สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [5] แล่นเรือข้ามอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย

เส้นทางการค้าระยะไกลทางทะเลเพื่อการซื้อขายทองแดงกับลุ่มน้ำโขง ทำให้ภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ได้ชื่อ “สุวรรณภูมิ” แล้วส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวเติบโตเป็นการค้าโลก

การขยายตัวของการค้าโลก ทำให้มีพ่อค้าจากแดนไกลเดินทางเข้ามาสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์มากขึ้น ทั้งประเภทของพ่อค้า, วัฒนธรรมที่พ่อค้าสังกัด และจำนวนของพ่อค้านักเดินทาง

บทบาทสำคัญของภูมิภาคนี้ในการค้าโลก นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยอธิบายไว้ มีดังนี้

1. เป็นศูนย์กลางการค้าที่สินค้าจากจีนและอินเดียจนถึงตะวันออกกลาง เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

2. เป็นแหล่งกำเนิดและส่งเข้าสู่ตลาดซึ่งสินค้าพื้นเมืองที่สำคัญ คือ ของป่า, ดีบุก, ตะกั่ว, เครื่องเทศ และอาหารไม่สู้มากนักสำหรับตลาดภายในภูมิภาค

การขยายตัวของการค้าดังกล่าวทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของการค้าภายในระหว่างรัฐต่างๆ จึงมีการกระจายของวัฒนธรรมไปกว้างขวางกว่าอำนาจทางการเมืองของรัฐ ในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐมีกำลังทั้งทางโภคทรัพย์และกำลังคนเพิ่มขึ้น จนทิ้งสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้เห็นได้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ (ในนามวัฒธรรมทวารวดี)

การค้าโลกขยายตัวสัมพันธ์กับความรู้เรื่องลมมรสุมและเส้นทางการเดินเรือ ตามที่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ตรวจสอบไว้ดังต่อไปนี้

 

ในมหาสมุทรมีลมมรสุม

หลัง พ.ศ.1000 การเดินเรือในพื้นที่อ่าวเบงกอลเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะมีหลักฐานว่าไม่ใช่การเดินเรือเลียบชายฝั่ง (เหมือนก่อนหน้า) แต่เป็นการเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทร ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์เรื่องลมมรสุม

บันทึกของหลวงจีนอี้จิงเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการเดินเรือตัดข้ามอ่าวเบงกอลมหาสมุทรอินเดียด้วยลมมรสุม

พ.ศ.1216 อี้จิงจึงเดินทางจากจีนโดยเรือแล่นเลียบชายฝั่งไปรัฐหมู่เกาะ (ในเขตอินโดนีเซีย) แล้วต่อไปยังชมพูทวีป คืออินเดีย ระหว่างทางแวะพักที่ “เกาะคนเปลือย” คือหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่กลางอ่าวเบงกอล ก่อนจะมุ่งตรงไปยังเมืองตามรลิปติ (อ่านว่า ตาม-มะ-ระ-ลิ-ปะ-ติ) อันเป็นเมืองท่าสำคัญที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคาในอินเดีย

หมายความว่าเรือของหลวงจีนอี้จิงไม่ต้องเสียเวลาเลียบชายฝั่งเหมือนสมัยก่อน แต่ได้แล่นเรือตัดข้ามมหาสมุทร โดยแวะพักเติมน้ำจืดและเสบียงที่หมู่เกาะนิโคบาร์

ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าค้นพบลมมรสุมที่ใช้เดินเรือตัดข้ามมหาสมุทรในอ่าวเบงกอลเมื่อไหร่แน่? แต่เทคโนโลยีการเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทร ย่อมสัมพันธ์อยู่กับช่วงเวลาที่ศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียแพร่กระจายเข้ามาอุษาคเนย์ในช่วงหลัง พ.ศ.1000

ดังนั้น เทคโนโลยีการแล่นเรือข้ามมหาสมุทรในอ่าวเบงกอล จึงสัมพันธ์กับการเข้ามาถึงอุษาคเนย์ของตัวอักษร, ภาษา, วัฒนธรรม, ศาสนา ฯลฯ จากอินเดีย

(จากคอลัมน์ On History โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจิรญ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 สิงหาคม 2562 หน้า 82)

แผนที่แสดงเส้นทางการค้าเริ่มแรกระหว่างอินเดีย-อุษาคเนย์-จีน (เส้นสีแดง-สีดำ) เลียบชายฝั่ง (เส้นสีฟ้า) เส้นทางแสวงบุญของหลวงจีนอี้จิง แล่นข้ามมหาสมุทร (เส้นสีเหลือง) เส้นทางข้ามมหาสมุทรของการค้าโลก

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ จะมีลมตะวันตกเฉียงใต้ปรากฏอยู่บริเวณแถบศูนย์สูตรเป็นบริเวณเกือบครึ่งรอบโลก คือตั้งแต่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา ไปทางตะวันออกจนถึงหมู่เกาะมาเรียนาในมหาสมุทรแปซิฟิกและทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์

ลมนี้มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงในซีกโลกใต้ ในมหาสมุทรอินเดียและทวีปออสเตรเลีย เมื่อพัดข้ามเส้นศูนย์สูตรแล้วจะเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้น กำลังแรงของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงมีความสัมพันธ์กับความแรงของความกดอากาศสูงในซีกโลกได้ที่บริเวณดังกล่าว

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นี้จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงปลายเดือนกันยายน ยกเว้นทางภาคใต้ของประเทศซึ่งจะเริ่มประมาณต้นเดือนพฤษภาคมและไปสิ้นสุดราวกลางเดือนตุลาคม

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นฤดูฝนในประเทศไทย เนื่องจากลมนี้ได้พัดเอาความชุ่มชื้น (มีไอน้ำมาก) เข้าสู่ประเทศ จึงทำให้มีเมฆมากและมีฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายฝั่งทะเล และตามภูเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่นๆ

[จากหนังสือ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2545 หน้า 139-140]

 

ค้นพบครั้งแรกลมมรสุม

ความเข้าใจเรื่องลมมรสุมประจำฤดูกาลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ค้นคว้าไว้ดังนี้

Periplus Maris Erythraei อ้างว่าช่วงปลายศตวรรษของ พ.ศ.500 ชาวโรมันเชื้อสายกรีกคนหนึ่งชื่อฮิบปาลุส ได้ค้นพบกระแสลมมรสุมที่พัดตรงไปมาระหว่างทะเลแดงกับชมพูทวีป ในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน ลมมรสุมที่ว่าภายหลังเรียกชื่อว่า “ลมมรสุมฮิบปาลุส” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

[Periplus Maris Erythraei (Periplus of The Erythrean Sea คือบันทึกการเดินเรือในทะเลเอรีเธรียน ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ทะเลแดง” แต่ทะเลแดงในความหมายของกรีกยุคโน้น ได้หมายรวมถึงอ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดียเอาไว้ด้วย) ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักเดินเรือชาวกรีกเลือดผสมอียิปต์ ในช่วงราว พ.ศ.600]

การค้นพบดังกล่าวก่อให้เกิดการเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทร เป็นผลให้การค้าโลกขยายตัวขนานใหญ่ พ่อค้าสามารถเดินทางค้าขายระยะไกลได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เส้นทางการค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ เส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันตก และชมพูทวีป

ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ พ่อค้ายุคแรกๆ ที่เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตก จึงมักจะเป็นชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ชาวอาหรับ และชนพื้นเมืองแห่งคาบสมุทรอาระเบีย ชาวพื้นเมืองแอฟริกาตะวันออก กลุ่มคนเหล่านี้ได้เดินทางทำการค้าขายต่อเนื่องมายังโลกทางทิศตะวันออกที่ไกลออกไปคือสุวรรณภูมิ

หลักฐานว่าหากต้องการเดินเรือจากฝั่งตะวันออกของชมพูทวีปไปยังสุวรรณภูมิ จะต้องโดยสารเรือแล่นเลียบชายฝั่งไป โดยจะต้องไปเปลี่ยนขึ้นเรือที่แหลมทางตอนใต้สุดของชมพูทวีป ดินแดนในปริมณฑลอำนาจของพวก “ทมิฬ”

ข้อมูลใน Periplus Maris Erythraei ยังสอดคล้องกับหลักฐานในหนังสือ “ฮั่นซู” จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันนัก กล่าวถึงการเดินเรือไปอินเดียว่า ออกเรือจาก “เมืองเหอผู่” ในมณฑลกวางตุ้ง เลียบชายฝั่งเวียดนามเข้าอ่าวไทย แล้วขึ้นบกออกเดินไปต่อเรือที่อีกฟากหนึ่งในทะเลอันดามัน •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ