กระซิบเบา-เบา ถึง กม.อำนวยความสะดวกประชาชน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลายท่านคงพอทราบมาบ้างแล้วว่า ในบรรดากรรมการสารพัดกรรมการที่ผมทำงานอยู่ในขณะนี้ กรรมการชุดหนึ่งคือ กรรมการที่มีหน้าที่ว่าด้วยเรื่องของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับการประกอบธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ปัญหานี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศไทยเสมอ

ในวันแรกที่มีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้ เราปรึกษาหารือกันว่า กฎหมายที่อยู่ในข่ายต้องแก้ไขปรับปรุงมีจำนวนมาก เปรียบเหมือนท้าวแสนปมเลยทีเดียว ทั่วทั้งเนื้อตัวเป็นตะปุ่มตะป่ำไปหมด

เลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียวว่าจะทำอะไรก่อนหลังกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเวลาและกำลังความสามารถของคณะกรรมการ เราตกลงร่วมกันว่าจะต้องเลือกประเด็นที่มีความสำคัญในลำดับต้นมาทำเป็นตัวอย่างนำร่องไปก่อน

หรือบางเรื่องไม่ใช่ตัวอย่างนำร่องแต่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระดับยวดยิ่ง ถ้าได้แก้ไขปรับปรุงแล้วจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจน สำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องอื่นๆ จะได้ขยับเขยื้อนและเดินตามมาโดยไม่ตกขบวน

 

แน่นอนว่าประเด็นหนึ่งที่ติดอันดับต้นที่เราจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา คือเรื่องใบอนุมัติใบอนุญาตทั้งหลายที่ทางราชการเป็นผู้ออกสำหรับให้ผู้ประกอบการทำมาหากิน

ยกตัวอย่างจากเรื่องหนึ่งก็ได้ครับ เรื่องกิจการโรงแรมซึ่งมีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ และเป็นธุรกิจสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงโอกาสในเรื่องการท่องเที่ยวของบ้านเรา ซึ่งเป็นรายได้หลักลำดับต้นของประเทศในขณะนี้

ไล่เรียงกันไม่ถูกเลยทีเดียวว่าถ้าอยากมีโรงแรมหนึ่งโรง ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตกี่ใบและมาจากหน่วยงานไหนกันบ้าง

ขึ้นต้นตั้งแต่ใบอนุญาตหลักคือใบอนุญาตกิจการโรงแรมโดยตรง

เรื่องของอาคารก็ต้องมีใบอนุญาตปลูกสร้างและดูแลระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง

ถ้าจะมีร้านอาหารก็ต้องมีอนุญาตอีกหนึ่งใบ ถ้าจะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องมีอีกหนึ่งใบ

ถ้าร้านอาหารจะมีวงดนตรี มีความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ต้องมีใบอนุญาตอีกหรือไม่

แขกที่มาพักหรือใช้บริการเป็นใครมาจากที่ไหน ต้องรายงานไปยังหน่วยงานใดบ้าง เผื่อจะมีผู้ก่อการร้ายปลอมปนเข้ามาจะได้จับได้ไล่ทัน

ถ้านึกอยากจะมีนวดแผนโบราณขึ้นมา ต้องไปขอใครอีกหนอ

แต่ละใบอนุญาตแยกกันอยู่คนละกระทรวงทบวงกรม และต่างคนต่างมีหน้าที่ต้องเข้ามาตรวจสอบ เวลามาตรวจสอบนั้นก็ไม่ได้มาวันเดียวกันนะครับ ต่างคนต่างมาตามความสะดวกแก่การปฏิบัติราชการ

แต่ที่ไม่สะดวกคือเจ้าของโรงแรมหรือเจ้าหน้าที่ของโรงแรมที่ต้องต้อนรับเจ้าหน้าที่ทุกรอบไป

เขานินทากันว่า ความไม่สะดวกแบบนี้อาจทำให้สะดวกได้ถ้ามีน้ำมันหล่อลื่นเสียหน่อย และค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันหล่อลื่นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนธุรกิจที่ไม่รู้จะแสดงในระบบบัญชีอย่างไรเหมือนกัน

ผู้ประกอบการที่มาจากต่างประเทศซึ่งไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมไทยในเรื่องน้ำมันหล่อลื่นจึงพากันปวดหัวไปตามๆ กัน

ชะดีชะร้ายเลยหนีไปตั้งโรงแรมอยู่ประเทศอื่นดีกว่า

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมหลบความวุ่นวายจากพระนครไปนอนค้างหนึ่งคืนอยู่ที่ศรีราชาซึ่งเป็นแหล่งลี้ภัยของผมอยู่เสมอตั้งแต่สมัยโควิด-19 ระบาด เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีที่พักให้เลือกหลายแบบและมีอาหารอร่อยหลายสัญชาติให้บริการ

โรงแรมที่พักคราวนี้เป็นโรงแรมขนาดเล็กและไม่เคยใช้บริการมาก่อน ตรงเคาน์เตอร์เช็กอินมองไปด้านหลังของพนักงานเห็นมีใบอนุญาตประกอบกิจการนานาชนิดติดเรียงอยู่ประมาณแปดใบ

ผมจึงปรารภขึ้นกับผู้ที่ไปด้วยกันและยืนเช็กอินพร้อมกันว่า “นี่คือปัญหาของโรงแรม”

ได้ยินผมพูดอย่างนั้น คุณพนักงานของโรงแรมทำหน้าเหวอเลยทีเดียว เพราะคงนึกในใจว่า ผมจะมาไม้ไหน ทำไมจึงลงมือติเตียนเขาอย่างนั้น

ผมเห็นสีหน้าดังกล่าวแล้วจึงหัวเราะเสียงดังแล้วขยายความว่า ผมไม่ได้หมายความถึงโรงแรมของเขาหรอกครับ หากแต่ผมหมายถึงระบบโรงแรมของประเทศไทยโดยรวมซึ่งมีใบอนุญาตมากมายเหลือเกิน

พออธิบายอย่างนั้นแล้วคุณเจ้าพนักงานก็ยิ้มย่องผ่องใสและแสดงความเห็นด้วยขึ้นมาทีเดียว

 

ผมจะยังไม่เล่าในที่นี้หรอกครับว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เราจะต้องทำอะไรกันบ้าง

กระซิบแต่เพียงเบาๆ ว่า ขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่เสร็จขั้นตอนการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว อีกไม่นานคงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

เป็นกฎหมายที่เรียกกันลำลองว่ากฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

เนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวพูดถึงเรื่องการออกใบอนุญาตหลายใบของการประกอบกิจการหนึ่งรายที่ซับซ้อนเช่นโรงแรมแบบนี้ ว่าจะแก้ไขกันอย่างไรดี

ในเวลาต่อมา เมื่อถึงอาหารมื้อเช้าที่มีให้บริการในโรงแรมแห่งนั้น แกล้มกันกับอาหารทั้งไทยและทั้งญี่ปุ่น ผมยกประเด็นขึ้นสนทนาร่วมกันกับผู้ร่วมคณะของผมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเร่งแก้ไข ขึ้นต้นสนทนาแบบนี้แล้วก็มีเสียงสะท้อนจากผู้ร่วมวงกลับมาอย่างน่าสนใจ

ผู้ร่วมสนทนากับผมเสนอประเด็นว่า ปัญหาที่เราเห็นอยู่ขณะนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจมีรากลึกไปถึงระบบราชการเก่าแก่ของเราตั้งแต่ครั้งอยุธยาเสียด้วยซ้ำไป

นักเลงนักเรียนในทางประวัติศาสตร์จะพบว่า ในอดีตครั้งนั้นและยืดยาวต่อเนื่องมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ก่อนการปฏิรูปการปกครองในรัชกาลที่ห้า ระบบราชการของเราซับซ้อนมาก มีกรมใหญ่กรมน้อย มีกรมซ้อนกรม บางกรมชื่อเหมือนกันยังแบ่งเป็นซ้ายเป็นขวา เช่น กรมท่าซ้าย กรมท่าขวา บางกรมแบ่งเป็นในเป็นนอก เช่น กรมสรรพากรใน กรมสรรพากรนอก แต่ละกรมมีหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้าง

มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นใหม่ วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือตั้งกรมใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบเรื่องนั้น โดยไม่สังคายนากรมที่มีมาแต่เดิม ระบบราชการของเราจึงยุ่งเหยิงอุตลุดไปหมด

ระบบราชการที่เป็นภาพใหญ่กว่านั้น ก็ไม่มีความชัดเจนระหว่างสิ่งที่เราเรียกทุกวันนี้ว่าอะไรจะเป็นระบบบริหารราชการส่วนกลาง อะไรเป็นระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาค และเป็นระบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

บางยุคบางสมัยพระเจ้าแผ่นดินที่ตำราบอกว่าเป็นพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็มีพระราชอำนาจน้อยเหลือเกิน อำนาจทุกอย่างกระจัดกระจายไปหมด

เจ้าเมืองก็กินเมือง เจ้าภาษีนายอากรก็เก็บภาษีตามอัธยาศัย ขุนนางผู้ใหญ่ระดับเสนาบดีก็บิ๊กเบิ้มและเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกันหมด อีกทั้งสมัยนั้นอย่าได้ถามหาระบบเทคโนโลยีหรือสารสนเทศใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าไม่มีใบบอกเข้ามาจนถึงพระราชวังหลวง ความก็ไม่ถึงพระเนตรพระกรรณ

ระบบแบบนี้ไพร่บ้านพลเมืองจึงอยู่ปลายอ้อปลายแขม จะร้องเรียนอะไรก็ยากเต็มทน จึงต้องทนอยู่กับความยากลำบากของชีวิตต่อไป

จะทำอะไรก็ต้องไปขออนุญาต “ทางราชการ” สุดแต่ท่านจะเมตตาอนุญาตให้ทำหรือไม่ทำ

 

เมื่อในราวกลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้ทรงปฏิรูประบบราชการ และได้ทรงยุบกรมเล็กกรมน้อยทิ้งไปเสียเป็นอันมาก จัดรูประบบราชการขึ้นใหม่เป็นกระทรวงจำนวน 12 กระทรวง

หลักสำคัญคือ ทำให้เกิดความคล่องตัวขึ้น ตอบโจทย์ราชการสมัยใหม่ที่มีหน้าที่ของรัฐแปลกเปลี่ยนไปจากเดิม รวมทั้งเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือพระมหากษัตริย์

พระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติในครั้งนั้นต้องถือว่าเป็นการพลิกแผ่นดินและมีความก้าวหน้ามากสำหรับยุคสมัย

แต่แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปอีกร้อยกว่าปี โครงสร้างส่วนราชการที่ทรงออกแบบไว้ในครั้งนั้นจำเป็นต้องมีการทบทวนปรับปรุงอยู่เสมอ

และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือวิธีทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย

ไม่ติดยึดกับอำนาจของทางราชการอย่างแต่ก่อน

 

ผมได้เคยพูดไว้ในหลายวาระและหลายสถานที่ว่า ในอดีตทางราชการมีความเข้มแข็งมาก ขณะเดียวกันเอกชนหรือปัจเจกแต่ละบุคคลยังไม่มีความสามารถอะไรมากนัก

โบราณท่านจึงบอกว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง”

แต่มาถึงทุกวันนี้ เรื่องกลับตาลปัตรไปหมด เอกชนมีความสามารถที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งและรวดเร็วทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

แต่ต้องมาติดกับลูกตุ้มถ่วงขา คือระบบราชการที่เราเรียกว่าใบอนุญาตทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น

ส่วนราชการแต่ละหน่วยก็มีวิธีคิดแบบแยกส่วน เห็นหน่วยงานของตัวเองมีความสำคัญ และสามารถยืนอยู่โดดเดี่ยวได้โดยไม่ต้องร่วมมือหรือประสานงานกับใครอื่น ถ้าจะต้องประสานงานก็เป็นเรื่องเอกชนต้องวิ่งตีนขวิดประสานงานเอาเอง อย่างที่พูดกันเป็นภาษาภาษาปากแบบลำลองว่า หน่วยงานของรัฐเป็นไซโล ต่างคนต่างทำงานไม่เกี่ยวข้องกับใคร

ที่เจ็บแสบยิ่งกว่านั้น คือ ยังมองเห็นประชาชนเป็นไพร่ราบที่เป็นเบี้ยล่างของราชการอยู่เสมอ

 

เมื่อหลายปีก่อนผมเคยอ่านหนังสือของอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยท่านหนึ่ง ท่านมีพื้นเพเป็นชาวต่างจังหวัดและท่านได้เล่าเรื่องชาวบ้านในจังหวัดของท่านว่า วันไหนที่ต้องไปติดต่อราชการที่อำเภอ ต้องชวนคนเก่งที่สุดในหมู่บ้านไปเป็นเพื่อน เพราะนึกว่าถ้าไปตายเสียที่อำเภอจะได้มีคนพาศพกลับบ้าน

น่าสงสัยมากว่าสถานการณ์ที่ท่านปลัดพบเห็นในวันโน้นกับความเป็นจริงในวันนี้แตกต่างกันอย่างไร หรือยังย่ำเท้าอยู่กับที่แบบเดิม

ถึงแม้ว่าปัญหาเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่และฝังรากลึกถึงระดับดีเอ็นเอมาช้านาน แต่เราก็ต้องมีมานะอดทนที่จะต้องแก้ไขไปให้จงได้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อะไรอื่นหรอกครับ เป็นผลประโยชน์ของพวกเราผู้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน

ผมบอกกับตัวเองและเพื่อนร่วมงานว่าอย่างนั้น