พ้นบ่วงศาลรัฐธรรมนูญ แต่ ‘เพื่อไทย’ ยังไม่โล่ง ‘กกต.’ ลุยต่อ สอบ ‘แม้ว’ ครอบงำ

พ้นบ่วงไปอีกหนึ่งเรื่องสำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) ภายหลังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49

โดยทั้ง 6 พฤติการณ์ที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบัน อาทิ นายทักษิณ ชินวัตร สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ ให้พักอาศัยอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุกเพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต

สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน, สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้านั้น

ศาลได้พิจารณาโดยระบุว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมาย ความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ ข้อกล่าวอ้างยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ

 

แม้ว่าคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจะปัดตกไปแล้ว แต่พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ยังเฮได้ไม่เต็มที่ เพราะยังมีอีกด่านสำคัญ นั่นคือ คดีครอบงำ ที่อยู่ในมือของ 7 เสือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้น ซึ่งมีบทลงโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง รวมทั้งตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

โดยเรื่องนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง

ออกมาคอนเฟิร์มแล้วว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย ก็ไม่มีผลกระทบกับคดีที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของ กกต. กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงยังคงเดินหน้าตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

นายแสวงอธิบายเพิ่มเติมว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการใช้เสรีภาพ เฉพาะมาตรา 49 เขียนว่าการใช้เสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองฯ ทำไม่ได้ เสรีภาพถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพ นั่นคือ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง จะพิจารณาสิ่งที่กฎหมายห้ามกระทำตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง จะต่างกัน จึงไม่เกี่ยวกัน

“ข้อมูล ข้อเท็จจริง อาจจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถือกฎหมายคนละฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญว่าการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นเพื่อเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ แต่ กกต.หรือนายทะเบียนฯ จะพิจารณาว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายพรรคการเมือง เป็นเหตุให้มีการยุบพรรคหรือไม่”

เลขาธิการ กกต.ยกตัวอย่างว่า เมื่อครั้งที่นายทะเบียนฯ ไม่รับเรื่องของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไว้พิจารณา แต่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ซึ่งกรณีนั้นเป็นกรณีใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปพิจารณา เพราะเกินขอบเขตอำนาจ กกต.ไม่ได้เข้าไปพิจารณาเนื้อหา

“กรณีหลังนั้นมีผู้มาร้องว่ามีพรรคการเมือง กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุนำไปสู่การยุบพรรค นายทะเบียนฯ รับไว้เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน จะเป็นคนละประเด็นกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเดียวกัน” นายแสวงระบุ

 

ย้อนกลับไป สำหรับคดีครอบงำ สืบเนื่องมาจากมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมประชุมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของอดีตนายกฯ ทักษิณ เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทย เลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล

เข้าข่ายขัดมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่ รวมทั้งการที่พรรคเพื่อไทย และ 5 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม เข้าข่ายขัดมาตรา 28 กฎหมายเดียวกันหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาตรวจสอบ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน

ทั้งนี้ ก่อนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ได้มอบหมายให้คณะกรรมการส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตรวจสอบและกลั่นกรองรายละเอียดและข้อมูลก่อน 1 ชั้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าคำร้องมีมูลเหตุเพียงพอ

จึงสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง

 

เบื้องต้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการสอบสวน ได้เรียกผู้ร้อง เข้ามาชี้แจงและให้รายละเอียดข้อมูลประกอบคำร้องเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการจะต้องเดินหน้าตรวจสอบเอกสาร หลักฐานต่างๆ พยานบุคคล พยานแวดล้อม รวมทั้งอาจจะต้องเชิญผู้ถูกร้อง เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย

อย่างไรก็ตาม หากข้อมูล พยานเอกสาร และหลักฐาน ยังไม่ครบถ้วนเพียงพอที่จะสรุปความเห็นของสำนวนเสนอนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ ทางคณะกรรมการสามารถยื่นขอขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ ทว่า มีการประเมินว่าคณะกรรมการสอบสวน น่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2-3 เดือนก่อนสรุปความเห็นส่งถึงมือนายทะเบียน

ขั้นตอนจากนั้น ทางสำนักงาน กกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องเสนอสำนวนพร้อมความเห็นให้ 7 เสือ กกต.วินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร มีพฤติกรรมเข้าข่ายครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ หากไม่ผิด กกต.จะต้องยกคำร้อง

แต่หากตรวจสอบพบว่ามีมูลตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมา กกต.จะต้องส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรค

 

แน่นอนว่าคำร้องนี้ค่อนข้างวัดใจ 7 เสือ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองมากพอสมควรว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ออกมาอย่างไร เพราะเป็นประเด็นที่สังคมจับตามองมากเป็นพิเศษ

หากท้ายที่สุดคำร้องถูกส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลกระทบต่อพรรคร่วมรัฐบาล

ยิ่งเวลานี้ สถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลมีหลายเรื่องเข้ามาให้ต้องแก้ปัญหา

โดยเฉพาะปมที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์

ตอนนี้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์กันไปว่าจะเป็นชนวนเริ่มต้นที่นำไปสู่รอยร้าว เปิดศึกระหว่าง 2 พรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย หรือไม่