เมื่อทักษะสำคัญกว่าคะแนน โรงเรียนควรเปลี่ยนเกรดเฉลี่ยรวม เป็นการวิเคราะห์ความถนัดแทน

บนคำถามใหญ่ๆ ว่า สำหรับคนคนหนึ่งแล้ว เราควรเอาสิ่งที่ไม่ถนัดมาเฉลี่ยกับสิ่งที่เราถนัด แล้วแปลผลออกมาเป็นภาพรวมของคนคนนั้นจริงหรือ?

สมัยผมเรียนปี 2 ที่คณะภาพยนตร์ ในมหาวิทยาลัย มีวิชาบังคับชื่อ Digital Photography ซึ่งยอมรับว่า ไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจเลยเมื่อเทียบกับวิชาอย่าง Film Aesthetic หรือ Film Criticism ซึ่งสองวิชาหลังผมได้ A ทั้งคู่

จนกระทั่งจบมา 10 ปี และงานหนังสารคดีที่กำกับเพิ่งได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ที่เพิ่งผ่านไป ก็ยังไม่เคยได้ใช้ทักษะใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Photography ซึ่งผมได้เกรด C+ มา

เพียงแต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักฐานเชิงประจักษ์ในหน้าทรานสคริปต์ว่า ผมไม่มีทักษะหรือความสนใจต่อการถ่ายรูปดิจิทัล เมื่อครั้งยังอายุ 19 ปี

แต่ผลที่ว่า ยังปรากฏอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า GPAX หรือ เกรดเฉลี่ยรวม ซึ่งหากผมตัดวิชา C+ นี้ออกไป เกรดรวมผมจะสามารถนำไปใช้เรียนต่อในอีกหลายมหาวิทยาลัยระดับท็อปได้

ในความหมายที่ว่า เกรดรวมที่ผมได้จะเกิน 3.5 ทันที หากระบบการคิดคะแนนไม่ได้เป็นการเฉลี่ยเอาทักษะการปีนต้นไม้มาหารกับทักษะการว่ายน้ำของปลาตัวหนึ่ง

 

CUM. GPA (Cumulative GPA) หรือ GPAX (Grade Point Average) โดยทั่วไปมีความหมายเหมือนกัน หมายถึงเกรดเฉลี่ยสะสมของนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งคำนวณจากเกรดเฉลี่ยของทุกเทอมที่เรียนมา

อย่างไรก็ตาม คำว่า “Cum GPA” มักใช้ในระบบการศึกษาตะวันตก ส่วน “GPAX” เป็นคำที่ใช้ในระบบการศึกษาไทย

สิ่งนี้เองเป็นประเด็นในโลกอินเตอร์เน็ตเป็นระยะ ซึ่งผู้ตั้งคำถามแทบทั้งหมดเป็นผู้เรียนนี่เอง

หนึ่งในนั้นคือกระทู้เด็กดีที่แสดงความเห็นว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามาตรฐานในการให้เกรดของแต่ละโรงเรียนนั้นเป็นไปบนไม้บรรทัดที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักภาระให้ผู้เรียนซึ่งต้องทั้งทำคะแนนการสอบปลายภาคที่จัดขึ้นใกล้ๆ กับการสอบ GAT PAT ทำให้ผู้เรียนหลายคนไม่สามารถทุ่มเทไปกับทุกๆ การสอบได้

อย่างไรก็ตาม การสอบวัดระดับโดยใช้ข้อสอบแห่งชาติอาจทำให้ผู้เรียนเบนเข็มความสนใจจากการเรียนในห้องไปสู่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่เติบโตยิ่งขึ้นได้เช่นกัน

ประเด็นของบทความนี้ ไม่ใช่ว่า เราไม่ควรมีเกรดหรือคะแนนซึ่งชี้วัดทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์การสอนสำหรับนักเรียนในแต่ละวิชา (ซึ่งหลายวิชาและหลายโรงเรียนก็รวมสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนรู้เข้าไปด้วย เช่น สิ่งที่เรียกว่า คะแนนจิตพิสัย)

ควรไม่ควรนั้นยังเป็นเรื่องถกเถียงกันได้ แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือ เกรดของแต่ละวิชานั้นควรนำมาเฉลี่ยกันต่างหากหรือเปล่า

แล้วถ้าเราไม่ใช้ GPAX หรือ CUM.GPA เราควรใช้อะไร

 

ก่อนจะไปถึงข้อเสนอ หากเราเปลี่ยนจากการวัดผลโดยอาศัยเกรดเฉลี่ยรวม นอกจากจะช่วยลดแรงกดดันในการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ต้องพยายามทำคะแนนให้สูงที่สุดในทุกวิชา แม้จะไม่ได้ใช้ ไม่มีความถนัด และไม่มีความสนใจแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียนตามวิชาบังคับด้วย

ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้เรียนรู้สึกได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดด้วยคะแนนเกรดเฉลี่ย (จะเป็นอย่างไรถ้าเกรดผมถูกเฉลี่ยด้วยวิชา Advanced Film Criticism แทนที่จะเป็นวิชา Digital Photography) รวมไปถึงยังเปิดให้นักพัฒนาการศึกษาหรือโรงเรียน หรือแม้แต่ผู้เรียนเอง มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการประเมินผล

เช่น การใช้แนวคิด Student Wellbeing อย่างที่เคยเขียนไปในบทความหลายเดือนก่อน (อ่านเพิ่มเติม https://thaipublica.org/2023/03/newground32-student-wellbeing/) หรือการประเมินผลโดยใช้ทักษะเป็นพื้นฐาน (Skills Based Assessment) โดยวัดผลด้านความสามารถ ทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือการแก้ปัญหา การสื่อสาร ความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งเข้ากับบริบทของโลกสมัยใหม่มากกว่า การรู้ว่าสันเขาตะนาวศรีอยู่ภูมิภาคใด หรือการจดจำสูตรพาราโบลา ไม่ก็เขียนมันบนต้นขาในเช้าวันสอบ

การใช้ GPAX วัดผลนั้นชัดเจนและเรียบง่าย แต่ไม่ว่าจะคิดในมุมใดก็ตาม ระบบการศึกษาก็ไม่ควรใช้ความง่ายในการตัดสินชีวิตเด็กคนหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อน

หากเราสามารถเปลี่ยน GPAX เป็นการวัดผลโดยใช้ทักษะความถนัดได้ (และแน่นอนว่า ย่อมเผชิญกับคำถามที่ตามมาอีกมากมาย เช่น เราต้องสามารถเปลี่ยนเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาเข้ามหาวิทยาลัยและการขอทุนการศึกษาต่างๆ ด้วยใช่หรือไม่ หรือหากเปลี่ยนมาใช้ทักษะความถนัดแทน ผู้เรียนจะล้มเลิกความพยายามในการเรียนรู้วิชาที่อาจไม่สนใจในตอนนี้หรือเปล่า ซึ่งยังต้องช่วยกันหาคำตอบต่อไปในอนาคต)

วิธีการวัดผลรูปแบบหนึ่งที่ควรนำมาใช้แทนการเฉลี่ยทักษะการปีนต้นไม้ของปลาตัวหนึ่ง คือ สิ่งที่ปัจจุบันพบเห็นได้ทั่วไปในโลกธุรกิจและแบบประเมินบุคลิกตัวตนจำนวนมาก

สิ่งนี้เรียกว่า Spider Model หรือโมเดลใยแมงมุม

 

รูปแบบการแสดงผลแบบใยแมงมุมนี้เป็นที่รู้จักกันครั้งแรกในปี 1877 โดย Georg von Mayr (1824-1900) นักคณิตศาสตร์และนักสถิติคนสำคัญชาวเยอรมัน ซึ่งยังถูกเรียกในชื่ออื่นๆ เช่น แผนภูมิแมงมุม (spider chart), แผนภูมิเว็บ (web chart), แผนภูมิดาว (star chart), แผนภูมิใยแมงมุม (cobweb chart), แพร่แผนภูมิเรดาร์ (radar chart), แผนภูมิ Kiviat, แผนภูมิโพลาร์ (polar chart) หรือแบบแผนรูปหลายเหลี่ยมไม่เป็นระเบียบ (irregular polygon)

ด้วยแผนภูมิดังกล่าว นอกจากจะช่วยบอกว่า เราถนัดอะไร หรือมีความถนัดไหนที่เราสนใจจะพัฒนามากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้คนที่จะทำงานหรือปฏิสัมพันธ์ร่วมกับเราพอจะหยั่งคะเนทักษะและความถนัดที่ผ่านมาของเราได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หากเราพิจารณาเลือกซื้อบราวนี่สักชิ้น และเราเป็นคนรักบราวนี่ เราก็อาจไม่ได้พิจารณาจากองค์รวมซึ่งเกิดจากการเฉลี่ยเป็น ดาว 1-5 ที่เป็นเรื่องถมเถและดาษดื่น

แต่เราอาจพิจารณาบราวนี่ชิ้นหนึ่งจากหลายองค์ประกอบที่สอดคล้องกับความชอบหรือความอยากรู้อยากเห็นของเรา เช่น ความหนึบหนับ, ปริมาณและชนิดถั่ว, ความกรอบนอกนุ่มใน, ความแน่นของเนื้อ, ความชุ่มฉ่ำ, กลิ่นอโรมา, มีแครนเบอรี่หรือไม่

แผนภูมิลักษณะนี้มีก้าน (Spoke) แสดงแต่ละปัจจัย โดยเครื่องหมายบนความยาวของก้านที่ไม่เท่ากันแต่ละก้านแสดงถึงการวัดผลของตัวแปรนั้นๆ เช่น บราวนี่ที่แม่ทำก็อาจมีคะแนนด้านความหนึบสูง แต่เธอไม่ใส่ถั่ว

ในขณะที่ร้านเบเกอรี่หน้าบ้านใส่วอลนัทและเนื้อสัมผัสเนียนกว่า

สิ่งนี้เองทำให้บราวนี่แต่ละชิ้นและผู้เรียนแต่ละคนมีกราฟใยแมงมุมที่แตกต่างกันผ่านตัวแปรที่เป็นปัจเจกยิ่งขึ้นและเป็นกราฟของผู้เรียนคนนั้นๆ เอง

 

ด้วยกราฟลักษณะนี้ ยังทำให้ตัวแปรหรือตัวชี้วัดที่เดิมถูกแบ่งเป็นรายวิชา อาจถูกแทนที่ด้วยทักษะร่วมสมัยในศตวรรษที่ 21 เช่น

1) ความรู้และความเข้าใจเชิงวิชาการ (Academic Knowledge and Understanding)

– ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียน

– ความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดและเนื้อหาวิชาต่างๆ

– การประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ในสถานการณ์จริง

2) ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)

– ความสามารถในการวิเคราะห์และประเมินข้อมูลอย่างมีเหตุผล

– ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

– การสรุปและนำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจนและมีหลักฐานสนับสนุน

3) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

– การนำเสนอแนวคิดใหม่หรือวิธีแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์

– การแสดงออกทางความคิดอย่างเป็นเอกลักษณ์

– ความยืดหยุ่นและความเปิดใจในการคิดนอกกรอบ

4) ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)

– การแสดงออกด้วยภาษาที่ชัดเจนทั้งการพูดและการเขียน

– ความสามารถในการฟังและเข้าใจความต้องการของผู้อื่น

– การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น

5) การทำงานเป็นทีม (Collaboration Skills)

– การทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

– การรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีมและการแบ่งหน้าที่ที่เหมาะสม

– ความสามารถในการจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

6) การคิดเชิงระบบและวิเคราะห์สถานการณ์ (System Thinking)

– การมองภาพรวมของปัญหาหรือระบบต่างๆ

– ความสามารถในการวางแผนและคิดอย่างมียุทธศาสตร์

– การระบุผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำต่างๆ

7) ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability and Resilience)

– ความสามารถในการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและฟื้นตัวจากความล้มเหลว

– การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ดี

– การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานตามสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

8) ทักษะการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy)

– ความรู้พื้นฐานในการใช้งานเทคโนโลยีที่จำเป็นในการศึกษาและทำงาน

– ความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้

– การเข้าใจและใช้งานแหล่งข้อมูลออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ

รวมไปถึงทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะทางกายภาพ, การควบคุมอารมณ์, การจัดการเวลา, การรับฟัง, ความเห็นอกเห็นใจ, การสร้างเครือข่าย, การคิดเชิงนวัตกรรม, ความเป็นผู้นำ, การใช้ภาษาต่างประเทศ, การเขียน, การดูแลตัวเอง, ทักษะการตัดสินใจ, Relationship Building, ความคิดริเริ่ม, การเจรจาต่อรอง, ความมีขันติอดทนอดกลั้น, การคิดเชิงวิพากษ์, การเรียนรู้ตลอดชีวิต, ความยืดหยุ่นในเรียนรู้, การจัดการความเครียด, การสร้างแรงบันดาลใจ, Social Awareness และ Soft Skills อื่นๆ

แทนที่จะมุ่งเน้นคะแนนแบบตัวเลขและค่าเฉลี่ยของตัวเลขนั้นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อรองรับทักษะเชิงวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว

 

การใช้ Spider Model ทำให้โรงเรียน หน่วยงาน และตัวผู้เรียนเองมองการเรียนรู้อย่างรอบด้านมากขึ้น

นอกจากช่วยให้การประเมินผลสามารถทำได้อย่างครอบคลุมมิติต่างๆ แล้ว

ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่หลากหลายและปรับเปลี่ยนตามลักษณะเฉพาะบุคคล

นำไปสู่การเรียนรู้บนไอเดียแบบ Personalized Learning ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาจุดแข็ง ต่อยอดความสนใจ และวางแผนการพัฒนาตนเองได้ชัดเจนขึ้น

และไม่แน่ว่า อาจนำไปสู่ประตูบานแรกบนคำถามใหญ่กว่านั้น แต่สำคัญยิ่งสำหรับวัยรุ่น เช่น ฉันคือใคร

อย่างไรก็ตาม ในบทสรุป ผมเห็นว่า การวัดประเมินผลผู้เรียนไม่ว่าจะโดยวิธีใด ควรมี “หมายเหตุ” ในทุกการกรอกคะแนนทุกครั้งว่า

“ผลการประเมินนี้เป็นเพียงการสะท้อนสภาพปัจจุบันของทักษะและความสามารถของผู้เรียน ซึ่งสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต และผลลัพธ์นี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดตัวตนหรือคุณค่าของผู้เรียนโดยรวม”

โดยสรุปคือ โปรดมีวิจารณญาณการในรับชม เพื่อเน้นย้ำว่า ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสในเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ อยู่เสมอ