ขยะอาหารในญี่ปุ่น

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกมีมากถึง 1,300 ล้านตัน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งนี้ เท่ากับว่าแต่ละคนทิ้งอาหารเฉลี่ยคนละ 180 กิโลกรัมต่อปีทีเดียว

กระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมง (農林水産省) ญี่ปุ่น ให้ความหมายของขยะอาหาร (フードロス หรือ 食品ロス) (ซึ่งตรงกับ Food waste ในภาษาอังกฤษ) หมายถึง อาหารที่ยังกินได้ แต่ถูกทิ้งไปหรือสูญเปล่าไปโดยไม่ได้บริโภค เป็นอาหารเหลือ มีมากกว่าความจำเป็น ปริมาณมากเกินไป ที่พบในชีวิตประจำวันคือ อาหารจานใหญ่เกินไป หรือไม่อร่อย ไม่ถูกปากจึงไม่กิน เหลือทิ้งไว้

แม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้คนประหยัดมัธยัสถ์ในการใช้จ่ายและการบริโภค แต่ก็เป็นประเทศที่พบปริมาณขยะอาหารมากถึง 4.72 ล้านตัน ในปี 2022 ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นอาหารที่กินเหลือในร้านอาหารนอกบ้าน และของเหลือขายในแต่ละวันของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านขนม ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขยะอาหารมากเป็นอันดับ 14 ของโลก

 

กระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน (厚生労働省) ของญี่ปุ่นได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ไปกินอาหารตามร้านอาหารนอกบ้าน สามารถนำอาหารที่กินเหลือกลับบ้านไปกินได้อีกอย่างถูกสุขอนามัย

เนื่องจากที่ผ่านมา กฎหมายเกี่ยวกับสุขอนามัยอาหาร (食品衛生法) ไม่มีข้อห้ามระบุทั้งฝ่ายลูกค้าและฝ่ายร้านค้าเกี่ยวกับการนำอาหารที่รับประทานในร้านออกนอกร้านไว้อย่างชัดเจน

แต่หากลูกค้าเกิดเจ็บป่วยจากการกินอาหารเหลือที่นำกลับบ้าน ร้านอาหารนั้นๆ ต้องรับผิดชอบ หรือแม้ว่าลูกค้าจะยอมรับว่านำกลับมาเอง แต่หากกินแล้วเจ็บป่วย อาหารเป็นพิษหลังจากนั้น ร้านอาหารนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลย

ด้วยเหตุนี้เอง จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในญี่ปุ่นว่า สั่งอาหารมาแล้วกินให้หมดหรือไม่ก็เหลือทิ้งไว้ในร้านเท่านั้น

 

แนวทางในการปฏิบัติที่ถูกสุขอนามัยในการนำอาหารที่กินเหลือกลับบ้าน โดยให้ถือเป็นความรับผิดชอบของลูกค้า และควรระมัดระวังขั้นตอนในการหยิบจับอาหาร เช่น

– ใช้ถุงมือที่ใช้แล้วทิ้ง หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคและรักษาความสะอาดของมือ

– ตักอาหารใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิด ไม่ควรนำอาหารส่วนที่เป็นน้ำมาใส่รวมด้วย

– ผู้ที่คีบอาหารด้วยตะเกียบของตนเอง เมื่อนำกลับมาบ้านแล้วควรเป็นผู้กินอาหารนั้นเอง

– เมื่อนำอาหารที่กินเหลือออกมาจากร้านแล้ว ควรรีบตรงกลับบ้าน

– ควรอุ่นอาหารที่นำกลับมาให้ร้อนอีกครั้งก่อนกิน

ส่วนร้านอาหารก็มีข้อปฏิบัติ เช่น

– เตรียมถุงมือ น้ำยาฆ่าเชื้อโรคไว้ เมื่อลูกค้าร้องขอ

– จัดเก็บกล่องใส่อาหารไว้ในที่สะอาด

– เตรียมเจลรักษาความเย็นของอาหาร กรณีที่เป็นอาหารที่กินเย็น

– ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าที่จะนำอาหารร้อนกลับในปริมาณที่เหมาะสม

– จัดเตรียมภาชนะใส่อาหารนำกลับที่เหมาะสมให้เมื่อลูกค้าร้องขอ ลูกค้าไม่ควรนำภาชนะมาเอง เนื่องจากคำนึงถึงสุขอนามัย

 

ก่อนกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มีการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้ข้อสรุปตัวอย่างประเภทอาหารที่ทุกร้านยอมรับให้ลูกค้านำกลับไปกินต่อที่บ้านหากกินเหลือ อาทิ ขนมปัง ขนมอบ ไก่ทอด ปลาทอด-ย่าง ข้าวผัด ข้าวสวย เป็นต้น

ส่วนอาหารที่ไม่ให้นำกลับไป อาทิ สลัดผัก ปลาดิบ ซาชิมิ ซุป เครื่องดื่มชนิดต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว อยากให้ทุกคนสั่งอาหารโดยคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสมและกินให้หมดที่ร้าน เพื่อลดปริมาณขยะอาหาร

การนำกลับบ้านไปกินเป็นเพียงหนึ่งตัวช่วยในกรณีที่กินไม่หมดจริงๆ เท่านั้น มิใช่สนับสนุนให้มีการนำอาหารเหลือกลับบ้าน

เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเริ่มนำมาใช้ปฏิบัติตั้งแต่ต้นปี 2025

 

ผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ในญี่ปุ่น กำลังเตรียมปรับตัวรับกับแนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธาณสุข

แต่ก็มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีร้านสาขาในเครือกว่า 2,400 ร้าน ได้เริ่มจำหน่ายภาชนะใส่อาหารสำหรับอาหารกินเหลือในร้านให้แก่ลูกค้าแล้วด้วย

จากการที่พบเห็นลูกค้าของร้านที่มาทั้งครอบครัวมีอาหารเหลือ อยากนำกลับบ้าน ขณะนี้ร้านอาหารในเครือมีการใช้กล่องอาหารนำกลับถึงวันละ 3,500 กล่องทั่วประเทศ โดยทางร้านใส่ใจให้ลูกค้านำอาหารที่เหลือกลับไปกินอย่างปลอดภัย

ภายในปี 2030 กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานญี่ปุ่น ตั้งเป้าหมายลดปริมาณลดขยะอาหารให้เหลือ ราว 4.89 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของปี 2000 จำแนกเป็นขยะอาหารจากครัวเรือน 2.16 ล้านตัน และจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหาร 2.73 ล้านตัน

สถิติล่าสุด ปริมาณขยะอาหารในปี 2022 สูงถึง 4.72 ล้านตัน แยกเป็นขยะอาหารจากครัวเรือน 2.36 ล้านตัน ลดลงจากปี 2021 เพียง 8 หมื่นตัน ยังไม่ถึงเป้าหมาย

ส่วนขยะอาหารจากผู้ประกอบการด้านอาหารลดลงจากปีก่อนหน้าได้ถึง 4 แสนตัน รัฐบาลจะกำหนดมาตรการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่น มีการนำอาหารสดมาลดราคาในช่วงใกล้เวลาปิดทำการแต่ละวัน

ส่วนสินค้าอาหารที่ใกล้ถึงวันหมดอายุ หรือ หีบห่อมีตำหนิ ไม่สมบูรณ์ ไม่สวยงามแต่ยังกินได้ ที่เคยนำไปกำจัดทิ้ง (???????) ส่วนใหญ่นำมาลดราคาเกือบครึ่งหนึ่ง

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับความสมบูรณ์แบบ ยังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้าอาหารลดราคากันแล้ว ภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะนี้

ข้อปฏิบัติง่ายๆ สำหรับแต่ละครัวเรือนช่วยกันลดขยะอาหาร คือ ซื้ออาหารในปริมาณที่จำเป็น ซื้อมาแล้วเก็บรักษาอย่างถูกวิธี เมื่อประกอบอาหารแล้วกินให้หมด

 

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปี 2565

พบว่าในประเทศไทย มีขยะอาหารสูงถึง 9.68 ล้านตัน

หมายถึง เราทิ้งอาหารให้สูญเสียไปเฉลี่ยคนละ146 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อย

ขณะที่ยังมีคนที่อดอยากอีกมาก

ช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมในการกิน “เหลือดีกว่าขาด” เป็น “กินแต่พออิ่ม ไม่เหลือเลย”

ดีกว่าไหม?