Robot Dreams หุ่นยนต์ฝันได้หรือเปล่า

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ความฝันของหุ่นยนต์ (Robot Dreams) เป็นหนังการ์ตูนปี 2023 ด้วยความร่วมมือระหว่างสเปนและฝรั่งเศส โดยผู้กำกับฯ ชาวสเปน Pablo Berger จากกราฟิกโนเวลชื่อเดียวกันปี 2007 ของนักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน Sara Varon

หนังกวาดรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมในยุโรปหลายเวทีรวมทั้งรางวัลโกย่า และเข้าชิงรอบสุดท้ายอะนิเมชั่นยอดเยี่ยมของออสการ์ แต่พ่ายแพ้ให้แก่ เด็กชายกับนกกระสา (The Boy and the Heron) ของฮายาโอะ มิยาซากิ ไป

เป็นหนังสี ไม่มีบทสนทนา หมายถึงตัวละครซึ่งใช้สัตว์นานาชนิดร่วมแสดง (anthropomorphic) ไม่ได้พูดกันเลย มีดนตรีและเพลงประกอบตลอดเรื่อง

เพลงเด่นย่อมเป็น September ( ผลงานปี 1978 ของ Earth, Wind & Fire song) เพื่อช่วยระบุเวลาที่เกิดเหตุ แล้วใช้เป็นเพลงฮุกในตอนจบอย่างยอดเยี่ยมที่สุด เรียกว่าดูหนังจบต้องเปิดยูทูบฟังเพลงอีกหลายรอบ

คนดูจะได้เห็นเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ดังนั้น เหตุเกิดในนิวยอร์ก และด้วยเพลง “กันยายน” ที่เปิดกันสนุกสนานก่อนเกิดเหตุ อย่างน้อยเวลาก็ควรเป็นก่อนกันยายนปี 2001 เป็นประเด็นถกเถียงว่าผู้สร้างจะเก็บฉากหลังตึกคู่นี้ไว้ให้สะเทือนใจทำไม

แต่ก็เป็นการ์ตูนสะเทือนใจจริงๆ นั่นแหละ เนื้อเรื่องของหนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์น่าประทับใจระหว่างคุณหมาขี้เหงากับหุ่นยนต์ร่าเริง

ส่วนสำคัญของเนื้อเรื่องคือตอนที่หุ่นยนต์ฝัน อันเป็นส่วนที่ดีที่สุดหากคนดูจะไม่รู้มาก่อนว่าหุ่นยนต์ฝันอะไรบ้าง ชวนให้นึกถึงคำถามสำคัญนั่นคือหุ่นยนต์ฝันได้มั้ย สมมติว่าหุ่นยนต์ฝันได้คำถามถัดไปคือปัญญาประดิษฐ์ที่เราเรียกกันว่าเอไอฝันได้ไหม ภายใต้คำพูดที่ได้ยินกันทั่วไปว่าเอไอสามารถเรียนรู้ ปรับตัว และวิวัฒน์ (learn, adapt, evolve)

ปรากฏว่า ไอแซ็ก อะสิมอฟ เคยเขียนเรื่องสั้น Robot Dreams แล้วเมื่อปี 1986 รวมไว้ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อเดียวกัน Robot Dreams ซึ่งภาพหน้าปกกลายเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากภาพหนึ่งในจักรวาลหุ่นยนต์ คือภาพหุ่นยนต์ในท่านอนหลับอย่างสบายตัวบนเบาะที่นอนริมทะเลซึ่งใครเห็นก็ “รู้สึก” ได้ว่าเขากำลังหลับสนิท ท่าจะกำลังฝันอยู่ด้วยซ้ำไป

ผู้เขียนภาพนี้คือ Ralph McQuarrie จิตรกรชาวอเมริกันผู้ล่วงลับไปแล้ว เขามีผลงานวาดภาพฝากไว้ในสตาร์วอร์สไตรภาคที่สอง คือเอพิโสด 4-6 และ Battlestar Galactica ฉบับทีวีซีรีส์ครั้งแรกสุด นั่นคือทศวรรษที่ 70-80

ที่บ้านมีหนังสือเล่มนี้ของอะสิมอฟจึงหยิบมาอ่านซ้ำได้ทันที อันที่จริงนี่เป็นเรื่องสั้นที่ค่อนข้างสั้นไม่ยืดเยื้อเลย เปิดฉากมานักหุ่นยนต์วิทยาสาวเพิ่งบรรจุใหม่ ดร.ลินดา แรช นำตัวหุ่นยนต์ LVX-1 มาหานักจิตวิทยาหุ่นยนต์อาวุโส ดร.ซูซาน แคลวิน ซึ่งวันนี้มีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าสถาบันหุ่นยนต์แล้ว

ซูซานเป็นตัวละครที่จะปรากฏตัวในนิยายวิทยาศาสตร์ของอะสิมอฟหลายเรื่อง ลินดารายงานเจ้านายว่าหุ่นยนต์ของเธอฝัน! จะว่าไปลองถ้ามีตำแหน่งนักจิตวิทยาหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ก็น่าจะจิตใจที่ฝันได้แน่ๆ อยู่แล้ว เพราะถ้ามีจิตใจที่ใดย่อมมีความขัดแย้งของจิตใจ (conflicts) ติดตามมา และถ้ามีกฎ กติกา มารยาท วัฒนธรรมใดๆ มาขัดขวางมิให้ชีวิตนั้นแก้ไขความขัดแย้งได้ในโลกแห่งความเป็นจริง (reality) จิตใจจำเป็นต้องกำจัดหรือระบายความขัดแย้งนั้นทิ้ง เครื่องมือหนึ่งที่ใช้คือ ความฝัน

ความฝันคือท่อระบายของเสียของจิตใจ

หุ่นยนต์ในจักรวาลของอะสิมอฟอยู่ใต้กฎสามข้อของหุ่นยนต์แน่นหนาที่สุด ซูซานถามลินดาว่าเธอทำอะไรลงไป ลินดาตอบว่าเธอใส่สมองโพสิตรอนของมนุษย์ลงไปในหุ่นยนต์ นี่เป็นปฏิบัติการที่ล้ำยุคและอาจหาญมาก

ซูซานถึงกับพูดว่าจะให้ชั้นไล่เธอออกหรือเลื่อนขั้นให้ดี

ซูซานหันไปถามเอลเว็กซ์ คือการออกเสียงเรียกชื่อ LVX-1 ตัวนี้ ว่าตัวเธอรู้ได้อย่างไรว่าเป็นความฝัน

หุ่นเอลเว็กซ์ตอบว่า “มันเป็นเวลากลางคืน ผมเห็นตัวเองและเห็นเหตุการณ์บางอย่างซึ่งเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้น มันจึงเป็นการฝัน”

ซูซานถามต่อไปว่าฝันเรื่องอะไร หุ่นเอลเว็กซ์ตอบว่า “ผมฝันเห็นหุ่นยนต์เป็นแรงงานของมนุษย์ในการทำงานหนักและเสี่ยงอันตรายตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทั้งกาแล็กซี่ ใต้ดิน ใต้ทะเลลึก ในสถานที่มีรังสีอันตราย ทำงานตลอดเวลาไม่มีการพัก ผมฝันเห็นการจลาจลที่หุ่นยนต์นับพันตะโกนพร้อมกันว่า ‘ปลดปล่อยพวกเรา'”

เมื่อซูซานถามต่อไปถึงกฎข้อที่สามของหุ่นยนต์ หุ่นเอลเว็กซ์ตอบว่า “หุ่นยนต์ต้องป้องกันตนเอง” ซูซานว่า “ไม่ใช่ เธอตอบไม่ครบ กฎข้อที่สามมีว่าหุ่นยนต์ต้องป้องกันตนเองเว้นแต่ขัดกับกฎข้อที่หนึ่งและสอง เธอพูดไม่ครบ”

หุ่นเอลเว็กซ์ว่า “นั่นเป็นกฎข้อที่สามในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในความฝันของผมกฎข้อที่สามมีเพียงท่อนแรกเท่านั้น”

ทบทวนกฎข้อที่ 1 มีว่าหุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้ายมนุษย์ กฎข้อที่ 2 มีว่าหุ่นยนต์ต้องเชื่อฟังมนุษย์ เว้นแต่ขัดกับกฎข้อที่ 1

“เป็นไปไม่ได้” ลินดาพูด “เป็นไปไม่ได้ในจิตสำนึกของหุ่นยนต์”

“กฎข้อที่สามที่สมบูรณ์อาจจะไม่ทำงานในชั้นจิตใต้สำนึก” ซูซานพูด

ซูซานหันไปถามหุ่นเอลเว็กซ์ต่อว่ามีมนุษย์ในความฝันของเธอมั้ย เอลเว็กซ์ตอบว่าไม่มี ซูซานเอาปืนรังสีออกมาถือไว้แล้วถามว่าในความฝันของเธอ เธอเห็นผู้นำกลุ่มก่อการจลาจลมั้ย เอลเว็กซ์ตอบว่าผมเอง

แล้วซูซานก็ลั่นไก

กลับมาที่การ์ตูน เมื่อหุ่นยนต์ถูกทิ้งไว้ให้ขยับตัวไม่ได้บนหาดทรายคนเดียว มีกระต่ายสามคนพายเรือมาขึ้นฝั่งพบเข้าจึงใส่น้ำมันหล่อลื่นให้เขาลุกได้อีกครั้งหนึ่ง เขารีบกลับบ้านไปพบคุณหมาเพื่อนรัก แต่นั่นเป็นแค่ความฝันครั้งที่หนึ่ง ในความเป็นจริงเรื่องที่เกิดกับหุ่นยนต์น่ากลัวกว่ามาก

นักดูหนังบางคนอาจจะรู้สึกได้ว่าเรากำลังดูหนัง LGBT เหตุเพราะเราไม่แน่ใจนักว่าคุณหมาและหุ่นยนต์เป็นเพศอะไร ท่าทีคลอเคลียในหลายๆ ตอนชวนให้นึกถึงเพศอะไรก็ได้ทั้งนั้น ยังไม่นับว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณหมากับคุณมนุษย์หิมะ รวมทั้งความสัมพันธ์กับคุณเป็ดก็ชวนให้เรางุนงงได้ไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะเมื่อถึงฉากสุดท้าย หนังเงียบก็จริงแต่ซ่อนอะไรต่ออะไรไว้มากมาย บางส่วนจากหนังสือปี 1900 The Wonderful Wizard of Oz ของ L. Frank Baum และบางส่วนจากหนังสือปี 1968 Do Androids Dream of Electric Sheep? ของ Philip K. Dick

การ์ตูนเรื่องนี้กำหนดไว้เป็นปี 1984 แต่ทั้งหมดนี้เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นหุ่นยนต์ฝันไปหรือเปล่า •

 

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์