การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เสริมแรง ระหว่างประเด็นในชีวิตประจำวัน และประเด็นเชิงโครงสร้าง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ที่เสริมแรง

ระหว่างประเด็นในชีวิตประจำวัน

และประเด็นเชิงโครงสร้าง

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสร่วมในงานรำลึก กิจกรรม 50 ปี สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2517 ได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นที่หลากหลายจากอดีตถึงปัจจุบัน

มีความเห็นหนึ่งเสนอว่า หลากหลายกลุ่มมีข้อเสนอที่หลากหลาย

หนึ่งในนั้นคือเป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะมีจุดยืนร่วมกันในเรื่องใหญ่ๆ และยอมละทิ้งประเด็นเล็กๆ

ผมฟังถึงจุดนี้จึงเกิดคำถามในใจว่า พอในทางปฏิบัติแล้ว เราจะสามารถวัดเรื่องใหญ่ และเรื่องเล็กได้อย่างไร หากเราจะทำงานเพื่อผลักดันร่วมกัน?

 

สังคมไทยเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับมหภาค หรือระดับใหญ่ เราอาจเห็นภาพของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันทางการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ

ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่หากทำสำเร็จ ก็จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงหลายประเด็นในระดับย่อย

เงื่อนไขดังกล่าว อาจทำให้เราอาจมองข้ามความสำคัญของนโยบายระดับย่อยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการครอบครัว หรือสวัสดิการกลุ่มเฉพาะต่างๆ ที่อาจไม่ใช่นโยบายที่เป็นที่นิยม แต่ทำหน้าที่เสมือนรากฐานของสังคม

การผลักดันประเด็นใหญ่ทางการเมืองเปรียบเหมือน “ฝน” ที่ตกจากฟ้า แต่หากขาดการจัดการที่ดีในระดับพื้นดิน น้ำฝนเหล่านั้นก็อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพืชพันธุ์และผืนดิน

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับบน หากไม่มีการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็อาจไม่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง

หรือกล่าวอีกนัย เราก็ได้กฎหมาย หรือแผ่นกระดาษเพิ่มขึ้นมาแต่ไม่สามารถย่อยถึงชีวิตของคนธรรมดาได้

 

ในทางกลับกัน เราไม่ควรมองว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับล่างสูญเปล่า

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มวันลาคลอด ก็สามารถทำให้ผู้คนมีเวลาในการให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญในชีวิต

หรือการลาเพื่อดูแลคนในครอบครัว ก็ทำให้ปัจเจกชนมีแรงเสริมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วนเช่นเดียวกัน

สวัสดิการครอบครัวแม้จะเป็นประเด็นที่อาจถูกมองว่าเป็นประเด็นระดับย่อย แต่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

การสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวผ่านระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นต่อไป

เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร การให้สิทธิลาคลอดที่เพียงพอ การจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพ หรือการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในครอบครัว

ประเด็นทางสังคมเล็กๆ เหล่านี้อาจดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติ แต่ผลกระทบของมันสัมผัสได้จริงและเป็นรูปธรรม

การเปลี่ยนแปลงในระดับย่อยก็มีความสำคัญต่อชีวิตคนธรรมดาเช่นกัน

การมีระบบสวัสดิการที่ดีจะช่วยให้ครอบครัวมีความมั่นคง พ่อแม่มีเวลาดูแลลูก เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์และสังคมที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับประเด็นระดับย่อย ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมอาจไม่ได้สร้างกระแสในสื่อสังคมเท่าการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ผลลัพธ์ของมันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้อย่างแท้จริง

 

การพัฒนาประเทศจึงต้องดำเนินไปพร้อมกันทั้งระดับมหภาคและจุลภาค เปรียบเสมือนการทำนาที่ต้องอาศัยทั้งน้ำฝนจากฟ้าและการดูแลผืนดินให้อุดมสมบูรณ์

การผลักดันประเด็นใหญ่ทางการเมืองและการพัฒนาสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานต้องเดินไปด้วยกัน จึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับสังคมไทยได้

และเรื่องสำคัญ มันยากเหลือเกินที่จะบอกว่าประเด็นใดสำคัญกว่ากัน และประชาชนจำเป็นต้องเลือกหรือไม่ในการต่อสู้ หรือต้องลดเพดานบางเรื่องเพื่อให้สามารถผลักดันได้

ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแยกการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ และระดับย่อยควรเป็นเรื่องเดียวกัน เสรีภาพในรัฐธรรมนูญ กับเสรีภาพในการลางานเพื่อบอกลาคนในครอบครัวก็เป็นเรื่องเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องใช้ทรัพยากรทางสังคมเพื่อผลักดัน แต่เราไม่จำเป็นต้องเลือก

เพราะการผลักดันทุกประเด็นพร้อมกัน ไม่ใช่การเปลืองทรัพยากร แต่เป็นการเสริมแรงซึ่งกันและกัน

การให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมเล็กๆ จึงไม่ใช่เรื่องรอง

แต่เป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในทุกมิติ