ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | คอลัมน์ : สาระนิยาย Psy ฟุ้ง |
เผยแพร่ |
หากอ่าน “ความรู้สึก” ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่าน “บันทึกจากใจ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” ที่เขียนและตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ผ่านหนังสือ “ความจริงไม่มีสี”
ก็จะเข้าใจใน “ความคิด”
ไม่ว่าจะเป็นรูปประโยค “อันที่จริง บนเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดง แกนนำปลุกระดมมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2552 มีการประกาศบนเวทีไว้ถึงขนาดว่า
‘จะล้มการประชุมอาเซียน’
แต่ถึงวันที่ 11 พวกเราบางคนก็บอกว่า จะมีการขอมายื่นหนังสือบ้าง อะไรบ้างให้เข้ามาเถอะ มันจะได้จบ ความจริงเขาเคยประกาศไว้ชัดเจนล่วงหน้าแล้วว่าจะมาล้มการประชุม ถึงขนาดปราศรัยคล้ายๆ ว่า
‘ไม่อยากให้ผู้นำประเทศอื่นมาเสี่ยงชีวิตกับนายอภิสิทธิ์’
เพราะฉะนั้น ที่เขาพยายามจะอ้างกันภายหลังว่ามีการไปปะทะกับ ‘คนเสื้อน้ำเงิน’ ได้รับบาดเจ็บ
มันเป็นเรื่องทีหลัง
เหมือนพยายามจะสร้างเงื่อนไข เราก็ต้องหาทางรับมือกับความพยายามที่จะล้มการประชุมของพวกเขา”
ไม่ว่าสภาพความเป็นจริงที่ค่อยๆ คลี่คลายขยายตัว ในแต่ละภาพ แต่ละจังหวะก้าวในทางการเมือง ในทางการเคลื่อนไหว ที่แจ่มชัดอย่างยิ่งว่าได้มีการกำหนดพิมพ์เขียวเอาไว้
คำถามก็คือ การเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2552 ดำเนินไปอย่างไร
มีความจำเป็นต้องเริ่มจาก “มติชน” บันทึกประเทศไทย ปี 2552 ถึงแต่ละจังหวะก้าวอันสัมพันธ์อยู่กับจุดเริ่มเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552
วันที่ 9 เมษายน
กลุ่มผู้ชุมนุมดาวกระจายไปชุมนุมยังสถานที่ต่างๆ เช่น ปิดล้อมที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ กระทรวงการต่างประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญ กองบัญชาการกองทัพบก ใช้รถแท็กซี่ปิดถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานีโทรทัศน์ NBT
การปิดถนนโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จำนวนหนึ่งไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกโรงพยาบาลได้
เวลา 17.00 น. นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดง ขึ้นเวทีที่สะพานชมัยมรุเชฐ อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2
เวลา 18.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่จังหวัดชลบุรี ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากจังหวัดชลบุรี มาลงที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต
เพื่อหารือและประเมินสถานการณ์ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก รวมทั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่
เวลา 20.25 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอลิงก์เข้ามายังที่ชุมนุมระบุว่า
“แพ้ไม่ได้ เราต้องชนะ ถ้าเราแพ้ ประเทศไทยแพ้ ประชาชนแพ้”
เวลา 21.10 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนการชุมนุมปิดถนนนั้นทำให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อน รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย
พร้อมประกาศให้วันศุกร์ที่ 10 เมษายน เป็นวันหยุดราชการเพื่อทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
แล้วภาพและการเคลื่อนไหวของ “เสื้อแดง” เป็นอย่างไร
คำตอบของคำถามนี้ต้องพิจารณาจากที่ปรากฏในหนังสือ “19-19 ภาพชีวิตและการต่อสู้ของ ‘คนเสื้อแดง’ จาก 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53” จากการตีพิมพ์ผ่าน “ฟ้าเดียวกัน” เมื่อปี 2554
เป็นผลการทำงานร่วมระหว่าง อุเชนทร์ เชียงแสน บรรณาธิการ ชัยธวัช ตุลาธน ผู้ช่วยบรรณาธิการ ทรงวุฒิ พัฒนศิลาพร บรรณาธิการภาพ
นั่นคือ
11 เมษายน 2552 คนเสื้อแดงนำโดย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ที่เดินทางไปพัทยาเพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนสำนักงานเลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน
ปะทะกับ “กลุ่มเสื้อน้ำเงิน” ที่ตั้งด่านสกัดเส้นทางเข้าโรงแรมโรยัล คลิฟ บีช รี สอร์ท สถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
หลังจากสามารถฝ่าแนวป้องกันของทหารด้านหน้าได้สำเร็จ คนเสื้อแดงได้เข้าไปในโรงแรม ส่งผลให้รัฐบาลต้องยกเลิกการประชุมและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่เมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรี
ตัดภาพมาที่กรุงเทพมหานคร
12 เมษายน 2552 หน่วยรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับบาดเจ็บ ถูกคนเสื้อแดงควบคุมตัวหลังจากพยายามขับรถฝ่าวงล้อมในเหตุการณ์ผู้ชุมนุมเข้าปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย
ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เป็นสถานที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร
คนเสื้อแดงช่วยกันเปิดเส้นทางให้รถพยาบาลเข้ามารับตัว นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับบาดเจ็บหลังจากที่รถของเขาพยายามฝ่าวงล้อมออกจากกระทรวงมหาดไทย
คนเสื้อแดงยึดรถบรรทุกผู้ต้องขังของตำรวจนำไปปิดถนนเพื่อขัดขวางทหารไม่ให้เข้าสลายการชุมนุมบริเวณแยกอุรุพงษ์
หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ขณะเดียวกัน คนเสื้อแดงแปลงกายหุ่นตำรวจจราจรที่ตั้งอยู่บริเวณแยกสนามม้านางเลิ้งให้เป็น “จ่าเฉยมะเขือเทศ”
เมื่อเข้าสู่วันที่ 13 เมษายน 2552 ก็ได้เห็นภาพของทหารเริ่มลงมือปฏิบัติการตั้งแต่เช้าตรู่ โดยนำกำลังเข้ากดดัน สลายแนวป้องกันที่ผู้ชุมนุมทำขึ้น แล้วค่อยๆ เคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม
เผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อต้าน
เป็นภาพของทหารเคลื่อนกำลังผ่านถนนพระราม 6 มุ่งหน้าไปยังพื้นที่การชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล
เป็นภาพของทหารเคลื่อนกำลังจากถนนราชดำเนินเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานผ่านผ้า ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่คนเสื้อแดงรวมตัวกันตั้งแนวป้องกันการสลายการชุมนุม
เป็นภาพเจ้าหน้าที่ดับเพลิงช่วยกันดับไฟที่กำลังลุกท่วมรถโดยสารประจำทางที่ถูกนำมาจอดเป็นเครื่องกีดขวาง
และถูกเผาเมื่อทหารเข้ามาควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า
เป็นภาพผู้สนับสนุนเสื้อแดงตั้งแนวสกัดและโห่ร้องขับไล่ทหารบริเวณใกล้ทางรถไฟ ขณะที่อีกภาพทหารก็เคลื่อนกำลังรุกคืบพื้นที่ผ่านซากรถโดยสารประจำทางที่ถูกเผาบริเวณแยกอุรุพงษ์
มุ่งหน้าไปยังถนนพิษณุโลก
เป็นภาพแนวล้อมทหาร พร้อมรถฮัมวี่บริเวณทางลงทางด่วนยมราช หลัง 6 โมงเย็นของวันที่ 13 เมษายน 2552 ทหารสามารถทลายแนวสกัดของคนเสื้อแดงได้ทั้งหมด
และปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมไว้ทุกด้าน
การเคลื่อนไหวที่ปักหลักเมื่อวันที่ 8 เมษายน และเริ่มขยายแนวไปยังพัทยา ชลบุรี ในวันที่ 11 เมษายน
ได้นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งชลบุรีและกรุงเทพมหานคร
กำลังทหารได้เคลื่อนเข้าสลายการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นที่พัทยา ชลบุรี ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเริ่มเข้าสู่อีกขั้นตอนหนึ่งในตอนค่ำของวันที่ 13 เมษายน
ภาพจากมุมมองของทางด้านรัฐบาลออกมาอย่างไร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022