ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
การจัดโผโยกย้ายระดับพันเอก พันโท และโผผู้การกรม ผู้พัน ของบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. กำลังถูกจับตามองว่ามีการจัดวางตัวนายทหารที่ใกล้ชิด และไม่ลืมลูกน้องเก่า เหมือนเช่น ผบ.ทบ.ในทุกยุคหรือไม่
ที่ถูกจับตาคือในส่วนของกองพลสไตรเกอร์ พล.ร.11 มีการขยับมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นลูกน้อง ที่ทำงานกับ พล.อ.พนามา ทั้งใน ร.31 รอ. มทบ.11 และ พล.ร.11 จึงมีการขยับเอาคนเดิมออก แล้วดันนายทหารที่ไว้วางใจเข้ามาคุมแทน
ทั้ง พ.อ.เชิดเกียรติ บัวผัน (ตท.42) ผบ.กรม ทหารพราน 14 ขยับเป็น รอง เสธ.พล.ร.11 ผู้การสรร พ.อ.สรรเสริญ ไพรโสภา (ตท.42) เสธ.ร.111 ที่ได้ดี ขยับไปเป็น ผบ.กรม ทหารพราน 14 แล้วให้ ผู้พันน้อย พ.ท.กิตติพล พันธุ์รังษี (ตท.44) ผบ.ร.111 พัน 2 ไปเป็น เสธ.ร.111 แทน
ผู้พันแบงค์ พ.ท.ธเนษฐ ชัยวัฒนธรรม (ตท. 44) ผบ.ร.111 พัน 3 ย้ายระนาบไปเป็น ผบ.ร.111 พัน 2 แล้วให้ เสธ.โจ้ พ.อ.จักรกริศน์ ธุรพันธ์ (ตท.42) เสธ.ร.112 ไปเป็น รอง ผบ.กรม สนับสนุน พล.ร.11 เสธ.บอย 46 พ.ท.คญากร โชติพนัส (ตท.46) หน.ฝ่ายส่งกำลังบำรุง พล.ร.11 ขยับเป็น ผบ.ร.111 พัน 1
ผู้พันรุ่ง พ.ท.รุ่งชยุตม์ ไม้รอด (ตท.43) ผบ.ร.111 พัน 1 ไปเป็นหัวหน้า กกพ.มทบ.11 ผู้พันเสก พ.ท.เศกสรร บุญวงษ์ (ตท. 43) ผบ.ร.112 พัน 3 ไปเป็น ผช.ฝ่ายกำลังพล ทัพภาค 1
“ผู้พันต๊อป” พ.ท.อรรถพร ประชานุกูล ผบ.ร.112 พัน 1 เปลี่ยนเวย์ ไปเป็นอาจารย์วิทยาลัยการทัพบก (วทบ.) ได้ยศพันเอก
เสธ.ปู พ.ท.วรวิทย์ ปาริจฉัตต์ (ตท.44) พล.ร.11 ได้เป็น ผบ.พัน.ซบร.กรม สนับสนุน พล.ร.11 พ.ท.นเรนทร์ พรมจรูญ หน.ฝ่ายข่าว พล.ร.11 ไปเป็นฝ่ายกำลังพล ทภ.4
เสธ.แกป พ.อ.วชิระ พานิช (ตท.42) หัวหน้า ทบ.11 ย้ายมาเป็นรอง เสธ.พล.ร.11 เสธ.จอม พ.ท.คมสัน ณัฐฐานันดร (ตท.46) ผช.ฝ่ายกำลังพล เป็น ผบ.ร.112 พัน 2 เสธ.แปป พ.ท.ธงทอง ทรงณัฐศิริ อจ.รร. เสธ.ทบ. ย้ายมาเป็น ผบ.ร.112 พัน 1
ทั้งนี้ พล.ร.11 ถือเป็นกองพลทหารราบคอเขียว ของกองทัพภาค 1 ที่เป็นกำลังที่เหลืออยู่ของกองทัพบก เพราะ พล.1 รอ. และ พล.ร.2 รอ. และ พล.ม.2 รอ. กำลังหลักเป็นหน่วยทหารคอแดง ขึ้นตรงกับ ฉก.ทม.รอ.904
พล.ร.11 จึงเป็นกองพลสำคัญ ที่ ผบ.ทบ.มีอำนาจเต็มในการจัดวางตัวบุคคล
อีกทั้งกองพลนี้ เป็นกองพลที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้าง และจัดตั้งใหม่ให้เป็นกองพลสไตรเกอร์ ที่มีความทันสมัย โดยอาศัยความสนิทสนมใกล้ชิดกับทางสหรัฐ จนเป็นที่หมายปองของนายทหารรุ่นใหม่ที่อยากจะมาอยู่กองพลนี้
พล.อ.อภิรัชต์ จึงเสมือนเป็นบิดาของกองพลสไตเกอร์ยุคใหม่เลยก็ว่าได้
ขณะที่เตรียมทหาร 26 ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.พนา ก็ขึ้นมาคุมตำแหน่งสำคัญต่างๆ แบบเป็นแผง รองรับการนั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. ยาว 3 ปี จนตุลาคม 2570 โดยไม่หวั่นว่าเมื่อเป็นทหารคอเขียวแล้วจะถูกย้ายไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ในปีสุดท้าย ตามกระแสข่าวลือที่ว่าจะนั่งแค่ 2 ปีนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะมีสัญญาณมาชัดเจน สำหรับ พล.อ.พนา
อีกทั้งค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า บิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ที่ข้ามจาก ผช.ผบ.ทบ. มาเป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด คอเขียว ต่อจาก ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ที่กลับคืนสู่การเป็นทหารคอเขียว ที่จะเกษียณตุลาคม 2568 จ่อคิว ผบ.ทหารสูงสุดไว้แล้ว และจะนั่งยาว 3 ปี ยันตุลาคม 2570
เท่ากับ พล.อ.พนาปิดประตูการข้ามไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด
ขณะที่ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ที่ข้ามจาก ผช.ผบ.ทบ. ไปเป็นรองปลัดกลาโหม จ่อต่อคิว พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ที่จะเกษียณตุลาคม 2568 ไว้แล้ว คงไม่ข้ามไขว้ ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด เพราะ พล.อ.ธราพงษ์ก็ถอดความเป็นทหารคอแดง กลับสู่การเป็นทหารคอเขียว และมีอายุราชการถึงตุลาคม 2569 เท่านั้น
แม้จะมี บิ๊กปั้น พล.อ.ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา รอง เสธ.ทหาร ที่เคยอยู่กลาโหม เป็น ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม เคยเป็นแคนดิเดตปลัดกลาโหม แต่ก็จะเกษียณตุลาคม 2568 นี้แล้ว
แต่หากไม่เกษียณ ก็ยากที่จะกลับมาชิงปลัดกลาโหม กับ พล.อ.ธราพงษ์ เพื่อน ตท.24 เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า การที่ พล.อ.ไพบูลย์ต้องข้ามมา บก.ทัพไทย เพราะต้องแยกทางเดินกับ พล.อ.สนิธชนก ที่แม้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 แต่ก็มีปัญหาคาใจกัน จน พล.อ.ไพบูลย์ก็ต้องข้ามไป บก.ทัพไทย
ไปช่วยงาน พล.อ.ทรงวิทย์ และ พล.อ.มนัส จันทร์ดี เสนาธิการทหาร เพื่อนร่วม ตท.24
ดังนั้น หากมองไปที่ฐานอำนาจของ พล.อ.พนา ค่อนข้างแน่น ด้วยเพื่อน ตท.26 มาทั้งทีม โดยมี บิ๊กรุ่ง พล.อ.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ ผช.ผบ.ทบ. ที่ขยับขึ้นมาจากแม่ทัพภาค 1 และถอดคอแดง กลับมาเป็นคอเขียว พร้อมกับ พล.อ.พนา ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
มี เจ้ากรมปู พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เจ้ากรมยุทธการทหารบก และ เสธ.เอก พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล รอง เสธ.ทบ. พล.ท.จินตมัย ชีกว้าง เจ้ากรมกิจการพลเรือน ทบ. ผบ.โอ๋ พล.ต. ธีรนันท์ นันทขว้าง ผบ.หน่วยข่าวกรองทางทหาร ที่ถือเป็นทีมเพื่อนสนิท
รวมถึง พล.ท.อัฏฐพล ลัดใหม่กุลวัฒน์ ปลัดบัญชี ทบ. พล.ท.ธนิศร์ ยูสานนท์ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก พล.ท.กำชัย วงศ์ศรี เจ้ากรมข่าว ทบ. พล.ท.ชาครีย์ ภัทรพงศ์กุล เจ้ากรมส่งกำลังบำรุง ทบ. พล.ต.นฤดล สุขมา เจ้ากรมจเรทหารบก พล.ต.สันติพงษ์ มั่นคงดี เจ้ากรม สห.ทบ. พล.ต.นิพัฒน์ เล็กฉลาด ผบ.ศูนย์ไซเบอร์ ทบ. เข้ามาร่วมงาน
ในส่วนคุมกำลัง ก็เช่น พล.ท. บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาค 2 พล.ท.พรชัย มาหลิน แม่ทัพน้อย 2 ผบ.เต้ พล.ท.ณรงค์ฤทธิ์ คัมภีระ ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) พล.ท.ไพบูลย์ พุ่มพิเชฏฐ์ ผบ.หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ ทบ. พล.ต.พรเทพ ยังรักษา ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ (ผบ.ศสพ.)
พล.ต.เรืองพงษ์ วงษ์ศรีสุข ผบ. พล.ม.3 แม่ทัพแม็กซ์ พล.ท.คมกฤช รัตนฉายา แม่ทัพน้อย 4 พล.ต.อนวัช พจนวรพงษ์ ผบ.กองพลทหารช่าง พล.ท.สิรภพ ศุภวานิช เจ้ากรมทหารช่าง พล.ต.วิกรานต์ จันระมาด ผบ.ศูนย์ซ่อมสร้าง สรรพาวุธ ทบ. พล.ต.อาวุธ พุทธอำนวย ผบ.ศูนย์การทหารราบ พล.ต.กรกฎ ภู่โชติ ผบ.พล.พัฒนา 4
พล.ต.นิธิ อิงคสุวรรณ ผบ.มทบ.13 พล.ต.พงษ์สวัสดิ์ ภาชนะทิพย์ ผบ.มทบ.16 พล.ต.อัครพนธ์ มูลประดับ ผบ.มทบ.22 พล.ต.ไชยนคร กิจคณะ ผบ.มทบ.25 พล.ต.สุชาติ พุ่มสุวรรณ ผบ.มทบ.35 พล.ต.วรเทพ บุญญะ ผบ.มทบ.38
ทั้งนี้ มีนายทหารเตรียมทหารรุ่น 27 เติบโตไล่ขึ้นมาเป็นแผงใหญ่เพื่อเตรียมรองรับการขึ้นสู่อำนาจของแม่ทัพใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาค 1 แกนนำรุ่น ที่ถูกคาดหมายว่าจะขึ้นเป็นห้าเสือกองทัพบกและ ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.พนา
เช่น เสธ.ตั้ง พล.ท.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล พล.ท.บรรยง ทองน่วม รอง เสธ.ทบ. พล.ท.อุดม แก้วมหา ผบ.รร.นายร้อย จปร. พล.ต.บัญชา ขาวงาม เจ้ากรมสารบรรณทหารบก พล.ต.เกียรติชัย โอภาโส ผบ.วทบ.
พล.ต.พงษ์ศักดิ์ เอี่ยมพญา ผบ.รร.นายสิบ ทบ. พล.ต.เทอดศักดิ์ วงศ์จันทร์ เจ้ากรมการเงินทหารบก พล.ต.อภินันท์ แจ่มแจ้ง ผบ.พล.ร.5
พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.พล.ร.15 พล.ต.เรืองศักดิ์ แก่นกำจร เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก พล.ต.ชนมากรณ์ ภิบาลชนม์ ผบ.มทบ.17 พล.ต.ถนัด พูนนายม ผบ.มทบ.19 พล.ต.วิชิต มักการุณ ผบ.มทบ.27 พล.ต.ยงยุทธ ขันทวี ผบ.มทบ.29 พล.ต.ธีระ ผดุงสุนทร ผบ.มทบ.33 พล.ต.บุญญฤทธิ์ เกษตรเวทิน ผบ.มทบ.37 พล.ต.เฉลิมพงค์ คงบัว ผบ.มทบ.41 พล.ต.สมคิด ชูเผือก ผบ.มทบ.44
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีของการเป็น ผบ.ทบ. ที่สามารถจะจัดโผนายพลได้ถึง 6 ครั้ง คาดว่า พล.อ.พนาก็จะดันเพื่อนร่วมรุ่น ตท.26 ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญมากขึ้น และอาจต้องมีการย้ายรุ่นน้องออกบ้าง โดยเฉพาะระดับคุมกำลัง เพื่อความมั่นใจกับอำนาจในมือ
รวมทั้งการเตรียมวางตัวทายาทในอนาคตที่กำลังถูกจับตามองว่า พล.อ.พนาจะเลือก ตท.28 เป็นรุ่นสานต่อภารกิจ ตามสูตรอำนาจ ตท.26-ตท.28-ตท.31
แต่การส่งไม้ต่อให้ พล.ท.อมฤต ตท.27 ที่ก็มีสูตรอำนาจของตนเอง ก็อาจจะทำให้ขั้วอำนาจ ทบ.เปลี่ยน เพราะเป็นที่รู้กันว่าจะส่งไม้ต่อให้กับ ตท.30 และ 32 เลย
ฉากทัศน์อำนาจในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ใน ทบ.จึงยิ่งเข้มข้น ยิ่งในยามที่ ผบ.ทบ.ไม่ได้เป็นทหารคอแดง แต่กลับมาเป็นทหารคอเขียวแล้ว มีอำนาจในการตัดสินใจในการจัดวางตัว
เพราะแม้แม่ทัพภาค 1 จะเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ในการจัดโผทหารคอแดงก็ตาม แต่อำนาจเต็มก็อยู่ที่ พล.อ.พนา
อยู่ที่ว่า พล.อ.พนาจะรอมชอม หรือแข็งข้อมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022