ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
หากต้องการรู้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะเล่นงานจีนเรื่องการค้าหนักแค่ไหน ให้ดูที่คนที่จะมาเป็น “ผู้แทนการค้า” หรือ Trade Representative (TR)
เพราะเขาคือ “มือสังหาร” ในการทำหน้าที่ต่อรองเจรจาการค้าการขายกับทุกประเทศทั่วโลก
และคนนั้นคือ เจมีสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer)
และหากจะรู้ว่ากรีเออร์มีแนวทางต่อจีนอย่างไร ก็ให้ดูว่าเขาเคยทำงานกับใคร
ถึงบางอ้อทันที
เพราะเขาเคยเป็นมือขวาในตำแหน่ง “หัวหน้าคณะทำงาน” หรือ Chief-of-Staff ของ TR คนก่อนคือ Robert Lighthizer
ที่เคยปักหลักซดกับจีนมาแล้วในยุคทรัมป์สมัยที่หนึ่ง
แล้วเขาสู้ด้วยคัมภีร์อะไร?
ก็ต้องอ่านหนังสืออันโด่งดังที่กลายเป็น “ยี่ห้อ” ส่วนตัวของเขา
นั่นคือ No Trade is Free
แปลตรงตัวว่า “ไม่มีการค้าใดเสรี”
แถมด้วยพาดหัวตัวรองว่า Changing Course, Taking on China, and Helping America’s Workers
ไม่อ้อมค้อมใดๆ
เพราะหนังสือเล่มนี้กลายเป็นคัมภีร์ที่ทรัมป์ยึดเป็นสรณะ
เป็นที่มาของนโยบายหาเสียงที่ย้ำว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” หรือ America First
เพราะสำหรับทรัมป์แล้ว America First เท่านั้นที่จะเป็นที่มาของ Make America Great Again
นั่นหมายความว่าการจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งนั้นจะต้องดำเนินนโยบายทุกด้านที่ต้องให้อเมริกามาก่อนอะไรทั้งนั้น
กลายเป็นหลักการเน้นๆ ว่าไม่ว่าจะเป็นนโยบายในมิติใด ผลประโยชน์อเมริกาต้องอยู่ในลำดับแรก
ผลประโยชน์ของคนอื่น ไม่ว่าจะคบหากันมายาวนานเพียงใด หรือเคยเป็นพันธมิตรสนิทแน่นกันอย่างไรเป็นเรื่องรองทั้งสิ้น
เพราะฉันกำลังต้องการจะทำทุกอย่างเพื่อตัวฉันเอง
คําประกาศแต่งตั้งกรีเออร์เป็น TR สัปดาห์ก่อนเกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ขู่ว่าจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก เพื่อปราบปรามการลักลอบขนคนและยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐ
กรีเออร์มีอาชีพเดิมเป็นทนายความด้านการค้า ผ่านการทำงานกับทรัมป์มาตั้งแต่สมัยอยู่ทำเนียบขาวครั้งแรก
พิสูจน์อย่างแจ่มชัดมาแล้วว่ามีคุณสมบัติข้อที่หนึ่งครบถ้วน
นั่นคือ “ความจงรักภักดี” เป็นเอก
เขานี่แหละที่มีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนตั้งแต่ยุคนั้น (2017-2021)
ในคำประกาศเสนอชื่อเขาเป็น TR ทรัมป์มอบหมายภารกิจชัดๆ ว่าให้เข้ามาแก้ไขปัญหาการค้าด้วยการเน้นไปที่ “ควบคุมการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลของประเทศ ปกป้องการผลิต เกษตรกรรม และบริการของอเมริกา และเปิดตลาดส่งออกทุกแห่ง”
จึงไม่ต้องสงสัยว่าเขาพร้อมที่จะสร้างผลงานที่ผู้นำอเมริกันหลายคนอยากเห็น
นั่นคือการผลักดันให้เกิดการแยกทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างสมบูรณ์!
ย้อนกลับไปศึกษาว่าเขามีจุดยืนอย่างไรในเรื่องจีน
ก็พบว่าทุกอย่างจะแจ้งโดยไม่มีข้อสงสัยว่าเขามองจีนเป็นภัยคุกคามระยะยาว
สำหรับเขา จีนไม่ใช่แค่คู่แข่งทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นตัวอันตรายที่สหรัฐต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นไม่ให้เติบใหญ่ไปกว่านี้
เขาไม่เพียงแค่คิดและนำเสนอความเห็นแนวนี้อย่างเปิดเผยเท่านั้น แต่ยังร่างพิมพ์เขียวที่ระบุมาตรการพร้อมสรรพในอันที่จะดึงสหรัฐออกจาก “วงโคจรของจีน”
เขายอมรับว่างานนี้ไม่ง่าย และยุทธศาสตร์ของเขาอาจจะสร้างความเจ็บปวด
และก็เป็น “ความเจ็บปวดในระยะสั้น”
เพราะชัยชนะในระยะยาวจะเป็นของอเมริกา
ตอนที่เป็นมือขวาของไลท์ไทเซอร์ กรีเออร์เขามีบทบาทสําคัญในการสร้างและบังคับใช้ภาษีศุลกากรที่เปิดสงครามการค้าของทรัมป์ต่อจีน
คราวนี้ เมื่อได้เลื่อนสถานะขึ้นมาเป็น TR เต็มตัว (เทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรี) เขาจะเดินเครื่องหนักเพียงใด?
เป้าหมายแรกคือการขอให้สภาคองเกรสถอดสถานะ “ความสัมพันธ์ทางการค้าปกติถาวร” (PNTR) ของจีน นั่นคือสถานภาพที่ปักกิ่งได้รับมาตั้งแต่ปี 2000 ตอนที่เข้าร่วมองค์การการค้าโลก
ถอดสถานะนี้แล้วแปลว่าอะไร?
ชัดเจนว่านั่นคือกระสุนนัดแรกที่มุ่งเป้าไปที่ปักกิ่ง
เพราะเมื่อไร้สถานะนี้ สินค้าส่งออกของจีนไปยังสหรัฐ (มูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว) จะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรที่สูงกว่าเดิม…และในหลายกรณีสูงกว่าเดิมมาก
ไม่แต่เท่านั้น เมื่อไม่มีภูมิคุ้มกันตามกฎหมายสหรัฐข้อนี้แล้วก็จะโดนไม้สองต่อ
นั่นคือจะทำให้จีนต้องรับโทษเช่นเดียวกับคิวบา เกาหลีเหนือ และเบลารุส
ชัดไหมว่านี่คือศึกยกแรกที่เขาจะลุยก่อน
เพื่อให้เจ้านายที่ชื่อทรัมป์เห็นว่าเขาคือ “มือปืน” ที่พร้อมจะลั่นไกใส่ศัตรูโดยไม่ต้องรอให้เจ้านายถามหา
สำหรับกรีเออร์แล้ว การตะลุมบอนตั้งแต่ยกแรกคือการสร้างความมั่นใจว่าอเมริกาจะไม่เล่นตาม “กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม” ของปักกิ่งอีกต่อไป
กระสุนนัดต่อไปคือการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นที่บริษัทจีนแอบหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยการผลิตสินค้าในประเทศอื่น
เขาต้องการปิด “ช่องโหว่” นี้ให้มิดด้าม
ด้วยการเสนอกฎเกณฑ์ชุดใหม่ที่เข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่าหากบริษัทจีนสร้างอะไรไปผลิตสินค้าบางชนิดในประเทศที่สาม เช่น เม็กซิโก
หรือหากผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ มีส่วนประกอบที่สำคัญของจีน ก็จะไม่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี
นั่นแปลว่ามาตรการลุยแหลกนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตยานยนต์ ซึ่งส่วนประกอบของจีนมักฝังลึกอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน
กลยุทธ์ของกรีเออร์ยังอาจรวมถึงการบริหารจัดการกับพฤติกรรมของจีนที่สหรัฐเห็นว่าเป็นการจงใจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของอเมริกา
เช่น หากบริษัทมะกันใดถูกปิดกั้นจากตลาดจีนเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการภาษีศุลกากร ตนในฐานะตัวแทนการค้าก็จะใช้ความเป็นรัฐบาลวอชิงตันเข้ามาฟาดฟันกับจีนเช่นกัน
“พิมพ์เขียว” ของเขายังรวมถึงการใช้รายได้จากภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าต่างชาติมาอุ้มชูบริษัทและคนงานอเมริกันที่ได้รับผลกระทบ
ยิ่งกว่านั้น ก็จะเดินหน้าผลักดันกฎเกณฑ์ที่อนุญาตให้สหรัฐไล่ตามบริษัทต่างชาติที่เข้ามาแทนที่ธุรกิจของสหรัฐที่ถูกจีนปิดกั้น
อีกหนึ่งสมรภูมิสำคัญของ “สงครามการค้า” กับจีนสำหรับเขาคือการปิดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญของสหรัฐ
ในขณะที่การควบคุมการส่งออกทุกวันนี้พุ่งเป้าไปที่ภาคส่วนที่ทันสมัย เช่น ชิพ AI และเทคโนโลยีด้านการทหาร
กรีเออร์ต้องการขยายข้อจำกัดเหล่านั้นให้กินความกว้างขึ้นไปอีก
เช่น ต้องครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การบิน การขนส่ง และแม้แต่อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์รุ่นเก่า
สำหรับจีน นั่นหมายความว่าไม่มีเครื่องมือใหม่ ไม่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และไม่มีทางลัดในการไล่ตามอเมริกา
กลยุทธ์นี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่กรอบปัจจุบัน
เขาต้องการให้สหรัฐรวบรวมพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์เพื่อใช้มาตรการแบบเดียวกันนี้ในอันที่จะตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
เป้าหมายลึกๆ คือมุ่งหวังที่จะทำให้ปักกิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าถึงเครื่องมือที่จำเป็นในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สำคัญ
แนวรบอีกด้านหนึ่งของสงครามเศรษฐกิจในแผนของกรีเออร์คือเรียกร้องให้รัฐสภามอบอำนาจให้รัฐบาลกลางตรวจสอบและปิดกั้นการลงทุนของอเมริกันในบริษัทจีน
มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่โยงกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติหรือเศรษฐกิจ
โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามลำดับ “อันตราย” ในคำนิยามของขา
เช่น การลงทุนบางอย่างอาจถูกห้ามโดยสิ้นเชิง และอีกบางส่วนต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล
นั่นคือการพุ่งไปที่เงินลงทุนของสหรัฐที่ไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม AI และเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
มีหรือที่ปักกิ่งจะไม่โวย
กระทรวงต่างประเทศของจีนออกมาโวยวายว่าข้อเสนอเหล่านี้ไม่ยุติธรรมและเป็นแผนการอันชั่วร้ายที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
แต่กรีเออร์ไม่ยอมแพ้ ยังผลักดันแนวทางนี้ต่อไป
เป้าหมายสูงสุดของกรีเออร์คือการทำให้สหรัฐพึ่งพาจีนน้อยลงสำหรับสินค้าสำคัญ
วิธีแก้ปัญหานี้คือเร่งการผลิตในประเทศในภาคส่วนสำคัญ อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยา หุ่นยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์พลังงานซึ่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของบัญชี “วาระเร่งด่วน”
เห็นหรือยังว่า “เหยี่ยว” หมายเลขหนึ่งของสหรัฐในการเตรียมเปิด “สงครามการค้า” รอบใหม่กับจีนนั้นอยู่ในสภาพ “พร้อมรบ” แล้วจริงๆ!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022