กลับคำ

ญาดา อารัมภีร

คนพูดจากลับกลอก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเชื่อถือไม่ได้ พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย หรือพูดกลับคำ พูดแล้วไม่เป็นไปตามพูด ไม่ทำตามที่พูดไว้ พูดแล้วเปลี่ยนคำพูด คำพูดเป็นเพียงลมปากที่สักแต่พ่นออกมา

คนกลับกลอกและคนกลับคำ ทั้งการกระทำและคำพูดตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน เป็นคนขาดความน่าเชื่อถือ เชื่อไม่ได้ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ควรคบหา รังแต่จะนำผลร้ายมาสู่ต่อตนเองและส่วนรวม เพราะคนเหล่านี้คือ จุดเปลี่ยน หรือจุดพลิกผันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดในฉับพลัน และมักจะ ‘ร้าย’ มากกว่า ‘ดี’

ในวรรณคดี ‘การกลับคำ’ ไม่เกี่ยวกับ ‘ร้าย’ หรือ ‘ดี’ เป็นแค่กลวิธีที่กวีนับแต่อดีตถึงปัจจุบันนิยมใช้กันทั่วไป

วรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” พรรณนากระบวนเสด็จของพระสมุทรโฆษและนางพินทุมดีเดินทางกลับเมืองรมยบุรีว่า

“๏ พลบทจรปรามปราบ ปวงริปูหลาบ ประลาตแสยง”

(พะ-ละ-บะ / ทะ-จะ-ระ / ปราม-ปราบ) (ปวง / ริ-ปู-หลาบ) (ประ-ลาด-สะแหยง ) (/ = เครื่องหมายแบ่งจังหวะการอ่าน)

ปกติคนเราชินกับการใช้คำว่า ‘ปราบปราม’ ในที่นี้กวีต้องการให้คำว่า ‘ปราบปราม’ คล้องจองกับคำว่า ‘หลาบ’ จึงกลับคำเป็น ‘ปรามปราบ’ เพื่อให้สองคำสัมผัสกันตรงตำแหน่งบังคับตามแบบแผนคำประพันธ์มาลินีฉันท์ 15

“บทเห่ชมปลา” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง กวีเอกสมัยอยุธยา ก็ใช้วิธีกลับคำเช่นกัน มีทั้งคำว่า ‘เคียงคู่’ และ ‘คู่เคียง’

“ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี

แต่นางเหินห่างพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร”

“แมลงภู่คู่เคียงว่าย เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม

คิดความยามเมื่อสม สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง”

กวีส่วนมากมักจะกลับคำแค่ 2 คำเท่านั้น แต่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรพิเศษยิ่งกว่า กลับถึง 3 คำ ได้แก่ ‘ว่ายเคียงคู่’ และ ‘คู่เคียงว่าย’ ทำให้เกิดภาพงดงามตามต้องการ

กวีกลับคำทำไม?

 

ขึ้นชื่อว่า ‘กวี’ คงไม่ใช่แค่ทำพราะไม่มีอะไรจะทำ หรือทำเพราะอยากทำ พอใจจะทำ หรือลองทำเล่นๆ ฆ่าเวลา แต่กวีทำอย่างมีเป้าหมาย เป้าหมายของการกลับคำ นอกจากเพื่อให้คำคล้องจองกันแล้ว ยังเพื่อสร้างสีสันภาษา เล่นกับคำอย่างมีลีลา มิให้คำที่เลือกมาใช้นั้นดูพื้นๆ ดาดๆ หรือดูธรรมดาๆ เกินไป

การกลับคำจึงเป็นศิลปะการใช้คำที่แสดงถึงความสามารถทางภาษาโดยตรง

อย่างคำว่า ‘หลงใหล’ และ ‘หลงกาม’ แค่ซ้ำคำว่า ‘หลง’ ก็จะได้ข้อความว่า ‘หลงใหลหลงกาม’ แต่เจ้าพระยาพระคลังเมื่อครั้งยังเป็นหลวงสรวิชิต (หน) สมัยกรุงธนบุรี ใช้ทั้งวิธีกลับคำและซ้ำคำควบคู่กันไป ดังจะเห็นได้จาก “อิเหนาคำฉันท์” ตอนอิเหนาได้นางบุษบาในถ้ำทอง กวีกลับคำว่า ‘หลงใหล’ เป็น ‘ใหลหลง’ และซ้ำคำว่า ‘หลง’ ในคำว่า ‘หลงกาม’ เกิดข้อความว่า ‘ใหลหลงหลงกาม’ สื่อความหมายว่า ทั้งคู่กำลังหลงใหลลุ่มหลงรสรักจนลืมสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง

การกลับคำซ้ำคำของวรรคนี้สอดคล้องกับลีลาซ้ำคำในแต่ละวรรคได้เป็นอย่างดี

“แช่มชื่น/ชื่นชีว์ รู้รส/รสดี เสน่ห์/เสน่หา

ใหลหลง/หลงกาม กลหรร/หรรษา หัสลืม/ลืมธา- นีราช/ราชฐาน”

 

ลองพิจารณาผลงานประพันธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 กันบ้าง ลีลาการใช้คำใน “กากีกลอนสุภาพ” ยิ่งพริ้งพราย กวีกลับคำเพื่อส่งและรับสัมผัสคำตายให้เกิดเสียงกระทบกัน ดังตอนที่นางกากีแอบมองหนุ่มน้อย หรือพระยาครุฑแปลงกำลังเล่นสกากับท้าวพรหมทัต

“ชายนั้นโฉม/วิไล/ประไพพักตร์ แหลมหลัก/เชิงเล่น/ก็เจนจบ

ทั้งกิริยา/คมสัน/ครันครบ อันชายใน/พิภพนี้/ไม่มีปาน”

เมื่อกลับคำว่า ‘หลักแหลม’ และ ‘ครบครัน’ จะเกิดจังหวะและสัมผัสคล้องจองระหว่างคำว่า ‘ประไพพักตร์’ กับ ‘แหลมหลัก’ และคำว่า ‘เจนจบ’ กับ ‘ครันครบ’ ความหมายของคำที่กลับแล้วยังคงเดิม เพิ่มเข้ามาเพียงเสียงคำคล้องจองกันอย่างมีชั้นเชิง เนื่องจากการรับและส่งสัมผัสด้วยคำตายเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องในกลอนบทเดียวกัน เช่น พักตร์-หลัก และ จบ-ครบ-ภพ เสียงคำออกจะหนักและห้วนไม่นุ่มนวลเหมือนกลอนทั่วไป แต่ที่มีลีลากลอนราบรื่นเป็นเพราะเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อาศัยสัมผัสในของแต่ละวรรคเป็นตัวเชื่อมโยงตั้งแต่วรรคหนึ่งถึงสี่ไปจนจบบท

เช่น วรรคหนึ่งมีคำว่า ‘วิไล’ คล้องจองกับ ‘ประไพพักตร์’ วรรคสองมีคำ ‘เชิงเล่น’ กับ ‘เจนจบ’ วรรคสามมี ‘คมสัน’ กับ ‘ครันครบ’ วรรคสี่มี ‘พิภพนี้’ กับ ‘ไม่มีปาน’

 

น่าสังเกตว่าบางคำนิยมใช้ร่วมกันทั้งคำเดิม และคำใหม่ที่เกิดจากการกลับคำนั้น ดังนี้

ฟาดฟัน-ฟันฟาด

(สิงหไตรภพ)

– ยักษ์ขยับรับพลาดพระฟาดฟัน ถูกกุมภัณฑ์ขาดกลางทั้งช้างพลาย

– อสุรากล้าหาญเงื้อขวานง้าว ทั้งแหลนหลาวฟันฟาดเสียงฉาดฉับ

(รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2)

– ชิงอาวุธยุดเหยียบยักษ์ไว้ ฟาดฟันบรรลัยด้วยฤทธา

– ขึ้นเหยียบยักษ์หักคอพิฆาตฆ่า ชิงสาสตราฟันฟาดดังฉาดฉับ

ย่อยยับ-ยับย่อย

(สิงหไตรภพ)

– ดูนงเยาว์เศร้าสร้อยเป็นรอยเล็บ ที่แผลเจ็บย่อยยับไม่นับแผล

– ต่างยับย่อยสร้อยสุดาเรียกข้าไท พวกสาวใช้เข้ามาฉุดแย่งยุดยื้อ

(รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2)

– เฆี่ยนเสียสองร้อยให้ย่อยยับ พอเป็นสง่าทัพที่จับได้

– คิดจะใคร่โจมทัพให้ยับย่อย แต่พวกพลเราน้อยกว่าหนักหนา

จองจำ-จำจอง

(สิงหไตรภพ)

– ต้องจองจำตรำตรากลำบากใจ อยู่บนไม้ขาหย่างทนร่างกาย

– ค่อยช้อนองค์พงศ์กระษัตริย์สวัสดี ออกจากที่ทารกรรมพ้นจำจอง

(รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2)

– ทั้งชายหญิงวิ่งมาเห็นกุมาร ต้องจองจำประจานก็ใจหาย

– ซึ่งพันธนาจำจองพระน้องนุช จะลุ่ยหลุดจากกายกระจายไป

บางคำเมื่อกลับแล้วแม้จะดูแปลกอยู่บ้างก็มีใช้ตรงกันทั้งสองเรื่อง เช่น ‘เหน็ดเหนื่อย’ เป็น ‘เหนื่อยเหน็ด’

(สิงหไตรภพ) นางสวรรค์บรรดาตามเสด็จ ที่เหนื่อยเหน็ดก็กระเจิงละเลิงหลง

(รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2) ล้าเลื่อยเหนื่อยเหน็ดเข็ดมนุษย์ ยืนหยุดเอี้ยวองค์ก่งศิลป์ชัย

 

มีคำอีกไม่น้อยที่กลับคำแล้วผู้อ่านรู้สึกสะดุดทั้งตา หู และใจไปพร้อมๆ กัน เช่น คำว่า ‘ปั้นปึ่ง’ เป็น ‘ปึ่งปั้น’ ‘ซักไซ้’ เป็น ‘ไซ้ซัก’ แต่วรรณคดีเรื่องนั้นๆ ก็ยังใช้ทั้งคำเดิม และกลับคำ อาทิ

(สิงหไตรภพ)

– ที่อย่างกลางอย่างเขาว่าชิ้นปลามัน ดูเชิงชั้นปั้นปึ่งทำขึงคม

– ชะคราวขึ้นมึนตึงทำปึ่งปั้น ให้นึกกลัวตัวสั่นหวาดหวั่นไหว

(รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 2)

– จำจะให้ไปหาองค์พระราม มาสอบถามซักไซ้ไต่สวน

– จะออกไปไซ้ซักให้หนักหนา ดูดู๋จะว่าอย่างไรนั่น

‘การกลับคำ’ หากทำได้ดี มีสัมผัสคล้องจองและความหมายตามต้องการก็นับว่ากวีบรรลุเป้าหมาย ถ้ากลับคำแล้วเกิดคำหน้าตาแปลกๆ ไม่มีความหมาย เช่น คำว่า ปึ่งปั้น ไซ้ซัก ซ้องแซ่ วอนวิง นิ่งแน่ แรงเรี่ยว วีพัด ฯลฯ ความงามของภาษาหรือภาษาวรรณศิลป์ที่ควรสมบูรณ์ทั้งเสียงและความหมายก็จะลดไปโดยอัตโนมัติ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร