MatiTalk ส.ว.นรเศรษฐ์ ปรัชญากร ฝ่าด่านกำแพงสีน้ำเงิน โจทย์หิน ยากแก้รัฐธรรมนูญ

รายงานพิเศษ

 

MatiTalk ส.ว.นรเศรษฐ์ ปรัชญากร

ฝ่าด่านกำแพงสีน้ำเงิน

โจทย์หิน ยากแก้รัฐธรรมนูญ

 

“ส่วนตัวก็เป็นคนค่อนข้างสนใจในการเมืองมานาน และมีความอึดอัดเมื่อเห็นรัฐประหารมาหลายครั้ง “นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการสนใจการเมืองและเข้ามาสมัครเป็น ส.ว.กับรายการ MatiTalk มติชนสุดสัปดาห์

ส.ว.นรเศรษฐ์ระบุว่า การรัฐประหารครั้งล่าสุดรู้สึกว่าทำให้ประเทศถอยไปเยอะมาก แล้วเราได้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมาบริหารเกือบ 10 ปี รัฐธรรมนูญฉบับของ คสช.ที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน คือ ตั้งแต่เริ่มเขียน คือรู้เลยว่ามีปัญหาแน่นอน แต่ตอนนั้นคือยังไม่เห็นผลหรอก แต่ก็เริ่มเห็นภาพขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองมาพรรคการเมืองก็อาจจะไม่ได้บริหารประเทศ

เรื่องขององค์กรอิสระเองที่ไม่มีความสมดุลของกับฝ่ายบริหาร

 

: ทำไมถึงอยากเป็น ส.ว.?

จริงๆ ไม่ได้คิดอยากเป็น ส.ว.แต่เป็นคนสนใจการเมืองอยู่แล้วตั้งแต่แรก แล้วตอนนั้นมีแคมเปญเรื่องของช่วยกันลงสมัคร ส.ว. ตอนนั้นเลยคิดว่าตั้งใจจะมาลงเพื่อมาโหวต มีอาจารย์หลายท่านที่รู้จักอยู่แล้ว ถ้าเข้าไปแล้วโอกาสไปโหวตช่วยคนที่เขามีศักยภาพ น่าจะเป็นสิ่งที่เราพอทำได้ เพราะว่าจริงๆ เราก็พอรู้อยู่ว่าตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือตัว ส.ว. เพราะเราเห็นปีที่ผ่านมาคืออิทธิฤทธิ์ของ ส.ว.มีตั้งแต่โหวตนายกฯ ถึงแม้จะไม่มีอำนาจนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีอำนาจอย่างอื่น เช่น เรื่องของการคัดสรรรับรององค์กรอิสระ

ถ้าเราอยากจะแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องมีจำนวน ส.ว.ที่ตั้งใจจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นสิ่งที่เรียกว่า เป็นประชาธิปไตยแท้จริงมากขึ้นในจำนวนที่เหมาะสม

เราก็เลยตั้งใจว่าที่เราทำได้มากที่สุดคือ ต้องลงไปช่วย

แต่เมื่อลงไปสมัคร ส.ว.จริงๆ เรียกว่าจับพลัดจับผลูแล้วกัน ผ่านมาเรื่อยๆ แล้วก็กลายเป็นว่ามีโอกาสที่เราเข้ามาทำหน้าที่เอง เมื่อได้เข้ามาแล้วก็คงทำให้ดีที่สุดเท่าที่ข้อจำกัดทำได้

ภาพที่ตั้งใจไว้กับความเป็นจริงต่างกันเยอะพอสมควร เพราะตอนที่สมัครเข้ามาก็มีคุยกับคนหลายกลุ่มที่มีหลักการคิดทางการเมืองคล้ายๆ กัน ในแง่ของการแก้รัฐธรรมนูญ

แต่พอเข้ามาจริงๆ อาจจะได้จำนวนไม่เท่ากับที่เราคิด ก็เรียกว่าเป็นความผิดหวังมากกว่า อาจจะรู้สึกว่าพอเข้ามาแล้วพอรู้สึกว่าจำนวนคนที่มีความคิดคล้ายๆ กันไม่ได้เท่าที่เราตั้งใจ

หนทางในการผลักดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็คงไม่ง่ายอย่างที่เราตั้งใจไว้

 

: กลุ่มสีน้ำเงิน น่ากลัว?

ในมุมมองผมไม่ได้น่ากลัวในแง่ที่ว่าจะมีการเล่นงานกันทางการเมืองหรือว่าเรื่องของอิทธิพลอะไร

แต่เรารู้สึกว่าเมื่อเขาครองเสียงข้างมากอย่างมากในสภาบนเราก็เป็นห่วงว่าวาระต่างๆ ที่ประเทศไทยควรจะผลักดันได้ในช่วง 5 ปีของวาระ ส.ว.ต่อไปนี้จะทำได้ยาก

เพราะการที่เราจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องการเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว. ซึ่งถ้าเกิดเขาไม่เห็นด้วยตรงนี้ก็เกิดขึ้นได้ยาก แล้วเราก็ได้เห็นว่าตอนที่ คสช.เป็นคนแต่งตั้งองค์กรอิสระต่างๆ มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งปัจจุบันเป็นอำนาจของ ส.ว.ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสรรหาและรับรอง

เราก็มีความเป็นห่วงว่าถ้าเป็นในลักษณะแบบนี้ ถ้ามีกลุ่มที่เขาสามารถควบคุม ส.ว.ให้หันซ้ายหันขวาได้ ก็เป็นความกังวลว่าอาจจะไม่ได้มีภาพที่ต่างมากจากสมัย คสช. เพียงแต่ว่าเปลี่ยนคนเล่นเปลี่ยนคนคุมอำนาจเท่านั้นเอง

ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนหากลองสังเกตจากในสมัยประชุมแรกในสภาเวลามีการโหวต ถ้าดูจากตัวเลขก็จะมาเป็นจำนวนใกล้เคียงกันเลย 140-150 อยู่ที่ว่าเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เท่าไหร่ ส่วนกลุ่มข้างน้อยจะอยู่ที่ 20-30 ประมาณนี้

 

: ความหวังในการแก้รัฐธรรมนูญโอกาสน้อยแล้วใช่หรือไม่

คุยกันตรงไปตรงมาก็คือว่าถ้าผลักดันแล้วเรายังเจอการบล็อกโหวต ก็อาจจะไปต่อยาก

แต่สิ่งที่รู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ เวลาเราตั้งใจทำบนหลักการที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จแต่ทุกครั้งจะมีเสียงจากประชาชนมาสนับสนุน อย่างเช่น การโดนบล็อกโหวต หรือการโดนปิดไมค์ ถ้าเราไม่ออกมาพูดเลยประชาชนข้างนอกจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

สิ่งที่เราส่งเสียงออกไปเป็นการเหมือนร่วมคิดร่วมสร้างร่วมเรียนรู้กับประชาชนจริงๆ เพราะเขาก็รู้ว่า ส.ว.ก็มีความพยายามที่จะผลักดันวาระต่างๆ ให้เขาอยู่นะ มีคนที่พยายามทำงานและสิ่งที่ประชาชนเจออยู่

ปัญหาที่เจออาจจะมีที่มาจากการเลือก ส.ว.หรือเปล่า เพราะฉะนั้นจะต้องมาพิจารณาว่า ถ้าที่มาของ ส.ว.ยังเป็นแบบเดิมแบบที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดมา ครั้งหน้าอาจจะไม่เวิร์กแล้ว

แต่ใจจริงอยากจะให้ดูการทำงานของ ส.ว. จริงๆ อยากให้คิดกันไปไกล ว่าปัจจุบันนี้ถ้าเรามี ส.ส.ที่มีทั้งปาร์ตี้ลิสต์ ส.ส.เขตแล้ว งาน ส.ว. ยังจำเป็นไหม?

การที่จะเปลี่ยนเป็นสภาเดี่ยวก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับประชาชนหรือเปล่า สิ่งต่างๆ ที่พยายามส่งเสียงออกไปให้ประชาชนได้รับทราบคือได้เรียนรู้เรื่องของผลกระทบจากการเมืองที่เกิดขึ้นกับตัวเขา

เพราะว่าถ้าเราจะพูดกันว่ารัฐธรรมนูญของ คสช.ไม่ดีนะ แต่ถ้าเขายังไม่เห็นเลยว่ากระทบกับชีวิตเขายังไงจริงๆ ก็อาจจะทำให้เขายังไม่เห็นภาพหรือยังไม่อินด้วย แต่ถ้าเราพยายามส่งเสียงว่าสิ่งที่เราพยายามทำให้เขาสิ่งที่เราพยายามจะผลักดันต่างๆ มันติด เพราะที่มาอะไรบ้าง ผมคิดว่าอันนี้แหละเป็นสิ่งที่เราน่าจะพอทำได้ในข้อจำกัดในการทำงานที่เรามีอยู่ปัจจุบัน

ณ ตอนนี้เห็นภาพไม่ต่างจากหลายๆ ท่านที่เคยบอกไปว่ากำแพงเป็นกำแพงสีน้ำเงินที่สูงด้วย แล้วก็หนาด้วย เวลาเราทำงานตอนนี้ก็เหมือนวิ่งชนกำแพงทุกครั้ง คือรู้อยู่แล้วว่าวาระนี้เสนอไปเดี๋ยวก็โดนโหวตตก

แต่ว่าโดยหลักการคือเราก็ต้องพยายามเสนอเข้าไป อย่างน้อยโดยหลักการเราก็อยากให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องมีเสียงจากทุกฝ่าย และเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเราเองก็พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนในขั้นตอนต่างๆ ตามหน้าที่ของ ส.ว.

 

: ความรู้สึกท้อในการทำงาน

มีความรู้สึกท้อตั้งแต่ช่วงแรกๆ คือ รู้สึกว่าเราคงทำไม่ได้ตามความตั้งใจแรกที่เราตั้งใจ เรื่องของการผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ

แต่ทุกวันนี้ที่สู้ต่อทำต่อได้ เพราะว่ามีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก

เขาส่งเสียงตลอดเวลาคอยบอกว่าไม่ต้องท้อนะ

 

: ในฐานะอดีตนักธุรกิจ มุมมองเรื่องเศรษฐกิจประเทศเรามีอะไรน่ากังวล?

เศรษฐกิจบ้านเราตอนนี้ไม่ดี เศรษฐกิจโลกก็ไม่ค่อยดี ประเทศเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักมานานหลายสิบปีมาแล้ว พอเราส่งออกไม่ได้ก็เหมือนหาเงินเข้าประเทศลำบาก เพราะว่าเราไม่สามารถพึ่งพาการบริโภคในประเทศได้มากขนาดนั้น

หากมองธุรกิจในเมืองไทยของเรา 90% เป็น SME ก็อยู่ในสภาวะที่ลำบากกันเกือบหมด คนที่อยู่รอดได้ก็จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้สัมปทานธุรกิจ เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องอาศัยการแข่งขันมากนัก หากลองมองไปถึงอนาคตว่าถ้าเราอยากจะสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตให้สำหรับทุกคนได้จริงๆ ก็ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรใหม่ของประเทศ จัดสรรกติกาใหม่ ธุรกิจ SME หรือธุรกิจของประชาชนจริงๆ ที่ไม่สามารถไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของบริษัทใหญ่ รัฐควรจะต้องเข้ามาคุมกฎกติกาให้อย่างน้อยสนับสนุนได้คือดีมาก

แต่ถ้าสนับสนุนไม่ได้ทุกกลุ่ม อย่างน้อยให้เขาได้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่ปัจจุบันก็ยากเพราะเศรษฐกิจบ้านเรากลายเป็นการผูกขาดเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสาธารณูปโภค ตั้งแต่ค่ายมือถือ ต่อไปอยากฝากให้มองว่าเรื่องของไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จะกระทบกับคนทั้งประเทศ ก็จะเหลือนายทุนอยู่ไม่กี่เจ้าที่ได้สัมปทานไฟฟ้า ตัวของ กฟผ.ก็ลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ ในการผลิต

ทุกอย่างที่พูดมาเรียกว่าความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศเราน้อยลงไป ก็ค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วงอยู่

ชมคลิป

https://www.youtube.com/@MatichonWeekly/videos