ทะเลจีนใต้ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

บทความต่างประเทศ

 

ทะเลจีนใต้

อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

 

ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้น เป็นที่รู้กันดีว่า สืบเนื่องมาจากการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกัน ระหว่างฝ่ายหนึ่งคือ จีน กับคู่กรณีอีก 4 ชาติอย่าง ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และบรูไน ซึ่งส่งผลให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยโดยปริยาย เนื่องจาก 4 ใน 5 ชาติคู่กรณีของจีนนั้น คือชาติสมาชิกสำคัญของอาเซียนนั่นเอง

สิ่งที่อาเซียนพยายามจะทำก็คือ หาทางออกสำหรับความขัดแย้งนี้โดยสันติ ที่สะท้อนผ่านการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องกันเป็นชุดในช่วงระหว่างปี 1990-2002 ภายใต้การนำของ โรดอลโฟ เซเวริโน เลขาธิการอาเซียนในช่วงเวลานั้น

ความเคลื่อนไหวของอาเซียนดังกล่าว ทางหนึ่งเกิดจากเหตุปะทะระหว่างจีนกับเวียดนามบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ หนึ่งในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ที่เป็นเหตุให้ทหารเรือเวียดนามเสียชีวิตไปถึง 64 นาย

ในอีกทางหนึ่งนั้นเกิดจากการออกกฎหมายภายในของจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1992 ที่มีบทบัญญัติอ้างสิทธิ์ครอบครองเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด

ซึ่งทำให้ความตึงเครียดพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความเคลื่อนไหวก่อสร้าง สิ่งที่ต้องสงสัยว่าเป็นที่ตั้งทางทหารหลายต่อหลายจุดในทะเลจีนใต้ของจีน

 

ความพยายามของอาเซียนประสบผลในระดับหนึ่งเมื่อปลายปี 2002 เมื่อจีนและอาเซียนร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea -DOC) ที่ไม่เพียงทำให้ความตึงเครียดลดลงมากเท่านั้น ยังพลิกผันแนวโน้มของปัญหาไปสู่แนวทางสันติวิธีด้วยอีกต่างหาก

ปฏิญญาของอาเซียนกับจีนดังกล่าว ได้รับการคาดหมายว่า จะนำไปสู่การประกาศ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (the South China Sea code of conduct) ที่ได้รับการคาดหวังว่า จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความขัดแย้งในการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันให้กลายเป็นความร่วมมือในการรังสรรค์ผลประโยชน์ร่วมกัน ในขณะที่ยังคงสามารถรักษาสันติและความสงบในภูมิภาคเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ความคาดหมายและความคาดหวังใดๆ จนถึงเวลานี้ยังไม่บรรลุผล ในทางตรงกันข้าม ยิ่งนับวันปัญหาในทะเลจีนใต้ ยิ่งทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อมีสหรัฐอเมริกาเข้ามามีส่วนร่วม แรกสุดในฐานะผู้ให้การสนับสนุนท่าทีของบรรดาชาติที่เป็นคู่กรณีกับจีน และในเวลาต่อมา ก็เปลี่ยนสถานะเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงยุทธศาสตร์” จากพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้

ทั้งหมดเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งในหลายๆ ด้านระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงยุทธศาสตร์

 

จุดยืนที่แตกต่างกันของชาติอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลที่จีนและสหรัฐอเมริกามีต่อประเทศอาเซียนนั้นๆ ส่งผลให้ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ลุกลามจนแทบกลายเป็นความขัดแย้งภายในของอาเซียน เนื่องจากความไม่ลงรอยกันของชาติสมาชิกว่าจะแสดงท่าทีต่อพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้อย่างไร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อปี 2012 เมื่อกัมพูชาที่เป็นเจ้าภาพและต้องพึ่งพาสนิทสนมกับจีน ขัดขวางการบรรจุประเด็นปัญหาทะเลจึนใต้ลงในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม เพื่อแสดงท่าทีของอาเซียนต่อเหตุเผชิญหน้าระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ บริเวณหมู่เกาะสคาร์โบโรห์ ก่อนหน้านั้น

ความขัดแย้งภายในนี้เช่นกัน ที่ทำให้อาเซียนไม่ได้มีถ้อยแถลงใดๆ ที่เป็นการแสดงท่าทีของกลุ่มอย่างชัดเจนต่อคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการ ให้ความเห็นชอบกับคำร้องของฟิลิปปินส์ ให้การอ้างสิทธิ์ตามแนว “เส้นประ 9 เส้น” ในทะเลจีนใต้ของจีน ซึ่งทำให้จีนมีสิทธิ์เหนือพื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในทะเลจีนใต้ว่า “เป็นโมฆะ”

เนื่องเพราะจนแล้วจนรอด จุดยืนต่อจีนที่แตกต่างกันทำให้อาเซียนไม่สามารถหาจุดยืนที่เป็นทางการและเป็นเอกภาพในเรื่องนี้ออกมาแถลงต่อโลกได้

 

กว่า 2 ทศวรรษผ่านไป “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” ก็ยังไม่สามารถรุดหน้าไปในทางหนึ่งทางใดได้ สาเหตุไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงจุดยืนต่อจีนที่แตกต่างกันในบรรดาชาติอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะในสาระสำคัญหลายๆ จุดของแนวปฏิบัติดังกล่าว ท่าทีของจีนและอาเซียน ยังคงแตกต่างกันอยู่ใหญ่หลวงมาก

ตัวอย่างเช่น จีนต้องการ “จำกัดขอบเขต” ในการบังคับใช้แนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ให้จำกัดแคบที่สุด โดยให้นำมาใช้ในพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น ในขณะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ต้องการให้การบังคับใช้เป็นไปโดยทั่วถึง

นอกจากนั้น จีนยังต้องการให้แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้นี้ เป็นความตกลงที่ไม่มีพันธะทางกฎหมาย เพื่อผลในการให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถดำเนินการเจรจาต่อรองท่าทีใดๆ ได้ ตรงกันข้ามกับชาติอาเซียนที่ต้องการให้แนวปฏิบัตินี้ มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงว่า หากมีการล่วงละเมิด จะต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในความตกลง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและให้ภาคีมีความรับผิดชอบ

ยิ่งไปกว่านั้น รายละเอียดในหลายๆ เรื่องยังคงเป็นปมที่สางไม่ออก ส่งผลให้ทุกอย่างยังคงค้างเติ่งอยู่จนถึงขณะนี้

อาทิ การบรรจุข้อห้ามไม่ให้มีการดำเนินกิจกรรมทางทหารใดๆ ในทะเลจีนใต้

ข้อจำกัดในการมีสิ่งปลูกสร้างทางทหาร การติดตั้งอาวุธ และการซ้อมรบ ซึ่งเป็นความต้องการของอาเซียน

ในขณะที่จีนต้องการให้ห้ามไม่ให้ “มหาอำนาจภายนอก” เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น

จีนกับอาเซียน เคยประกาศว่า จะดำเนินความพยายามเพื่อบรรลุตวามตกลง ประกาศใช้แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้นี้มาแล้วหลายครั้ง หลังสุด มีการขีดเส้นตายไว้ที่ภายในปี 2026 นี้ ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างดำเนินไปอย่างเชื่องช้าแทบเรียกได้ว่าชะงักงัน

ซึ่งแน่นอนว่า เป็นผลดีต่อจีนมากกว่าทางฝ่ายอาเซียน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันนี้นั่นเอง