พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ละครเร่ และความเลื่อนไหลของความเป็นไทย (2)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ผมมีข้อสังเกตว่าสังคมไทยมี “ความรู้” เรื่องอะไรที่ “ร่วมสมัย” น้อยเกินไป เรามีสถาบันการศึกษาหรือหนังที่พูดเรื่องอดีตเยอะไปหมด เช่นเดียวกับเรามีหนังสือหรืองานแปลที่พูดเรื่องอนาคตไม่น้อย แต่อะไรที่พูดถึงเรื่อง “ร่วมสมัย” อย่างเป็นองค์ความรู้จริงๆ นั้นมีน้อยเหลือเกิน

เมื่อเทียบกับ “อดีต” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดแล้วจนเรามีวัตถุดิบให้พูดถึงมากมาย รวมทั้งเมื่อเทียบกับ “อนาคต” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดจนเราสามารถจะจินตนาการอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ

“ร่วมสมัย” กลับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่ไม่นิ่งและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจนการพูดเรื่องนี้ยากเหลือเกิน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าพูดถึงนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์ที่เป็นตัวแทนของยุค 1990 คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าอันดับหนึ่งคือเบิร์ด ธงไชย แต่ถ้าจะถามว่าใครคือซูเปอร์สตาร์ของ พ.ศ.2567 ซึ่งไม่มียอดขายผลงานเพลงให้วัดได้ชัดๆ คงตอบได้ยากว่าเบอร์หนึ่งคือใครระหว่าง 4Eve, โจอี้ หรือเนเน่ พรนับพัน

ผมไปเรียนต่างประเทศช่วงที่การศึกษาเรื่อง “ร่วมสมัย” ผ่านทฤษฎี “วัฒนธรรมศึกษา” เฟื่องฟู เช่นเดียวกับในไทยที่งานศิลปะของ “นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล”, “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”, “ตะวัน วัตุยา” หรือ “สมยศ หาญอนันทสุข” เป็นสัญลักษณ์ของยุคที่เรื่อง “ร่วมสมัย” เจิดจ้าในศิลปะทุกปริมณฑล

วันหนึ่งขณะผมอยู่ในห้องทำงานที่ฮาวายอิ อ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คุยถึงบทความใหม่ของแกชื่อ “กว่าจะรู้สึกร่วมสมัย” ซึ่งทำความเข้าใจสังคมผ่านศิลปะร่วมสมัย ผมไม่แน่ใจว่างานนี้ได้อิทธิพลจาก Fredric Jameson หรือ Stuart Hall หรือไม่

แต่ผมต่อยอดความคิดจากบทสนทนานั้นจนปัจจุบัน

ผมคิดว่างานแสดงใหม่ของ “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น” ที่ “อัศวิน” มีหัวใจที่นักเต้นในปี 2567 ตีความซับเจกจากหนังไทยทศวรรษ 2500 ซึ่งพูดเรื่อง “ละครเร่” ที่เป็นความบันเทิงราคาถูกของชาวบ้านซึ่งไม่เคยถูกสังคมไทย, รัฐไทย หรือนักประวัติศาสตร์พูดว่า “เป็นไทย” หรือมี “ความเป็นไทยร่วมสมัย” เลย

ผมเกิดไม่ทันยุค “ละครเร่” และไม่ทันดูหนัง “ละครเร่” ที่ “พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล” กำกับฯ จนฉายปี 2512 และเท่าที่ผมรู้จัก “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น” และนักเต้นใน “พิเชษฐ์ กลั่นชื่น แดนซ์คัมพานี” ไม่ว่า “ผดุง”, “เกด” หรือ “ครูโอ” ทุกคนเกิดไม่ทัน “ละครเร่” ทั้งที่แสดงข้างถนนและเป็นหนังเหมือนกัน

คำถามคือ อะไรทำให้การเต้นใน พ.ศ.นี้ตีความ “ละครเร่” จากครึ่งศตวรรษแล้วมาเป็นผลงานใหม่ในปัจจุบัน

ถ้าถามผมว่าอะไรคือจุดเด่นของ “หนังไทย” ในทศวรรษ 2500 โดย “พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล” และ “อัศวินภาพยนตร์” ผมคิดว่าสิ่งนั้นคือการผสมผสาน “วัฒนธรรมร่วมสมัย” ในยุคนั้นอย่างเพลงไทยลูกกรุง, ละครเร่, รำไทย, งานวัด, ตลาดห้องแถว, ชีวิตชาวบ้านริมน้ำ ฯลฯ จนออกมาเป็นภาพยนตร์

ผมอยากจะตีความว่า “อัศวินภาพยนตร์” เป็นตัวอย่างของคนทำงานศิลปะแขนงที่ 7 ซึ่งเห็นคุณค่าของวิถีชาวบ้านว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นไทย” ที่ไม่จำกัดอยู่แค่วัด/วัง/ประเพณีชนชั้นสูง ในยุคที่ประเทศปกครองด้วยเผด็จการทหารอนุรักษนิยมที่ไม่ยอมให้มีแม้กฎหมายตั้งพรรคการเมือง

“อัศวินภาพยนตร์” เป็นเจ้าของหนังอย่าง “ละครเร่”, “เรือนแพ” และ “เป็ดน้อย” ซึ่งเกือบทั้งหมดมีฉากหลังเป็นสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง, ตัวเอกในหนังเป็น “คนธรรมดา” และแกนกลางของหนังเป็นเรื่องการปรับตัวของคนตัวเล็กๆ ให้เข้ากับ “โครงสร้าง” หรือ “ระบบ” จนเผชิญโศกนาฏกรรม

ปริศนาที่น่าสนใจคืออะไรทำให้ “พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล” ทำหนังที่มีบุคลิกแบบนี้ออกมา

“ละครเร่” พูดถึงคณะละครรำของ “ครูทัพ” ซึ่งมีตัวเอกชื่อ “บุญเอก” เป็นขวัญใจแม่ยกชูโรง ต่อมา “บุญเอก” พบรักกับลูกสาวเจ้าของวิกฉายหนังที่ส่งเสริมให้เป็นนักร้องในไนต์คลับที่กรุงเทพฯ จนมีชื่อเสียง ต่อมา “บุญเอก” ออกจากคณะละครจนทั้งคณะแทบล้มละลายก่อนจบแบบสุขนิยม

“เป็ดน้อย” มีแกนเรื่องที่ความรักต่างชนชั้นของสาวชนบทกับหนุ่มสูงศักดิ์ท่ามกลางความรังเกียจของญาติพี่น้องฝ่ายชาย ส่วน “เรือนแพ” มีตัวเอกคือชายหนุ่มชนบทสามคนที่แต่ละคนปรับตัวเข้ากับ “ระบบ” ต่างกันเป็นตำรวจ, เป็นนักร้อง และเป็นขุนโจร จนชีวิตพบกับโศกนาฏกรรม

หนังคือการสร้าง “เรื่องเล่า” ว่าคนทำหนังคิดอะไรกับสังคมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ “ละครเร่”, “เป็ดน้อย” และ “เรือนแพ” ก็สะท้อน “เรื่องเล่า” ว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น, มีการเหยียดหยามจากชนชั้นสูง , มีคนชั้นล่างที่พยายามปรับตัว และมีโศกนาฏกรรมในคนที่ปรับตัวไม่ได้เลย

“เรื่องเล่า” ทั้งหมดในหนังเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ไนต์คลับเป็นธุรกิจบันเทิงใหม่ที่เติบโตในเขตเมือง ละครเร่เป็นการแสดงข้างถนนตามที่ว่างหรือ “วิก” ในตลาด ละครเร่ถึงจุดจบเพราะเกิดโทรทัศน์, ภาพยนตร์, สถานบันเทิงยามราตรีอื่นๆ จนคนไม่ดูละครเร่แบบนี้ต่อไป

ความน่าทึ่งของ “ละครเร่” และ “อัศวินภาพยนตร์” คือ “พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล” ในยุคทศวรรษ 2500-2510 ทำหนังซึ่งเล่าเรื่องสังคมไทยแตกต่างจากที่มักอบรมสั่งสอนกันว่าทุกอย่างราบรื่น ไม่มีช่องว่างทางชนชั้น และคนทุกกลุ่มในสังคมล้วนมีความสุขไม่ว่ายากดีมีจนหรืออยู่ชนชั้นไหนก็ตาม

“พิเชษฐ์” ตีความ “ละครเร่” ในพื้นที่ “อัศวิน” ผ่านการสร้างท่าเต้นใหม่ “เงาะและรจนา” ที่มีแกนเรื่องที่การมองเห็นคุณค่าข้างในของบุคคลมากกว่ารูปลักษณ์ที่ต่างกันภายนอก และขณะเดียวกันก็เอาโขนตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉามาผสมท่าเต้นที่ 60 ซึ่งเป็นการค้นพบของพิเชษฐ์เอง

ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่าพิเชษฐ์ทำให้ “เงาะและรจนา” เหมือน “หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา” ในแง่พูดถึงความสัมพันธ์ที่ก้าวข้ามความต่างทางกายภาพสิ้นเชิง ส่วนในแง่ฟอร์มพิเชษฐ์ก็เอาท่าเต้นที่ 60 มา “คอลแลบส์” กับรำซัดชาตรี, เพลงละครชีวิตของครูดอกดิน และโขนตอนจับนางอย่างอัศจรรย์

การยอมรับความต่างเป็นจริยธรรมสมัยใหม่ที่ทุกวันนี้ยังไม่ลงหลักปักฐานในสังคมไทย ไม่ต้องพูดถึงการอยู่ร่วมกันในประเทศที่เชียร์บอลคนละทีมก็ยิงกันได้ และแม้ “เงาะป่า” กับ “หนุมาน” จะพูดถึงความสัมพันธ์ข้ามความต่างกัน เรื่องแบบนี้ก็เป็น “บทยกเว้น” (Exceptional) มากกว่า Norm

ในการแสดงของพิเชษฐ์ชิ้นนี้ การยอมรับความแตกต่างถูกผลักไปจนถึงจุดที่ตัวละครหลักฝ่ายชายในโขน, รำไทย และวรรณคดีรักเพศเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นอัตลักษณ์ทางเพศของทั้งคู่เคลื่อนจากการลุ่มหลงตัวละครหญิงเป็นตัวละครชายอย่างแนบเนียนด้วยศิลปะในการควบคุมร่างกายของนักแสดง

ด้วยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละครหลักที่ลื่นไหล นักเต้นชายเล่าเรื่องซึ่ง “แหกกรอบ” วรรณคดีและรำไทยจนน่าทึ่ง ความสามารถออกแบบท่าเต้นและความเคลื่อนไหวของนักเต้นชายที่จาก “จับนาง” กลายเป็นคนรักเพศเดียวกันในเรื่องเล่าตามประเพณีเป็นไปอย่างกลมกล่อมยิ่งกว่าขนมลืมกลืน

แน่นอนว่าตอนนี้ประเด็น LGBTQ ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามในสังคมไทย แต่การใส่ประเด็นนี้ไปในงานศิลปะที่เกาะเกี่ยวกับนาฏศิลป์โบราณเป็น “ปฏิบัติการสุนทรียศาสตร์ที่ไต่เส้น” เรื่องต้องห้ามจนพูดได้ว่าคณะพิเชษฐ์ “เล่นท่ายาก” แต่ผลลัพธ์ก็คือการผลักดันนาฏศิลป์ไทยไปอีกช่วงตัว

ผมคิดว่าเสน่ห์ของหนังยุค 2510 อย่าง “ละครเร่” และ “เรือนแพ” คือการสร้าง Space of Differences หรือ “พื้นที่แห่งความแตกต่าง” ขณะที่พิเชษฐ์ กลั่นชื่น เอาศิลปะหลายแขนงมาผสมกับ “ละครเร่” จนผลักประเด็นเรื่องความแตกต่างให้ไปไกลโพ้นโดยถอดรูป (Deform) ศิลปะและวรรณคดีโบราณ

งานของพิเชษฐ์มักถูกมองว่าดูยากสำหรับคนทั่วไป แต่ผลงานที่ “คอลแลบส์” กับ “อัศวิน” ทำให้เกิดรูปแบบงานที่สนุก, ดูง่าย, โหยหาอดีต, เพลิดเพลินเจริญใจ แต่ก็ยังคงความเป็นพิเชษฐ์ไว้ถึงเขาจะไม่ได้เต้นเองแล้วทำหน้าที่เป็นคนคุมไฟ (ตามที่สมาชิกคณะพิเชษฐ์เล่าให้ฟัง)

โดยบุคลิกการแสดงของ “พิเชษฐ์” และพื้นที่อย่าง “อัศวิน” นั้นเป็นวงโคจรคู่ขนานที่ไม่น่าบรรจบกัน “พิเชษฐ์” บอกผมว่าต้องมาดูพื้นที่ให้ได้ ส่วนนักแสดงในคณะอย่าง “เกด” และ “ครูโอ” บอกผมว่าอาจารย์ต้องมาอยู่กับพื้นที่ตอนการแสดงจบ และผมพบว่าพลังของพื้นที่มีมากจนเหลือเชื่อจริงๆ

แสง, เงา และพื้นที่ “อัศวิน” เป็นตัวละครอีกกลุ่มที่สำคัญในการสร้างงานของพิเชษฐ์ชิ้นนี้ ความสามารถของพิเชษฐ์และคณะในการกำกับแสง, เงา และพื้นที่ถือเป็นสิ่งที่น่าทึ่งที่สุดในงานชิ้นนี้ด้วยเช่นกัน