ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ภาพการเป็น “พยัคฆ์ติดปีกทางการเมือง” ของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการหลุดพ้นออกจากบ่วงของกระบวนการ “นิติสงคราม” อย่างแทบจะสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ผ่านการรับรองของศาลรัฐธรรมนูญ และการประกาศศักดานำพาผู้สมัครพรรคเพื่อไทยคว้าชัยชนะหรือรักษาเก้าอี้นายก อบจ.อุดรธานี เอาไว้ได้สำเร็จ
ด้านหนึ่ง
กับภาพสื่อมวลชนอาวุโสอย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล” กลับออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองอย่างคึกคักกระตือรือร้น จากประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ “ดิไอคอน” ไปจนถึงกรณี “เอ็มโอยู 44” และ “เขากระโดง”
ทั้งยังได้รับการตอบรับจากแฟนคลับอย่างหนาแน่น เมื่อพิจารณาจากยอดวิวรายการสดออนไลน์ และการรวมตัวกันที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อีกด้านหนึ่ง
ทำให้คอการเมืองหลายคนรู้สึกว่า ตัวเองและสังคมไทยกำลังเดินทางย้อนกลับไปสู่บรรยากาศเก่าๆ อันคุ้นเคย
นั่นคือบรรยากาศความขัดแย้งสี “เหลือง-แดง” ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 2540 และพุ่งถึงขีดสุดในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2550
กระนั้นก็ดี นี่อาจเป็น “บรรยากาศคล้ายๆ เดิม” ที่ “ไม่เหมือนเดิม” เสียทีเดียว
เพราะสิ่งที่แทบทุกคนเห็นตรงกัน ก็คือ กลับมาเที่ยวนี้ ทั้ง “ผู้นำเสื้อแดง” และ “ผู้นำเสื้อเหลือง” ในวันนั้น มิได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วย “พื้นฐาน-ทรัพยากร” ที่เหมือนเดิมกับเมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน
ถ้าจะบอกว่า “ฝ่ายสีแดง” เป็นหมุดหมาย-หลักยึดหนึ่งเดียวของ “พลเมืองฝ่ายประชาธิปไตย” ในประเทศไทย คำกล่าวเช่นนั้น ก็มิใช่ความจริงแล้วในปัจจุบันนี้
เช่นเดียวกับการบอกว่า “ฝ่ายสีเหลืองรุ่นแรกเริ่ม” คือแหล่งหลอมรวมของกลุ่มการเมืองสาย “อนุรักษนิยม” ทุกขั้วทุกฝ่าย และประสานงานกับพรรคการเมืองแนว “ขวาแท้ๆ” ได้อย่างแนบชิด ซึ่งดูจะไม่ใช่ความจริงสัมบูรณ์ ณ พ.ศ.นี้
ยิ่งกว่านั้น หากบอกว่าสังคมการเมืองไทยในปี 2567 ยังสลัดไม่พ้นจาก “การเมืองของกลุ่มสี”
ก็คงต้องบอกว่า ตัวละครหลักของการเมืองไทยไม่ได้มีแค่ “สีเหลือง” กับ “สีแดง” อีกแล้ว หากดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงผันแปรไป ดุจเดียวกันกับสภาพสังคมและความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ยังทำให้บทบาทของ “กลุ่มการเมืองสีอื่นๆ” โดดเด่นน่าจับตาขึ้นมา
ด้านหนึ่ง
เรามี “กลุ่มการเมืองสีน้ำเงิน” ที่เข้าถึงอำนาจรัฐได้อย่างต่อเนื่อง และเชี่ยวชาญวิธีการของการได้มาซึ่งคะแนนเสียงของคนชนบท รวมถึงเข้าใจไวยากรณ์การเมือง-การเลือกตั้ง-การประสานประโยชน์ของเครือข่ายสายสัมพันธ์ทางอำนาจต่างๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายแห่ง อย่างลึกซึ้งกระจ่างแจ้ง
แล้วที่สำคัญ คือ พวกเขามีเสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภาอยู่ในมือ เท่ากับว่ามีอำนาจในการเล่นเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการกลั่นกรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
อีกด้านหนึ่ง
เราก็มี “พรรคการเมืองสีส้ม” ที่ประสบความสำเร็จและเก่งกาจกับการทำงานการเมืองในบริบทของการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติ ขณะที่ยังประสบความพ่ายแพ้อยู่บ่อยครั้งในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งยังถูกประเมินว่า อยู่ในช่วง “กระแสตก-ขาลง” ภายหลังจากการ “ยุบพรรคก้าวไกล” และต้องเริ่มตั้งไข่ “พรรคประชาชน” กันใหม่
กระนั้นก็ตาม ไม่มีใครกล้าดูถูกว่า “พรรคสีส้ม” ไม่มีฐานมวลชนกลุ่มใหญ่ที่แน่นเหนียวคอยสนับสนุนพรรคอยู่ และไม่มีใครกล้าเหยียดหยามว่า “พรรคสีส้ม” เป็นแค่พรรคการเมืองขนาดกลาง-เล็ก และไม่ใช่พรรคการเมืองใหญ่อีกแล้ว
นี่คือ “ดุลยภาพทางอำนาจ” ของ “การเมืองกลุ่มสี” ในสังคมไทย ที่หลากหลายกว่าเดิม และไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022