สภาจำลองของคนรุ่นใหม่ในลำปาง (2) ก้าวแรกไม่ใช่ก้าวสุดท้าย

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

สภาจำลองของคนรุ่นใหม่ในลำปาง (2)

ก้าวแรกไม่ใช่ก้าวสุดท้าย

 

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายของบทความชุดสภาจำลองจำนวนทั้งหมด 2 ตอน ตอนที่ 1 เผยแพร่ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรื่อง “สภาจำลองของคนรุ่นใหม่ในลำปาง (1) จุดเริ่มต้น” ทางลิงก์ https://www.matichonweekly.com/column/article_815003 บอกเล่าถึงความสำคัญและที่มาของกิจกรรม

ส่วนบทความนี้เป็นตอนที่ 2 และเป็นตอนจบ บอกเล่าบทสรุปของกิจกรรมว่าเป็นอย่างไร

โครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการบริการวิชาการบูรณาการศาสตร์แห่งสหวิทยาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ประจำปีการศึกษา 2567”

ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมเสวนาประเด็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับรัฐสภาไทย” และกิจกรรม “สภาจำลอง”

โดยผมเองในฐานะที่เป็นรองผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ หรือ PPE ที่ศูนย์ลำปาง และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ตามที่ได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ดำเนินโครงการนี้ขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก รศ.ดร.รุ่งนภา เทพภาพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และ ผศ.ชวนนท์ กาญจนสุวรรณ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา

จากนั้นจึงตั้งคณะทำงานขึ้นโดยมีกันตพล กุณาวงศ์ เป็นเจ้าหน้าที่หลักของโครงการ และนารากร บุญคง ช่วยสนับสนุน พร้อมทั้งนักศึกษาปัจจุบันของวิทยาลัยสหวิทยาการตั้งแต่ปี 1 ไปจนถึงปี 4 ทั้งในหลักสูตร PPE (Philosophy Politics and Economics) และหลักสูตรสหวิทยาการ

โดยเริ่มจัดกิจกรรมวันแรกที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร ในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 และวันที่สอง ณ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา

วันที่ 21 พฤศจิกายน มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 45 คน มาจากระดับชั้น ม.ปลาย สายศิลป์-สังคม ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีผู้ชายเพียง 5-6 คนเท่านั้น

นักเรียนมีพื้นฐานความสนใจการเมืองอยู่พอสมควร แต่ยังมีความรู้ทางการเมืองการปกครองไม่มากนัก

การเรียนรู้เรื่องรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ทุกคนเคยเห็นบรรยากาศของรัฐสภาไทยผ่านสื่อต่างๆ มาบ้างแล้ว แต่ไม่พบว่ามีใครที่เคยชมการอภิปรายในสภาอังกฤษมาก่อน

แต่เมื่อบรรยายข้อมูลพื้นฐานของสภาอังกฤษให้รับรู้ก็ดูท่าทางสนอกสนใจมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นบรรยากาศการโต้กันไปมาแบบดวลเดี่ยว “หมัดต่อหมัด” ระหว่างผู้นำฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

สำหรับการจำลองสถานการณ์ในสภานั้นได้ทำทั้ง 2 แบบ คือ สภาไทยและสภาอังกฤษ พบว่ารูปแบบของอังกฤษเหมาะกับการทำกิจกรรมมากกว่าสภาไทย

เนื่องจากนักเรียนสามารถโต้ตอบกันได้อย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทันทีทันใด การถกเถียงจึงดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีชีวิตชีวาและเป็นธรรมชาติ

ผู้ชมที่นั่งอยู่ก็รู้สึกมีส่วนร่วมอยากกระโจนเข้ามาสู่วงสนทนาอยู่ตลอดเวลา

แต่พอขยับมาจำลองสภาไทยดูบ้าง บรรยากาศความครึกครื้นก็ลดลงมาก เพราะการจัดที่นั่งแบบรัฐสภาไทยมีระยะห่างทั้งระหว่างสมาชิกสภาด้วยกันเอง และระหว่างสมาชิกกับประธาน

ที่สำคัญคือเต็มไปด้วยระเบียบพิธีการและขั้นตอนที่เป็นทางการ การใช้ภาษา คำศัพท์เฉพาะ และข้อบังคับสารพัดอย่างที่สร้างข้อจำกัดให้กับนักเรียนจนเกร็งไปหมด เมื่อผู้เล่นพยายามเดินตามกติกาทุกประการประกอบกับภาพจำที่พวกเขาเคยเห็นผ่านสื่อมวลชนจึงยิ่งทำให้ผู้เล่นรู้สึกไม่ผ่อนคลาย ทำให้ไม่เอื้อต่อการพัฒนากระบวนการคิดเชิงวิพากษ์

และไม่ก่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเองได้เท่าที่ควร

บทเรียนที่ได้รับมาจากกิจกรรมวันแรกเลยทำให้ในวันที่สองซึ่งขยับเข้ามาจัดในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ตัดรูปแบบรัฐสภาไทยทิ้งไป เหลือไว้แต่เพียงรัฐสภาอังกฤษเท่านั้น เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การจับประเด็น การมีสมาธิ และความกล้าในการพูดต่อหน้าสาธารณชน ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมัวพะวงอยู่กับกฎระเบียบและพิธีรีตองแบบสภาไทย

โดยนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 23 พฤศจิกายน มีจำนวน 40 คน เกือบทั้งหมดมาจาก ร.ร.ลำปางกัลยาณี ซึ่งในอดีตเคยเป็นโรงเรียนหญิงล้วนประจำจังหวัด แต่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนสหศึกษาแล้ว

นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในวันที่สองยังเป็นผู้ที่สมัครเข้ามาเอง ต้องเดินทางจากบ้านหรือโรงเรียนมายังมหาวิทยาลัย ต่างกับวันแรกที่บางคนอาจไม่ได้สนใจมาตั้งแต่แรก แต่ติดตามเพื่อนฝูงมาเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่จัดในโรงเรียน

การที่นักเรียนในวันที่สองสมัครเข้ามาเองเป็นการส่วนตัว จึงทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นสูง และดูเหมือนว่าบางคนมีพื้นความรู้ทางการเมืองดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปของผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ

เห็นได้จากการตอบคำถามทดสอบความรู้ทางการเมืองเบื้องต้นที่มีนักเรียนได้คะแนนเต็มอยู่หลายคนเลยทีเดียว

ความเร่าร้อนอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งๆ ที่อายุเพิ่งย่างเข้าสู่วัยรุ่นได้ไม่นาน คือยังอยู่เพียงแค่ ม.4-ม.6 เท่านั้น ได้เป็นตัวอย่างสะท้อนถึงลักษณะเฉพาะของคนเจนซี (Gen Z) ได้ดี ว่ามีความสนอกสนใจทางการเมืองมากกว่ารุ่นอื่น และเริ่มสนใจเร็วกว่ารุ่นเก่า เช่น เจนบี เจนวาย เจนเอ็กซ์ อย่างเห็นได้ชัด

ที่สำคัญก็คือลักษณะเช่นนี้ปรากฏทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งหากนับตามตัวเลขดิบๆ แบบไม่คำนึงถึงอัตราส่วนที่เพศหญิงมีจำนวนมากกว่าเพศชายแล้ว จะพบว่าปริมาณเด็กผู้หญิงที่สนใจการเมืองมีสูงกว่าเด็กผู้ชายมาก

ยุคสมัยต่อไปจึงไม่น่าจะเป็นเพียงยุคสมัยของคนรุ่นใหม่เท่านั้นแต่ยังเป็นยุคสมัยของผู้หญิงที่จะเข้ามามีบทบาทนำในสังคมอีกด้วย

โครงการนี้ประกาศรับสมัครไปทั่วทุกโรงเรียนมัธยมในลำปางบริเวณเขตอำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง โดยไม่ได้จำกัดโควต้าไว้ก่อนว่าจะรับผู้ชายและผู้หญิงเป็นสัดส่วนเท่าใด

แต่ยอดผู้สมัครเกือบทั้งหมดกลับเป็นนักเรียนหญิง มีนักเรียนชายมาไม่ถึงสิบคน คือจาก ร.ร.ลำปางกัลยาณี และจาก ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร

แต่มีข้อสังเกตก็คือแม้ว่าผู้ชายมีจำนวนน้อยกว่ามาก แต่มีความโดดเด่น และมั่นใจ กล้าพูด กล้าแสดงออก มีบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์สามารถจดจำได้ค่อนข้างง่าย

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่สองไม่คุ้นเคยกับรัฐสภาอังกฤษเช่นกัน แต่เมื่อได้เห็นลีลาการขับเคี่ยวกันในสภาของผู้นำและนักการเมืองชื่อดังของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น เช่น ริชี ซูนัค (Rishi Sunak) ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) แองเจลา เรย์เนอร์ (Angela Rayner) เคมี บาเดนอค (Kemi Badenoch) อเล็กซ์ เบิร์กฮาร์ต (Alex Burghart) ฯลฯ ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างไทยกับอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว และมีความคึกคักตื่นเต้นที่จะลองลงสนามจำลองดูบ้าง

จากนั้นทำการแบ่งกลุ่มเป็นฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ประกบคู่อภิปรายโต้กันทีละคู่ ภายใต้หัวข้อหรือญัตติ “การยกเลิกโทษประหาร” “การยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียน” “การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร”

นอกจากความรู้ทางทฤษฎีแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนยังไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้ที่มีประสบการณ์จริงในภาคปฏิบัติ โดยนักการเมืองที่ให้เกียรติเดินทางเข้ามาแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ในสถานที่อบรมทั้ง 2 วัน และเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ซักถามก็คือ ส.ส.ไก่ ทิพา ปวีณาเสถียร ส.ส.ลำปาง เขต 1 จากพรรคประชาชน

ส่วนนักการเมืองที่ให้ความกรุณาวิดีโอคอลเข้ามาแลกเปลี่ยนในระหว่างการทำกิจกรรมคือ ครูธัญ ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจากพรรคประชาชน ผู้ต่อสู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ส.ส.พิม พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 16 พรรคประชาชน และ ส.ส.ไวท์ คุณากร มั่นนทีรัย ส.ส.นนทบุรี เขต 6 พรรคประชาชน

ทำให้กิจกรรมนี้เป็นมากกว่าการเรียนเนื้อหาตามตำรา แต่ยังได้รับการเติมเต็มด้วยการฝึกฝนด้วยตัวเอง และจากประสบการณ์ของนักการเมืองจริงๆ ในรัฐสภาอีกด้วย

 

สําหรับตัวอย่างของเสียงสะท้อนต่อกิจกรรมในครั้งนี้ เช่น “นครินทร์ บุญมี” นักเรียน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร กล่าวว่า “รู้สึกเปิดโลกที่ได้รู้ว่านักการเมืองจริงๆ ต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความคิด ความกล้าอะไรบ้าง โดยส่วนตัวแล้วไม่เคยทำกิจกรรมแบบนี้มาก่อน ทำให้ได้รู้จักการโต้วาที รู้สึกขอบคุณที่จัดกิจกรรมนี้ ทำให้ตนได้มีโอกาสฝึกให้กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ และแสดงความเห็น”

ส่วน “ประดุจดาว จันทร์มณี” นักเรียน ร.ร.ลำปางกัลยาณี กล่าวว่า “รู้สึกสนุกและได้รับประสบการณ์มากมาย เพราะตัวเองไม่ค่อยกล้าพูดโต้วาทีเท่าไหร่ แต่วันนี้พอได้ลองทำแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองก็พอทำได้ แต่อยากให้มีพี่สตาฟฟ์ประจำกลุ่มเพื่อช่วยดึงศักยภาพในตัวของน้องๆ ออกมาให้ได้มากกว่านี้ ทำให้น้องกล้าพูดกล้าทำมากขึ้น การแบ่งกลุ่มขนาดเล็กเป็นเรื่องดีเพราะทำให้แต่ละคนได้มีโอกาสพูด เคยไปค่ายอื่นซึ่งกลุ่มมีขนาดใหญ่กว่านี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลยได้ฝึกน้อย และอยากให้กระจายรุ่นพี่กับรุ่นน้องออกจากกัน จะได้ลดความเกรงใจลง และโต้กันได้เต็มที่”

เวทีสภาจำลองของคนรุ่นใหม่ในลำปาง “ก้าวแรก” สำเร็จไปเรียบร้อยจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมทั้งนักศึกษาปริญญาตรีจากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ธรรมชาติ อุดมทองสกุล, วิมลรัตน์ ศรีโยหะ, ชุติมณฑน์ กุงวงศ์, อชิรญา รักวาทิน, อมิตา ลูกคำ, แพททิชา กรรเชียง, เกียรติศักดิ์ อินทร์สุริยวงษ์, ชเนตตี สินค้า, ภควัต นวลอนงค์, ชนัญธิดา เหมมาชูเกียรติกุล, ณาริตา ก้อนทอง, ชุติสรณ์ ธนทรัพยมิตร, สุรารักษ์ ชุ่มจู, จุฑามาส มูลชาติ, สุธิมา สุสัมฤทธิ์

สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมเช่นนี้จะแพร่หลายในสังคมไทย ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งซึ่งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประชาธิปไตยให้ลุล่วง และสร้างรากฐานของสังคมเข้มแข็งให้เจริญงอกงามต่อไปในอนาคต