ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ |
เผยแพร่ |
หลายคนในประเทศไทยกำลังพูดถึงกับรายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 3% ในไตรมาสที่ผ่านมา บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจ เพราะตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่หากลองมองภาพรวมในบริบทของอาเซียนและโลกแล้ว เศรษฐกิจไทยกลับพบว่าตัวเองอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ค่อยมั่นคงเท่าไรนัก
ไทยยังคงโตช้าเมื่อเทียบในภูมิภาคอาเซียน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม (6%), ฟิลิปปินส์ (5.5%) และอินโดนีเซีย (5%) เราจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้กำลังเร่งเครื่องทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ในขณะที่ไทยดูเหมือนจะเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา” (developing country) ที่โตแบบ “ประเทศพัฒนา” (developed country) แล้ว เช่น สหรัฐ จีนหรือสเปน ที่ร่ำรวยกว่า มีฐานเศรษฐกิจที่สูงกว่าเรา
ถ้าเป็นค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา การเจริญเติบโตในช่วงควรที่จะอยู่ประมาณ 4.2%ในขณะที่ไทยรวมแล้วทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 2.8% บวกลบ ถือว่าเราโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศกำลังพัฒนามาก
ยิ่งด้วยความที่ยังไม่รู้หมู่หรือจ่า หลังประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งปีหน้า และสถานการณ์ 3T (Trade, Tariff & Trump) จะทำให้เศรษฐกิจยากจะคาดเดา
และการทำ economic model forecast ก็คงมีวาณิชธนกร มีธนาคาร มีมหาวิทยาลัย มีหน่วยงานรัฐทั้งไทยและเทศทำกันเยอะตามข้อมูลเฉลี่ยในอดีต เพื่อประมาณการไปข้างหน้า ซึ่งผมก็ไม่รู้จะมีประโยชน์แค่ไหนกับความคาดเดาไม่ได้กับโลกอนาคต
ผมจึงจะชวนมาทำ back of the envelope calculation เอาซองจดหมายมาขีดเขียนคิดเลขเร็วๆ สนุกๆ แบบเช้าวันอาทิตย์ดีกว่า มีความน่าจะเป็นทางเศรษฐกิจอะไรบ้างครับ?
1. การเสี่ยงสูญเสียอันดับ 2 ให้สิงคโปร์
แม้ว่าสิงคโปร์จะมี GDP ขนาดเล็กกว่าประเทศไทยในเชิงมูลค่ารวม แต่ด้วยขนาด GDP ต่อหัวที่สูงและความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์อาจแซงไทยในแง่ของคุณภาพทางเศรษฐกิจ และในไม่ช้าอาจเข้ามาแซงในเชิงมูลค่ารวม หากไทยยังคงชะลอตัว
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 501.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 31 ของโลก แม้จะมีจำนวนประชากรและพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและภาคการเงินที่แข็งแกร่ง
ในปี 2024 สิงคโปร์ได้ปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น 3.5% ต่อปี โดยตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 เติบโต 5.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.1%
ปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต ได้แก่ :
1.1 การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่ง : สิงคโปร์ยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาค
1.2 ความต้องการด้านวิศวกรรมที่เพิ่มขึ้น : อุตสาหกรรมการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน
ด้วยอัตราแบบนี้ เป็นสมมุติฐาน ย้ำว่าคิดสนุกๆ ประเทศสิงคโปร์ ถึงแม้จะมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าของประเทศไทยประมาณ 705 เท่า ในขณะที่จำนวนประชากรน้อยกว่าของประเทศไทยประมาณ 12.8 เท่า
ไทยมีโอกาสจะเสียตำแหน่งเบอร์สองของอาเซียนให้สิงคโปร์ ประมาณปี 2030 บวกลบ แต่นั่นคงไม่ทำให้ผู้อ่านเซอร์ไพรส์ขนาดนั้น
2) ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีสิทธิ์แซงไทย
จนเราตกไปเป็นที่ 5 ในอาเซียนหรือไม่?
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ล่าสุดสำหรับปี 2024 แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงเป็นผู้นำด้านขนาดเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่คู่แข่งอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์กำลังเร่งเครื่องตามมาติดๆ :
ไทย : ประมาณ 548.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เวียดนาม : ประมาณ 465.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฟิลิปปินส์ : ประมาณ 471.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตต่อปีที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปี 2024 เป็นต้นไป :
ไทย : เติบโตเพียง 2.7% ต่อปี
เวียดนาม : เติบโตสูงถึง 6.1% ต่อปี
ฟิลิปปินส์ : เติบโตที่ 5.2% ต่อปี
อัตราการเติบโตที่ต่างกันนี้บ่งชี้ว่า เวียดนามและฟิลิปปินส์อาจแซงหน้าไทยในแง่ของขนาดเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้
จากข้อมูลข้างต้น (อาจผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยน และแนวบัญชีของแต่ละประเทศ และการสมมุติว่าอัตราการเติบโตของแต่ละประเทศยังคงคงที่ :
เวียดนาม : คาดว่าจะแซงหน้าไทยในแง่ GDP nominal ได้ภายในประมาณปี 2032 บวกลบ
ฟิลิปปินส์ : คาดว่าจะแซงหน้าไทยประมาณปี 2033 บวกลบ
ภายใน 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทย มีความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียสถานะผู้นำของอาเซียน ไปอยู่อันดับ 5 ในปี 2030,2032 และปี 2033 ตามลำดับ
3. ประชากรไทยพร้อมยันสู้
รั้งอันดับต้นๆ ของไทยไว้ได้ไหม?
ประเทศไทยมีอายุมัธยฐานของประชากรสูงที่สุดในอาเซียนครับ อยู่ที่ 39.7 ปี สิงคโปร์ตามเรามาที่ 2 อยู่ที่ 39.1 ปี ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงการเข้าสู่ระยะสูงวัยในโครงสร้างประชากร
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีอายุมัธยฐานต่ำกว่า เช่น เวียดนาม 32.5 ปี, มาเลเซีย 30.4 ปี และอินโดนีเซีย 30.2 ปี
ส่วนประเทศที่มีประชากรอายุน้อยที่สุดคือฟิลิปปินส์และลาวที่มีอายุมัธยฐานเพียง 24.1 ปี และ 24.2 ปี ตามลำดับ
ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นถึงพลวัตประชากรที่หลากหลายในอาเซียน โดยประเทศที่มีประชากรอายุน้อยกว่าสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานวัยหนุ่มสาวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศที่มีอายุมัธยฐานสูงกว่าต้องรับมือกับความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุและการรักษาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
จะเห็นได้ว่าตราบใดถ้าประเทศไทยไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งวิกฤตโลกรวน และโลกเดือด ซึ่งกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศ
ปัญหาเหล่านี้รวมถึงไฟป่า ที่ลุกลามหนัก, ฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน, น้ำท่วมซ้ำซาก, น้ำท่วมฉับพลัน และภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น
ตราบใดที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aging Society) โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคาดว่าจะมีสัดส่วนมากกว่า 30% ภายในปี 2040 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภาพแรงงาน และระบบเศรษฐกิจ
โดยแรงงานวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิด “ช่องว่างแรงงาน” และส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานของไทยยังคงต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น สิงคโปร์หรือมาเลเซีย
นอกจากนี้ ระบบสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม เช่น บำนาญและการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ยังคงสร้างความกดดันต่อการคลังของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน รายได้จากภาษีลดลงตามจำนวนแรงงานที่หดตัว เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น พลังงานสะอาด และพัฒนาระบบสวัสดิการที่ยั่งยืน เช่น การเพิ่มการลงทุนในระบบบำนาญและขยายบริการสุขภาพครอบคลุมทุกคน
ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจว่า 2 ปัญหา ทั้ง climate และ aging society มันทวีคูณกันไปมา (negative synergy) และทำให้หนักกว่าเดิม (คิดถึงผู้ป่วยติดเตียงสูงอายุ x พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 90 วันติดกันต่อปี)
ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงแค่บั่นทอนการดำเนินชีวิตของประชาชน แต่ยังรบกวนปัจจัยมหภาค เศรษฐกิจ, การท่องเที่ยว และการลงทุน จากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง และรบกวนปัจจัยจุลภาคอย่างการมีงานทำ การออม จนไปถึงหนี้ครัวเรือนที่ดื้อและแก้ไม่ออก
นี่ยังไม่ได้เขียนถึง gdp per capital analysis หรือ ความเหลื่อมล้ำเลย ฉบับนี้ขอทิ้งโจทย์ ฉากทัศน์ และความน่าจะเป็นไว้ให้ทุกคนช่วยกันคิดแค่นี้ก่อนครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022