ความมั่นคงแบบทรัมป์! โลกกับประธานาธิบดีอเมริกัน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“รัสเซียจะทำอะไรก็ได้ตามที่รัสเซียต้องการ”
ท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อชาติสมาชิกของนาโต
ที่ไม่สามารถดำรงงบประมาณทหารที่ร้อยละ 2 ของจีดีพี

 

ถ้ามองการหาเสียงในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันในปี 2024 จะเห็นได้ชัดว่า คนในสังคมอเมริกันดูจะไม่ได้ให้ความสนใจมากนักกับประเด็นความมั่นคงและนโยบายทางทหาร และหัวข้อนี้น่าจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการหาเสียงในครั้งนี้

แต่สำหรับเวทีโลกดูจะมีทัศนะต่อเรื่องนี้แตกต่างออกไปอย่างมาก หัวข้อด้านความมั่นคงและการทหารเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกในขณะนี้ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงของโลกโดยตรง ตลอดรวมถึงปัญหาสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีผลกับเสถียรภาพในเวทีระหว่างประเทศอย่างมาก

แม้ประเด็นนี้จะไม่ใช่หัวข้อสำคัญสำหรับการหาเสียงที่เกิดขึ้นในอเมริกา แต่ก็เห็นได้ชัดว่าคู่แข่งขันทั้ง 2 มีจุดยืนและทิศทางในนโยบายดังกล่าว แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ในบทนี้จะลองทำการสำรวจแนวคิดและมุมมองของทรัมป์ต่อปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ

 

ทรัมป์โมเดล

เส้นแบ่งที่ชัดเจนทั้งในทางความคิดและนโยบายในภาพรวมนั้น เป็นผลโดยตรงของอุดมการณ์การเมืองของผู้แข่งขันแต่ละคน หากเริ่มต้นพิจารณาจากกรณีของทรัมป์ จะเห็นถึงความคิดในแบบ “ลัทธิโดดเดี่ยว” (Isolationism) ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดและเข็มมุ่งในการหาเสียงของทรัมป์ว่า “America First” หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งเข็มมุ่งเช่นนี้ บ่งบอกถึงในแบบที่ต้องการพานโยบายของสหรัฐให้กลับมาเน้นเรื่องภายใน และลดความเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกลง หรือกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่า จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องในบ้านก่อน

ความคิดพื้นฐานในแบบโดดเดี่ยวนิยมเช่นนี้ยังมีนัยว่านโยบายของทรัมป์จะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของระบบพันธมิตรระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแกนกลางของนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศของรัฐบาลอเมริกันตลอดช่วงยุคสงครามเย็น และยุคหลังสงครามเย็นมาโดยตลอด ดังจะเห็นว่าทิศทางสำคัญในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น เขาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับระบบพันธมิตรเช่นนี้แต่อย่างใด และกลับมีท่าทีในแบบ “ทิ้งพันธมิตร”

คำกล่าวที่สะท้อนถึงความคิดของทรัมป์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ “นาโตตายแล้ว” (NATO is dead.) การกล่าวเช่นนี้บ่งบอกชัดเจนว่า ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสนใจกับองค์กรความมั่นคงหลักของยุโรป ที่ผู้นำสหรัฐมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางทหารของ “กองทัพแดง” ในยุคสงครามเย็น

หรือในอีกมุมหนึ่งเขามองว่านาโตไม่มีความสำคัญกับความมั่นคงของยุโรป ตราบเท่าที่เขาสามารถพูดคุยกับผู้นำรัสเซียได้โดยตรง

 

นอกจากนี้ เขามองในแบบนักธุรกิจว่า สหรัฐจะไม่แบกภาระด้านความมั่นคงในแบบเดิม เช่นที่เคยมีบทบาทมาตลอดช่วงสงครามเย็นและหลังสงครามเย็นอีกต่อไป ดังนั้น ถ้าจะให้สหรัฐดำรงบทบาทดังกล่าวแล้ว ชาติสมาชิกของนาโตจะต้องจัดสรรงบประมาณด้านการทหารของประเทศให้ได้ที่ร้อยละ 2 (หรืออาจจะมากกว่าร้อยละ 2) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

การคิดเช่นนี้อาจเกิดจากการที่ทรัมป์เป็นพ่อค้า และเน้นที่จะไม่มีบทบาทภายนอกมาก เขาจึงมองระบบพันธมิตรระหว่างประเทศเป็นเหมือน “วงแชร์” ที่ทุกชาติจะต้องจ่ายเงินเพื่อเข้ามาร่วมเป็นสมาชิก คือมองนาโตในแบบ “โมเดลธุรกิจ” (business model) โดยสหรัฐจะไม่ให้ใครเข้ามาร่วมแบบไม่จ่ายค่าสมาชิกเช่นในอดีตอีกต่อไป อีกทั้งทรัมป์ยังเสนอให้มีการลดกำลังพลของสหรัฐในนาโตลง 1 ใน 3

 

ในยุคสงครามเย็นนั้น สหรัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้ที่แบกรับค่าใช้จ่ายทางทหารเป็นหลัก เนื่องจากสหรัฐมีสถานะของการเป็น “รัฐมหาอำนาจนำ” ของค่ายตะวันตก และต้องการดึงเอาประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในการต่อต้านสหภาพโซเวียต หรือโดยนัยคือการดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหรัฐนั่นเอง

แต่สำหรับทรัมป์แล้วกลับมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแบกภาระทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และสหรัฐควรจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้กับการแก้ปัญหาภายในมากกว่า

ความเห็นเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นชัดเจนจากข้อเสนอที่มาจาการศึกษาของมูลนิธิเฮอริเทจชื่อ “โครงการ 2025” (The Heritage Foundation’s Project 2025) ที่ต้องการให้สหรัฐถอนกำลังจากยุโรป และลดระดับของพันธกรณีในการเป็นผู้นำของนาโตลง

อันมีนัยเท่ากับการลดระดับพันธมิตรด้านความมั่นคงของ 2 ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก (Trans-Atlantic Alliance) ที่ผู้นำสหรัฐได้ใช้เวลาอย่างยาวนานในการสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ “ยุทธศาสตร์โลก”

 

ลัทธิโดดเดี่ยว

ทุกฝ่ายยอมรับว่า ถ้าสหรัฐตัดสินใจทิ้งยุโรปด้วยการกลับไปสู่นโยบายแบบ “โดดเดี่ยวนิยม” เช่น ในแบบที่ทรัมป์ได้เสนอแล้ว จะเกิดผลให้เกิดการจัด “ภูมิทัศน์ความมั่นคงยุโรปใหม่” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเท่ากับการค้ำประกันความมั่นคงของยุโรปด้วยอำนาจทางทหารของสหรัฐ จะลดระดับลงอย่างมาก ซึ่งอาจจะเทียบเคียงได้กับการถอยกลับสู่นโยบายต่างประเทศอเมริกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สหรัฐจะขยับตัวออกจากปัญหาของยุโรป เพราะเชื่อว่าผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐคือ การหันกลับเข้าบ้านตัวเอง

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด ในที่สุดสหรัฐก็ต้องกลับเข้าสู่สนามรบในยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงทางการเมืองของการเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ในยุคปัจจุบันนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐจะถอนตัวออกจากปัญหาของยุโรป หรืออย่างน้อยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอกย้ำว่า สหรัฐไม่อาจทิ้งยุโรปไปได้ และไม่อาจปล่อยให้ยุโรปถูกควบคุมโดยรัฐมหาอำนาจใหญ่ฝ่ายเดียวที่มีความเป็น “hegemonic power” ซึ่งอาจกลายเป็นเงื่อนไขสงครามในตัวเองอีกแบบ

หากเกิดสภาวะเช่นนั้นแล้ว ย่อมกระทบกับสถานะด้านความมั่นคงของสหรัฐเองในระยะยาว ดังนั้น การที่สหรัฐต้องสร้าง “พันธมิตรข้ามแอตแลนติก” เพื่อไม่ให้ยุโรปตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น แต่ข้อเสนอของทรัมป์ในปัจจุบัน กลับต้องการพานโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐให้มีความเป็นลัทธิโดดเดี่ยว เสมือนกับการย้อนอดีตของยุคประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน ในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวคิดของทรัมป์เช่นนี้ท้าทายอย่างมากกับการกำหนดผลประโยชน์ของสหรัฐในเวทีโลก

ด้วยท่าทีเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ทรัมป์ไม่ต้องการที่จะแบกรับปัญหาสงครามยูเครน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเขากับประธานาธิบดีเซเลนสกี้ ที่เขาต้องการให้ผู้นำยูเครนช่วยในการจัดการกับกรณีลูกชายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่คำขอนี้ได้รับการปฏิเสธจากผู้นำยูเครน อันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับเซเลนสกี้ไม่เป็นไปในทางบวกมากนัก

ในกรณีนี้ ทรัมป์เสนออย่างชัดเจนที่จะไม่ส่งความช่วยเหลือด้านการทหารให้กับยูเครน พร้อมกันนี้ยังเสนอที่จะให้สงครามยูเครนยุติด้วยการเจรจา หรือดังที่เขากล่าวในการหาเสียงว่า เขาจะยุติสงครามนี้ให้ได้ภายในวันแรกของการรับตำแหน่ง แต่เขาก็ไม่ได้เสนอในรายละเอียดว่าแผนการยุติสงครามจะเป็นไปในลักษณะใด ข้อเสนอเช่นนี้จึงถูกตีความว่า ทรัมป์จะบีบให้ผู้นำยูเครนยอมรับการเสียดินแดนที่รัสเซียได้ยึดครองไว้นับจากวิกฤตการณ์ 2014 โดยการลดการให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธ อันจะทำให้กองทัพยูเครนไม่สามารถดำรงสภาพการรบต่อไปได้

ในอีกด้าน ทรัมป์อาจจะเสนอยกเลิกการแซงก์ชั่นรัสเซีย และขอให้ประธานาธิบดีปูตินยอมรับ “แผนสันติภาพ” ของเขา ซึ่งทรัมป์เชื่อว่าการกระทำเช่นนี้จะเป็นเงื่อนไขให้สงครามยูเครนต้องสิ้นสุดลง แต่ในแผนเช่นนี้ดูจะไม่มีนาโตและสหภาพยุโรปใน “สมการความมั่นคง” ของทรัมป์เลย อันทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า นาโตและอียูจะยอมรับแผนสันติภาพในลักษณะเช่นนี้ได้เพียงใด

และใครจะค้ำประกันว่า ผู้นำรัสเซียจะไม่ขยายสงครามกับยูเครนอีกหลังจากนั้น เพราะยูเครนจะอ่อนแอในทางทหาร

 

นอกยุโรป

โจทย์ความมั่นคงที่สำคัญนอกจากปัญหาระบบพันธมิตรข้ามแอตแลนติกและสงครามยูเครนแล้ว สงครามของอิสราเอลในกาซาและในเลบานอนเป็นปัญหาสำคัญอีกส่วนที่ท้าทายอย่างมาก และคงต้องยอมรับว่า ทรัมป์มีทิศทางในแบบที่ “โปรยิว” และไม่ตอบรับกับชาวปาเลสไตน์ ด้วยท่าทีเช่นนี้ ทรัมป์อยากให้อิสราเอลจัดการปัญหาสงครามในกาซาให้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งทรัมป์ดูจะไม่มีท่าทีในการวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงของอิสราเอลในกาซาแต่อย่างใด

ด้วยท่าทีที่สนับสนุนอิสราเอลอย่างมากเช่นนี้ ทรัมป์จึงมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับอิหร่านอย่างชัดเจน เช่น เขาเสนอให้อิสราเอลทิ้งระเบิดโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลกับท่าทีเช่นนี้ เพราะหากเกิดการโจมตีขึ้นจริง สงครามในตะวันออกกลางจะถูกยกระดับขึ้นอย่างแน่นอน

ในส่วนของไต้หวันนั้น ทรัมป์ต้องการขายอาวุธให้ไต้หวันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ไต้หวันจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ด้านความมั่นคงที่สหรัฐจะให้แก่ไต้หวัน แต่ในบางส่วนก็มีการตีความว่า ทรัมป์อาจทิ้งไต้หวัน เพื่อลดภาระของสหรัฐ

ในกรณีของเกาหลีใต้ ทรัมป์ต้องการให้เกาหลีใต้จ่ายเงินเพิ่มเป็น 4 เท่าสำหรับการคงฐานทัพอเมริกันไว้ หรือไม่ก็ถอนทหารอเมริกันออกจากเกาหลีใต้ทั้งหมด

ประเด็นสำคัญในเอเชียอีกส่วนคือ ปัญหาจีน ซึ่งแนวคิดของทรัมป์ไม่ต่างจากกรณีของเดโมแครตที่มองจีนเป็นภัยคุกคาม ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนจากปัญหาสงครามการค้ากับจีน ฉะนั้น นโยบายของทรัมป์จึงต้องการเพิ่มงบประมาณทหารในการเตรียมรับมือกับจีน

สำหรับในเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์นั้น ถือเป็น “หัวใจ” ของการพัฒนาความมั่นคงในแผนของทรัมป์ เขาเสนอให้มีการขยายอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ และไม่ตอบรับกับแนวคิดในเรื่องของการลดอาวุธ และการควบคุมการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) รวมถึงการสนับสนุนให้ สหรัฐหันกลับไปทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐได้หยุดการทดลองนี้ไปตั้งแต่ 1992 แล้ว

 

ท้ายบท

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า แนวคิดทางการเมืองของทรัมป์ที่มีความสุดโต่งในทางการเมือง ภายใต้คำขวัญ “America First” นั้น กำลังพาอเมริกาออกจากการเมืองโลกด้วยทิศทางแบบ “ลัทธิโดดเดี่ยว” และทิศทางของชุดความคิดเช่นนี้มีความชัดเจน ที่จะไม่ดำเนินการตาม “นโยบายต่างประเทศอเมริกันกระแสหลัก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดทอนความสำคัญของระบบพันธมิตรด้านความมั่นคง ที่เคยเป็น

ใน 4 ปีข้างหน้า (2025-2028) โลกอาจจะคาดคะเนได้ในบางส่วนจากประสบการณ์ในยุค “ทรัมป์ 1” (2017-2020) ที่เห็นถึงความผันผวนจากทิศทางด้านการต่างประเทศในแบบของทรัมป์ และในยุค “ทรัมป์ 2” อาจจะเตรียมที่จะเผชิญกับความผันผวนที่มากกว่า เพราะสถานการณ์สงครามและความขัดแย้งดูจะมีมากกว่าในช่วงเดิม อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นด้วย!