อีกขวบปีที่ร่วมกันเติบโต ของ ‘โปรจีน’ และ ‘กอล์ฟหญิงโลก’

“โปรจีน” อาฒยา ฐิติกุล นักกอล์ฟสาวไทย อาจจะทำผลงานไม่หวือหวาในแอลพีจีเอทัวร์ ฤดูกาลที่เพิ่งจบไป

เรียกได้ว่าเริ่มต้นไม่สวย ฟอร์มไม่เปรี้ยงปร้าง ถูกพูดถึงน้อยกว่าที่ผ่านมา

แต่ปิดฉากได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์ใหญ่ส่งท้ายปี พร้อมเงินรางวัลก้อนโตถึง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 138 ล้านบาท)

ปี 2024 โปรจีนได้แชมป์มาเพียงรายการเดียว คือ ดาว แชมเปี้ยนชิพ ที่จับคู่กับ หยิน รั่วหนิง โปรเพื่อนสนิทสาวจีนลงแข่งขัน

แต่ก็ยังทำผลงานติดท็อป 60 จนได้มาลุ้นแชมป์รายการใหญ่อย่าง ซีเอ็มอี กรุ๊ป ทัวร์ แชมเปี้ยนชิพ และโชว์ฟอร์มเยี่ยมคว้าแชมป์ไปครองได้แบบอลังการ

อย่างไรก็ตาม ช่วงออกสตาร์ตของฤดูกาลนี้ อาฒยาหายหน้าหายตาไปจากการแข่งขัน เพราะมีอาการเจ็บที่นิ้วมือ พลาดการแข่งขันไปหลายรายการ

ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่า ตลอดเวลาที่พักนั้นไม่ได้จับไม้กอล์ฟเลย จนรู้สึกกังวล แต่หลังจากได้กลับมาแข่งขันอีกครั้ง ก็โฟกัสที่การแข่งขัน ไม่ได้มองไปที่ผลการแข่งขันเป็นหลัก

 

ผลงานของโปรจีนในฤดูกาลนี้ แข่งขัน 17 รายการ ผ่านตัดตัวไป 15 รายการ ไม่ผ่านตัดตัว 2 รายการ คว้าไปได้ 2 แชมป์

แน่นอนว่าจำนวนแชมป์น้อยกว่าเนลลี่ คอร์ด้า โปรอเมริกัน มือ 1 ของโลก ที่สร้างผลงานกระหึ่มด้วยการกวาดแชมป์ 5 รายการติดต่อกัน

และไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าที่ ลิเดีย โค โปรนิวซีแลนด์ได้ทั้งแชมป์โอลิมปิกเกมส์ 2024

แต่มองในแง่สถิติต่างๆ แบบลึกๆ โปรจีนทำได้อย่างน่าเหลือเชื่อเช่นกัน

นอกจากแชมป์ 2 รายการในปีนี้แล้ว ยังได้รางวัลนักกอล์ฟที่ทำผลงานการเล่นหลุมยากดีที่สุดในรอบปี รางวัล “อาออน ริสก์ อวอร์ดส์ ชาลเลนจ์” พร้อมโบนัส 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (35 ล้านบาท) หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา จบอันดับ 2 มาตลอด

ถึงแม้จะแข่งขัน 17 รายการ แต่โปรสาวไทยจบอันดับท็อป 10 ได้ถึง 12 รายการ มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในฤดูกาลนี้ เป็นรองแค่ รยู แฮรัน โปรเกาหลีใต้ที่ทำได้ 13 รายการ แต่แฮรันลงแข่งขัน 25 รายการ

โปรจีนอาจจะเสียเบอร์ 1 ในสถิตินี้ไป เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา จบ 1 ใน 10 มากที่สุดมาตลอด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่มีอาการเจ็บตั้งแต่ต้นปี กว่าจะแข่งขันได้ก็เข้าไปเดือนเมษายนแล้ว ถ้าโปรจีนไม่เจ็บ ก็มีโอกาสสูงที่จะรักษาสถิตินี้ไว้ได้ 3 ปีติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างจำนวนรายการที่ร่วมแข่งขันกับการติดอันดับท็อป 10 โปรจีนมีสถิติเฉลี่ยที่ 64 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของแอลพีจีเอ

โดยอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 ตำนานอย่าง ลอเรน่า โอชัว ซึ่งทำสถิติเป็นอันดับ 3 ที่ 62.3 เปอร์เซ็นต์ และ อันนิก้า ซอเรนสตัม ที่ทำสถิติเป็นอันดับ 1 ที่ 67.4 เปอร์เซ็นต์

สถิติสกอร์เฉลี่ยต่อรอบ 69.33, สถิติ GIR (Greens in Regulation) หรือสถิติการตีขึ้นกรีนได้ตามมาตรฐานของหลุมนั้นๆ 77.20 เปอร์เซ็นต์, สถิติจำนวนพัตต์เฉลี่ยต่อการออนกรีนตาม GIR 1.75, สถิติตีขึ้นกรีนจากแฟร์เวย์ 85.13 เปอร์เซ็นต์, สถิติทำสกอร์เฉลี่ยรอบสอง 69.13

รวมถึงการทำสถิติสกอร์เฉลี่ยการเล่นหลุมพาร์ 4 และพาร์ 5 ดีที่สุด 3.96 และ 4.49 ตามลำดับ

ในเรื่องของเงินรางวัลที่โปรจีนทำได้ก็นับเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการกอล์ฟหญิงโลก เพราะในปีนี้โปรจีนคว้าเงินรางวัลได้มากที่สุดต่อ 1 ฤดูกาล ที่ 6,059,309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (212.075 ล้านบาท)

ยังไม่นับรวมเงินโบนัสจากการคว้ารางวัลการเล่นหลุมยากดีที่สุด อีก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำเงินรางวัลรวมในฤดูกาลนี้เหนือกว่าอันดับ 2 เนลลี่ คอร์ด้า โปรอเมริกัน ที่ได้ไป 4,391,930 ดอลลาร์สหรัฐ (153.717 ล้านบาท) ถึงเกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หลังคว้าแชมป์ซีเอ็มอี กรุ๊ป ทัวร์ แชมเปี้ยนชิพ ได้แล้ว โปรจีนออกมาเปิดใจว่า นับเป็นโอกาสครั้งหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถ้าได้แชมป์ก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ได้ทำเต็มที่แล้ว จนถึงจุดนี้ไม่ได้คิดว่าเล่นกอล์ฟเพื่อเงินรางวัลเท่านั้น เหมือนที่ลิเดีย โค เคยบอกเอาไว้ว่า “เราไม่ได้มาแข่งขันเพื่อเงินรางวัล แต่มาเพื่อช่วยให้กีฬากอล์ฟเติบโตมากขึ้น”

นับเป็นอีกขวบปีที่กอล์ฟทำให้โปรจีนเติบโตขึ้นจากทั้งเรื่องแย่ๆ และวันดีๆ รวมทั้งเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่กอล์ฟเติบโตจากการที่โปรจีนเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

แล้วมานับ 1 กันใหม่ในฤดูกาลหน้า •

 

Technical Time-Out | จริงตนาการ

[email protected]