ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
รากฐาน ความจริง
ต้นรัชสมัย แห่ง รัชกาลที่ 5
ที่มาของ ‘ดรุโณวาท’
จะเข้าใจ “อารมณ์แห่งยุคสมัย” อันสะท้อนผ่านรากฐานแห่งการเกิดขึ้นของ “COURT ข่าวราชการ” และการเกิดขึ้นของ “ดรุโณวาท” ในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จำเป็นต้องศึกษาจาก 1 พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งลงลึกไปในรายละเอียดอย่างถึงแก่นแท้ ย่อมเป็น “พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระราชปรารถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่องทาสและเกษียณอายุ”
กับ “สำเนากระแสพระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติ พระราชหัตถเลขา และประกาศการศึกษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
โดยเฉพาะ “พระบรมราโชวาท ฉบับที่ 2” ที่ 2/6134 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันที่ 7 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 112 ถึง ลูกชายใหญ่ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ
เริ่มจากตรงประโยคที่ว่า
“เจ้านาย” ทั้งปวง
สมเด็จ เจ้าพระยาฯ
ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปี กับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเล เหลวไหล หรือไม่โลเล เหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน
ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือ เจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยาฯ และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์
ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก
ฝ่ายข้าราชการ ถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด
ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดา หรือที่ร่วมทั้งมารดา ก็เป็นเด็ก มีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งสิ้น
เสมือน คนศีรษะขาด
ในที่ “สมมติกษัตริย์”
ส่วนตัวพ่อเอง ยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด
ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่ คือ ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคต
ในขณะนั้นเปรียบเสมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์
เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น
และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายโดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายใน ภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส
เพราะฉะนั้น พ่อจึงถือว่าวันนั้นเป็นวันเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง อันตั้งแต่เกิดมาพึ่งได้มีแต่ตัว จึงสามารถที่จะกล่าวในหนังสือฉบับก่อนว่า เหมือนตะเกียงอันริบหรี่
แต่เหตุใดจึงไม่ดับ เป็นข้อที่ควรจะถาม หรือควรจะเล่าบอกการที่ไม่ได้ดับไปได้นั้น
สงเคราะห์ ได้
ก็ สงเคราะห์
1 คือเยียวยารักษาร่างกายด้วยยารักษาโรค และความอดกลั้นต่อปรารถนา
คือ ไม่หาความสุขเพราะกินของที่มีรสอร่อย อันจะทำให้เกิดโรคอย่างหนึ่ง
2 ปฏิบัติอธิษฐานใจเป็นกลาง มิได้สำแดงอาการกิริยาโดยแกล้งทำอย่างเดียว ตั้งใจเป็นความแน่นอน มั่นคง เพื่อจะแผ่ความเมตตากรุณาต่อชนภายใน คือ น้องและแม่เลี้ยงทั้งปวงตามโอกาสที่จะทำได้
ให้เห็นความจริงใจว่ามิได้มุ่งร้ายหมายขวัญต่อผู้หนึ่งผู้ใด
การอันใดที่เป็นข้อกระทบกระเทือนมาเก่าแก่เพียงใด มากหรือน้อย ย่อมสำแดงให้ปรากฏว่าได้ละทิ้งเสีย มิได้นึกถึงเลย คิดแต่มั่วสุมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยควรที่จะสงเคราะห์ได้อย่างใดก็สงเคราะห์
มีที่สุด ถึงว่าอายุน้อยเพียงเท่านั้นยังได้จูงน้องเด็กๆ ติดเป็นพรวนโตอยู่ทุกวัน แม่เจ้าคงจะจำได้ในการที่พ่อประพฤติอย่างใดในขณะนั้น
3 ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่
ซึ่งท่านเชื่อเป็นแน่ว่า พ่อเป็นแต่เจว็ดครั้งหนึ่งคราวหนึ่งอย่างเรื่องจีน แต่ถึงดังนั้นพ่อได้แสดงความเคารพนับถืออ่อนน้อมต่อท่านอยู่เสมอ เหมือนอย่างมิได้เลือกขึ้นเป็นสมมติกษัตริย์เช่นนั้น
จนท่านก็มีความเมตตาปรานีขึ้นทุกวันๆ
ชนะไหน จะเล่น
มีเป็น อันมาก
4 ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งรู้อยู่ว่ามีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิมก็ได้แสดงความรักใคร่เชื่อถือยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จนมีความหวังใจว่าถ้ากระไรคงจะได้ดีสักมื้อหนึ่ง
หรือถ้ากระไรก็จะเป็นอันตรายสักมื้อหนึ่ง
5 ผู้ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูปองร้ายก็มิได้ตั้งเวรตอบคืนเอาไปงัดไม้ซุง ย่อมเคารพนับถือและระมัดระวังมิให้เป็นเหตุว่าคิดจะประทุษร้ายตอบ หรือโอนอ่อนยอมไปทุกอย่างจนไม่รู้ว่าผิดว่าชอบเพราะเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นศัตรู
6 ข้าราชการซึ่งเป็นกลางคอยฟังว่าชนะไหนจะเล่นนั่นนั้นมีเป็นอันมาก แต่พ่อมิได้แสดงความรู้สึกให้ปรากฏเลย
ย่อมประพฤติต่อด้วยอาการเสมอ แล้วแต่ความดี ความชั่วของผู้นั้น
แม้ถึงรู้อยู่ว่าเป็นศัตรู หรือเฉยๆ แต่เมื่อทำความดีแล้วต้องช่วยยกย่องให้ตามคุณความดี
7 ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง
มิได้ยกย่องให้มียศศักดิ์เกินกว่าวาสนาความดีของตัวผู้นั้น ถ้าผู้นั้นทำผิดก็ต้องปล่อยให้ได้รับความผิด ผู้นั้นทำความดีก็ได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง
มีแปลกอยู่แต่เพียงมารู้อยู่ในใจด้วยกันแต่เพียงว่า ปรารถนาจะให้ไปในทางดีเพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปทางที่ผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้นไม่มาหักล้างมิให้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับความผิด
8 ละเว้นจากความสุขสบาย
คือ กินและนอน เป็นต้น สักแต่ชั่วรักษาชีวิตไว้พอดำรงวงศ์ตระกูลสืบไป พยายามหาคนที่จะใช้สอยอันควรจะเป็นที่วางใจได้ มีน้อง เป็นต้น อันมีอายุเจริญขึ้นโดยลำดับ
9 เมื่อมีผู้ที่ร่วมคิดในทางอันดีมากขึ้นจึงค่อยแผ่อำนาจออก โดยยึดเอาทางที่ถูก ต่อสู้ทางที่ผิด
เมื่อชนะได้ครั้งหนึ่งสองครั้งความนิยมของคนซึ่งตั้งอยู่ในทางกลาง ย่อมรวนเรหันมาเห็นด้วยก่อน จึงเกิดความนิยมมากขึ้นๆ จนถึงผู้ซึ่งเป็นศัตรูก็ต้องกลับเป็นมิตร เว้นไว้แต่ผู้มีความปรารถนากล้าอันจะถอยกลับมิได้เสียแล้วก็ต้องทำไป แต่ย่อมเห็นว่ากำลังอ่อนลงๆ ทุกเมื่อ
10 พ่อไม่ปฏิเสธว่าในเวลาหนุ่มคะนองเช่นนั้นจะมิได้ซุกซนอันเป็นเหตุให้พลาดไปหลายครั้ง
แต่อาศัยเหตุโอบอ้อมที่กล่าวแล้วข้างต้น และความรู้เห็นในผู้ซึ่งควรจะไว้ใจได้แก้ไขให้รอดจากความเสีย ถ้าไม่ได้ประพฤติใจดังเบื้องต้นแล้วไหนเลยจะรอดอยู่ได้คงล่มเสียนานแล้ว
การอันใดซึ่งเกิดเป็นการใหญ่ๆ ขึ้นดูก็ไม่น่าที่จะยกหยิบเอามากล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้หนังสือยาวเกินไป แต่พ่อยังเชื่อใจว่า ถึงเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะเป็นคนหนุ่มก็ยังได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์
จึงได้ตั้งตัวยืนยาวมาได้ถึง 25 ปีนี้แล้ว
รากฐาน ทางความคิด
ก่อนเกิด “ดรุโณวาท”
ทั้งหมดนี้คือ “พื้นฐาน” ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อแต่ละสภาพการณ์ในทางสังคม การเมือง
ไม่เพียงแต่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้นที่ประสบ
หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ไม่ว่าคณะที่ร่วมกันจัดทำ “COURT ข่าวราชการ” ไม่ว่าคณะที่ร่วมกันจัดทำ “ดรุโณวาท” ซึ่งรับรู้ในคำเรียกขานที่ว่า “เจ้าพี่ เจ้าน้อง” ล้วนประสบ
กลายเป็น “อารมณ์” แห่ง “ยุคสมัย” กลายเป็นความบันดาลใจและเป็นแรงกระตุ้นอย่างสำคัญในการใช้สื่อ “หนังสือพิมพ์” มาเป็นเครื่องมือ
ในทาง “ความคิด” และใน “การต่อสู้” อย่างเป็นจริง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022