มุกดา สุวรรณชาติ : เรียกร้องเลือกตั้ง มีความผิด อยากครองอำนาจรัฐ…ทำอะไรก็ไม่ผิด

มุกดา สุวรรณชาติ

ใครที่คิดว่ากลุ่มของตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จึงมีอำนาจสูงสุด มิได้หมายความว่าทำอะไรก็ได้

ถ้าคิดจะเข้าสู่อำนาจรัฐแบบมีการเลือกตั้ง ก็ต้องยึดหลักการของระบอบประชาธิปไตย

ถ้ามีคนมาเรียกร้องให้เลือกตั้งตามเวลาที่กำหนด แล้วไปจับเขามาดำเนินคดี ไม่ต้องมีเลือกตั้งดีกว่า

ถ้าคนตรวจสอบการโกงก็ถูกจับ แล้วจะปราบทุจริตอย่างไร?

อยากเลือกตั้งต้องแข่งขันทางการเมือง ถ้าไม่ปลดล็อกให้เคลื่อนไหวการเมือง แล้วจะเป็นการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยได้อย่างไร?

อยากเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง ต้องให้ประชาชนยอมรับ ให้นานาชาติยอมรับ

 

ตาม รธน. 2560 ปกติ
เลือกนายกฯ อย่างไร?

ขั้นที่ 1…ขณะกำลังรับสมัคร มาตรา 88 ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นเห็นชอบจะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกินสามรายชื่อต่อ กกต. ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. ต้องประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ แต่ พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อคนจะเป็นนายกฯ ก็ได้

ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่ใช่เอามาใส่ลอยๆ ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ และต้องเซ็นยินยอมให้พรรคเดียว บุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี

ขั้นที่ 2…เมื่อเลือกตั้งได้ ส.ส. แล้ว…มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (พรรคนั้นต้องมี ส.ส. อย่างน้อย 25 คน)

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (ประมาณ 50 คน)

การลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

สรุปว่า ตามระบอบประชาธิปไตยปกติเลือกโดย ส.ส. แต่ขณะนี้เป็นแบบไทยนิยม จึงต้องใช้วิธีพิเศษ

 

ฝีมือพวกลิ่วล้อ
ร่างกฎหมาย ให้ปีนหน้าต่าง
เข้ามาเป็นนายกฯ

ปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ต้องใช้กฎตามบทเฉพาะกาล รธน.2560

ขั้นที่ 1…มาตรา 272 ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159

แต่ไม่ใช้สภาผู้แทนราษฎรให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ว. ต้องมาร่วมด้วย)

มติที่เห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(ส.ส. มี 500 คน + ส.ว. มี 250 คน รวม 750 คน เสียงเกินครึ่งคือ เกิน 375 คน)

ขั้นที่ 2…แต่ถ้าขัดแย้งกันจนตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ไม่ได้ (เช่น ปชป. เสนอนายดำ เพื่อไทยเสนอนายแดง แต่ ส.ว. ไปสนับสนุนนายเขียว ทำยังไงก็ไม่มีใครได้ 376 เสียง ถือว่าเดินหน้าตามกติกานี้ไม่ได้)

ให้สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (375 คน) เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ เฉพาะจากที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ขั้นที่ 3…ถ้าได้ชื่อครบ ให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมด่วน แต่ต้องขอเสียง 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภายอมรับให้ยกเว้นได้ (คือต้องมี ส.ส. + ส.ว. รวม 500 คนยอมรับ) จึงจะเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ หรือเสนอคนที่มีชื่อเดิมก็ได้

ขั้นที่ 4…เลือกนายกฯ โดยรัฐสภา ใครได้เสียงเกินครึ่ง (375) ได้เป็นนายกฯ

จะเห็นได้ว่า นายกฯ จากพรรคการเมืองหาเสียงสนับสนุนประมาณ 400 ก็ได้ แต่ถ้าเป็นนายกฯ คนนอก ต้องมีอย่างน้อย 500 เสียง

สรุปว่าต้องมีคนตัดรั้วลวดหนาม แล้วพาดบันได ถึงจะปีนหน้าต่างเข้ามาได้

 

ใครจะเป็นนายกฯ ภายใต้ รธน.2560

แม้จะมีเวลาอีกนาน แต่คาดการณ์ตามสถานการณ์ที่จะเป็นไปได้

กลุ่มการเมืองที่เป็นขั้วอำนาจและตัวแปรในการชิงอำนาจ มี 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มเพื่อไทย

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่ม ปชป. + อำนาจเก่า

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ + กลุ่ม ส.ว.

กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มพรรคการเมืองขนาดย่อม มีทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่า

 

นายกฯ จากพรรคการเมืองเก่าคงมีโอกาสยาก

ตัวแบบแรก…สมมุติว่าเพื่อไทยได้ ส.ส. ลดลงบ้าง แต่ต่อให้กระแสพรรคใหญ่ดี ได้ถึง 250 คน ส่วน ปชป. ได้ 150 คน พรรคอื่นๆ 100 คน

ถ้า ส.ว. 250คน และ ปชป. ไม่สนับสนุนนายกฯ จากเพื่อไทย ต่อให้พรรคเล็กสนับสนุนทั้ง 100 คน ก็มีเสียงรวมเพียง 350 คน ไม่ถึงครึ่งของสองสภา 375 คนอยู่ดี…เป็นนายกฯ ไม่ได้

ส่วนนายกฯ จาก ปชป. ถ้าพรรคเล็กหนุน ก็ยังต้องการเสียง ส.ว. อีกเกือบ 200 คน จึงจะเกิน 375

ถ้า ส.ว. ส่วนใหญ่สนับสนุนคนจากพรรคเล็ก หรืองดออกเสียง เพราะอยากได้นายกฯ คนนอก นายกฯ จาก ปชป. ก็ไปไม่ถึงเป้าหมายเช่นกัน

สถานการณ์ข้างหน้า นายกฯ จากพรรคการเมือง จะเกิดได้… เพื่อไทย กับ ปชป. ต้องร่วมกัน

แต่จะเป็นไปได้หรือ?

 

นายกฯ คนนอก
ถึงประชาชนไม่เลือก
ก็เป็นรัฐบาลได้ (แต่ไม่ง่าย)

นายกฯ คนนอกผ่านรั้วเข้ามาให้เลือกไม่ง่าย ย้อนดูขั้นที่ 2 ขอเปิดประชุมด้วยเสียง 375 ถ้า ปชป. ไม่เอาด้วย จบทันที แต่ถ้า ปชป. ยอม ตัวเลข ส.ว. + พรรคเล็ก + ปชป. เกิน 375 แน่ๆ

แต่ในขั้น 3 ที่ต้องผ่านมติ 2 ใน 3 คือ 500 เสียง ถ้าเพื่อไทยได้ถึง 250 ค้านเพียงพรรคเดียวก็ไม่ผ่านแล้ว ถ้าเพื่อไทยได้ไม่ถึง แต่มีพรรคเล็กๆ รู้ฉลาด มารวมกับเพื่อไทยให้ได้เกิน 250 แล้วค้าน งานนี้นายกฯ คนนอกจะเป็นแค่ความฝัน ถ้าออกแรงดันก็ต้องออกแรงมาก จ่ายเยอะ อาจเกิดกรณี งูเห่าภาค 3

นี่คือความยาก เพราะต้องเป็นผู้นำที่ใจต้องด้านพอ ไม่สนใจเสียงด่าประณาม ดำเนินการชิงความได้เปรียบทุกด้าน

ตัวเลข ส.ส. ของเพื่อไทย และ ปชป. จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการได้ 220-230- หรือ 250 ของเพื่อไทย ถ้าเพื่อไทย 230 ปชป. 130 พรรคเล็กก็จะมีรวมกัน 140 ถึงเวลานั้น ส.ว. + ปชป. จะได้ 380 เปิดประชุมได้ แต่ถ้าจะหา 2/3 ของรัฐสภา คือ 500 เสียง ก็ต้องพึ่งพรรคเล็กอีก 5-10 พรรค…เพื่อหาอีก 120-140 เสียง ความสำคัญของพรรคเล็กจะอยู่ตรงนี้

สำหรับพรรคเล็ก ตัวเลขที่ต้องการเห็นคือ เพื่อไทยไม่เกิน 230 ปชป. ไม่เกิน 130 ตัวเลขแบบนี้พรรคเล็กที่รอดเข้ามาได้ และมี ส.ส. ถึง 20 คนจะมีคุณค่ามาก ถ้าไม่ได้ 20 คน เพียง 10 คนก็ยังดี ทุกพรรคจะมีความสำคัญ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนตั้งนายกฯ สำเร็จ ไปจนถึงในช่วงบริหารงาน และการลงมติสำคัญในสภาผู้แทนฯ ทุกครั้งต้องพึ่งพรรคเล็ก

การรวมตัวตั้งพรรคเล็ก เป้าหมายการส่งสมัคร คือ 50-100 คน ไม่ทับเขตกับพรรคแนวร่วม ที่จะหนุนนายกฯ คนนอกคนเดียวกัน จึงอาจได้เห็นพรรคระดับภาค ระดับจังหวัด หลายพรรค

เป้าหมายคือ ได้ ส.ส.เขต จำนวนหนึ่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง ต่อรองเข้าร่วมรัฐบาล ได้จำนวนรัฐมนตรีตามโควต้า ส.ส.

ดังนั้น การจะเป็นนายกฯ คนนอก ตามบทเฉพาะกาล ต้อง… @ ฿ #%!

ทำอย่างไรให้เพื่อไทยได้ ส.ส. 200-220 คน ปชป. ได้ไม่เกิน 120 ถ้าเป็นแบบนี้สองพรรคใหญ่รวมกันไม่ถึง 250 เสียง ถึงจะมีพรรคเล็กมาร่วมบ้าง ก็ไม่มีทางได้ 375 เสียง การตั้งนายกฯ จากพรรคการเมืองทำไม่ได้

แต่ถ้าดูจากการเลือกตั้งในอดีต ไม่ง่าย เพราะขนาดยุบพรรค ตัดสิทธิ์การเมือง ตัดท่อน้ำเลี้ยง ปราบม็อบ ยังไม่เคยสำเร็จ วันนี้ แม้เขียน รธน.2560 ให้เลือกแบบจัดสรรปันส่วนผสม จึงไม่มีใครมั่นใจ

ดังนั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงต้อง

1. ช่วงชิงความได้เปรียบทางกฎหมาย มาใช้ชิงอำนาจ

โดยต้องร่าง รธน. และกฎหมายลูก ให้ได้เปรียบสูงสุด ตอนนี้ทำเกือบหมดแล้ว

กำจัดคู่แข่ง โดยใช้กฎหมาย คู่แข่งที่เป็นนักการเมืองตัวเต็งมีคนรู้จักทั้งเมืองก็จะกลายเป็นแค่คนดูไม่มีสิทธิแม้แต่ไปลงคะแนน จะโฟนอิน จะไลฟ์ เฟซบุ๊กมาเชียร์ก็ไม่ได้ อาจถูกยุบพรรค

กำจัดแม่ทัพหลักของบางกลุ่ม อย่าง…นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และอีกหลายคน ให้ติดอยู่ในคดีต่างๆ ถึงไม่ติดคุก หรือยังไม่หนี ก็ต่อสู้ลำบาก บางคนอาจต้องยอม

2. ดึงขุนพลและกำลังหลักตามทัองถิ่นมาเป็นพวก เพื่อกระจายกำลังของพรรคใหญ่ อย่างเพื่อไทยและ ปชป. ออกไปเป็นพรรคย่อย ก่อนการเลือกตั้ง โดยการดึง ส.ส.เก่ามาตั้งพรรคใหม่ เพื่อจะได้ผลสองต่อ ทั้งลดกำลังพรรคการเมืองเก่า และเอามาเพิ่มให้ฝ่ายนายกฯ คนนอก

โดยใช้กองหนุน+โครงการ+ลดแลกแจกแถม+เงิน+ตำแหน่ง

ตัวแบบคือบุรีรัมย์โมเดล ต่อไปจะมีภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางอีกหลายแห่ง แต่ที่ใดจะสำเร็จ หรือเสียเงินฟรี

3. ต้องจับตา กกต. และอำนาจรัฐ อาจจะกลายเป็นเครื่องทุ่นแรงถ้าไม่เที่ยงตรง ใครพลาดนิดเดียวจะเจอใบแดง

มีคนกลัวว่า อาจเกิดกรณีเสียงโหวตไม่พอ แล้วกระบวนการตั้งนายกฯ จะสะดุดหรือจะตัน แต่ดูสถานการณ์ขณะนี้แล้วไม่น่าตันเพราะจะมีบางคนบางพรรคอ้างว่า…เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยไทยนิยมเดินไปได้ จำเป็นต้อง…สนับสนุน… หรือถ้ามีแรงกดดันเยอะท่อจะแตกก่อน ไม่มีตันแน่นอน

 

ถ้าคนเลื่อนเลือกตั้งไม่ผิด
คนเรียกร้องให้เลือกตรงเวลาจะผิดได้อย่างไร?

จะใช้อำนาจไปเรื่อยๆ เหมือนหลังรัฐประหารใหม่ๆ ไม่ได้ เพราะแรงต้านจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ความคิดคนเปลี่ยนเร็ว และรู้จักโต้ตอบ

ปรากฏการณ์ การเรียกร้องย่อยๆ ในที่สาธารณะ หรือในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นตัวอย่างล่าสุด

ไม่อาจนำวิธีการที่ใช้ในปี 2557 มาใช้ได้ เมื่อก่อนพวกเขายอมเพราะมีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

แต่เมื่อพบว่า ผ่านมาเกือบ 4 ปี ชีวิตเลวลง ไม่มีอะไรปฏิรูป คอร์รัปชั่นยังเต็มเมือง ทำมาหากินลำบาก ตอนนี้มีอะไรมากระทบแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่พอใจแล้ว ควรรักษาระยะห่างให้ทุกฝ่ายไม่อึดอัด

ถ้าบีบมากไป เจอการโต้ตอบกลับ ทางโซเชียลมีเดีย นั่งแก้ข่าวอย่างเดียวก็ไม่ต้องทำงานอื่นแล้ว และคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวร้ายๆ

ถ้าเดินเกมการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่เป็น เหตุการณ์ข้างหน้าอาจจะเลวร้ายกว่าที่คาดไว้