ฐานคติสองใบอนุญาต : 1) อาการกับสมุฏฐาน

เกษียร เตชะพีระ

ฐานคติสองใบอนุญาต
: 1) อาการกับสมุฏฐาน

ที่มาและอาการโดยสังเขป

การรวบยอดความคิด (conceptualization) ว่าประชาธิปไตยไทยปัจจุบันอยู่ใน “ระบอบ 2 ใบอนุญาต” ของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จุดประกายให้ผมได้คิดต่อเหลียวมองย้อนดูที่มาของระบอบดังกล่าว

ในแง่ประวัติศาสตร์ ใบอนุญาตใบที่สองหรือใบของชนชั้นนำมีมาก่อน

ส่วนใบอนุญาตใบแรกจากประชาชนเพิ่งเริ่มหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ทว่า 15 ปีหลังจากนั้นนับแต่ต้นทศวรรษที่ 2490 ก็มีการเพิกถอนใบอนุญาตประชาชนยาวนาน

เพิ่งจะได้กลับมาลงหลักปักฐานอย่างยั่งยืนหน่อยหลังเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 และรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง 2540

(สำหรับงานวิชาการพื้นฐานที่ให้ภาพรวมแบบรวบยอดของการเมืองไทยสมัยใหม่ช่วงยาวนี้ต่อกันได้ดียิ่ง ดู เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา : ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, 2558 โดยเฉพาะบทที่ 1-5 ซึ่งเดินเรื่องจากการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 มาถึงประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยรัฐบาลเปรม ช่วงทศวรรษที่ 2520)

แต่แล้วจากนั้นก็ถูกเพิกถอนไปอีกในรัฐประหารสืบเนื่องสองครั้งในซีรีส์เดียวโดย คปค. เมื่อปี 2549 และโดย คสช. เมื่อปี 2557 (ดู Prajak Kongkirati, Thailand: Contestation, Polarization, and Democratic Regression, 2024 ซึ่งรับลูกเดินเรื่องต่อจากทศวรรษ 2520 ในงานของครูเบนมาถึงปัจจุบัน)

การกลับมาดำรงอยู่ของสองใบอนุญาตพร้อมกันในปัจจุบันกล่าวได้ว่าเป็นความจำเป็นแห่งยุคสมัยของโลกและสังคมการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

คัดจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_808887, 21 ต.ค. 2567

ทว่า ขณะที่ใบอนุญาตประชาชนดำรงอยู่อย่างเปิดเผยชอบด้วยกฎหมาย ใบอนุญาตชนชั้นนำกลับดำรงอยู่ได้ก็แต่แบบไม่เป็นทางการหรือกึ่งทางการ, ลักปิดลักเปิด, พันลึก, เร้นลึก แม้ในบางแง่อาจมีอิทธิพลเหนือกว่าใบอนุญาตประชาชนก็ตาม (งานสำคัญที่ระบุบ่งชี้ประเด็นเหล่านี้อย่างแหลมคมและคาดเล็งการณ์ข้างหน้าอย่างแม่นยำได้แก่ Eug?nie M?rieau, “Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997-2015)”, Journal of Contemporary Asia, 46:3 (2016), 445-466)

การดำรงอยู่ของใบอนุญาตคู่ส่งผลกระทบต่อกัน มันกดดันใบอนุญาตชนชั้นนำให้ต้องเร้นลึกทางกฎหมาย-การเมืองทางการ แต่ขณะเดียวกันมันก็เซาะกร่อนบ่อนเบียนใบอนุญาตประชาชนให้มีผลจริงทางปฏิบัติจำกัดและถูกลัดวงจร ตัดตอน คลอนแคลนอยู่เสมอด้วย

คำถามคือสมุฏฐานการคิดที่รองรับ “ระบอบ 2 ใบอนุญาต” นี้มีที่มาจากไหนอย่างไรหรือ?

สมุฏฐานการคิด
: แนวคิดทฤษฎีกับการตีความประวัติศาสตร์

ผมเห็นว่าเค้ารอยของสมุฏฐานการคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในฉันทมติทางปฏิบัติ (practical consensus) ของแกนนำอำนาจรัฐฝ่ายต่างๆ ในปัจจุบันที่ลงรอยลงตัวกันว่า :

กฎหมายอาญามาตรา 112 คือเงื่อนไขจำเป็นของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้ monarchy อยู่กับ democracy ได้ในเมืองไทย ซึ่งจะต้องผดุงรักษาไว้ไม่แตะต้องไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการ (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล )

ฝ่ายบริหาร (“แพทองธาร ยืนยันรัฐบาลไม่แตะนิรโทษ ม.112 ไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1-2″)

และฝ่ายนิติบัญญัติ (“สภาฝุ่นตลบ ปม 112 รวม ส.ส.ทุกเฉดสี อภิปรายรายงานนิรโทษกรรม“)

 

แนวคิดกำกับรองรับเรื่องนี้อาจสืบสาวราวเรื่องย้อนรอยถอยหลังไปได้ถึงข้อวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบันเมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขียนไว้ในบทนำหนังสือ กรณี ร.7 ทรงสละราชสมบัติ : การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง (2549) หัวข้อ “แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษา” ตอนหนึ่งว่า :

“ทั้งนี้ ควรตระหนักและเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า Monarchy กับ Democracy นั้นเป็นแนวความคิดที่อยู่ในคู่ตรงข้ามกันและเป็นปฏิปักษ์กันมานับตั้งแต่สมัยโบราณ (เนื่องด้วย Monarchy หมายถึงระบอบของการปกครองของบุคคลเพียงคนเดียว ตรงกันข้ามกับ Democracy ที่หมายถึงการปกครองของคนส่วนใหญ่เสมอ ฉะนั้น หากจะกล่าวเป็นหลักการแล้ว การปกครองโดยบุคคลคนเดียวจะนำมาผสมจนกระทั่งกลายเป็นการปกครองโดยคนส่วนใหญ่คงจะไม่ได้) และเราก็มิอาจจะนำคำทั้งสองมาผูกสัมพันธ์กันจนกลายเป็นแนวความคิด (concept) ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างง่ายๆ ดังที่เกิดขึ้นและปรากฏในสังคมการเมืองของไทยในห้วงเวลานี้

“ดังนั้น การที่แนวความคิดทั้งสองซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันสามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างกลมกลืนจึงควรนับว่าเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองและทางปัญญาหรืออุดมการณ์ของโลกสมัยใหม่โดยแท้” (น.5)

 

สําหรับเหตุผลรองรับฉันทามติ 112 ในฐานะหลักค้ำจุน Monarchy+Democracy ของไทย จะเห็นได้ในคำชี้แจงของคุณเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าคดีล้มล้างการปกครอง 

โดยอ้างอิงการตีความประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานรองรับ เมื่อ 9 ธันวาคม 2564 ว่า :

“เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า…กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกประวัติการปกครองการเมืองในอดีต สืบเนื่องอำนาจปกครองพระมหากษัตริย์ สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ ในการเกิดขึ้นการสร้างบ้านสร้างเมืองสร้างชาติ ไม่ได้สร้างแผนที่แล้วเป็นชาติ บ้านเมือง อันนั้นจินตนาการ แต่ประวัติการสร้างชาติทุกประเภทมาจากรากฐานประเพณีอันดีงาม มีคติฐานชอบธรรมหลายรูปแบบ เช่น ของไทยจะพูดถึงปิตุลา เป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก มีการพูดถึงคติแบบแผนประเพณีการปกครองธรรมราชา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของใครคนหนึ่งคนใด แต่เป็นความเหมาะสมและความอุตสาหะของผู้ปกครองในอดีต ไม่ว่าบูรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์ จนเราได้มีบ้านเมืองอยู่อาศัยร่มเย็นเป็นสุข

“ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องสำคัญบ้านเมืองต้องหวนระลึกถึงความเป็นชาติ กระทำยิ่งคนในชาติไม่ใช่คนในชาติ ต้องคำนึงความรับผิดชอบที่จะเกิดผลร้ายต่อประเทศชาติ ที่กระทบต่อทุกคนไม่ได้เป็นผลเกิดจากคนทำกลุ่มน้อย ถ้าดูประวัติศาสตร์ความเป็นมา พัฒนาการเมืองการปกครองของไทย มีการปรับการแก้ให้เป็นไปตามยุคสมัยตลอดมา ตรงนั้นทำหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมือง เราถึงดำรงความเป็นไทยมาได้ถึงทุกวันนี้ บ้านเมืองได้พัฒนาสืบสถาพรมั่นคงตลอดมา

ทำไมศาลต้องหยิบยกข้อพิจารณานี้มาประกอบการพิจารณาของศาล? เชาวนะชี้แจงว่าเป็นการชี้แจงตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ อย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการกล่าวถึงพระราชสถานะ ประเพณีการเมืองการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบเนื่องมาตลอด ทุกบ้านทุกเมืองกระทำเหมือนกันคือรักษาแก่นสาร…

การแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 นำไปสู่ไม่รักษากฎเกณฑ์ เคารพสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดปัญหา

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)