น้ำท่วมคลอง | เรื่องสั้น : กมล กุดโอภาส

น้ำท่วมคลอง | กมล กุดโอภาส

เรื่องสั้น

 

ถึงแม้นโยบาย “อีสานเขียว” ของรัฐบาล อันเป็นนโยบายเพื่อฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้เกษตรกรรมในพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ พลิกฟื้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่ต้องร้องไห้เพราะความแห้งแล้งอีกต่อไป แต่วิถีชีวิตการทำนาของชาวบ้านหนองเต่ายังคงลุ่มๆ ดอนๆ อยู่เหมือนเดิม ครอบครัวของหำน้อยก็เช่นเดียวกัน ปีไหนฤดูกาลแห้งแล้งไม่ได้ทำนาขายข้าว ปีไหนน้ำท่วม ซึ่งบ้านหนองเต่าน้ำไม่ท่วมมาสี่สิบกว่าปีแล้ว ชาวนาแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

เป็นความโชคดีของครอบครัวของหำน้อยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายที่ไม่ประสบอุทกภัยมายาวนาน

แต่ “อีสานเขียว” ความเขียวยังไม่ผลิยอดบนที่นาของชาวบ้านหนองเต่ามานับแต่เริ่มมีโครงการ อันเป็นเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลสมัยนู้นเลยทีเดียว

เด็กชายอายุสิบสี่ปีอย่างหำน้อยรู้ดีว่า การเป็นลูกจ้างยกของลงของในตัวจังหวัดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหนองเต่า กับการไปเป็น รปภ.ของพ่อของเขา และการเป็นพนักงานทำความสะอาดในห้างสรรพสินค้าของแม่ของเขานั้นดีอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ทุ่งนาอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ครอบครัวของหำน้อยไม่เคยขาดกล้าข้าว ความแห้งแล้งใช่ว่าจะไม่ได้ทำนาเสียทีเดียว ผลผลิตดีบ้างไม่ดีบ้างหมุนเวียนกันไป

“บ้านเฮาไม่ใช่ทุ่งกุลา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บ้านเฮามีคลองชลประทาน พวกมึงคิดเหมือนกูไหม นาไร่พ่อแม่เฮาแล้งอีหลี” หำน้อยพูดกับผองเพื่อนในหมู่บ้านขณะขี่มอเตอร์ไซค์ลัดเลาะหาตกปลายิงขี้กะปอม คือวันที่หำน้อยขี้เกียจไปทำงานในตัวจังหวัด เขาจะนัดผองเพื่อนไปด้วยกัน วันที่พวกเขามีความสุขคือวันที่กลับบ้านพร้อมกับปลาและขี้กะปอมเป็นพวง

ปลาและขี้กะปอมคอกิ่วผอมนั้นนำความสุขใจมาให้พวกเขา

 

สิ้นเดือนเมษายนย่างเข้ากลางเดือนพฤษภาคม พ่อของหำน้อยจะตัดลำไผ่ปล้องใหญ่มาเหลาคันเบ็ดหลังตื่นนอนจากการออกเวร หำน้อยรู้ว่าการเหลาคันเบ็ดไม้ไผ่นั้นทำด้วยวิธีใด เขาเห็นพ่อทำมาตั้งแต่จำความได้ พ่อกับหำน้อยพร้อมผองเพื่อนใส่ใจกับการวางเบ็ดที่ทุ่งนาในฤดูฝน ตรงไหนมีน้ำ ตรงไหนปลาจะมากินเหยื่อไส้เดือน พวกเขารู้โดยแตกฉาน

ทุกคนรู้ดีว่าสถานที่แห่งเดียวที่ไม่มีปลาเลยสักตัวคือคลองชลประทาน เพราะนับแต่วันแรกที่คลองชลประทานสร้างแล้วเสร็จ เพื่อนของหำน้อยพูดกับเขาว่า “คลองน้ำในความฝันเว้ยพวกเฮา เฮาไปหากินกันที่อื่นดีกว่า”

ผองเพื่อนของหำน้อยตอบกลับไปว่า “คลองหญ้าเว้ย ไม่ใช่คลองน้ำ”

พวกเขาหัวเราะอยู่บนท้องทุ่งที่มีคลองชลประทานตัดผ่านหมู่บ้านหนองเต่าด้วยความหวังดีจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตรที่ทุกวันนี้ “โครงการอีสานเขียว” ไม่มีทั้งเจ้ากรมและราษฎรเอ่ยถึงมันอีกเลยล่วงมาจะสามทศวรรษเข้าให้แล้ว

หำน้อยใช้ชีวิตอยู่กับทุ่งนาและตัวจังหวัดได้อย่างไม่เขิน เรียนจบได้วุฒิการศึกษา ป.6 ยอดผักบุ้งที่ไม่เคยตายไปจากคลองชลประทานคือใบบุญของชาวบ้านหนองเต่าเอาไว้เด็ดไปแกล้มตำมะละกอ

ทางขนานไปกับคลองชลประทานนั้นเป็นถนนลาดยางราบเรียบตีเส้นสีเหลืองกับสีขาว ขรุขระอยู่บ้าง รถยนต์วิ่งได้โดยคล่องตัว ใช้เป็นทางซิ่งมอเตอร์ไซค์ของหำน้อยกับผองเพื่อนยามที่ชาวบ้านหนองเต่าเข้านอนกันแล้ว

ถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวลมหนาวมาเยือน หำน้อยกับผองเพื่อนจะก่อกองไฟริมคลองชลประทานเพื่อปิ้งหนูตัวอ้วนพีกินแกล้มเหล้าอย่างเอร็ดอร่อยที่ได้มาจากการใช้ปืนแก๊ปยิงและแร้วดักหนู

ที่เหลือจากการสังสรรค์กับผองเพื่อน หำน้อยจะเอาไปให้แม่ชำแหละขายในราคาตัวละสามสิบถึงสี่สิบบาท หำน้อยไม่ขอคืนจากแม่สักครั้งเดียว แม้แต่ปลาที่หำน้อยได้จากการยามเบ็ด แม่ก็เอาไปขาย ปลาช่อน ปลาดุก ได้ราคาดีอีกต่างหาก ตลาดคือบ้านหนองเต่าของตัวเองนั่นเอง

หลังภารกิจวางเบ็ดยามเบ็ดในฤดูฝน (ก็เหมือนฤดูอื่นไม่เปลี่ยนแปลง) หำน้อยกับผองเพื่อนก็หันกลับมาใช้คันเบ็ดที่พวกเขาซื้อมาจากร้านขายอุปกรณ์ตกปลาในตัวจังหวัด ที่ทำงานตำแหน่งลูกจ้างของหำน้อยตั้งอยู่ที่อำเภอใจเป็นหลัก

สิ่งเดียวในฤดูกาลที่หำน้อยจะขี้เกียจไม่ได้เป็นเด็ดขาดคือช่วยพ่อกับแม่ไถนา ตกกล้า ถอนกล้า ปักดำ ดูแลทางน้ำคันนา หว่านปุ๋ย เกี่ยวข้าว นวดข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้ง (คนอีสานเรียกว่าเล้า)

ยอดข้าวสีเขียวจะกลายเป็นสีทองภายในสามเดือนแล้วก็กลายถึงฤดูแล้งที่เราเรียกว่าฤดูร้อนจริงๆ ความร้อนระอุของแสงแดดจากดวงอาทิตย์ทำให้ที่นาดินแตกระแหง ตอซังข้าวกรอบกรัง พืดหญ้าที่มองเห็นบนที่นานั้นเป็นสายพันธุ์ธัญพืชอันอดทนต่อดวงอาทิตย์

เสร็จจากงานนาก็ถึงเวลาแล้วที่พ่อของหำน้อยจะได้จูงวัวสามพ่อแม่ลูกออกจากคอกหลังบ้านเสียที วัวจะทนแดด ส่วนควายจะทนฝน ควายมีราคากว่าวัว แต่หาชาวบ้านที่จะเลี้ยงได้ยากยิ่งเพราะรถไถนาเข้ามาแทนที่และลูกค้าชอบรับประทานเนื้อวัวมากกว่าเนื้อควาย กิโลละสามร้อยบาทรับประทานกันแบบง่ายๆไม่พิธีรีตอง ไม่ต้องอาศัยห้องครัวเหมือนอาหารชนิดอื่น สำคัญยิ่งกว่านั้นเนื้อดิบเอร็ดอร่อยกว่าเนื้อสุกยิ่งนัก ดูเหมือนทุกชิ้นส่วนของตัววัวมีคุณค่าไปเสียหมด

หำน้อยกับผองเพื่อนมีความปรารถนาดีต่อวัวที่พ่อกับแม่มอบหมายให้เลี้ยงดูแลยามว่างจากงานลูกจ้าง พวกเขามีเครื่องตัดหญ้า มีรถเข็นเอาไว้พ่วงมอเตอร์ไซค์ไว้ใช้บรรทุกหญ้าเวลาไปตัดมาจากที่ไกลหมู่บ้าน เพราะหญ้างามๆ เขียวๆ ที่ปลอดสารพิษค่อนข้างหายากสำหรับคนเลี้ยงวัว แม้แต่หญ้าบนสวนที่ปลูกไว้มีแต่ยอดใบเขียวงาม หากวัวได้กินคงอร่อยลิ้นของมัน

หำน้อยเช่นเดียวกัน พ่อของเขาสั่งไว้ไม่ให้หำน้อยไปตัดหญ้าที่ปลูกไว้เป็นอาหารวัวโดยไม่ได้รับคำอนุญาตเสียก่อน มันเป็นภารกิจที่เจียดเวลาจากการตกปลาของหำน้อยกับผองเพื่อน

สิ่งเดียวที่หำน้อยกับผองเพื่อนจะแล้งหัวจิตหัวใจไม่ได้เลยคือทำนาช่วยพ่อกับแม่ประดุจลมหายใจอย่างไรนั้น

แต่หำน้อยก็คิดว่ามันเป็นลมหายใจที่แผ่วเสียนี่กระไร

ก้อนขี้วัวแห้งในคลองชลประทานมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อหำน้อยกับผองเพื่อน มันเป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนที่ดีเยี่ยมบนทุ่งนามาแต่ครั้งบรรพบุรุษ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาใช้ได้จนกระทั่งทุกวันนี้ หำน้อยกับผองเพื่อนยังคงไม่เบื่อหน่าย ซิ่งมอเตอร์ไซค์อยู่ทุกฤดูกาล (ที่มีน้ำก็เหมือนไม่มีน้ำ)

 

ย่างเข้ากลางเดือนพฤษภาคม เสียงลมฝนมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ สายฝนโปรยปรายแรกแห่งฤดูกาลทำนาเริ่มขึ้น ฝนตกได้สักประเดี๋ยวก็แผ่วหายไป หำน้อยไล่วัวเข้าคอกและเอาหญ้าให้มันกองใหญ่

ยามเย็นที่ร้อนอบอ้าว หำน้อยได้ขี้กะปอมมาหนึ่งพวง เขาจัดการก่อไฟอยู่หลังบ้านข้างคอกวัว ลนขี้กะปอมแล้วลอกหนังออก ใช้มีดบางแหลมเล็กกรีดท้องเอาขี้มันทิ้ง ใช้ไม้ปิ้งไก่หนีบก่อนปิ้งบนเตาถ่าน

หำน้อยจะก้อยขี้กะปอมเป็นอาหารเย็นวันนี้ (หลายวันก่อนเขาก็ทำมาแล้ว) แต่เขาไม่กล้าพอที่จะทำก้อยขี้กะปอมดิบเหมือนลาบ ก้อย เนื้อวัว อีกทั้งเนื้อก็กิโลละสามร้อย ซุ้มเนื้อวัวปากทางเข้าหมู่บ้านหนองเต่าไม่เคยแบ่งขายเป็นขีด

เสียงฟ้าร้องและน้ำโปรยลงมาอีกวูบหำน้อยดีใจ เขาหันไปมองปล้องลำไผ่ที่พ่อผ่ากองไว้ข้างครัวออกจากเวร รปภ.ของห้างสรรพสินค้า พ่อคงมาเหลาคันเบ็ด หำน้อยคิด พ่อของหำน้อยขับรถออกบ้านไปด้วยมอเตอร์ไซค์อีกคันหนึ่ง

เขาปรุงขี้กะปอมและกินจนอิ่มเหลือเผื่อแม่และพ่อหนึ่งจาน หันไปอาบน้ำประแป้งใส่เสื้อผ้าหำน้อยยังคงคิดถึงผองเพื่อนเหมือนทุกคืน หำน้อยเด็กชายอายุสิบสี่ปีชอบฟังเพลงของวงคาราบาว คาราวาน และเขารักเพลง “แกเพื่อนฉัน” ของปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

หำน้อยขับมอเตอร์ไซค์ที่เขาคิดว่าตัวเองตกแต่งได้โก้เก๋แล้วออกจากบ้าน ฝ่าความมืดท่ามกลางสายฝนที่ตกมาเพียงปรอยปราย

เขาแวะร้านขายของชำไฟวอมแวมซื้อบุหรี่สองมวนห้าบาท ขับรถพ้นหมู่บ้านก็เลี้ยวเข้าถนนลาดยางราบเรียบริมคลองชลประทาน

สายฝนที่ปรอยปรายหยุดอีกครั้ง เสียงกีตาร์โปร่งกังวานไปรอบทุ่งริมคลอง มีมอเตอร์ไซค์จอดอยู่ห้าคัน มีเหล้าขาวสี่สิบดีกรีตั้งอยู่ข้างกองไฟหนึ่งขวด มีแก้วใสหนึ่งใบ มีแก้วพลาสติกหนึ่งจอกกับกระติกน้ำขนาดเล็กอีกถัง ควันบุหรี่ลอยหายไปในอากาศอย่างรวดเร็ว กองไฟนั้นระริกเปลววอมแวม

ความสุขของหำน้อยกับผองเพื่อนริมคลองชลประทานกลับมาอีกคืนหนึ่ง (เกิดขึ้นบ่อยครั้ง)

คลองชลประทานอันเหยียดยาวของชาวบ้านหนองเต่ากำลังเปียกด้วยสายฝนที่หายไปจนถึงรุ่งเช้า ความอบอ้าวบอกหำน้อยกับผองเพื่อนว่ามันจะกลับมาตกอีกในวันหลัง

วงเหล้าของหำน้อยกับผองเพื่อนสรวลเสเฮฮาอย่างครื้นเครงโหวกเหวก บทเพลงของวงคาราวานที่เพื่อนของหำน้อยเกากีตาร์ร้องหลายเพลงเอ่ยถึงชีวิตชาวนาในภาคอีสาน (ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย-บทกวีของนายผี/อัศนี พลจันทร) แสงไฟริมถนนทางหลวงที่ตัดผ่านหน้าหมู่บ้านหนองเต่าแวมส่องมาถึงริมคลองชลประทานแต่ไม่สว่างเท่าที่จะเห็นอะไรได้ชัดเจน

กองไฟขี้วัวของหำน้อยกับผองเพื่อนเริ่มมอดดับเมื่อเหล้าขาวสี่สิบดีกรีพร่องขอดก้นขวด บางคนนัดแนะเส้นทางที่จะไปตกปลาและยิงขี้กะปอมด้วยกันวันพรุ่งนี้

บางคนบอกเพื่อนว่าจะไปทำงานเพราะลางานมาหลายวันแล้ว

บางคนมีที่ทางแนะนำเพื่อนไปตัดหญ้าให้วัว บางคนเอ่ยถึงดินฟ้าอากาศที่ร้องครืนโครมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้

เหล้าทำให้บางคนปรามาสใช้หนังสะติ๊กกระสุนกรวดที่โรยอยู่ในคลองชลประทานยิงนกฮูกบนกอไผ่ใกล้กันนั้น “นกฮูกมันฉุนกูไม่กิน” เพื่อนของหำน้อยสะบัดเสียง

เวลาล่วงเข้าตีหนึ่ง (เวลาที่ร้านเหล้าในตัวจังหวัดต้องปิดตามกฎหมาย) หำน้อยกับผองเพื่อนก็แยกย้ายไปตามถนนริมคลองชลประทาน ตลอดระยะทางที่หำน้อยขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน เขาเตือนตัวเองคืนพรุ่งนี้อย่าลืมฆ้อนมาทุบประตูเหล็กเปิดปิดคลองชลประทานอันสนิมเขรอะนั้น มันคงเอาไปขายได้ค่าเหล้าและบุหรี่

สุดท้ายก่อนแยกย้าย ขวดเหล้าเปล่าขวดที่มีราคาเช่นเดียวกันแต่หำน้อยกับผองเพื่อนไม่ให้ความสำคัญ ถูกขว้างลงคลองชลประทานจนแตกละเอียด

“อย่าลืมฆ้อนนะน้อย” เสียงตะโกนดังเป็นศัพท์สุดท้ายของคนกลางคืน ณ ริมคลองชลประทานบนทุ่งนาหมู่บ้านหนองเต่า หนึ่งในหมู่บ้านแห่งโครงการ “อีสานเขียว” ซึ่งทั้งเจ้ากรมและราษฎรไม่ได้เอ่ยถึงศัพท์นี้มานานแล้ว

หำน้อยมาถึงบ้านเห็นกองหญ้าในคอกวัวพร่องและก้อยขี้กะปอมหายไปครึ่งจาน เขาโผล่หน้าเข้าไปในห้องของแม่เห็นแกนอนอยู่ในมุ้ง หำน้อยตลบมุ้งนอนในห้องใต้ถุนบ้านเคลิ้มหลับไปแทบไร้สติ

แวบหนึ่งเขาคิดถึงฆ้อนแวบหนึ่งเขาคิดถึงตกปลาล่าขี้กะปอมอีกใจอยากไปทำงาน

 

เมื่อวานอากาศอบอ้าว สายฝนปรอยปราย ฟ้าร้องครืนโครม เย็นวันนี้ฝนตกพรำไม่ขาดสาย พ่อของหำน้อยตื่นตอนบ่ายโมง เหลาคันเบ็ดได้ไม่เท่าไรฝนก็ตก หำน้อยกลับมาจากทำงานในตัวจังหวัดส่วนแม่คงกลับดึกอีกตามเคย พ่อเข้าเวรค่ำเหมือนเช่นทุกวัน ตอนที่พ่อออกไปทำงานนั้นฝนยังไม่หยุดจนล่วงถึงห้าทุ่ม เสียงกบเขียดที่หำน้อยคิดว่าคงเป็นคางคกกับอึ่งยางที่กินไม่ได้นั่นแหละร้องระงม

ฤดูฝนมาถึงแล้วไฟฟ้าไม่ดับ หำน้อยนอนดูโทรทัศน์ในห้องนอนคนเดียว แม่ดับเครื่องมอเตอร์ไซค์เดินเข้าบ้านในชุดที่เปียกโชกเพราะไม่ได้พกเสื้อกันฝนไปที่ทำงาน

“รถใครไม่รู้ตกคลอง คงลื่น” แม่ของหำน้อยบอก

“ใครแม่” หำน้อยโงหัวถาม

“ไม่รู้ โชคดีไม่มีน้ำ จมน้ำตายแน่” แม่ของหำน้อยพูดติดตลก

“คลองบ้านเฮานี่นะ” หำน้อยหัวเราะบ้าง

“เออ คลองไหน มีคลองเดียวนะแหละ” แม่ของหำน้อยพูดเอะใจเมื่อได้ยินเสียงกุกกักของหนูดังมาจากยุ้งข้าวติดบ้าน “บ๊ะ น้ำจะท่วมหนูตายคราวนี้ละ” แกบ่น หำน้อยก็ได้ยินเขายิ้ม ทันทีที่ฝนหยุดตกแมลงเม่าบินมาตอมหลอดไฟกลุ่มใหญ่ แม่ของหำน้อยอาบน้ำเสร็จก็ตลบมุ้งนอนหลังจากหำน้อยปิดโทรทัศน์นอนก่อนหน้าไม่นาน

เป็นอันว่าฝนแรกฤดูกาลของปีนี้ทำให้คนขับรถลื่นไถลตกคลองชลประทานบาดเจ็บอีกแล้ว

 

ฝนตกไม่กี่ชั่วโมง วันต่อมาต้นไม้ใบหญ้าหวนกลับมาเขียวชอุ่มขึ้นทันตาเหมือนยาวิเศษ ฝนทิ้งช่วงมาจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมก่อนทิ้งช่วงอีกครั้งสองสัปดาห์มาตกอีกครั้งสิ้นเดือนมิถุนายน ชาวบ้านหนองเต่าเริ่มไถกลบที่นาของตัวเองแล้วแต่แดดของดวงอาทิตย์ก็ทำให้ดินแห้งเป็นผง

ถึงเดือนกรกฎาคมที่นาบางเจ้าหว่านข้าวกันแล้วอย่างมีความหวัง วัวมีหญ้าแต่นายังไม่มีน้ำ ฝนตกอีกครั้งต้นเดือนสิงหาคมทำให้ทุ่งนามีน้ำขังเป็นหย่อมๆ

วงเหล้ากลางคืน ณ ริมคลองชลประทานของหำน้อยกับผองเพื่อนก็ทิ้งช่วงเหมือนลมฝน

พ่อของหำน้อยเอาคันเบ็ดที่เหลาเสร็จลนไฟให้แข็งแกร่ง ยักเบ็ดเสร็จก็พร้อมสำหรับให้หำน้อยนำไปวางเบ็ดหาปลาหวังถึงปลาดุก ปลาช่อนตัวใหญ่ ได้มาเป็นอาหารทั้งขายได้ราคา

แหล่งหาปลาของหำน้อยกับผองเพื่อนยังไม่พร้อม ปลายังไม่มี ข้าวที่ชาวบ้านหนองเต่าหว่านไว้แตกยอดพอเขียวเหลืองเหมือนจะแคระแกร็น

เวลาตีหนึ่งกว่าๆ ของคืนนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเดือนกันยายนตามปฏิทินข้างฝาบ้าน หำน้อยสะดุ้งตื่นด้วยความตกใจที่ฝนตกจั้กๆ ตั้งแต่เวลาไหน เป็นฝนตกรินหนักสม่ำเสมอไม่ทีท่าว่าจะหยุดเอาเมื่อไหร่ไร้ซึ่งลมที่จะตีพัด

หำน้อยหายจากอาการงัวเงีย “ตายแล้ว” เขาอุทานลุกไปเปิดสวิตช์ไฟ น้ำฝนไหลเอ่อเข้าห้องนอนของหำน้อยจนท่วมตีน “แม่” เขาร้องหา แม่ของหำน้อยตื่นลุกขึ้นมาเปิดไฟด้วยอาการตาลีตาลาน สองคนแม่ลูกช่วยกันขนข้าวของที่จะเสียหายขึ้นบนบ้านพัลวัน

ฝนไม่ยอมหยุด น้ำเอ่อระดับขึ้นเรื่อยๆ จนรุ่งสางฝนก็เริ่มซาเม็ดแต่ไม่นิ่ง

จนถึงเที่ยงหำน้อยกับแม่ก็ยังไม่ได้กินข้าว ส่วนพ่อของหำน้อยยังไม่กลับมาจากออกเวร วันนี้แม่ของหำน้อยขาดงานและเพื่อนร่วมงานของแม่คงเช่นเดียวกัน

พ่อของหำน้อยขับมอเตอร์ไซค์ลุยน้ำกลับบ้านด้วยความทุลักทุเล ฝนเริ่มซาเม็ด น้ำเริ่มงวดได้สักพักฝนก็รินลงมาอีก

หำน้อยย้ายโทรทัศน์ขึ้นบนบ้าน น้ำเอ่อระดับขึ้นอีกครั้ง ฝนไม่ยอมหยุด มอเตอร์ไซค์ทั้งสามคันไม่สามารถเข็นขึ้นบ้านได้เลย ไม่ทันการเสียแล้ว หำน้อย พ่อกับแม่รู้แล้วว่าคงต้องติดเกาะอยู่บนบ้านอีกหลายวัน

ทุกคนมองออกไปที่หน้าต่าง หมู่บ้านหนองเต่ากลายเป็นทะเลไปเสียแล้ว และคลองชลประทานที่หำน้อยเคยมองอยู่ไกลๆ บนทุ่งนานั้น บัดนี้มันคงมีน้ำจนลึกท่วมหัว

ใครที่พลาดตกลงไปในคลองคงต้องถึงแก่ชีวิตแน่ๆ เขาคิด

สามพ่อแม่ลูกนั่งเฝ้าจอโทรทัศน์ด้วยความระทึกใจ ส่วนวัวทั้งสามของครอบครัวหำน้อยกับมอเตอร์ไซค์ทั้งสามคันไหลไปกับสายน้ำที่เชี่ยวกรากและสูงท่วมหัว

 

นํ้าฝนที่เคยช่วยให้อีสานเขียว บัดนี้ มันได้ท่วมคลองหมู่บ้านหนองเต่าเข้าให้แล้ว

เป็นน้ำท่วมที่ทิ้งช่วงมาเกือบครึ่งศตวรรษ พายุสามลูกถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตลอดสัปดาห์ ภาครัฐประกาศภัยพิบัติ

น้ำงวดลงเรื่อยๆ หลายวันหลังพายุลูกสุดท้ายจนกระทั่งทุ่งนาของหมู่บ้านหนองเต่ากลับมาแห้งสนิทอีกครั้งก็ล่วงเข้าสิ้นสุดฤดูฝน

ปีนี้ไม่ได้เก็บเกี่ยวข้าว และหำน้อยคงไม่ได้ยิงหนูดักหนูมาเป็นอาหารและให้แม่ของเขาชำแหละขายเหมือนเช่นทุกปี •