ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
ในช่วงที่ผ่านมา เสียงบ่นที่เราได้ยินจากทุกวงการก็คือ “ปัญหาเด็กเกิดน้อย”
เมื่อ “เด็กเกิดน้อย” นักเรียนก็น้อย นักศึกษาก็จะน้อยตามมา แน่นอน คนวัยทำงานก็จะน้อยลงไปอีก
ส่งผลกระทบเป็น Domino ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม อาชีวะ มหาวิทยาลัย และสถานประกอบการ
แต่ที่ญี่ปุ่น นอกจาก “ปัญหาเด็กเกิดน้อย” แล้ว ไม่น่าเชื่อว่า ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ “ครูเกิดน้อย”
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาขึ้นเงินเดือนครูครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว โดยจะมีการปรับฐานเงินเดือนครูครั้งใหญ่
ซึ่งหากพิจารณาจากบริบทปัจจุบัน แม้ว่าสภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐของญี่ปุ่นจะดีขึ้นมาก
ทว่า โครงสร้างเงินเดือนของครู ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานานถึง 50 ปีแล้ว ท่ามกลางเสียงเรียกร้องการปรับเงินเดือนที่มีมาโดยตลอด
สมทบกับการที่กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น มีแผนที่จะปรับขึ้นเงินเดือนครู 13% ที่มาพร้อมกับแผนการปฏิรูประบบการทำงานในโรงเรียน
โดยจะเรียกครูใหญ่ และครูระดับกลาง เข้ารับการฝึกอบรมใหม่ เพื่อบริหารจัดการเวลาทำงาน รวมถึงการทบทวนบทบาทหน้าที่ของครูไปด้วยในตัว
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบายสรรหาครูเพิ่มราว 8,000 คน ในปีงบประมาณ 2025 (ปีงบประมาณ 2025 ของญี่ปุ่น จะเริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน 2025-31 มีนาคม 2026)
โดยมีการวางยุทธศาสตร์ผ่านมาตรการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การมุ่งสร้างครูเฉพาะทาง การรื้อฟื้นระบบแนะแนว โดยมอบหมายครูให้บริหารจัดการภาวะขาดเรียน รวมถึงการบูลลี่ และการกลั่นแกล้งในโรงเรียน
ในช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบภาวะ “เด็กเกิดน้อย” ที่สร้างปัญหาให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก เหมือนกับที่เกิดในบ้านเรา โดยทั้ง 2 ประเทศมีแผนการแก้ปัญหาโดยการยุบรวมโรงเรียนคล้ายกัน
เช่น นโยบายรวม 2 ห้องเรียนเป็นห้องเดียว หรือให้ครูใหญ่ และรองครูใหญ่ ลงมาช่วยสอนหนังสือ ทั้งที่ปกติแล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบงานสอนในห้องเรียน
นี่คือสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นทั่วญี่ปุ่น อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เป็นต้นว่า สถานการณ์ขาดแคลนครูในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 40 แห่ง ที่ขาดแคลนครูมากกว่า 2,500 ตำแหน่ง
ซึ่งถือว่าขาดแคลนครูเพิ่มขึ้นเกือบ 600 คนหากเทียบกับข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เทียบสัดส่วนแล้วถือเป็นการขาดแคลนครูเพิ่มขึ้นมากถึง 1.5 เท่าในรอบ 6 เดือนทีเดียว
สาเหตุหลักของการขาดแคลนครูก็คือ ปัญหาครูลาคลอด ลาไปดูแลลูก ลาไปดูแลพ่อแม่ และลาป่วย ทำให้ครูใหญ่ และรองครูใหญ่ ต้องลงมาสอนแทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณผู้ที่จะมาสมัครเป็นครูลดน้อยถอยลงทุกปี
เป็นความจริงที่ว่า ในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของครูในญี่ปุ่นคือ 30 ปี ที่มีมากถึง 60% (ตกอยู่ในช่วงอายุของ Generation Z) ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดปัญหาครูลาคลอด ลาไปดูแลลูก ลาไปดูแลพ่อแม่ และลาป่วย จึงปะทุขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนครูเพศชายที่ลาไปเพื่อดูแลลูก มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ จำนวนผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้าสู่อาชีพครู มีจำนวนลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน นี่คือปัจจัย หรือโจทย์ที่แก้ยากมากในการหาครูใหม่เข้ามาทดแทนครูที่เกษียณและลาออก หรือลาหยุด
ปัจจัยสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังปัญหาดังกล่าวก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นอายุครู
โดยในช่วงที่ผ่านมา ครูรุ่นใหม่จำนวนมากได้รับการบรรจุเพื่อเข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างลงจากครู Generation Baby Boomer ที่เกษียณอายุไปเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น กลยุทธ์เพิ่มจำนวนครูใหม่ คือการสร้างแรงจูงใจโดยตรงไปยังผู้ที่ต้องการจะประกอบอาชีพครู ซึ่งดูจะเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนครูของญี่ปุ่นได้ในระยะยาว และเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู คือการเร่งปฏิรูปรูปแบบการทำงานของครู และรีบปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานของครู หรือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของโรงเรียน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน
ซึ่งภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เห็นได้จากการประกาศแผนขยายระบบการสอนที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละวิชาจะเป็นผู้สอนนักเรียน โดยระบบนี้สามารถช่วยให้ครูประจำชั้นลดจำนวนชั้นเรียนที่ต้องรับผิดชอบลงได้มากถึง 3.5 คาบต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
ซึ่งเดิมที เมื่อปีการศึกษาก่อน ระบบดังกล่าว ถูกนำมาใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 พร้อมกันทั่วญี่ปุ่น
โดยในปีการศึกษาหน้า กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นมีแผนที่จะนำระบบดังกล่าวไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4 ต่อไป
เช่น วิชาคณิตศาสตร์ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จะมีครูรุ่นใหม่ และครูรุ่นเก่า สอนร่วมกัน 2 คน โดยสอนแบบสลับกัน โดยระหว่างนั้น ครูรุ่นใหม่จะนั่งตรวจการบ้านในห้องพักครู จากนั้นก็เริ่มเตรียมการสอน และเตรียมความพร้อมสำหรับชั้นเรียนถัดไป
ระบบนี้จะทำให้ครูสามารถสะสางภาระงานต่างๆ ที่เคยใช้เวลาทำหลังเลิกเรียนได้ในเวลากลางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูหลายคนที่เข้าร่วมโครงการต่างพูดตรงกันว่า ระบบนี้ทำให้ครูมีเวลาเตรียมบทเรียนได้มากขึ้น
ในส่วนของนักเรียนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การได้เรียนกับครู 2 คนเป็นเรื่องสนุก และแปลกใหม่ เพราะการเข้าเรียนกับครูหลายคน ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากกว่าเรียนกับครูเพียงคนเดียว
นอกจากการนำระบบนี้มาใช้แล้ว ยังมีการมอบหมายให้ครูรุ่นใหม่ไปทำหน้าที่ครูประจำชั้น หรือครูแนะแนว ในวันที่ไม่มีคาบสอนอีกด้วย
ทั้งนี้ ระบบประกบคู่ครูรุ่นใหม่กับครูอาวุโสผู้เชี่ยวชาญรายวิชาเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่เพียงช่วยพัฒนาทักษะครูรุ่นใหม่ แต่ยังช่วยลดภาระของครูทั้งหมดลงอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การลาออกของครูรุ่นใหม่ลดลง
อย่างไรก็ตาม มาตรการขึ้นเงินเดือนครูอาจจะล่าช้าเกินไป เนื่องจาก แม้ว่ารัฐจะมีนโยบายปรับฐานเงินเดือนถึง 13% แต่เมื่อเทียบกับค่าล่วงเวลาแล้ว อัตราส่วนดังกล่าวเท่ากับ OT เพียง 20 ชั่วโมงต่อเดือนเท่านั้น
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นจะเพิ่มมาตรการอื่นๆ เติมเข้ามาอีก ที่นอกจากจะลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา เพื่อให้ครูไม่เหนื่อยล้าเกินไป เช่น พิจารณามาตรการลาพักร้อน โดยอนุญาตทันทีแบบอัตโนมัติ หากจำนวนชั่วโมงทำงานของครูเกิน 20 ชั่วโมงต่อเดือน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลจะเร่งสร้างความเข้าใจในนโยบายใหม่นี้ต่อสาธารณชน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเมื่อต้องดำเนินนโยบายที่สำคัญระดับชาติเช่นนี้ นั่นคือ เพิ่มการเก็บภาษีสำหรับนำงบประมาณนี้ไปขึ้นเงินเดือนครู
นอกจากนี้ ภาครัฐจะดำเนินนโยบาย และกลยุทธ์การเพิ่มจำนวนครูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์การผลิตครู คือการสร้างแรงจูงใจโดยตรงไปยังผู้ที่ต้องการจะประกอบอาชีพครู เพื่อดึงดูดผู้คนที่ต้องการเข้าสู่วิชาชีพนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด
ซึ่งรัฐบาลจะมียุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่น และกล้าหาญ เช่น นโยบายลดการทำงานล่วงเวลา และมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022