ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศรัณยู ตรีสุคนธ์ |
เผยแพร่ |
ข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในวงการเพลงเคป๊อปตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาก็คือข่าวการยุติสัญญาของ NewJeans หนึ่งใน เกิร์ล กรุ๊ป ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเวลานี้กับทาง ADOR ต้นสังกัด ซึ่งเป็นค่ายเพลงที่อยู่ภายใต้การดูแลของ HYBE ซึ่งเป็นทั้งค่ายเพลงและบริษัทบันเทิงเบอร์หนึ่งของเกาหลีใต้
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่นอกเหนือการคาดเดาของแฟนเพลงแต่อย่างใด
แต่การที่ทาง ADOR ไม่ยอมเจรจาหาข้อยุติที่ลงตัวใดๆ เลยกับสมาชิก NewJeans ทั้งๆ ที่ทางวงได้สร้างเพลงฮิตให้กับทางค่ายและวงการเพลงเคป๊อปมากมายอย่าง OMG, Attention, Ditto, Super Shy, ETA และอีกหลายต่อหลายเพลง
แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวที่ไม่มีทางผสานได้อีกต่อไป
NewJeans เดบิวต์เข้าสู่วงการเมื่อปี 2022 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 5 คนด้วยกันคือ แฮริน, แดเนียล, ฮันนี, มินจี และ ฮเยอิน
โดยในปีที่เดบิวต์สมาชิกทุกคนมีอายุต่ำกว่า 20 ปีและมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทาง ADOR ได้วางแผนเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะหาช่องทางในการเอาเปรียบพวกเธอ เนื่องจากแต่ละคนยังไม่บรรลุนิติภาวะ
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ NewJeans เป็นวงที่ได้รับการโปรโมตและสร้างภาพลักษณ์จากทางต้นสังกัดน้อยมากถ้าหากเทียบกับความสำเร็จที่ทางวงได้สร้างผลกำไรให้กับค่ายอย่างมหาศาล
จุดที่ทำให้ NewJeans แตกหักกับทาง ADOR ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกสัญญาก็คือเหตุผลที่ทางวงประกาศอย่างชัดเจนว่าทางค่ายปฏิบัติกับพวกเธออย่างไม่เหมาะสม
และรอยร้าวที่นับว่าใหญ่โตอย่างมากเกิดขึ้นในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเมื่อทาง HYBE ได้พยายามที่จะกดดันให้ มินฮีจีน ซีอีโอของค่าย ADOR ที่เคยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จทางด้านการสร้างภาพลักษณ์ให้กับวงอย่าง Girls’ Generation, Shinee, f(x), EXO และ Red Velvet มาแล้วให้ลาออกจากตำแหน่ง
เรื่องนี้มีความซับซ้อนและถือเป็นปัญหาการเมืองภายในองค์กร เพราะทาง HYBE ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บังชีฮยอก อ้างว่า มินฮินจี ได้ขายความลับบริษัทให้กับนักลงทุนรายอื่น
แต่เธอก็เถียงกลับแบบสุดตัวและตอกกลับไปอย่างไม่เกรงกลัวว่า Belift Lab ซึ่งเป็นอีกหนึ่งค่ายลูกของ HYBE นำไอเดียในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับวง NewJeans ไปใช้กับวง ILLIT ซึ่งเธอมองว่าเป็นการขโมยไอเดียและละเมิดลิขสิทธิ์ในเชิงสร้างสรรค์ของเธอ
โดย มินฮีจิน ได้ยื่นเรื่องไปยังผู้บริหารหลายครั้งแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ
เรื่องราวนี้นำไปสู่การเปิดโปงใหญ่โตในเรื่องแชตลับที่ทาง HYBE อ้างว่า มินฮินจี ต้องการยึดบริษัท HYBE ผ่านการแชตกับร่างทรง และเรื่องราวที่ชวนอึ้งอีกหลายอย่าง
ส่งผลให้ มินฮีจิน ตัดสินใจฟ้อง 5 ผู้บริหารของ HYBE ในข้อหาหมิ่นประมาท, ขัดขวางการทำธุรกิจและเข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
ในช่วงนั้นเหล่า Bunnies แฟนคลับของ NewJeans ไม่เข้าข้างทั้ง HYBE และ มินฮีจิน เพราะสงสารสมาชิกวงมากกว่าที่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่ในค่าย
หลังจากนั้น มินฮีจิน ก็ได้ถูกไล่ออกจากตำแหน่งซีอีโอของ ADOR แต่ยังคงทำงานให้กับทาง HYBE อยู่ เนื่องจากเธอเป็นโปรดิวเซอร์ที่ต้องดูแลงานเพลงให้กับวง NewJeans ต่อไป
และสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกทั้ง 5 คนของวง NewJeans ถึงกับตั้งช่อง YouTube ขึ้นมาใหม่และทำการไลฟ์สดเพื่อเผยถึงความจริงที่เกิดขึ้น
โดยเน้นไปยังเรื่องที่พวกเธอถูกคุกคามในที่ทำงานและได้เรียกร้องให้ มินฮีจิน กลับมานั่งเก้าอี้ซีอีโอของค่ายตามเดิม
เหล่า Bunnies จำนวนหนึ่งมองว่า มินฮีจิน ทำการฟอกขาวตัวเองโดยใช้สมาชิกวง NewJeans เป็นเครื่องมือ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือวง NewJeans ถูกคุกคามและลดทอนศักดิ์ศรีในที่ทำงานจริงๆ
เนื่องจาก ฮันนี เผยว่ามีผู้จัดการวงไอดอลของค่าย HYBE บอกกับไอดอลในวงที่ทักทาย ฮันนิ ว่า “ไม่ต้องไปสนใจเธอ” ความเลวร้ายเหล่านี้ทำให้ ฮันนิ ตัดสินใจเข้าให้การกับทางฝ่ายนิติบัญญัติของเกาหลีใต้ เพราะเธอมองว่าทาง HYBE พยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของวง
จงใจสร้างภาพลักษณ์ที่เลวร้ายและสร้างความเกลียดชังให้กับวง NewJeans โดยการให้การนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนการถูกคุกคามในที่ทำงาน
ฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้นลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อ มินฮีจิน ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารค่าย ADOR รวมถึงการออกจากค่าย HYBE และยกเลิกสัญญาการถือหุ้นกับทางค่ายอย่างเป็นทางการด้วย
แต่การลาออกของ มินฮินจี ไม่มีผลต่อการทำกิจกรรมของวง NewJeans เลย เพราะถึงแม้ว่าทางวงจะยกเลิกสัญญากับค่ายไปแล้ว แต่ตามกฎหมายทาง HYBE ถือว่าเป็นยกเลิกสัญญาโดยมิชอบและทางค่ายก็ไม่ได้รับฟังข้อเรียกร้องอะไรจากทางวงเลย
รวมถึงการที่ทางค่ายฟ้องเรียกเงินค่าเสียหายจากวงเป็นจำนวนถึง 6 แสนล้านวอน (1.5 หมื่นล้านบาท) จากการยกเลิกสัญญาทั้งๆ ที่ยังไม่หมดสัญญา
โดยวง NewJeans โต้กลับไปว่าพวกเธอไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องอะไรทั้งนั้น เพราะได้ยื่นข้อเสนอให้มีการแก้ไขข้อเรียกร้องไปแล้ว ซึ่งทาง HYBE ไม่ยอมทำตามภายใน 14 วัน จึงถือว่าสัญญาเป็นโมฆะไปโดยปริยาย
ที่น่าเศร้าก็คือแม้กระทั่งระบบยุติธรรมของเกาหลีใต้ก็ยังเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ เมื่อกระทรวงแรงงานได้ปฏิเสธคำร้องการถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงานของ ฮันนิ โดยให้เหตุผลว่า “อาชีพไอดอลไม่ใช่แรงงานตามกฎหมายแรงงานของเกาหลีใต้ และหากลงลึกในรายละเอียดแล้วพบว่ามันเป็นการยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าไอดอลมีสถานะเป็นแรงงานตามกฎหมายหรือเปล่า เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมและศาลได้จัดประเภทอาชีพเอนเตอร์เทนเนอร์ว่าเป็นนิติบุคคลพิเศษที่ทำงานตามสัญญาภายใต้ต้นสังกัดเท่านั้น”
กรณีการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของวง NewJeans ถือเป็นกรณีศึกษาครั้งสำคัญ โดย อีดงยอน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติเกาหลีได้เผยกับทางสำนักข่าว AFP ถึงกรณีดังกล่าวว่า
“สัญญาที่ไอดอลเซ็นกับต้นสังกัดนั้นมีการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายและมีการเลี่ยงบาลีบางอย่างเพื่อให้ไอดอลไม่สามารถฟ้องต้นสังกัดกลับได้ถ้าหากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาก็มีกรณีพิพาทในลักษณะใกล้เคียงกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง”
ในปี 2009 วง TVQX (ทงบันชินกิ) ได้ช็อกวงการเคป๊อปด้วยการฟ้องร้องค่าย SM Entertainment ต้นสังกัด เนื่องจากสัญญาที่ทางวงเซ็นกับค่ายที่ยาวนานถึง 13 ปีนั้นไม่ต่างไปจาก “สัญญาทาส” ที่ทำให้สมาชิกวงทำงานจนแทบไม่ได้นอนและถูกเอาเปรียบเงินค่าจ้างด้วย
ในปี 2023 สมาชิกวง เกิร์ล กรุ๊ป FIFTY FIFTY บางคนตัดสินใจยกเลิกสัญญากับ Attrakt ต้นสังกัดโดยให้เหตุผลว่าทางค่ายไม่มีความโปร่งใสในด้านการจ่ายเงินค่าจ้างและไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพของสมาชิกวงในระหว่างการทำงาน
ไม่ต้องสืบเลยว่าเรื่องนี้จะต้องไปถึงชั้นศาลแน่นอนและแต่ละฝ่ายก็น่าจะกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ให้รัดกุมที่สุดเพื่อให้ได้เปรียบเมื่อการพิจารณาคดีเดินทางมาถึง
ในตอนนี้ NewJeans ที่มีสถานะเป็นศิลปินอิสระแล้วพยายามอย่างสุดตัวที่จะนำชื่อวงไปใช้ทำงานเพลงต่อในอนาคต ถึงแม้ว่าทาง HYBE จะยืนยันว่าลิขสิทธิ์ชื่อวงเป็นของบริษัทก็ตาม โดยในระหว่างนี้อาจจะมีข่าวอัพเดตเพิ่มเติมบ้างก็ได้ เพราะบทความนี้เขียนขึ้นในวันแรกที่มีข่าว NewJeans ยกเลิกสัญญา
คิมจินกัก ศาตราจารย์มหาวิทยาลัย Sungshin Women’s University ให้สัมภาษณ์ว่าเคสของวง NewJeans นับว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างไอดอลและต้นสังกัดที่ตาต่อตาฟันต่อฟันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
และคดีนี้จะเป็นกรณีศึกษาให้กับค่ายเพลงทุกๆ ค่ายในเกาหลีใต้ที่เขียนสัญญาที่ควบคุมอิสระหรือคุกคามสิทธิมนุษยชนของศิลปินในสังกัดมากจนเกินไป
โดยในกรณีนี้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจจะต้องถึงขั้นเสนอให้มีการร่างกฎหมายที่มีความชอบธรรมต่อศิลปินไอดอลภายในประเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการยกเลิกสัญญาของวง NewJeans กับทางบริษัท ADOR และ HYBE นั้นเป็นการต่อสู้ของไอดอลและผู้มีอิทธิพลในวงการบันเทิงเกาหลีและสั่นคลอนกฎหมายแรงงานของเกาหลีใต้อย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022