ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
ขึ้นปีใหม่จะมาพร้อมกับความหวัง และปี 2567 กำลังจะผ่านพ้นอีกปี ซึ่งก็เต็มไปด้วยความหวังมากมาย โดยเฉพาะความหวังในการเห็นภาพเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ตามศักยภาพที่แท้จริง เพื่อกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง สำหรับปี 2568 ก็เช่นกัน
สำหรับปี 2567 นั้น หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจซึมตัวลึก เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ปกติแล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวไทยทะลุ 31 ล้านคน
ถือว่าเข้าใกล้เป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งไว้ประมาณ 36.7 ล้านคนแล้ว หากเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิดที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคน ถือเป็นการฟื้นที่ใกล้กลับเข้าสู่จุดเดิมแล้ว
สะท้อนจากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567 พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% ซึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรก 2567 ขยายตัวได้ 2.3% ถือว่ามีพัฒนาการเชิงบวก
แต่ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนดูไม่ได้บวกด้วยมากนัก เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2/2567 ขยายตัวชะลอลง โดยมีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 2.3% ของไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% ถือเป็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย
ส่วนหนึ่งมาจากระดับภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดที่หดตัวเป็นครั้งแรกที่ 1.2%
ถือเป็นภาพที่เผยให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือน ซึ่งการก่อหนี้นอกระบบจะทำให้ลูกหนี้มีความเสี่ยงในการตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกฎหมายกำหนด ซึ่งบางครั้งสูงถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี อาจการถูกโกงจากสัญญาที่ไม่ชัดเจน หรือการใช้วิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและรุนแรง เป็นต้น
เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก จึงต้องใช้เวลาในการแก้ไข กลับต้องมาเผชิญหน้ากับสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มต้นจากภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ซ้ำยังมาเกิดขึ้นกับภาคใต้อีกกว่า 8 จังหวัด ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้น เงินฝืดเคือง มีภาระหนี้เก่าอยู่แล้ว ต้องมีหนี้ใหม่เพิ่มมาอีก เพราะน้ำที่พัดพาข้าวของหายไป สร้างความเสียหายให้อาคารบ้านเรือน ต้องใช้ทุนในการแก้ไขปรับปรุงใหม่อีก
ตามข้อมูล กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก หากไม่ปรับตัวมีความเสี่ยงเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องแม้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดได้แล้ว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเท่าศักยภาพเดิม ที่เติบโต 3.0-3.5% ได้
ส่วนปี 2568 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.6% และปี 2569 เติบโตเหลือ 2.4%
ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงยังอ่อนแอลงในปีหน้าและปีถัดไป เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจาก
1. ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ที่สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวลงต่อเนื่องมามากกว่าปีและยังมีความเสี่ยงชะลอตัวเพิ่มเติม โดยเฉพาะหากมีการปรับภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นจากสหรัฐ ซึ่งจะส่งกระทบเพิ่มเติมต่อภาคการส่งออกไทย
2. ภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ช้าลง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น
3. การหดตัวของสินเชื่อในภาคธนาคารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า
4. การเข้าสู่สังคมสูงอายุ กดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
รวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการลดลงของการปล่อยสินเชื่อใหม่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของจีดีพี ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น โดยหนี้ต่อจีดีพีของไทยเริ่มปรับตัวลดลงจากสินเชื่อภาคธนาคารที่เติบโตติดลบ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทนในไทยหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จึงคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่าปี 2568 จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้ง ลงมาที่ระดับ 1.5% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25% แม้แนวทางการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) จะมีท่าทีค่อนข้างเข้มงวด โดยเน้นย้ำว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่ผ่านมาเป็นการปรับสมดุลใหม่ (recalibration) ไม่ใช่การเริ่มต้นของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
ดังนั้น KKP Research ประเมินว่า ธปท.ยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ และภาวะทางการเงินในปัจจุบันมีความตึงตัว โดยเฉพาะจากสินเชื่อภาคธนาคารที่หดตัวจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
KKP Research ยังตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างปี 2558-2562 เมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่า 1% และการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 3-4% อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนั้นอยู่ที่ 1.5%
ซึ่งพฤติกรรมเงินเฟ้อในปัจจุบันอ่อนแอพอๆ กับช่วงปี 2558-2562 และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าในช่วงนั้นมาก แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันกลับสูงกว่าช่วงเวลาดังกล่าวมาก
ถือเป็นหนึ่งในข้อสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอาจตึงตัวเกินไป เมื่อเทียบกับศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ประกอบกับเศรษฐกิจที่มีสัญญาณอ่อนแอลง และหนี้เสียที่เร่งตัวขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อนโยบายของ ธปท.ต่อไป
เป็นมุมมองที่สอดคล้องกับผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้เข้ามาประเมินภาพเศรษฐกิจไทย โดยมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจไทยเข้าร่วมด้วย อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แรงขับเคลื่อนหลักเป็นการบริโภคภาคและท่องเที่ยว แม้การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า
โดยปี 2567 ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.7% ส่วนปี 2568 โตที่ 2.9% จากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนเอกชน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ ในระยะต่อนโนบายจะต้องหันมาเน้นการสร้างช่องว่างในการทำนโยบายการเงิน โดยมองว่านโยบายการคลังอาจขยายตัวได้น้อยลงกว่าแผนที่คาดไว้ แต่ยังทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยจัดสรรนโยบายบางส่วนไปเพิ่มผลิตภาพ ปฏิรูปการคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้การเติบโตทั่วถึง และลดสัดส่วนหนี้สาธารณะลงด้วย
IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และมองว่าอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้อีก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากความเสี่ยงในการก่อหนี้ใหม่อาจมีไม่มาก เพราะสินเชื่อชะลอตัว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าไปต่อได้
นี่คือสัญญาณเตือนให้เราๆ เตรียมตัวรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและทิศทางเศรษฐกิจปี 2568