ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร กำลังเดินหน้าทำงานขับเคลื่อนนโยบายที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือคนไทยให้ปากท้องอิ่ม และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเริ่มพยายามที่จะสร้างประเด็น ปูทางปลุกม็อบลงถนนประท้วงอีกครั้งหลังจากที่ในอดีตร่วม 20 ปีมาแล้วม็อบได้ปูทางให้กองทัพทำรัฐประหารมาแล้ว
โดยล่าสุด นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ประกาศปลุกประเด็นร้อนอิงชาตินิยม นัดมวลชนบุกทำเนียบรัฐบาล วันที่ 2 ธันวาคม 2567 เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ อิ๊งค์ ให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล 12 ไมล์ทะเลโดยรอบเกาะกูด จ.ตราด และอ้างเป็นห่วงว่าไทยจะสูญเสียอธิปไตยในอนาคต
“เอ็มโอยูเป็นข้อตกลงเบื้องต้น ไม่ใช่สนธิสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสิทธิของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่หากไม่พอใจข้อตกลงก็สามารถถอนตัวได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของการสูญเสียอธิปไตย เราสูญเสียเขาพระวิหารให้เขมรแล้ว ยุคนั้นเขมรไปฟ้องศาลโลก”
“เราเตือนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วว่าอย่าไป เพราะเราไม่ยอมรับศาลโลก แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยอมรับความเป็นสากล ผลปรากฏว่าเราแพ้”
“วันนี้เราใช้กฎหมายทะเลสากล เขมรก็ไม่ยอมรับตรงนี้ แต่กลับกันสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กลับยอมรับศาลโลกได้ มันเป็นความขัดแย้งที่เลวร้ายมาก คนคนหนึ่งจะตัดสินใจคนละแบบได้อย่างไร ถ้าเราจะเจรจากับเขมรด้วยหลักการเอ็มโอยู 2544 เราจะสูญเสียอธิปไตยอย่างแน่นอน”
“ประชาชนรับได้หรือไม่ที่นายทักษิณพูดว่าช่างมันเถอะ แบ่งผลประโยชน์กัน 50:50 คุณทักษิณพูดแต่เรื่องผลประโยชน์ แต่ไม่พูดเรื่องอธิปไตยของชาติ” นายสนธิกล่าว
หากดูจากท่าทีและจับสัญญาณของนายสนธิที่ส่งตรงถึงนายกฯ อิ๊งค์แล้ว ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในภาพรวมทุกมิติ
เพราะนายสนธิได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนแล้วว่าหากสุกงอมและไม่มีทางเลือก จะนำม็อบลงถนนประท้วงรัฐบาลแพทองธาร ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอีกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายสนับสนุนเพื่อไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อม็อบ เพราะจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเป็นวงกว้าง
ก่อนหน้านี้นายสนธิประกาศว่าจะขอเดินถนนเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยจะไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ช่วยติดตามคดีลอบยิงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552 ซึ่งยังหาตัวคนร้ายไม่ได้
พร้อมทั้งทวงถามนายกฯ ว่าทำไมถึงมีชาวเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ต้องให้เฉพาะแค่คนไทย ส่วนแรงงานชาวเมียนมาต้องได้เท่าเดิม
และภายในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า หากรัฐบาลทำอะไรที่ไม่เข้าที่เข้าทาง หรือผิดจริยธรรม ก็จะรวบรวมมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาล เพราะไม่ควรจะอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การประกาศบุกทำเนียบรัฐบาลของนายสนธิในครั้งนี้ถูกประเมินว่า อาจจะเป็นเพียงการหยั่งเชิง วัดพลังมวลชนที่พร้อมจะลงถนน เพื่อหวังต่อยอดไปสู่การประท้วงใหญ่ในปีหน้า หรือไม่
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังจำความบอบช้ำและเบื่อหน่ายกับภาพม็อบบนท้องถนน เพราะการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในอดีตที่ผ่านมามักจะจบลงด้วยการรัฐประหาร
คนที่ได้ประโยชน์เสวยสุขคือคณะปฏิวัติยึดอำนาจ ส่วนประชาชนก็ยากจนเหมือนเดิม
ดังนั้น ผู้คนในสังคมก็อยากที่จะหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้สักที
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยวนลูปแบบนี้มาโดยตลอด ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 นายสนธิ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนามกลุ่ม พธม. ได้ออกมาเคลื่อนไหวและต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยใส่เสื้อเหลืองและใช้มือตบเป็นสัญลักษณ์
ซึ่งในครั้งนั้นจบลงด้วยการทำรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ถัดมาในปี 2557 ลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในนามกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
ชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง คืนอำนาจให้กับประชาชน ขจัดอิทธิพลของระบอบทักษิณให้พ้นจากการเมืองไทย และให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง โดยใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์
การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นได้สร้างผลกระทบรุนแรงเช่นกัน จนนำมาสู่การรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีต ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ทำให้ตอนนี้คนไทยไม่น้อยมีภาพจำและตาสว่างว่าจุดประสงค์ปลายทางที่แท้จริงของการก่อม็อบชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลคืออะไร
จากนี้ไปต้องจับตาดูให้ดีว่านายสนธิจะปลุกกระแสม็อบติดหรือไม่ และจะนำไปสู่อะไร
ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ มองในทางเห็นต่างโดยเชื่อว่าม็อบขนาดใหญ่จะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังตั้งความหวังกับพรรคเพื่อไทย
“คุณสนธิกับพวกมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวมวลชน แต่ผมคิดว่าการประกาศลงถนนคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการชุมนุมขนาดใหญ่แบบหลายๆ ปีก่อนจะเกิดขึ้นง่ายๆ”
“คุณสนธิบอกว่าการเมืองใกล้สุกงอม ผมก็หวังว่าสังคมไทยจะสุกงอมทางความคิดด้วยเช่นกันว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทย ล้วนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยอำนาจนอกระบบ ซึ่งเกิดความเสียหายร้ายแรงจนถึงปัจจุบัน”
“ในมุมของรัฐบาลย่อมไม่ประสงค์การเผชิญหน้า ไม่ปรามาส ไม่ท้าทายกลุ่มใดๆ การทำงานยังเป็นช่วงเริ่มต้น นายกฯ กำลังจะแถลงผลงาน 90 วันแรก และประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังตั้งความหวังกับการทำงานของพรรคเพื่อไทย” นายณัฐวุฒิระบุ
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ออกมาย้ำเตือนนายสนธิให้คำนึงถึงสิ่งที่เคยทำให้ประเทศชาติเสียหายมาถึงปัจจุบัน รัฐบาลพร้อมถูกตรวจสอบอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลผิดพลาด สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมมาดำเนินการได้
“วันนี้ประชาชนเดือดร้อนมาก การปิดเมืองหรือการชุมนุมเหมือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ใครถูกหรือผิดยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ แต่ผลเสียหายกับประเทศชาติ มันรุนแรงเหลือเกิน อยากให้คำนึงถึงตรงนี้ไว้มากๆ” นายภูมิธรรมกล่าว
เช่นเดียวกับ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เชื่อว่าม็อบของนายสนธิอาจทำให้ประเทศเกิดวังวนเดิมๆ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เจริญก้าวหน้าไปมากแล้ว
ส่วนมุมมองของ บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Politics ข่าวบ้าน การเมือง โดย บก.ลายจุด เชื่อว่าการประกาศชุมนุมประท้วงรัฐบาลของนายสนธิในครั้งนี้ มีจุดหมายเพื่อกรุยทางไปหากองทัพ และปลายทางสุดท้ายอาจนำไปสู่การทำรัฐประหารในที่สุด
“รอบนี้คุณสนธิไม่ได้พูดเรื่องสถาบัน แต่เน้นเรื่องเกี่ยวกับดินแดน เรื่องคนต่างด้าว เปลี่ยนฐานความคิดเป็นเรื่องชาตินิยมเป็นหลัก และเชื่อว่าประเด็นนี้จะเป็นเชื้อไฟพอที่จะจุดติด ทำให้ผู้คนไม่พอใจ เขี่ยจุดเดือดฝั่งอนุรักษนิยม โดยเฉพาะกลุ่มทหาร เพื่อกรุยทางเปิดร่องไว้”
“คุณสนธิยังต้องประสานแนวร่วมหลายกลุ่มทั้งมวลชน ทั้งทหารที่จะเป็นคนมาปิดเกม และกลุ่มทุนที่จะมาสนับสนุน เพื่อทำให้พัฒนาการของม็อบเดินต่อไปได้”
“ผมคิดว่ามันมีการต่อรองกัน เหมือนคุณสนธิกำลังต่อรองอะไรบางอย่างอยู่ แต่ผมไม่รู้ว่าการต่อรองจริงๆ นั้นคือเรื่องอะไร ม็อบทำหน้าที่แค่ออกบัตรเชิญ สร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร คนที่เดินเกมจริงๆ คือคนที่ทำรัฐประหาร ม็อบเป็นแค่หมาก เป็นแค่เบี้ย”
“หากคุณมีม็อบ แต่คุณไม่มีทหาร คุณจะล้มล้างรัฐบาลได้เหรอ คุณก็เหนื่อยฟรี อาจจะได้คดีกลับมาด้วย ผมขอถามคุณสนธิว่าธงของคุณคืออะไร คุณอยากจะให้รัฐบาลยุบสภา หรือคุณจะเรียกร้องให้ทหารมายึดอำนาจอีกครั้ง”
“ผมยังมองไม่เห็นประโยชน์ในเกมนี้ สมมุติไปล้มรัฐบาลได้แล้วจะยังไงต่อ ผมยังไม่เห็นประโยชน์อะไรเลย” บก.ลายจุด กล่าวทิ้งท้าย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022