ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ใครจะคิดว่า เลือกตั้งนายก อบจ.แค่จังหวัดเดียว จะดึงดูดความสนใจคนทั้งประเทศได้มากขนาดนี้
เรื่องของเรื่องก็เกิดจากนายทักษิณ ชินวัตร สร้างเซอร์ไพรส์ ออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้า (ที่กบดานเงียบมานานนับตั้งแต่ตั้งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) ตระเวนขึ้นเวทีปราศรัยหลายอำเภอ ที่ จ.อุดรธานี ในนามผู้ช่วยหาเสียง
และเมื่อต้องแข่งกับ “กองทัพส้ม” ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการพาดพิงถึงในหลายๆ เรื่อง
ทำเอาแกนนำกองทัพส้มนั่งไม่ติด ลุกขึ้นมาตอบโต้ ระดมสรรพกำลังกันมาช่วยหาเสียงโค้งสุดท้ายหนาแน่น
แม้ผลการเลือกตั้งปรากฏ นายศราวุธ เพชรพนมพร จากพรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งไปด้วยคะแนน 327,487 เสียง ต่อนายคณิศร ขุริรัง ที่ได้คะแนน 268,675 เสียง ห่างกัน 58,812 เสียง
เอาเป็นว่าพรรคเพื่อไทยชนะขาดลอย แต่คะแนนที่พรรคประชาชนได้ก็ไม่ธรรมดา
วันเดียวกันยังมีการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช เมืองหลวงสำคัญชาวสีฟ้า ก็เกิดเหตุการณ์ “ฟ้าเปลี่ยนสีที่เมืองคอน” กลายเป็น “น้ำเงินเข้ม”
เพราะผลการเลือกตั้งสุดเซอร์ไพรส์ “วาริน ชิณวงศ์” จากพรรคภูมิใจไทย สามารถโค่นเอาชนะ “กนกพร เดชเดโช” แชมป์เก่าจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปได้ด้วยคะแนน 331,460 เสียง ต่อ 304,809 คะแนน
แม้จะเป็นแค่ผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนแค่ 2 จังหวัด แต่กลับมี “นัยยะทางการเมือง” ระดับสูง ต่อ 4 พรรคการเมืองสำคัญของประเทศ
1. พรรคเพื่อไทย ค่ายสีแดง ที่อยู่ในระดับฮึกเหิมขั้นสุด นายทักษิณวิดีโอคอลทันทีหลังผลการเลือกตั้งมีคะแนนนำ
ประกาศขอทวงคืนคะแนนเสียงจากพี่น้องชาวอุดรฯ ที่นายศราวุธ เพชรพนมพร เคยแพ้ให้กับพรรคก้าวไกลในคราวลงสมัคร ส.ส.เขต 1 โดย ระบุว่า “ผมกลับมาแล้ว เลือกตั้งครั้งหน้าขอให้ชัดกว่านี้อีกหน่อยนะครับ ถ้าทำงานไม่เต็มที่ผมเล่นงานเอง ผมอุตส่าห์ไปการันตี แล้วทำงานไม่เต็มที่ผมต้องไปเล่นงานแน่”
หลังรักษาเมืองหลวงเพื่อไทยไว้ได้ ไม่ต้องเอาปี๊บคลุมหัว นายทักษิณก็ส่งสัญญาณต่อเนื่องเตรียมขยายชัยชนะเลือกตั้งนายก อบจ. ทวงพื้นที่คืนจากสีน้ำเงินที่เคยเอาชัยชนะไปหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน
ข่าวว่าค่ายสีแดงพุ่งเป้าไปที่นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ และศรีสะเกษ ที่ครั้งก่อนเคยเสียทีพลาดท่า แต่ครั้งนี้จะเป็นการออกศึกภายใต้การนำของนายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า ด้วยตัวเอง
และยังต้องเดินตาม “อุดรฯ โมเดล” ทวงเก้าอี้ล้างแค้น กองทัพส้มโดยเฉพาะสมรภูมิเชียงใหม่ บ้านเกิดนายทักษิณ ที่กองทัพส้มกวาด ส.ส.ไปเกือบยกจังหวัด เมื่อเลือกตั้งปีก่อน
ยิ่งคึกไปใหญ่ เพราะเกิดขึ้นพร้อมๆ ไปกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับทั้ง 6 คำร้องกล่าวหานายทักษิณและพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ยิ่งทำให้ “ค่ายสีแดง” ตอนนี้อารมณ์พุ่งสุดสุด ไม่แปลกที่นายทักษิณจะผุดยุทธศาสตร์ 200 ที่นั่ง ส.ส.เพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ในชัยชนะที่ จ.อุดรธานี เจาะไปในรายอำเภอ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นายทักษิณและค่ายสีแดง จะประมาทไม่ได้
เพราะใน 20 อำเภอ มีเพียง 3 อำเภอเท่านั้น (อ.ศรีธาตุ อ.ไชยวาน และ อ.วังสามหมอ) ที่เพื่อไทยชนะขาดลอยพรรคประชาชนเกิน 1 เท่าตัว และมีถึง 16 อำเภอ ที่พรรคเพื่อไทยชนะพรรคประชาชนคะแนนห่างอยู่ในหลักพันเศษจนถึงหลักร้อย
คะแนนในอำเภอเมือง 73,509 ต่อ 76,793 ห่างกันสามพันกว่าคะแนน และมี 1 อำเภอคือหนองวัวซอที่พรรคประชาชนชนะ
ความหมายจากผลการเลือกตั้งนี้ก็คือ เพื่อไทยโดนกองทัพส้ม หายใจรดต้นคอเสียแล้ว
เพราะอย่าลืมว่าพรรคประชาชนหรือกองทัพส้ม ไม่ได้มีต้นทุนอะไร ต่างกับพรรคเพื่อไทย ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ จนอุดรธานีได้ชื่อเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง
และในจังหวะเดียวกันกับที่ “ชาวค่ายแดง” กำลังดีอกดีใจก็เจอ “ค่ายสีน้ำแดง” คว้าชัยชนะได้ที่ อบจ.สุรินทร์เพิ่มอีกจังหวัด เอาชนะแชมป์เก่าที่ค่ายเพื่อไทยเป็นสปอนเซอร์
นั่นคือ สถานการณ์ใน “ชัยชนะ” เกมเลือกตั้ง มีความ “พ่ายแพ้ทางการเมืองเล็กๆ ซ่อนอยู่” สำหรับเพื่อไทย
2. พรรคประชาชน หรือกองทัพส้ม ที่หลังแพ้เลือกตั้ง ก็น่าชื่นชมว่ายังไม่ทันประกาศรับรองผล เพียงรู้ว่าถูกนำห่าง หัวหน้าพรรคและผู้สมัครก็ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้และยินดีกับพรรคเพื่อไทย
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคและหนึ่งในผู้นำทางความคิดของกองทัพส้ม พลิกสถานการณ์เป็นการแพ้เพื่อพัฒนา เป็นการแพ้ที่มีความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่
สำหรับคู่แข่งอาจดูเป็นคำพูดน่าหมั่นไส้ แต่เจาะไปที่รายละเอียด จะพบว่าคำพูดของนายพิธา ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงไปนัก
เพราะการที่หลายอำเภอ คะแนนแพ้ในระดับหลักร้อย-หลักพัน ผู้มาสิทธิเลือกตั้ง 6.4 แสนคน จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด 1.24 ล้านคน คิดเป็นเพียง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งนี้ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
ต้องไม่ลืมว่าอุดรฯ คือพื้นที่ผูกขาดเลือกพรรคเพื่อไทยยาวนาน
ซ้ำ อ.หนองวัวซอ ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยเพิ่งจะเข้าไปทำนโยบายแจกที่ดินทำกินนับหมื่นไร่ให้ประชาชนจนถูกเรียกกันว่า “หนองวัวซอโมเดล” กลับแพ้พรรคส้ม ยิ่งสะท้อนนัยยะสำคัญบางอย่าง
นั่นคือโอกาสที่มากขึ้นในการคว้าเก้าอี้ ส.ส.ปี 2570 นั่นเอง
ความคึกคักของกองทัพส้มจึงปรากฏ เตรียมยกทัพไปสู้กับเพื่อไทยต่อที่ จ.อุบลราชธานี ล่าสุด ก็ยังเปิดตัวอีก 12 จังหวัด เพื่อหวังเก็บชัยชนะเลือกตั้งท้องถิ่นให้ได้
ความพ่ายแพ้ที่ จ.อุดรฯ ของกองทัพส้ม นับเป็นความพ่ายแพ้ติดๆ เป็นสนามที่ 3 แต่ผลคะแนนที่ จ.อุดรฯ ก็พิสูจน์ว่า “พลังส้ม” ไม่ได้ลดลงตามความพ่ายแพ้แบบที่หลายคนวิเคราะห์
ดังนั้น “ในความพ่ายแพ้เกมเลือกตั้ง ก็มี “ชัยชนะในทางการเมืองซ่อนอยู่” สำหรับพรรคประชาชน
3. พรรคประชาธิปัตย์ หรือชาวสีฟ้า ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช แชมป์เก่า “นายกต้อย กนกพร เดชเดโช” พ่ายให้กับ “น้ำ วาริน ชิณวงศ์” ทิ้งห่างเกิน 3 หมื่นคะแนน
ยิ่งทำคนโยงไปถึงสถานการณ์หลังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เข้ามายึดกุมอำนาจการบริหาร พร้อมนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับ รัฐบาลเพื่อไทยและนายทักษิณ แม้จะประกาศฟื้นศรัทธาไปแล้ว แต่ผลเลือกตั้งรอบนี้ก็สะท้อนว่ายังไม่สำเร็จ
แถมรอบนี้พรรคสีฟ้าต้องเจอกลุ่มก้อนการเมืองหลายกลุ่ม บ้านใหญ่หลายหลังรวมพลังกันสู้ นั่นจึงเป็นที่มาของความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่
การเมืองประชาธิปัตย์หลังจากนี้จึงน่าจับตา ว่าเลือกตั้งรอบหน้าพรรคสีฟ้าจะเอาอะไรไปหาเสียง
จากพรรคที่เคยส่งเสาไฟลงก็ชนะ วันนี้เสาไฟเริ่มหายไปทีละต้น
แม้จะได้ร่วมรัฐบาลแต่พลังทางการเมืองระดับชาติแทบไม่มี ระดับท้องถิ่นก็พ่ายแพ้ ต้องจับตาว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ภาคใต้ จะลามไปที่ จ.สงขลา ฐานกำลังของ นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อีกหรือเปล่า?
ช่วงนี้ต้องเรียกว่า เป็น “ความพ่ายแพ้แห่งความพ่ายแพ้” โดยแท้
4. พรรคภูมิใจไทย หรือชาวสีน้ำเงิน สามารถสร้างปรากฏการณ์ “เปลี่ยนสีฟ้าเมืองคอน” ให้เป็น “สีน้ำเงิน” ได้
ต้องไม่ลืมว่ารอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมาในเทศกาลเลือกตั้งนายก อบจ.รายจังหวัด พรรคภูมิใจไทยในนาม “ชาวสีน้ำเงิน” เก็บชัยชนะได้เพียบ
ตั้งแต่ นายก อบจ.ชัยภูมิ, อบจ.เลย, อบจ.อุทัยธานี, อบจ.พระนครศรีอยุธยา, อบจ.ปทุมธานี, อบจ.อ่างทอง, อบจ.นครสวรรค์, ล่าสุดก็ อบจ.สุรินทร์ และ อบจ.นครศรีธรรมราช
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ชัยชนะที่เมืองคอน สะท้อนบทบาทของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ (รมว.แรงงาน) พุ่งขึ้นมากในพื้นที่ อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวทางการเมืองใหญ่ไปยังจังหวัดอื่นๆ ในนามของ “เมืองคอนโมเดล”
แต่ก็มีความท้าทายอยู่สำหรับชาวสีน้ำเงิน ด้วยการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ครองอำนาจในกระทรวงด้านสังคมเป็นหลัก จึงผลักดันนโยบายเรือธงใดๆ ของพรรคได้ยาก ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า พรรคภูมิใจไทยจะเอาผลงานสำคัญอะไรไปหาเสียงเลือกตั้ง?
ไม่นับต้องเจอกับปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่เขากระโดง ถูกผลักดันอย่างเข้มข้นจากซีกกระทรวงคมนาคมขณะนี้ จึงเป็นเรื่องท้าทายอีกว่า พรรคจะรับมืออย่างไร?
แน่นอนในเบื้องต้น วันนี้ชาวสีน้ำเงินทำสำเร็จ ร่วมแชร์อำนาจในการเมืองระดับชาติได้ ยังต่อรองพรรคเพื่อไทยได้สูง แถมมีพลังหนุนระดับสูงจากสภาบน การเมืองท้องถิ่นก็กวาดชัยชนะมาเพียบ
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแพ้หรือจะชนะ ต้องไม่ลืมว่า ประเทศเรายังอยู่ภายใต้กติการัฐธรรมนูญปี 2560 ที่คลอดออกมาในสมัยรัฐบาลจากรัฐประหาร
จนถึงวันนี้ ก็จะเข้าสู่ปีที่ 8 ของการบังคับใช้ แม้มีรัฐบาลจากเลือกตั้งมานานแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววจะแก้ไขหรือยกร่างใหม่ได้
สรุปได้ว่า แดง-ส้ม-ฟ้า-น้ำเงิน ยังพ่ายให้สีเขียว เล่นอยู่ในเกมของสีเขียวอยู่ ก็คงจะไม่เกินจริงไปนัก!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022