเข้มแข็งและความสามารถในการฟื้นตัวของผู้หญิงชาวอาข่า เชื่อมโยงกับบทบาทของผู้หญิงในครอบครัวในยุคปัจจุบัน ที่ผู้เป็นแม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากซับซ้อนของชีวิตครอบครัว ได้อย่างแนบเนียน

ในตำนาน อมมาตะ คือแม่คนแรกของชนเผ่าอาข่า ในยุคเริ่มต้นของโลก ที่สิ่งต่างๆ ยังมีปรากฏขึ้น บู้ซือหลอมรวมแนวคิดของอมมาตะเข้ากับวิถีชีวิตของผู้หญิงชาวอาข่า

อมมาตะดำรงตนในฐานะผู้พิทักษ์ปกปักรักษาผู้หญิงและเด็กๆ บางครั้งเธอใจดีและน่าเคารพบูชา แต่บางครั้งเธอก็น่าเกรงขามและเต็มไปด้วยโทสะ ดังเรื่องเล่าที่ว่า เธอฆ่าและกินสามีของเธอทั้ง 6 คน ไม่ต่างอะไรกับสิ่งมีชีวิตเพศเมียบางชนิด ที่มักจับเพศผู้กินเป็นอาหาร ผลงานชุดนี้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเพศหญิงและความเป็นแม่ในแง่มุมต่างๆ

“งานชุดนี้ฉันเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่คนแรกของชนเผ่าอาข่า ซึ่งเป็นยักษ์ที่มีชื่อว่า แม่อมมาตะ ในตำนานมีผู้ชาย 7 คน ไปขอเมล็ดพันธุ์ผู้หญิง ในยุคสมัยต้นกำเนิดนั้น เทพกับผีจะอยู่ร่วมกัน และเทพจะเป็นผู้มอบเมล็ดพันธุ์ผู้หญิง แต่คนอาข่าเดินทางไปถึงสาย เทพเลยไม่มีเมล็ดพันธุ์เหลือให้ เทพก็เลยบอกว่า เวลาเดินทางกลับบ้าน ให้ร้องเพลงไปตลอดทาง และถ้าเจอตัวอะไรก็ให้จับเอาไว้ นั่นจะเป็นเมล็ดพันธุ์ผู้หญิงของชาวอาข่า”

“ในขณะที่ชาวอาข่าร้องเพลงเสียงดังในป่าขณะกำลังกลับบ้าน แม่ยักษ์อมมาตะได้ยินเสียงมนุษย์ ก็ออกมาจะจับกิน คนอาข่าก็จับตัวแม่ยักษ์เอาไว้ยัดใส่ถุงย่ามซึ่งเย็บติดกับกระโปรงของชาวอาข่าและเอาตัวกลับบ้าน แม่ยักษ์ก็คลอดลูกออกมาเป็นหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งผี ทั้งคน และสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดอื่นๆ ซึ่งชาวอาข่าเชื่อว่าทั้งคนและผี เป็นพี่น้องกัน คือเป็นลูกของแม่อมมาตะ”

Amamata the First Mom (2024) ภาพโดย จิราภรณ์ อินทมาศ

“งานชุดนี้ของฉันพูดถึงพลังของผู้หญิงอย่าง แม่อมมาตะ ซึ่งในตำนานเธอจับสามีทั้ง 6 คนของเธอกินจนหมด เหลือเอาไว้เพียงคนเดียว เพราะเธอเป็นยักษ์ ทำให้เธอเป็นผู้หญิงคนแรกของชาวเผ่าอาข่า ดังนั้น เวลาสร้างบ้าน ชาวอาข่าจะสร้างแยกระหว่างบ้านของผู้หญิงกับผู้ชาย ไม่ให้นอนร่วมกัน เพราะกลัวภรรยาจะจับสามีกินเหมือนแม่อมมาตะ เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในตำนานของชาวอาข่า แต่ไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเหลือเอาไว้ เพราะชาวอาข่าเอาหนังควายที่บันทึกเป็นตัวหนังสือเอาไว้ไปปิ้งกินจนหมด ชาวอาข่าจึงไม่มีภาษาเป็นของตัวเอง แต่ใช้การบอกเล่าต่อๆ กันมา ส่วนชาวอาข่าในปัจจุบันใช้ตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่เรียนมาจากหมอสอนศาสนาคริสต์”

ในงานชุดนี้ ยังมีผลงานชิ้นหนึ่งของเธอที่ทำขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์แผ่นดินถล่มจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเธอจินตนาการถึงพระแม่ธรณีที่กำลังโกรธเกรี้ยวอยู่ ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะเห็นว่าบนตัวผลงานชิ้นนี้ยังมีร่องรอยคราบดินโคลนจากเหตุการณ์น้ำที่ท่วมปรากฏหลงเหลือให้เห็นอยู่บนภาพวาดอีกด้วย

“ตอนที่ฉันกำลังทำงานชุดนี้อยู่ เกิดน้ำท่วมหนักไหลเข้ามาในบ้านที่ฉันกำลังทำงาน จนฉันต้องรีบหนีออกมา พอน้ำลดลงและฉันกลับไปดูงาน ฉันเห็นว่าบนตัวภาพยังมีรอยของน้ำท่วมเป็นคราบโคลนหลงเหลืออยู่ ฉันจึงปล่อยคราบดินโคลนให้หลงเหลือเอาไว้เพื่อให้เห็นร่องรอยของเหตุการณ์ที่ว่านี้”

Ajaw, Ama Mijapu (mother’s kitchen) (2024) ภาพจาก BACC
Ajaw, Ama Mijapu (mother’s kitchen) (2024) ภาพจาก BACC

นอกจากตำนานของแม่อมมาตะแล้ว ในงานชุดนี้ของบู้ซือ ยังมีผลงานที่ชื่อ Ajaw, Ama Mijapu (mother’s kitchen) (2024) ซึ่งเป็นผลงานศิลปะจัดวางที่บู้ซือยกครัวของชาวอาข่า ที่จำลองจากครัวของแม่ของเธอ มาตั้งอยู่ในพื้นที่แสดงงานในหอศิลป์ เพื่อบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้หญิงชาวอาข่าในสังคมชายเป็นใหญ่นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

“ถ้าคุณมองเข้าไปในครัว จะเห็น ‘แพดี’ กระโปรงของผู้หญิงชาวอาข่าแขวนอยู่ รวมถึงอุปกรณ์ครัวต่างๆ อย่างหม้อข้าวของแม่ที่ฉันเห็นมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ผลงาน (ศิลปะจัดวาง) ชุดนี้ของฉันเป็นการอนุรักษ์ครัวของชาวอาข่าเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น”

ที่สำคัญ เรื่องราวของ อมมาตะ แม่คนแรกผู้ให้กำเนิดของชนเผ่าอาข่าในผลงานของ บู้ซือ อาจอ ก็สอดคล้องกับธีมหลักของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในครั้งนี้อย่าง “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเทพี ไกอา ในตำนานเทพปรณัมกรีก หรือพระแม่ธรณี ผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันสอดประสานกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ อย่างแนบแน่นกลมกลืนอย่างยิ่ง จริงๆ อะไรจริง!

Ajaw, Ama Mijapu (mother’s kitchen) (2024) ภาพโดย จิราภรณ์ อินทมาศ

ผลงาน Amamata the First Mom ของ บู้ซือ อาจอ จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ณ พื้นที่แสดงงาน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ 10:00-20:00 น. ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก BAB2024, BACC •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์