จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (3) รูปแบบของกรรมสิทธิ์และวิถีการผลิต

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

จิตร ภูมิศักดิ์

เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (3)

รูปแบบของกรรมสิทธิ์และวิถีการผลิต

 

การเปิดมุมมองใหม่ไปที่วิวัฒนาการของชุมชนไทยโบราณที่ไม่ผูกมัดไว้แต่การตีความอย่างแคบของการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตหนึ่งไปยังอีกอันหนึ่งด้วยการกดขี่ขูดรีดของชนชั้น แม้เขายังต้องรักษาข้อสรุปทางทฤษฎีนี้ไว้แต่ก็พยายามค้นให้เห็นรายละเอียดของการปฏิบัติที่เปลี่ยนจากแรงงานรวมหมู่มาสู่แรงงานเอกชน

การค้นคว้าและวินิจฉัยของจิตรใน โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน ให้อรรถาธิบายถึงความเชื่อมต่อและเกี่ยวพันกันระหว่างชุมชนบุพกาลของคนไทยกับชุมชนโบราณของรัฐไทยต่างๆ ที่จะเป็นรัฐเจ้าทาสอย่างละเอียด

ทฤษฎีข้างต้นนี้เป็นของลัทธิมาร์กซ์ (ทั่วไป) แต่หลักฐานประกอบที่จิตรใช้เป็นของไทยเอง (เฉพาะ) นั่นคือข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ท่อนที่ว่า “ได้ข้าศึกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี” อีกแห่งในจารึกวัดป่ามะม่วงก็บอกว่า “ได้ข้าศึกข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่ฆ่าบ่ตี ย่อมเอามาเลี้ยงมาขุน บ่ให้ถึงที่ฉิบหาย”

แสดงว่าเกิดประเพณีใหม่ที่ไม่ฆ่าข้าศึกแต่เอามาเลี้ยง นั่นย่อมแสดงว่าสังคมก็ต้องใหม่กว่าเก่าด้วย นั่นคือสังคมทาสที่กำลังเกิดขึ้นมานั่นเอง

จิตรแสดงให้เห็นว่าหัวใจของการเขียนประวัติศาสตร์อยู่ที่การตีความในหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ และการตีความจะพิสดารและหลักแหลมน่าเชื่อถือเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับมโนทัศน์และความรู้รวบยอด (ทฤษฎี) ของแต่ละนักประวัติศาสตร์ การใช้ทฤษฎีในการอ่านและตีความประวัติศาสตร์จึงเป็นศิลปะด้วย

ลองเปรียบเทียบท่วงทำนองและการตีความของจิตรในงาน 2 ชิ้นที่เอ่ยมาก่อนแล้วคือ โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน กับ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทยลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ว่ามีความลุ่มลึกเร่าร้อนและสะท้อนความเป็นตัวตนของเขาเองมากน้อยเพียงไร

เรามาถึงประเด็นสุดท้าย ซึ่งความจริงเป็นเรื่องที่ผมต้องการอภิปรายถึงมากที่สุดในบทความนี้ แต่จำเป็นต้องปูทางและเล่าเรื่องแวดล้อมประกอบให้ผู้อ่านสนใจและติดตามมาเสียก่อน

นั่นคือเรื่องทฤษฎีและการตีความกฎแห่งวิวัฒนาการของสังคมในประวัติศาสตร์หรือทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ตามแนวลัทธิมาร์กซ์

ประเด็นที่ผมให้ความสนใจมากได้แก่ตอนที่จิตรวิเคราะห์ถึงระบบชุมชนไทยบุพกาล โดยใช้หลักฐานจากชุมชนไทยในตังเกี๋ยและลาวเขมร ชี้ให้เห็นระบบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่เป็นแบบรวมหมู่และค่อยๆ นำไปสู่การเกิด กรรมสิทธิ์เอกชน อย่างเป็นขั้นตอน

จนนำไปสู่การเริ่มเกิดสังคมทาสขึ้นในรัฐ “สิบเก้าเจ้าฟ้า” ในแคว้นไทยใหญ่

มุ่งเข้าสู่แคว้นอัสสัม กลายเป็นไทยอาหม ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นระบบศักดินาคล้ายกับของไทยสมัยอยุธยา

พวกที่พุ่งลงมาทางลำน้ำโขง เข้าสู่ดินแดนล้านนา ต้องสู้กับชนพื้นเมืองและนายทาสขอม เกิดระบบทาสเรียกว่า “สิบสองเจ้าไทย” แล้วภายหลังจึงกลายมาเป็นรัฐศักดินาของราชอาณาจักรล้านนา

ต่อมาก็ไทยพวกที่แตกลงมาทางลุ่มน้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยา คือแคว้นอยุธยา

นอกจากจิตรสามารถค้นหาวิวัฒนาการของระบบชุมชนไทยบุพกาลมาสู่ระบบทาสได้ดังได้กล่าวแล้ว มาจากเงื่อนไขของการต่อสู้เพื่อช่วงชิงแรงงานทาสไว้เท่าที่จะทำได้

อีกมิติที่ผมคิดว่ามีความหมายนัยยะสำคัญคือการค้นพบถึงวิวัฒนาการของรูปแบบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตด้วย

นั่นคือ “การรบชนะเจ้าของดินถิ่นเดิมหรือรบชนะพวกชาติกุลอื่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องผลิตรวมหมู่แบบช่วยกันทำเหมือนสมัยชมรมกสิกรรมของยุคชุมชนบุพกาลอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะแต่ละครัวหรือสกุล ต่างมีทาสเชลยเป็นพลังแห่งการผลิต การผลิตโดยเอกเทศแบ่งแยกกันก็เกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของการขูดรีดแรงงานทาส”

ใน อุดมการณ์เยอรมัน (1845) มาร์กซ์อธิบายถึงสมมุติฐานว่าด้วยประวัติศาสตร์มนุษย์ทั้งปวง ว่า “คือการดำรงอยู่ของปัจเจกชนที่มีชีวิตทั้งหลาย” สิ่งแรกที่ต้องหาคือการจัดตั้งทางกายภาพของบรรดาปัจเจกชนเหล่านี้และความสัมพันธ์ที่มีต่อธรรมชาติที่เหลือทั้งหมด แน่นอนเราย่อมไม่อาจลงไปหาถึงลักษณะธรรมชาติจริงๆ ของคนเหล่านั้นในอดีตได้หมด หรือลงไปหาเงื่อนไขทางธรรมชาติที่คนเหล่านั้นดำรงอยู่ไม่ว่าทางภูมิศาสตร์หรือลุ่มน้ำและภูเขา ภูมิอากาศและอื่นๆ

การเขียนประวัติศาสตร์ต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานทางธรรมชาติเหล่านี้และการดัดแปลงไปของมันในเส้นทางของประวัติศาสตร์ที่ผ่านการกระทำของมนุษย์” มนุษย์ต่างจากสัตว์เมื่อเขาเริ่มผลิตปัจจัยแห่งการดำรงอยู่ของเขาขึ้นมาได้

จากนั้นนำไปสู่การผลิตชีวิตทางวัตถุที่เป็นจริง ธรรมชาติของปัจเจกชนจึงวางอยู่บนเงื่อนไขทางวัตถุที่กำหนดการผลิตของพวกเขา

นี่คือกฎเหล็กที่บรรดาสหายชาวพคท.สรุปออกมาว่าคือ “วัตถุกำหนดจิต” ในทุกกรณีอย่างตายตัวไม่ต้องอภิปราย

“วิวาทะเรื่องสุโขทัยมีทาสหรือไม่?” โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ 2529

คุณูปการของการอ่านข้อเขียนของมาร์กซ์โดยตรงเองคือการเห็นความลุ่มลึกและอรรถาธิบายที่ไม่ใช่สูตรตายตัว

ข้อนี้สำคัญมากเพราะส่วนใหญ่คนที่เริ่มศึกษาลัทธิมาร์กซ์จะจดจำคำพูดของมาร์กซ์ที่นักลัทธิมาร์กซ์มือสองนำมาถ่ายทอดให้และชี้นำให้ด้วยว่า หัวใจของมันก็มีอยู่ตรงนี้และมีเท่านี้ก็พอ

ประเด็นเรื่องการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในสังคม เราก็จำได้แต่ว่ามันต้องมาจากการต่อสู้ทางชนชั้น จึงหาแต่ความขัดแย้งอันนั้น

แต่ผมพบว่ามาร์กซ์ให้ความสำคัญแก่การเพิ่มขึ้นของประชากรและการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนมากขึ้นด้วย อันจะมีผลต่อคุณภาพของพลังการผลิต จากนั้นคือการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก ซึ่งก็ขึ้นต่อระดับพัฒนาการของพลังการผลิตและการแบ่งงานทางสังคมในชุมชนนั้นๆ ด้วย

ระดับของพลังการผลิตในชุมชนแสดงออกผ่านการแบ่งงานในสังคม แต่ละพลังการผลิตที่เกิดขึ้นมีผลต่อพัฒนาการต่อไปของการแบ่งงานในสังคม

ดังนั้น จุดสำคัญในการค้นหาพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนและวิถีการผลิตในแต่ละยุคจึงอยู่ที่พลังการผลิตและการแบ่งงานในสังคม เรื่องการรบทำสงครามและแย่งชิงที่ทำมาหากิน ในความเห็นของผมขณะนี้เป็นเรื่องรองที่จะตามมาทีหลัง

 

สรุปคือจุดอ่อนของการวิเคราะห์ระยะเปลี่ยนผ่านจากระบบสังคมบุพกาลไปสู่ระบบโบราณที่มีผู้ปกครองเป็นเจ้าทาส คือการติดยึดกับความเชื่อในลำดับขั้นของวิวัฒนาการสังคมในประวัติศาสตร์แบบบันได 5 ขั้นของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ ที่สรุปว่าประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ทั้งหมดเหมือนกันทุกที่คือเริ่มจากยุคบุพกาล แล้วต่อมาเป็นยุคทาส แล้วต่อไปเป็นยุคฟิวดัลหรือศักดินา กระทั่งถึงยุคปัจจุบันคือทุนนิยม แล้วจึงไปถึงสถานีปลายทางที่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์

จิตรถึงใช้ความพยายามในการวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยที่นำเสนอโดยพระบิดาของประวัติศาสตร์ไทย กรมพระยาดำรงฯ เรื่องสุโขทัยไม่มีทาสและไทยไม่มีทาสเพราะเกิดมาก็เป็นชาติไทยเลย ว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์และไม่มีเหตุผลตรรกทางประวัติศาสตร์รองรับ นอกจากคิดกันเอาเอง

เขายืนยันว่าสุโขทัยและรัฐไทยก่อนนี้ต่างเคยมีทาสและผ่านระบบสังคมทาสกันมาแล้วทั้งนั้น

หลักฐานที่จิตรนำมายืนยันล้วนน่าเชื่อถือ แต่ปัญหาคือนั่นไม่ใช่แก่นอันเป็นหัวใจของลัทธิมาร์กซ์ ที่สำคัญกว่าดังที่ได้ยกข้อเขียนของมาร์กซ์มาให้เห็นแล้ว แก่นอันเป็นใจเรื่องนี้อยู่ที่การค้นหาว่าในแต่ละยุคนั้นระดับของพลังการผลิตและการแบ่งงานในสังคมเป็นอย่างไร อันนำไปสู่การแสดงออกของรูปแบบของกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นตัวบอกชื่อแห่งยุคและวิถีการผลิต

ประเด็นสำคัญที่หากจิตรไม่ติดที่การสร้างความเชื่อมต่อให้กับระบบชุมชนแบบต่างๆ หากไปให้น้ำหนักที่การค้นหาการแสดงออกทางสังคมในทางปฏิบัติซึ่งมีทั้งที่สืบทอดต่อเนื่องมาและที่ขาดตอนหรือถูกทำลายลงไป

เช่น ระบบกรรมสิทธิ์แบบชุมชนบุพกาลที่แสดงออกผ่านหัวหน้าชาติกุลใหญ่ ค่อยหลีกทางให้แก่การเกิดกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนตัว

เริ่มจากหัวหน้าชาติกุลไม่ต้องทำนาเองแต่ให้ลูกบ้านมาช่วยทำให้ เพื่อให้ตนไปทำหน้าที่บริหารและรักษาความปลอดภัยของชุมชนแทน

เวลามีการแบ่งปันที่ดิน พวกบรรดาหัวหน้าก็มีอภิสิทธิ์ในการเลือกที่ดินไว้ก่อน นานเข้าก็เกิดธรรมเนียมในการครอบครองถาวรขึ้น

ในที่สุดก็มีการรับช่วงมรดก เกิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตนขึ้นในระดับหนึ่ง

เขาก็จะได้ประเด็นที่ควรค้นหาต่อไปคือรูปแบบทรัพย์สินส่วนตัวนี้มีอย่างเด็ดขาด เหนือกว่าสิทธิ์ในการครอบครองอย่างก่อนหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อพัฒนาการของพลังการผลิตในระยะยาว

แต่ถ้าในระยะยาวระบบกรรมสิทธิ์ส่วนตัวไม่เกิดอย่างเป็นระบบในสังคมไทยทั้งหลาย เพราะอะไรและมีความหมายนัยอะไรในวิถีการผลิตศักดินาต่อมา

 

เพื่อความเป็นธรรม ความจริงจิตรก็ค้นคว้าและให้ข้อสังเกตที่ละเอียดและลึกซึ้งอย่างยิ่งในประเด็นข้างบนนี้ เช่น เมื่อพูดถึงลักษณะการครอบครองที่ดินของชุมชนเชื้อชาติไทย เขาก็พบว่าอำนาจการครอบครองเริ่มยาวขึ้น ไม่เปลี่ยนมือบ่อยครั้งนัก

กระทั่งเมื่อมีการเวนคืนที่ดินมาแบ่งปันกันใหม่อีก ชาวบ้านสังเกตว่าหลังๆ นี้มีแต่ที่นาแต่อย่างเดียวที่เอามาแบ่งปัน ส่วนที่ที่ใช้สำหรับปลูกเรือนพร้อมด้วยทำสวนครัวโดยมากไม่ต้องเวนคืนแบ่งปันใหม่ ผืนดินที่ตั้งบ้านเรือนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ถาวรตกทอดไปสู่ลูกหลาน ในบางหมู่ก็ยอมให้ซื้อขายกันได้

ส่วนป่าดงรกร้าง ประมุขก็ถืออภิสิทธิ์ยึดเอามาเป็นเจ้าของ ในช่วงเวลาอันยาวจากชุมชนบุพกาลตอนปลายเข้าสู่ชุมชนโบราณที่เขาเรียกว่าเจ้าทาส มีการเปลี่ยนแปลงที่ดินทำกินไปมากพอควร เช่น การแบ่งประเภทที่ดินออกเป็นหลายแบบ ที่นา ที่สวน ป่าหมาก ป่าพลู ป้าพร้าว ไร่ต่างๆ รวมๆ แล้วแสดงว่าพลังการผลิตและเครื่องมือในการผลิตของชุมชนบุพกาลตอนปลายเริ่มยกระดับสูงขึ้น มีผลต่อการแบ่งงานในชุมชนมากขึ้น ผลผลิตย่อมมากขึ้นด้วย

ทั้งหมดมีผลต่อการก่อรูปของสถาบันทรงอำนาจและความเป็นเจ้าของสูงสุดที่มาร์กซ์เรียกว่า “เอกภาพสูงสุด” (all-embracing unity) หรือสถาบันกษัตริย์ในรัฐสยามไทยที่คิดและสร้างความเชื่อให้แก่คนทั้งชุมชนยอมรับ

เมื่อถึงยุคกรุงสุโขทัยจิตรยกหลักฐานมารองรับคำอธิบายของเขาเรื่องการมีข้าทาสและการให้ที่นาที่ป่าแก่ผู้ทำการเพาะปลูก

แสดงว่าระบบแบ่งปันที่ดินทำกินได้เปลี่ยนมาสู่การรับรองสิทธิในการทำกินของลูกบ้านไปแล้ว ทรัพย์สินชุมชนเริ่มเปลี่ยนมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของปัจเจกชนที่เป็นลูกบ้านไป

ที่อัศจรรย์ยิ่งคือแนววิเคราะห์สุดท้ายของจิตรที่หลุดจากกรอบลัทธิคัมภีร์และกลไกของลัทธิมาร์กซ์อย่างสิ้นเชิง เมื่อเขาเสนอว่าสังคมทาสไทยก็ “มิได้เป็นระบบสังคมทาสโดยเนื้อหาทางการผลิต หากเป็นสังคมที่มีลักษณะบางอย่างของระบบเจ้าทาษเข้ามาครอบงำจากภายนอก”

(ยังมีต่อ)