ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
ย้อนความคราวที่แล้ว ในซีรีส์ “แม่หยัว” ฉากฮอตที่ทำให้เป็นดราม่ากันอยู่พักใหญ่ เมื่อนำสมุนไพรมาทำยาพิษ สวมบทร้ายโดยสมุนไพร “มะแขว่น” และ “แสลงใจ” ซึ่งได้เล่าบทดีให้เห็นประโยชน์มากมายของสมุนไพรมะแขว่น (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum limonella (Dennst.) Alston) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว
สมุนไพรในซีรีส์แม่หยัวอีกตัวหนึ่ง คือ “แสลงใจ” นั้น มิได้แสลงเหมือนชื่อ แต่ยังดีต่อใจด้วย กล่าวคือ เมล็ดแบนนูนของแสลงใจเป็นสมุนไพรชั้นสูงในพิกัดยา “โกฐพิเศษ” ประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิด โกฐกะกลิ้ง โกฐกักกรา โกฐน้ำเต้า และที่มีชื่อว่า “โกฐกะกลิ้ง” คือ แสลงใจ แม้จะมีรสขมเบื่อเมาชนิดกลืนไม่ลง แต่ถ้าใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย จะมีสรรพคุณตรงกันข้ามกับโทษ กล่าวคือ ใช้ปรุงยาบำรุงหัวใจ กระตุ้นหัวใจให้เต้นแรงขึ้น แถมยังแก้อัมพาต แก้เหน็บชา เนื้อชา
การปรุงยารูปแบบหนึ่งเรียกชื่อ ทิงเจอร์นักซ์โวมิกา (Tincture Nux vomica) ซึ่งทำมาจากเมล็ดแสลงใจดองเหล้าจะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเส้นประสาท กระตุ้นประสาทส่วนกลาง ช่วยทำให้ร่างกายมีกำลัง มีความรู้สึกเฉียบแหลมขึ้น บำรุงประสาทหูตาจมูกให้ได้ยิน มองเห็น ได้กลิ่นดีขึ้น แก้โลหิตพิการ แก้ไข้พิษ ทำให้ตัวเย็นลง ขับน้ำย่อย เจริญอาหาร บำรุงกล้ามเนื้อ รักษาโรคกระเพาะ ลำไส้ แก้อาการอักเสบในช่องปากและคอ แก้พิษงู พิษตะขาบ แมงป่อง แก้ลมกระเพื่อมในท้อง แก้คลื่นไส้ แก้ลมพานไส้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ลมคูถทวาร ขับลมในลำไส้ ขับพยาธิ แก้หนองใน ขับปัสสาวะ แก้เส้นตาย แก้กระษัยไตพิการ
และพิเศษสุดสำหรับท่านชายคือ แสลงใจหรือโกฐกะกลิ้ง ช่วยบำบัดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
แต่เพราะเป็นพืชที่จัดว่ามีพิษร้ายแรง การใช้โกฐกะกลิ้งหรือแสลงใจรักษาโรคจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ แต่สูงสุดย่อมคืนสู่สามัญเช่นกัน สมุนไพร “แสลงใจ” ด้านหนึ่งเป็นเครื่องยาชั้นสูงชื่อ “โกฐกะกลิ้ง” ในพิกัด “โกฐพิเศษ” แต่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หมอไทบ้านอีสานหมู่เฮารู้จักกันดีในชื่อ “ตูมกา” ใช้เป็นยารักษาโรคหลายอย่าง เช่น ใช้แก่นตูมกา (แสลงใจ) แก่นตับเต่า (กระทุ่ม) ต้นคามป่า (ครามป่า) ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะ หรือใช้รากฝนน้ำดื่มแก้ช้ำใน เป็นต้น ถ้าสังเกตให้ดีภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้ส่วนแก่นหรือรากมาปรุงยาทำประโยชน์ได้
แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจเหมือนได้พุทธโอสถก็คือ การนำลูก “แสลงใจ ตูมกา” มาเป็นเครื่องพุทธบูชาในประเพณีจุดไฟตูมกาถวายเป็นพุทธบูชาในเทศกาลออกพรรษาของภาคอีสานจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่ชาวบ้านมีความเชื่อตามพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่หนึ่งพรรษาแล้วจึงเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์
ดังนั้น ในวันออกพรรษา ชาวบ้านจึงได้นำสิ่งของต่างๆ มาถวายเป็นพุทธบูชา ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน มานข้าว (ข้าวที่กำลังตั้งท้อง) และประทีปไฟตูมกาซึ่งเปรียบเสมือนดอกไม้ที่สูงค่า
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเพิ่งประกาศให้ประเพณีจุดไฟตูมกา ออกพรรษายโสธร ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ปี พ.ศ.2566 นี่เอง ผลตูมกา (หรือผลแสลงใจ, โกฐกะกลิ้งในภาษากลาง) เป็นผลไม้ป่าที่มีรูปทรงกลมคล้ายผลมะตูม มีก้านยาวและมีลักษณะพิเศษ คือ เปลือกบางแข็งและโปร่งแสง
ภูมิปัญญาชาวบ้านเมื่อนำมาขูดเปลือกสีเขียวพร้อมกับคว้านเอาเนื้อและเมล็ดออก ใช้มีดปลายแหลมฉลุลวดลายบนเปลือกให้สวยงามตามต้องการ จากนั้นนำเทียนมาวางข้างในเปลือกกลวง สำหรับจุดไฟนำไปแขวนถวายเป็นพุทธบูชา แสงไฟที่ส่องลอดออกมาตามช่องลวดลายที่แกะสลัก เรืองแสงศรัทธา ตรึงตาตรึงใจ
บันทึกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกล่าวถึงความศรัทธาและความสวยงามไว้ว่า “มนต์เสน่ห์แสงไฟตูมกา ลอดออกมาตามลวดลาย แลงดงามล้ำลึก ตรึงตาตรึงใจ จึงยกไว้เป็นเครื่องสักการบูชา ประหนึ่งว่าเป็นแสงสว่างส่องทางสู่ปัญญา ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา” และ “จุดเทียนแล้วแสงส่องสดใส เบิ่งท่อใดเหลืองนวลเข้าท่า คึดฮอดผ้าเหลือง ห่มจีวร ใจหลงใหลออนซอนยกขึ้น สาธุ สาธุ สาธุ ผู้ข่าขอบูชาพระพุทธเจ้าและพระรัตนตรัย ให้ชีวิตผู้ข่า งดงามสุกใส ดุจแสงไฟตูมกาที่จุดบูชามื้อนี้ สาธุ สาธุ สาธุ”
เชื่อว่านอกจากใช้เปลือกตูมกาทำลูกไฟถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังจะได้เมล็ดตูมกาไว้ทำโกฐกะกลิ้งเป็นยาสมุนไพรอย่างดีด้วย ขอจบซีรีส์ทั้งมะแขว่นและแสลงใจที่เป็นอาหารและยาดีในซีรีส์ประเพณีชีวิตจริงของชาวไทยบางท้องถิ่นมาช้านาน
จึงควรนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่สร้างเสริมสุขภาวะทั่วไทยให้เข้มแข็งทั้งทางกาย จิต และสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
(หมายเหตุ :แสลงใจ หรือ โกฐกะกลิ้ง หรือ ตูมกาแดง ชื่อสามัญ Nux-vomica Tree, Snake Wood ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-vomica L. เป็นคนละต้นกับ ตูมกาขาว ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-blanda A.W. Hill มีชื่ออื่นๆ ว่า ขี้กา มะติ่ง มะติ่งต้น มะติ่งหมาก) •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022