ผ่าแผน ‘มวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์’ ลุยปี 2568 เป้ามูลค่าทะลุ 2.3 พันล้าน

ภายหลังจากที่ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ของรัฐบาลได้มีการจัดตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านกีฬา โดยเฉพาะโครงการ “มวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์” เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมาเดินหน้าสร้างการรับรู้ไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา โดยประธานคณะ “บิ๊กเอ” ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เดินสายจัดงานมวยไทย มาสเตอร์ คลาสใน 7 ประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางที่ดี และมีกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมจากชาวต่างชาติ ในการทำกิจกรรมต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเยี่ยมยิมมวยไทย การรับรองมาตรฐานค่ายมวยไทยในต่างประเทศ และการเปิดคลินิกสอนการออกอาวุธแม่ไม้มวยไทย

โดยการจัดงานดังกล่าวนอกจากจะสร้างการรับรู้ไปยังชาวต่างชาติ ที่สนใจในกีฬามวยไทยแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

จะเห็นได้จากตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรมคลินิกมวยไทย ซึ่งมีการลงทะเบียนเต็มโควต้า 300 คนในทุกประเทศ ขณะที่บางประเทศยอดมีผู้เข้าร่วมงานทะลุเป้าหมาย ซึ่งเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ที่แสดงความสนใจเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเรียนมวยไทยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว

โดยมีตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์คลาส ที่น่าสนใจแต่ละประเทศ ดังนี้ 1.ออสเตรเลีย 98,761,285 บาท 2.จีน 334,625,078 บาท 3.แคนาดา 156,861,885 บาท 4.สหรัฐอเมริกา 168,866,703 บาท 5.ฝรั่งเศส 137,071,211 บาท 6.อิตาลี 239,519,484 บาท 7.สิงคโปร์ 230,426,492 บาท

สรุปรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาสในครั้งนี้ สูงถึง 1,366,132,139 บาท!

 

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2567 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็บรรลุผลเกินเป้าหมายในอีกหลายด้านเช่นกัน จากการสร้างการรับรู้ไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ดังนี้

1. จำนวนบุคลากรมวยไทย ผู้ฝึกสอน (คนไทย) 772 คน สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 700 คน, นักมวย (ต่างชาติ) 4,546 คน สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 4,520 คน และผู้ฝึกสอน (ต่างชาติ) 190 คน สูงกว่าที่คาดไว้ 120 คน

2. จำนวนค่ายมวย โดยค่ายมวยในไทยมีจำนวน 721 ค่าย สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 500 ค่าย ขณะที่ค่ายมวยในต่างประเทศมีจำนวน 70 ค่าย สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 50 ค่าย

และ 3. มูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,336 ล้านบาท สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 2,334 ล้านบาท

จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เดินหน้าให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงแต่งตั้งให้ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะอนุกรรม เป็นสมัย 2 และมี ชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา เป็นรองประธาน รวมทั้งอนุกรรมการอีก 9 คน

การทำงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ยังคงจะเน้นเรื่อง “มวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งทำโครงการต่างๆ มาตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดทุกโครงการให้เกิดประโยชน์สูงขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาองค์วามรู้กีฬามวยไทย, การเพิ่มจำนวนและประสิทธิ์ภาพของบุคคลในวงการมวยไทย, การแข่งขันมวยไทยเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวและเศรษฐกิจให้ประเทศ

รวมไปถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มวยไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ, รับรองมาตรฐานมวยไทยเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ และกำกับติดตามและประเมินผล ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการมากขึ้นไปอีกในปี 2568 ตั้งแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ต้องมากกว่าปี 2567 เกินกว่า 2,300 ล้านบาท

 

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ชุดใหม่ได้มีการประชุมกันครั้งแรก ที่ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา กกท. หัวหมาก เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการ มวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์ ในปี 2567 และ แผนการดำเนินงานโครงการ มวยไทย ซอฟพาวเวอร์ ในปี 2568

โดย ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ระบุว่า การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ครั้งแรกหลังจากที่ตนได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ให้มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯอีกครั้ง ซึ่งทีมงานส่วนใหญ่ก็เป็นชุดทำงานเดิม โดยที่ประชุมได้สรุปผลการดำเนินงาน ปี 2567 ซึ่งการทำงานมีเวลาน้อย เพียงไม่กี่เดือน แต่มีกิจกรรมมากมาย

“เราสามารถดำเนินงานในทุกโครงการได้ครบถ้วน โดยทุกโครงการมีตัวชี้วัดความสำเร็จซึ่งเราสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มจำนวนนักมวยไทยอาชีพ (ชาวไทย) มากถึง 6,065 คน มวยไทยอาชีพ (ต่างชาติ) 4,540 คน หรือเพิ่มจำนวนผู้ฝึกสอนมวยไทย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงเอามวยไทยไปสอนในโรงเรียน และที่สำคัญสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ มากถึง 2,334 ล้านบาท ถือว่าเกินเป้าเล็กน้อย ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร”

บิ๊กเอกล่าวอีกว่า สำหรับในงบประมาณปี 2568 ซึ่งมีงบประมาณในการดำเนินงานโครงการต่างๆ จำนวน 643,000,000 บาท โดยไฮไลต์ของปีหน้านี้ คือการทำโครงการ มวยไทย FOR ALL (ฟอร์ อลล์) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยในปีนี้เราจะมีครูมวย 500 คน ที่จะเป็นครูมวยอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ซึ่งครูมวยเหล่านี้จะอยู่ในค่ายมวยต่างๆ แล้วจะเปิดสอนใครก็ได้ที่สนใจอยากเรียนมวยไทย โดยการเรียนการสอนจะแบ่งออกเป็นคาบเรียน มีทั้งหมด 25 คาบเรียน แต่ละคาบจะเรียนประมาณ 1 ช.ม. แล้วเมื่อเรียนจบจะได้ประกาศนียบัตร

และที่สำคัญเรียนฟรี ซึ่งคาดว่าจะมีนักมวยไทยหน้าใหม่เกิดขึ้นประมาณ 100,000 คน

 

นอกจากนี้ โครงการโรดโชว์ มาสเตอร์คลาส ที่นำนักมวยไทยชื่อดังไปเปิดสอนในต่างประเทศ พร้อมทั้งการขึ้นทะเบียนค่ายมวยในต่างประเทศ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ถือว่าประสบความสำเร็จ มีนักมวยชาวต่างชาติพาครอบครัวมาเรียนต่อและท่องเที่ยวในเมืองไทยจำนวนมาก เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น และในปีหน้านี้จะเกิดการแข่งขันมวยไทยลีกขึ้น ซึ่งจะมีการกำหนดรูปแบบต่อไป

จากการดำเนินงานในปี 2567 ที่ผ่านมา โครงการโรดโชว์ มาสเตอร์คลาส ตระเวนเดินสายไปทัวร์ 7 ประเทศ พร้อมสร้างตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2,336 ล้านบาท โดยแผนการดำเนินงานในปี 2568 จะเพิ่มจำนวนประเทศในการโปรโมตมวยไทย พร้อมกับปักหมุดเป้าหมายในการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา

ถือเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา โดยเฉพาะมวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการกระแสนิยมในต่างประเทศให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

และจะช่วยส่งผลดีต่อการดึงเม็ดเงินสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไหลหลับคืนมายังประเทศไทย ซึ่งถือเป็นแผ่นดินแม่ของมวยไทย ศิลปะการต่อสู้ที่โด่งดังไกลไปทั่วโลก… •

 

เขย่าสนาม | เมอร์คิวรี่

[email protected]