ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ภาสกร ประมูลวงศ์ |
เผยแพร่ |
ในช่วงทศวรรษที่ 80 โลกดนตรีในธารกระแสหลักต่างมุ่งเป้าไปยัง New Music หลังจากจมปลักอยู่กับของเก่ามาตั้งแต่ช่วง 40’s
มันถึงกาลสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งใหม่แบบกะล้างทั้งระบบ
เครื่องดนตรีสังเคราะห์แนวอิเล็กทรกนิกส์ ชั้นเพลงป๊อปจ๋าฟรุงฟริ้งเน้นฮุกที่ติดหู วิธีการโปรโมตแบบใหม่ที่มีการเลือกกลุ่มลูกค้าหลักล่วงหน้า The Second British Invasion เดินทางมาสู่คนฟังแบบทูตวัฒนธรรม (กรุณาอย่าใช้คำว่า Soft Power) หลังจากรุ่นพ่ออย่าง The Beatles เดินกรุยทางมาก่อน
และใช่ มันอาจไม่ถึงกับทรงคุณค่าขนาดคลาสสิคร็อกแบบตำนานรุ่นพ่อทำไว้ก่อนหน้า ถึงขนาดนักวิจารณ์เพลงยังเหน็บแนวว่า “ไอ้พวกหน้าสวยเสียงหล่อ” ผมทรงชี้ๆ แถมย้อมสีแบบรายสัปดาห์ เสื้อผ้าแนวบูติก แต่งหน้าทาปากขึ้นเวที/ลงหน้าปกนิตยสารระดับประเทศ พวกเขาใช้ภาษาง่ายๆ แนวหนุ่มจีบสาว ฉันรักเธอ เธอรักฉัน เรารักกันซู่ซ่าๆ นั่นก็คือการจารึกตัวตนอย่างหนึ่งลงในสารบบประวัติศาสตร์ดนตรีโลก
ในระนาบนั้น อังกฤษได้กลายเป็นศูนย์กลางไปโดยฉับพลัน เหตุเพราะเป็นเกาะที่มีขนาดกำลังดี เพลงๆ หนึ่งสามารถเดินทางไปถึงหูคนฟังได้อย่างรวดเร็ว
วัฒนธรรม Brit POP ยังกินลามไปถึงสิ่งอื่นๆ แฟชั่น ภาพยนตร์ในแบบอังกฤษแท้ๆ ฟุตบอล (เทนนิสวิมเบิลดัน และรักบี้นานาชาติ) กับอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อลอนดอนเริ่มเล็กเกินไปสำหรับศิลปิน ดอกไม้ดนตรีได้ผลิบานไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ เป็นต้นว่า ลิเวอร์พูล เชฟฟิลด์ เบอร์มิ่งแฮม แมนเชสเตอร์ จากนั้นก็กินลามไปยังทวีปยุโรป เมืองหลวงอย่างปารีส สตอกโฮล์ม มาดริด ออสโลว์ จึงคลาคล่ำไปด้วยเพลงแบบซินธ์-ป๊อป
นับประสาอะไรกับเมืองเล็กๆ แคว้นนอร์ธไรน์-เวสต์พาเลียชื่อ มุนสเตอร์ (M?nster เพื่อนเยอรมันผมบอกว่าจริงๆ ต้องอ่านว่า “มอนสเตอร์”) เด็กหนุ่มสามคนจากกลุ่มก๊วนเพื่อนๆ ที่นิยมตระเวนท่องราตรีในคลับของกรุงเบอร์ลินประกอบด้วย แมเรี่ยน โกลด์ (นักร้องนำ) เบิร์นฮาร์ด ลอยย์ (คีย์บอร์ดมือหนึ่ง ซาวด์โปรแกรม ซินธิไซเซอร์) และ แฟรงก์ เมอร์เตนส์ (คีย์บอร์ดมือสอง ซินธิไซเซอร์) ด้วยอิทธิพลที่รับมาเต็มๆ จาก Brit Pop ยุครุ่งเรืองเบ่งบาน พวกเขาฟอร์มวงและเรียกมันตามชื่อหนังแนว French New Wave ของบรมครู ณอง ลุค โกดาร์ ว่า Alphaville ทำดนตรีแนวเต้นรำและรับงานตามคลับ
จนวันหนึ่งโชคชะตาก็ได้ทำหน้าที่ของมัน เมื่อแมวมองจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ค้นพบอัญมณีที่รอคอยการเจียระไน
ซึ่งแทบจะเป็นเรื่องปกติ เพราะการค้นหาเพชรเม็ดงามจากแดนอิมทรีเหล็กไม่เคยทำให้แฟนเพลงอิเล็กทรกนิกส์ผิดหวัง
ดูได้จากกระแสไล่ๆ กันของ Propaganda (กับอัลบั้ม A Secret Wish ที่ผมถือว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่งยวดตลอดกาล) หรือ Nena (กับเพลงลูกโป่งสีแดง 99 ลูกเพลงนั้น) Alphaville อยู่ในความดูแลของโปรดิวเซอร์มือทองจาก WEA นาม โคลิน เพียร์สัน
โคลินไม่ต้องปรับปั้นอะไรมากเพราะรูปแบบของวงและแนวเพลงพื้นฐานมันชัดเจนดีอยู่แล้ว นอกจากเพิ่มความเป็น Brit Pop เข้าไป เช่นท่อนแรกของเพลง Forever Young
โคลินหัวเด็ดตีนขาดว่าต้องออกเสียงคำว่า Dance เป็น ด๊านซ์ (อังกฤษ) มากกว่า แดนซ์ (อเมริกัน)
นอกเหนือไปจากนั้นก็เป็นเรื่องการผสมเสียง Mixed Down ซึ่งถ้าคุณผู้อ่านสนใจ ผมเคยเห็นผ่านๆ ตาว่ามีรายการสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้แขวนอยู่บน YouTube รับรองว่าสาวกเพลงในยุค 80’s ไม่ผิดหวัง ลองหาดูได้ตามอัตภาพครับ
Alphaville เข้าห้องอัดเพื่อทำงานเพลงอัลบั้มแรกในเดือนมกราคม 1984 เด็กหนุ่มสามคนกับโปรดิวเซอร์คู่ใจฝังชีวิตไว้ที่นั่นถึง 8 เดือนเต็มๆ จน Forever Young วางแผงแบบเต็มแทร็กในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เพียงแค่ซิงเกิลแรก Big in Japan พวกเขาก็ก่อกระแสฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองอังกฤษ ไต่อันดับไปถึงอันดับ 8 เหยียบจมูกเจ้าถิ่น UK Singles Chart และอันดับหนึ่ง US Hot Dance Club Play
เนื้อเพลงกล่าวถึงวงการดนตรีที่ค่อนขอดศิลปินกันเองว่า ถ้าจะเรียกว่าดังจริงไม่ใช่แค่ที่อังกฤษกับอเมริกาเท่านั้น ต้องดังที่ญี่ปุ่นด้วย
ก่อนตามมาด้วย Sounds Like a Melody เป็นซิงเกิลที่สอง
แต่ที่ต้องล้อมกรอบเป็นวรรคทองคือซิงเกิลที่สาม เพลงๆ นี้ได้เปลี่ยนแปลง Alphaville จากวงที่ทำเพลงเต้นรำดาดๆ ให้กลายเป็น 80’s Legendary Band เพลงนั้นคือ Forever Young
อันที่จริง Forever Young เขียนและบันทึกเสียงแล้วเสร็จตั้งแต่ก่อนเข้าห้องอัด หากแต่มันยังไม่สมบูรณ์ในด้านของการ Compose แถมเป็นภาษาเยอรมัน โคลิน เพียร์สัน มองเห็นศักยภาพของเพลงๆ นี้และเลือกที่จะเอากลับมา Re-Edit ทั้งในส่วนของเนื้อร้องและการผสมเสียง (ท่อนประสานก่อนจบเพลงคือจุดที่เด่นชัดที่สุดและดีที่สุด)
มากกว่านั้น เพลงนี้ถูกเสกให้อยู่ในรูปแบบของ Modern Ballard ซึ่งสร้างความงุนงงเลิกคิ้วให้กับแฟนๆ ที่แห่ไปซื้อสองซิงเกิลแรกเป็นอย่างมาก
เพราะมันไม่ได้กล่าวถึงความรื่นเริงกลางฟลอร์ กลับสะท้อนภาพของสังคมเยอรมันในช่วงสงครามเย็นที่หดหู่เศร้าสร้อย ร่วมกันเขียนโดยสมาชิกทั้งสามคนของวง
บนหน้าปกอัลบั้มนี้คือเงาสะท้อนที่แทบไม่ต้องหาภาพอื่นมาประกอบ มันยืนยงคงกระพันเคียงคู่กับศิลปะแขนงอื่นๆ ไล่ตั้งแต่เป็นเพลงประกอบซีรีส์ เพลงประกอบภาพยนตร์
หนำซ้ำยังแขวนอยู่บนแพลตฟอร์ม TikTok สารพัดสารพัน
เดือนพฤศจิกายน ปี 2020 Becky Hill ศิลปินสาวชาวอังกฤษ บันทึกเสียงเพลงนี้อีกคำรบเพื่อการกุศลหาเงินซื้ออาหารให้ผู้ยากไร้ภายใต้โครงการ FareShare โดยผู้ที่ดาวน์โหลดเพลงนี้ก็เท่ากับร่วมกันทำบุญร่วมครั้งละ 10 เพนซ์ แถมฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังสัญชาติอเมริกันยังเลือกเพลงนี้มาประกอบหนังโฆษณาโดยบริจากลงขันไป 5 ล้านเหรียญ
อย่าถามว่า Forever Young ถูกนำไปผลิตใหม่กี่ครั้ง เพราะมันมากกว่าที่จะนับได้ด้วยนิ้วจากมือทั้งสองข้าง
ในส่วนของเนื้อร้องเขียนได้งดงามราวบทกวี ขนาดนิตยสารที่ทรงอิทธิพลอย่าง Billboard ถึงกับยกย่องให้เยี่ยมยอดเท่าเทียมกับ Stairway to Heaven เพราะมันคือการตั้งคำถามถึงสรรพสิ่งแบบไม่ต้องการคำตอบ เมื่อไม่ต้องการคำตอบ มันจึงถามไถ่ได้ชั่วกาลเหมือนชื่อของเพลงไม่มีผิด
ในทุกๆ ท่อนได้ซ่อนความหมายของการมีชีวิต หรือ การไม่มีชีวิตสลับกันไป
“อยู่อย่างเยาว์วัยตลอดชั่วกาล ฉันอยากเป็นเช่นนั้น แต่เอาจริงๆ เธออยากเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?”
นี่คือตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ ประโยคท่ามกลางยุคที่คนโหยหาความเป็นหนุ่มสาวจนลืมไปว่า วันหนึ่งเราต้องตาย
หากจะถาม ถึงที่มา หาคำตอบ ใครเล่ามอบ ชีวิตไว้ ให้กับฉัน?
อยากจะอยู่ อย่างศักดิ์สิทธิ์ นิจนิรันดร์ ความจริงนั้น กลับไม่ง่าย ดั่งใจปอง
บ้างล้มตาย บ้างยังอยู่ ดูโลกกว้าง บ้างละวาง บ้างยังดิ้น สิ้นทั้งผอง
อยากคับฟ้า ชั่วดินดับ ประคับคอง หาได้ตรอง จำต้องไป ในสักวัน
คิดจะอยู่ อย่างบ้าบิ่น จนสิ้นโลก แม้นเศร้าโศก โศกา แลน่าขัน
แก่เจ็บตาย จำทนไป ทำไมกัน ความคิดนั้น เปลืองเวลา อย่าสนใจ
แม้นต้องจำ กล้ำกลืน ฝืนทนอยู่ จงเรียนรู้ ความจริง สิ่งสงสัย
เมื่อตนมอด คืนสู่ดิน สูญสิ้นไป เหลือชื่อไว้ ให้คนจำ ทำความดี
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022