ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
การที่นายควง อภัยวงศ์ ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่แรกจากคณะรัฐประหาร และยอมลงจากอำนาจโดยง่ายเมื่อถูก “จี้” นั้น ทำให้เกิดคำถามเรื่องความถูกต้องชอบธรรมระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” ดังที่มีผู้เขียนจดหมายถามความเห็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าการทำรัฐประหารของไทยปี พ.ศ.2490 ตลอดจนถึงการที่รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ถูกจี้ให้ออกนั้นจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ง่ายๆ ในระบอบประชาธิปไตยเดิมได้หรือไม่
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หนึ่งในรัฐมนตรีร่วมของคณะรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ตอบว่า “ก็ยังได้ การกระทำของรัฐบาลนายควงตอนนั้นเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะเมื่อถูกจี้แล้วรัฐบาลไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดการกับผู้ที่มาจี้ได้อย่างไร รัฐบาลจึงหมดความสามารถที่จะปกครองแผ่นดินต่อไปได้ รัฐบาลนายควงนั้นถูกจี้แล้วทำอะไรไม่ได้ก็จึงต้องลาออกตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ มิได้ถูกจี้ให้ออก” (สยามรัฐ 17 พฤศจิกายน 2494)
ทัศนะนี้ของ ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช ที่ประกาศตัวเองชัดเจนต่อสาธารณชนว่าเป็นฝ่าย “รอยัลลิสต์” จึงสะท้อนความต้องการของฝ่ายอำนาจเก่าที่ยังประสงค์จะรักษาความสัมพันธ์กับคณะรัฐประหารไว้ในลักษณะ “แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง” เพื่อประโยชน์ในการทำลายล้างคณะราษฎรและนายปรีดี พนมยงค์ ต่อไป
กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ทัดทานการลาออกของนายควง อภัยวงศ์ จากนั้นก็มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491
จึงกล่าวได้ว่า การคืนสู่อำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นั้นนอกจากจะเป็นผลโดยตรงจากคณะรัฐประหารแล้ว การสนับสนุนของฝ่ายอำนาจเก่าก็นับว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงยังคงมีความร่วมมือกันต่อไปโดยฝ่ายอำนาจเก่ายอมโอนอ่อนผ่อนตามคณะรัฐประหารเพื่อเป้าหมายสำคัญที่ยังไม่บรรลุ
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ด้านหนึ่งจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนับถอยหลังสู่ความล่มสลายของคณะราษฎรและความพ่ายแพ้ของนาย ปรีดี พนมยงค์ ในที่สุด
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ กองทัพเรือภายใต้การนำของหลวงสินธุสงครามชัย ยังคงสงบนิ่งอยู่ในที่ตั้ง ไม่เคลื่อนไหว ไม่แสดงความเห็น ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในทุกกรณี
นับถอยหลังคณะราษฎร
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แสดงความเห็นไว้ใน “แผนชิงชาติไทย” ว่า การขึ้นสู่อำนาจของคณะรัฐประหารครั้งนี้มีผลอย่างยิ่งในทางทำลายรากฐานประชาธิปไตยและล้มล้างลัทธิรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร เนื่องจากคณะรัฐประหารมิได้มีความสำนึกและผูกพันกับประชาธิปไตยของคณะราษฎร มีเพียงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เท่านั้นที่เคยเป็นสมาชิกคณะราษฎร
และแม้ว่าจะเคยเป็นคู่ปฏิปักษ์กับฝ่ายอำนาจเก่ามาก่อน แต่ก็ฉกฉวยสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ละทิ้งอุดมการณ์เมื่อครั้งร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นอกจากนั้น คณะทหารที่ก่อการรัฐประหารก็ดำเนินการด้วยการชักจูงยั่วยุและความร่วมมือจากฝ่ายอำนาจเก่าอีกด้วย จึงทำให้คณะรัฐประหารมีลักษณะปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ในที่สุด
คณะรัฐประหารยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายอำนาจเก่าฟื้นตัวขึ้นด้วยการถวายพระราชอำนาจคืนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้ ดังคำให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในนามหัวหน้าคณะรัฐประหารว่า
“รัฐประหารครั้งนี้ คณะทหารอยากเปลี่ยนรัฐบาล จะเพิ่มอำนาจพระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น พระองค์ท่านจะได้มีโอกาสช่วยดูแลบ้านเมือง”
กองทัพเรือหลังรัฐประหาร 2490
หลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือไม่ได้นำกองทัพเรือเข้าร่วมกับกองทัพบกในการรัฐประหารครั้งนี้ แตกต่างจากเมื่อครั้ง “รวมกันตี” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
การไม่เข้าร่วมครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “แยกกันเดิน” คล้ายกับครั้งปฏิเสธคำสั่งยิงในเหตุการณ์กบฏบวรเดช แต่หลวงสินธุสงครามชัยก็สามารถนำกองทัพเรือผ่านมรสุมการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มาได้ด้วยการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด แม้จะมีประเด็นการลี้ภัยของนายปรีดี พนมยงค์ ที่อาจทำให้กองทัพบกเกิดความระแวงสงสัยจากการที่นายทหารเรือบางคนที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือก็ตาม
ควรให้ความสนใจอย่างยิ่งกับผลจากการที่กองทัพเรือพัฒนาอย่างก้าวกระโดดภายใต้แนวทางของหลวงสินธุสงครามชัยเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ครั้นถึง พ.ศ.2490 ที่กองทัพบกก่อการรัฐประหาร อำนาจกำลังรบเปรียบเทียบระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิมที่ไม่มีใครเหนือกว่าใคร
กล่าวเฉพาะอำนาจการยิงปืนใหญ่แล้ว กองทัพเรือยังเหนือกว่ากองทัพบกด้วยซ้ำ อาวุธปืนใหญ่ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตระหนักดีในฐานะทหารปืนใหญ่ว่าเป็น “ราชาแห่งสนามรบ” กองทัพบกจึงยังคง “เกรงใจ” กองทัพเรือเหมือนที่เคยเป็นมา
แต่การที่กองทัพบกไม่ชักชวนกองทัพเรือให้เข้าร่วมก่อการรัฐประหารครั้งนี้ก็สะท้อนความไม่ “ไว้วางใจ” ต่อกองทัพเรืออย่างชัดเจน
และต่อมาเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491 กองทัพเรือก็ยังยึดถือหลักการทหารอาชีพที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเคร่งครัดต่อไป
หลวงสินธุสงครามชัยมิได้เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้นในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
กบฏเสนาธิการ
ควรให้ความสนใจต่อ “กบฏเสนาธิการ” หรือ “กบฏนายพล” เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่กำลังลี้ภัยอยู่สิงคโปร์
ย้อนหลังไปทบทวนระบบการศึกษาแบบใหม่ในหมู่ทหาร โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยทหารบกที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สมัยสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทหารบกได้ถูกปลูกฝังให้มีความเข้าใจและตื่นตัวในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจนนำไปสู่ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกำลังในเหตุการณ์ “กบฏ ร.ศ.130” แล้วติดตามด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งสำเร็จลงด้วยกำลังทหารบกเป็นหลัก
นายทหารเหล่านี้ต่างรับราชการก้าวหน้ามาตามลำดับ หลายคนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่เมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งนายทหารประจำการส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ จึงมีนายทหารกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ขณะที่นายทหารส่วนใหญ่ต่างปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ ยึดถือคำสั่งตามสายการบังคับบัญชา
ผู้นำของกลุ่มนายทหารบกที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเป็นนายทหารสายเสนาธิการ คือ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต (หลวงศรานุชิต) รองเสนาธิการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก ทั้งสองต่างจบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารฝรั่งเศส มีลักษณะเป็น “ปัญญาชน” ที่โดดเด่นจนได้รับการยอมรับจากนายทหารทั่วไป ทั้งมีความคิดโน้มเอียงไปทางประชาธิปไตยและได้รับการยอมรับมากที่สุดในรัฐบาลพลเรือนทั้งของนายปรีดี พนมยงค์ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่ถูกโค่นล้มไปจากการรัฐประหารครั้งนี้
ในระยะที่รัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือนของคณะราษฎรบริหารประเทศระหว่าง พ.ศ.2487-2490 ได้มีการผลักดันแนวความคิดแยก “ข้าราชการประจำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหารออกจาก “การเมือง” โดยเห็นว่า การที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองจะนำไปสู่ลัทธิเผด็จการ ทำให้เกิดแนวความคิด “ทหารอาชีพ” ที่ทหารจะต้องปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นของทหารเท่านั้น ต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือหากจะเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองก็จะต้องลาออกเสียก่อน
แนวความคิดนี้แพร่หลายในทหารหัวก้าวหน้าโดยเฉพาะในฝ่ายเสนาธิการที่ไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหาร
ลักษณะก้าวหน้าของนายทหารสายเสนาธิการเช่นนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำคณะรัฐประหารจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน เพราะทั้ง พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หลวงกาจสงคราม พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ ต่างไม่มีใครจบการศึกษาจากต่างประเทศและยังประสบความสำเร็จในอาชีพด้วยแรงผลักดันทางการเมือง
จึงมีความเชื่อว่าทหารจะต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง ทหารจะต้องเข้าแก้ไขและนำพาชาติในภาวะวิกฤต สอดคล้องและนำไปสู่ความเชื่อถือในอุดมการณ์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่แตกต่างไปจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรและความเชื่อของนายทหารหัวก้าวหน้า
แม้คณะรัฐประหารส่วนใหญ่จะเป็นนายทหารที่เติบโตมาในยุคสมัยเดียวกันกับนายทหารเสนาธิการหัวก้าวหน้าเหล่านี้ แต่ก็มิได้มีความสำนึกและผูกพันกับประชาธิปไตยของคณะราษฎรแต่อย่างใด มีเพียงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เท่านั้นที่เคยเป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ก็เปลี่ยนไป จึงทำให้คณะรัฐประหารมีลักษณะปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร
แนวคิดทั้ง 2 นี้ดำรงอยู่ด้วยกันในกองทัพหลังรัฐประหารจนนำมาสู่ “กบฏเสนาธิการ”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022