ก้าวหน้าแบบชายแทร่

คำ ผกา

“ประเทศไทยมัวแต่ดราม่าเรื่องหยุมหยิมเลยไม่ไปไหนเสียที” ประโยคนี้เป็นของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สืบเนื่องมาจากที่นักข่าวถามนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ว่า “นายกฯ มา ครม.สัญจรเชียงใหม่ เชียงราย ไม่ไปดูน้ำท่วมภาคใต้ คนใต้รู้สึกถูกทอดทิ้ง”

คำถามที่มีนัยของความน้อยใจในทำนองว่า นายกฯ ไม่ใส่ใจ ไม่รัก น้ำท่วมใต้กลับขึ้นเหนือ นายกฯ จึงรีบบอกว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องคนใต้ คนเหนือ ตัวนายกฯ เองก็แต่งงานมีสามีเป็นคนใต้ เพื่อร่วมงาน น้องๆ ที่ทำงานด้วยกันก็มีคนใต้เยอะแยะ การที่นายกฯ ยังไม่ได้ลงใต้ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนายกฯ รักคนเหนือ ไม่รักคนใต้ แต่เป็นเรื่องการจัดวางตารางการทำงาน งาน ครม.สัญจรเป็นเรื่องการฟื้นฟูภาคเหนือ เตรียมงานล่วงหน้ามานาน ระหว่างที่เตรียมมาภาคเหนือ เมื่อเกิดน้ำท่วมก็สั่งการให้ รมว.มหาดไทยไปดูแล สั่งการให้รองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย และ รมว.กลาโหมดูแล หลังจากนี้ก็จะลงไปติดตามสถานการณ์ ยืนยันว่าตนเองเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน

หากไม่มีอคติ เมื่อนายกฯ ตอบแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีดราม่าอะไร หากคิดว่ารัฐบาลทำงานบกพร่องล่าช้า ก็ควรจะวิจารณ์เรื่องช้า หากพบว่าการช่วยเหลือไม่ทั่วถึงก็บอกว่าไม่ทั่วถึง ตรงไหนที่ขาด ตรงไหนที่ไม่พอ

จะด่าก็ด่าที่เนื้องาน และหากสิ่งที่ด่ามันไม่จริง หรือเป็นความเข้าใจผิดก็จะได้ด่ากลับหรือชี้แจงกลับไป

 

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า สื่อไม่ได้หยิบท่อนที่บอกว่า “นายกฯ เป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน”

แต่หยิบประเด็น “สามีเป็นคนใต้” มาพาดหัวแทน

หลังจากนั้น สมาชิกพรรคการเมือง “ใหม่” พรรคการเมืองที่หัวก้าวหน้า เช่น อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ ภคมน หนุนอนันต์ ที่เป็นนักการเมืองผู้หญิง กลับหยิบประเด็นที่นายกฯ พูดเรื่องการมีสามีเป็นคนใต้มาโจมตี เช่น อมรัตน์บอกว่า

“ตอบคำถามยังไงให้มีความเสี่ยงที่จะมีผัวให้ครบทุกภาค”

ซึ่งทันทีที่ฉันอ่าน ก็สงสัยว่า การมีผัวครบทุกภาคมันเสียหายยังไง?

หรืออมรัตน์เขาสมาทานความคิดว่าผู้หญิงต้องมีผัวได้แค่ 1 คน

หรืออมรัตน์สมาทานความคิดคร่ำครึโบราณที่มองว่าผู้หญิงหลายผัวคือผู้หญิงมีมลทิน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแสดงว่า อมรัตน์ไม่ได้มีอุดมการณ์ความคิดทันสมัย ก้าวหน้า แบบที่พรรค “ส้ม” อวดอ้างว่าตัวเองเป็น

เพราะไม่มีอะไรจะคร่ำครึ ล้าหลัง และสะท้อนแนวคิดชายเป็นใหญ่ เท่ากับการมองว่าผู้หญิงมีผัวหลายคนเป็น “ความเสี่ยง” อย่างหนึ่งของชีวิต

นี่ยังไม่นับว่าคำตอบของนายกฯ แพทองธาร ไม่มีอะไรที่จะสื่อถึง “ความเสี่ยง” นั้น เพราะเป็นการตอบคำถามเรื่อง “ภาคใต้”

 

ส่วนภคมนก็เขียนยาวเหยียดว่า

“เชื่อว่าประชาชนในประเทศไทยทุกคนเห็นความน่ารักและความอบอุ่นของครอบครัวท่านนายกฯ อยู่แล้วเพราะแพร่กระจายไปทุกช่องทาง แต่เรื่องราวเหล่านี้เก็บไว้ในบ้านท่านเถอะค่ะ ประชาชนไม่ได้คาดหวังจะเห็นสิ่งเหล่านี้เท่ากับการทำหน้าที่ต่อสาธารณะอย่างมืออาชีพเสียที”

จากข้อเขียนนี้ของภคมน ฉันคิดว่าหากเราสนใจเรื่องสตรีนิยมและการเสริมพลัง หรือ empowering ผู้หญิง เราคงต้องมานั่งคุยเรื่องนี้กันยาวๆ

ฉันจะไม่มานั่งเถียงว่า นายกฯ แพทองธารทำงานเก่งหรือไม่? บริหารประเทศเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ไร้ที่ติ เพราะฉันพูดมาตลอดชีวิตของฉันว่า นายกฯ เก่งหรือไม่เก่ง รัฐบาลทำงานเก่งหรือไม่เก่ง ไม่สำคัญเท่ากับว่านายกฯ คนนั้น และรัฐบาลนั้นเข้าสู่อำนาจอย่างชอบธรรมหรือไม่?

รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ต่อให้ทำงานเก่งแค่ไหน อัจฉริยะแค่ไหนก็ไม่มีวันจะสง่างาม เพราะการเข้าสู่อำนาจของนายกฯ หรือของรัฐบาลนั้นปราศจากความชอบธรรม

และไม่มีรัฐบาลจากการรัฐประหารไหนที่ขึ้นสู่อำนาจเพื่อจะทำงานให้ประชาชน

ดังนั้น ความ “เก่ง” ของพวกเขาจึงไม่มีประโยชน์ เพราะมันเป็นความเก่งที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ

ดังนั้น หากให้ฉันเลือกว่าอยากได้รัฐบาลหรือนายกฯ แบบไหน ฉันจึงไม่ได้ดูที่ “ความเก่ง” เฉพาะตัวบุคคล แต่ดูว่านายกฯ หรือรัฐบาลนั้นเข้าสู่อำนาจรัฐโดยประชาชนหรือไม่

 

ทีนี้เมื่อนายกฯ มาจากการเลือกของ “เสียงข้างมาก” มันย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่เสียงข้างน้อย หรือฝ่ายค้านจะรู้สึกว่า นายกฯ หรือรัฐบาล ไม่ว่าจะทำอะไรมันก็ไม่ดีพอ ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ ก็เพราะเป็นนายกฯ ที่พวกเขาไม่ได้เลือก ไม่ใช่นายกฯ ในสเป๊กของเขา ไม่ใช่นายกฯ ที่ตรงจริตของเขา

แต่เราทุกคนก็ต้องคอยบอกตัวเองอยู่เสมอว่า จะชอบหรือไม่ชอบ นายกฯ และรัฐบาลนี้จะอยู่แค่สี่ปีเท่านั้น

ฉันจึงอยากจะบอกทุกคนที่ไม่ชอบนายกฯ แพทองธาร ไม่ชอบรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยว่า การไม่ชอบรัฐบาลไม่ใช่ความผิดปกติ ไม่ใช่ความป่วยไข้ ไม่ใช่อาชญากรรม เป็นเรื่องปกติ ธรรมดาที่สุด ที่เราจะไม่ชอบรัฐบาลที่เราไม่ได้เลือก

และด้อมส้มอาจจะเจ็บใจมากเป็นพิเศษตรงที่พรรคส้มอุตส่าห์มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ดันตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ความเจ็บใจนี้จึงยิ่งทำให้ดีกรีความ “ชังน้ำหน้า” นายกฯ แพทองธารและพรรคเพื่อไทยทวีความรุนแรงขึ้นอีก

แต่ไม่ว่าคุณจะหมั่นไส้ จะเห็นว่าแพทองธารไม่ดีพอ ไม่เก่ง ทำอะไรก็ผิดไปหมด

เพราะเขาเรียงลำดับความสำคัญของงานของเรื่องไม่ตรงกับคุณ เขาชอบแต่งตัวในแบบที่คุณไม่ชอบ

เขามีสไตล์การพูดในแบบที่คุณเห็นว่าไม่ใช่

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทำให้นายกฯ แพทองธารไม่ใช่นายกฯ ในฝัน ไม่ใช่นายกฯ ในอุดมคติของคุณ

แต่คุณต้องรำลึกเสมอว่า แม้ตัวคุณ และคนอีก 14 ล้านคน (โหวตเตอร์ส้ม) อาจจะไม่ถูกตาถูกใจแพทองธาร แต่อาจมีคนอีก 11 ล้านคนที่ชอบ (โหวตเตอร์เพื่อไทย) และอาจจะมีอีก 6 ล้านคนที่เฉยๆ (โหวตเตอร์พรรคอื่น) และอาจจะมีอีก 5 ล้าน (คนไม่เลือกตั้ง) ที่ไม่สนใจการเมือง

เพราะฉะนั้น ต่อให้คุณเกลียดแพทองธารแค่ไหน คุณก็ต้องอยู่กับนายกฯ คนนี้ให้ได้จนกว่าเขาจะหมดวาระ มีการเลือกตั้งใหม่

 

ฉันอยากบอกด้อมส้มทุกคนว่า ขอให้อดทนอดกลั้น ปี 2570 ใกล้เข้ามาทุกวัน

พยายามประคองสติไว้และรวบรวมแรงกายแรงใจหาเสียงให้เท้งได้เป็นนายกฯ คนต่อไปให้ได้

และหากในอนาคตอันใกล้หรือไกลไม่รู้ หากฉันต้องอยู่กับนายกฯ และรัฐบาลสีส้ม ฉันก็จะบอกตัวเองให้อดทนด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อรู้เท่าทันตัวเองว่า ทำไมถึงไม่ชอบนายกฯ แพทองธารนะ? อ๋อ เพราะเป็นนายกฯ ที่เราไม่ได้เลือก เราฝันทุกวันทุกคืนอยากให้พิธา ลิ้มเจริญรัคน์ เป็นนายกฯ

แต่ตื่นขึ้นมาความจริงคือ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ แพทองธารเป็นนายกฯ มันก็ยิ่งอัดอั้นตันใจ ยิ่งโกรธ ยิ่งผิดหวัง

ยิ่งด้อมส้มที่มีพื้นเดิมเป็นสลิ่ม เป็น กปปส. มีพยาธิสภาพเดิมเป็นโรคทักษิณโฟเบีย ความโกรธนี้ก็จะยิ่งทบเท่าทวีคูณ

สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ความโกรธ ความอัดอั้นตันใจ ความผิดหวัง ความอกหักนี้บรรเทาเบาบางลงไปก็คือ ทุกๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาต้องหาทางเยียวยาจิตใจตัวเองด้วยการนั่งลิสต์มาเป็นข้อๆ ว่า ทำไมแพทองธารจึงไม่เหมาะที่จะเป็นนายกฯ

วันที่ได้ด่าแพทองธาร หรือเหยียดหยามแพทองธารว่า ไม่ดี ไม่เก่ง แต่งตัวแย่ การได้เหยียดหยาม ด่าทอแพทองธารจึงเป็นกลไกทางจิตวิทยาที่เหล่าด้อมส้มใช้เยียวยาตัวเอง

และได้บอกตัวเองว่า ฉันจะทำให้สังคมไทยตาสว่าง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ฉันจะทำให้โลกรู้ว่า อย่าปล่อยให้ผู้หญิงคนนี้ได้เป็นนายกฯ อีก

 

ทั้งหมดนี้ฉันเข้าใจอย่างยิ่ง

แต่ความอเนจอนาจของการด่าแพทองธารที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานในฐานะนายกฯ แต่ใช้ลักษณะของความเป็นผู้หญิงมาเพื่อวัตถุประสงค์จะลดทอนคุณค่าของแพทองธารนั้น

มันไม่ได้ส่งผลประทบต่อตัวแพทองธารมากกว่าส่งผลกระทบต่อพลังอำนาจของความเป็นหญิงของผู้หญิงทุกคนในสังคมไทยที่เราใช้เวลาหลายทศวรรษในการต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ

เช่น ในอดีต ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากการทำงานนอกบ้าน เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ด้วยเหตุผลว่า หากรับผู้หญิงมาทำงาน ประเดี๋ยวผู้หญิงก็จะแต่งงาน ประเดี๋ยวจะมีลูก และประเดี๋ยวก็จะลาออกไปเลี้ยงลูก ทำให้บริษัทเสียเวลา เสียโอกาส เสียต้นทุนในการฝึกคนคนหนึ่งให้ทำงานได้ จึงตัดปัญหาไม่จ้างผู้หญิง หันไปจ้างแต่ผู้ชาย

หรือการกำหนดค่าแรงผู้หญิงให้ต่ำกว่าผู้ชาย โดยอธิบายว่าผู้หญิงทำงานได้น้อยกว่าเพราะแรงน้อยกว่า เหนื่อยง่ายกว่าต้องพักนานกว่า

หรือการกีดกันไม่รับผู้หญิงเข้าทำงานในบางสายอาชีพ เพราะมองว่าผู้หญิงมีความสามารถในการตัดสินใจด้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงขี้ลังเลง ไม่เด็ดขาด ผู้หญิงใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมณฑลของงานการเมืองที่กำหนดว่า หากผู้หญิงอยากเป็นใหญ่ หรืออยากประสบความสำเร็จในการทำงานการเมืองและได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำผู้หญิงต้อง desexualized ตัวเอง

นั่นคือ ต้องถอดเอาความเป็นผู้หญิง ถอดเอาความเป็นเมีย ถอดเอาความเป็นแม่ และสวมบทบาท “หญิงเหล็ก”

ผู้นำหญิงที่จะได้รับการยอมรับจึงเป็นภาพแบบ มาร์กาเรต แธตเชอร์ ที่ตัวแธตเชอร์เอง เวลาแต่งตัว ไม่เพียงแต่จะใส่สูท สวมประโปรงเรียบที่สุด ยังต้องมีผ้าพันคอผูกที่คอตลอดเวลาเหมือนผู้ชายสวมเน็กไท เพื่อปิดไม่ให้คนเห็นหน้าอก และเพื่อไม่ให้คนสนใจหน้าแก่ของเธอมากกว่างานที่ทำ หรือตำแหน่งนายกฯ ของเธอ

ในอดีต หากผู้หญิงอยากได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำ ผู้หญิงคนนั้นต้อง “ฆ่า” ความเป็นหญิงของเธอทิ้งแล้วไปสวมคุณสมบัติของความเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวที่ต้องเสริมไหล่ให้กว้าง บึกบึน ต้องแต่งตัวแบบไม่เน้นทรวดทรงแต่พรางทรง ต้องไม่พูดเสียงแหลม ต้องไปฝึกการใช้เสียงให้ทุ้ม กังวาน พูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ต้องไม่แสดงอารมณ์มาก ไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจ และที่แน่ๆ ต้องไม่นำเอาครอบครัวมาปรากโตัวในปริมณฑลสาธารณะ

พูดอย่างสั้นคือ ผู้หญิงต้องกลายเป็นผู้ชาย (อย่างน้อยในปริมณฑลสาธารณะและการทำงาน) สังคมจึงจะอนุญาตให้ผู้หญิงคนนั้นเป็นผู้นำได้

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 80s

 

แต่ล่วงมาถึงปัจจุบันนี้ ผู้หญิงเราได้ต่อสู้มาเพื่อจะไม่ต้องละทิ้งความเป็นหญิงของเราเพียงเพื่อจะได้รับการยอมรับในฐานะผู้บริหาร นักการเมือง หรือผู้นำประเทศ

ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องทำตัวเข้มแข็ง ไม่แสดงอารมณ์ ไม่จำเป็นต้องตัดผมสั้น แต่งหน้าน้อยๆ ไม่จำเป็นต้องเก็บสีหน้าให้เรียบเฉยตลอดเวลา และเรากำลังจะบอกโลกทั้งใบว่า คุณลักษณะแบบ “ผู้หญิง” ไม่ได้ทำให้ภาวะผู้นำของเราด้อยลงไป

ผู้หญิงในการเมืองไว้ผมยาวสลวยได้ แต่งตัวโชว์ทรวดทรง เรือนร่างได้ตามกาลเทศะ หัวเราะได้ ร้องไห้ได้ อ่อนแอได้ ไม่ต้อง desexualized ตัวเอง

แต่งงานในขณะดำรงตำแน่งนายกฯ ได้ มีลูกได้ ลาคลอดได้ เอาลูกมาเลี้ยงในสภาได้

และเมื่อเรามีนายกฯ ที่ ณ วันที่เขาเป็นแคนดิเดต ไปหาเสียงเขาท้องแก่ จนมาถึงวันที่เขาเป็นนายกฯ เขาเป็นแม่มีลูกเล็กสองคน นายกฯ แพทองธารทำงานในฐานะนายกฯ ไปพร้อมๆ กับสำแดงความอ่อนโยนของความเป็นผู้หญิง ของความเป็นแม่ออกมาอย่างกล้าหาญเปิดเผย

นายกฯ แพทองธารไม่ลังเลที่จะสำแดง feminine quality ออกมาในปริมณฑลสาธารณะ และปริมณฑลทางการเมือง

สิ่งนี้สำหรับฉัน หากเราจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อการ empowering ผู้หญิง มันเป็นสิ่งที่เราควรชื่นชมยินดี สนับสนุน

เพราะมันหมายถึง power ของพวกเราทุกคนในฐานะผู้หญิงด้วยเช่นกัน

 

ใครก็ตามที่เคยอ่านแนวคิด ทฤษฎีเฟมินิสต์มาบ้าง จะรู้ว่า การต่อสู้กับสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของการทำให้ผู้หญิงเหมือนหรือเท่ากับหรือทำทุกอย่างได้เหมือนผู้ชาย

แต่คือการต่อสู้เพื่อยกเลิกการแบ่งแยกว่า ความอ่อนโยนเป็นเรื่องผู้หญิง ความเข้มแข็งเป็นเรื่องของผู้ชาย

การจัดวางให้ผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งของสิ่งมีชีวิตที่น่าทะนุถนอม ผู้ชายคือคนออกไปทำงานยากๆ นอกบ้าน ผู้หญิงคือเทวดานางฟ้าของบ้านคือคนที่ทำบ้านให้เป็นบ้าน ฯลฯ

แต่แนวคิดเฟมินิสต์คือการบอกว่า ผู้หญิงและผู้ชายต่างก็อ่อนแอและเข้มแข็งในบางเรื่องบางเวลาได้เท่าๆ กัน

คนที่ดูแลป้อนข้าว อาบน้ำลูกได้ดีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง ผู้ชายก็ทำเรื่องเหล่านี้ได้ดีไม่แพ้กัน และไม่ใช่แต่ผู้หญิงที่ร้องไห้ได้ ผู้ชายก็ควรมีสิทธิอ่อนแอ ร้องไห้ หรือไม่ต้องแบกความคาดหวังของสังคมให้เป็นช้างเท้าหน้าเสมอไป

การเรียกร้องของภคมนที่บอกว่า ประชาชนไม่ได้อยากเห็นเรื่องความสุข ความน่ารักของครอบครัวนายกฯ อยากเห็นภาวะผู้นำ อยากเห็นการทำหน้าที่ต่อสาธารณะอย่างมืออาชีพเสียที จึงสะท้อนลักษณะ anti feminism อย่างชัดเจน

นั่นคือการกดให้ feminine quality อันผูกพันอยู่กับพื้นที่ “ในบ้าน” มีคุณค่าที่ต่ำว่าสิ่งที่ภคมนเรียกว่า “มืออาชีพ” ทั้งๆ ที่ทั้งสองอย่างสามารถดำเนินไปพร้อมกัน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

หากภคมนต้องการให้นายกฯ แพทองธาร ทำงานมากกว่านี้ก็สามารถบอกว่า ฉันต้องการเห็นนายกฯ ทำงานหนักกว่านี้

โดยไม่มีความจำเป็นต้องเบียดขับเรียกร้องให้นายกฯ หญิงต้องละทิ้งหรือเอาบทบาทแห่งความเป็นแม่ เป็นภรรยาไปซุกซ่อนเก็บงำไว้ในปริมณฑล “ส่วนตัว” ห้ามนำเสนอในพื้นที่ “สาธารณะ” เพราะมิเช่นนั้นจะดูไม่มืออาชีพ

ไม่เพียงเท่านั้น ภัคมนควรทบทวนอคติของตัวเองด้วยว่าหากเป็นผู้นำฯ หรือนายกฯ หรือหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นผู้ชาย แสดงด้านที่เป็นพ่อ เป็นสามี เป็นแฟน พร้อมๆ กับบทบาททางสาธารณะของเขา ภคมนจะไล่ให้เขาเก็บเอาสิ่งเหล่านี้ไว้ “ในบ้านในครอบครัวก็พอ” หรือไม่

เพราะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทิม พิธา ก็มีภาพของคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวและพาลูกสาวไปหาเสียงมีภาพในปริมณฑลสาธารณะ และได้รับเสียงชื่นชมอย่างอื้ออึงว่านี่คือตัวอย่างผู้นำที่น่าชื่นชม แม้จะอุทิศตนทำงานการเมืองแต่ก็ไม่เคยละเลยบทบาทในฐานะพ่อของลูก

ย้ำอีกครั้งว่า การไม่ชอบนายกฯ แพทองธาร ไม่ใช่เรื่องแปลก การตื่นขึ้นมาด่าแพทองธารทุกวันจนกว่าทิม เท้ง ทอน จะได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก การบ่นว่ารัฐบาลทำงานห่วยก็ไม่ใช่อาชญากรรมและเป็นเรื่องปกติ

แต่ที่แปลกคือ อย่าเรียกตัวเองว่าคนหัวก้าวหน้า ส่งเสริมสิทธิสตรี หากเรียกร้องให้ผู้นำหญิง “ถอดความเป็นหญิง” ออกให้หมดจดถึงจะเป็นผู้นำที่น่าเลื่อมใส น่าเชื่อถือ

และทั้งอมรัตน์ และภคมน ควรถามตัวเองเยอะๆ ว่า ทำไมในพรรคส้ม เขาส่งแต่ผู้หญิงมาเล่นบทนางร้ายตาถลน และสงวนบท “คนดี” “คนหล่อ” “คนมีเหตุผล” และ “คนสุขุมนุ่มนวล” ไว้ให้ผู้ชายบางคนในพรรคเท่านั้น