‘ดม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

“สิ่งสำคัญบางอย่าง เราก็ไม่สามารถเห็นได้ใช้เพียงดวงตา” อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี เขียนไว้ใน “เจ้าชายน้อย” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1943

ในสมัยเด็ก ผมพอเข้าใจ และเข้าใจเพิ่มขึ้นเมื่อโตขึ้น และเริ่มเข้าใจจริงๆ ในช่วงเวลาที่ผมมีโอกาสรับบทเรียนจากเหล่าสัตว์ป่า

โดยเฉพาะตอนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ “เรียน” ในวิถีที่เสือใช้ดำเนินชีวิต

 

สําหรับสัตว์ป่า ว่าตามจริง มีบางชนิดเท่านั้นที่มีสายตาดี ส่วนใหญ่พวกมันใช้จมูกสำหรับช่วยในการดำรงชีพมากกว่า

การสัมผัสด้วยกลิ่น ช่วยให้สัตว์กินพืชทั้งหลายหลบเลี่ยงสัตว์ผู้ล่าได้บ้าง

“กลิ่น” ไม่ว่าจะเป็นของสัตว์ผู้ล่า หรือกลิ่นของเพศตรงข้าม ที่บอกให้รู้ถึงความพร้อมในการผสมพันธุ์

กลิ่นล่องลอยไปได้ไกล ต้องใช้กระแสลมช่วย เมื่อใดที่ผู้ล่าอยู่ใต้ลม การใช้จมูกรับกลิ่นย่อมด้อยลง และนั่นเป็นโอกาสของสัตว์ผู้ล่า

รู้ตัวในระยะใกล้ ก็หลีกหลบคมเขี้ยวไม่พ้นแล้ว

เหล่าสัตวกินพืช ได้รับการออกแบบมาให้รับกลิ่นได้ดี และในระยะทางไกลกว่าสัตว์ผู้ล่า

นักล่าบนสุดอย่างเสือโคร่ง พวกมันมีพร้อมทุกอย่างก็จริง แต่หลายอย่างก็มีข้อจำกัด เช่น จมูกรับกลิ่นดี แต่แค่ระยะใกล้ๆ วิ่งได้เร็วในระยะสั้นๆ เสือจำเป็นต้องใช้ทักษะต่างๆ ร่วมด้วย การล่าทุกครั้งต้องใช้ทักษะ และพลังงานมาก

และที่เรารู้กันดีว่า เมื่อลงมือ โอกาสที่จะไม่ประสบผลสำเร็จมีมากกว่า

ระหว่างเสือกับเหยื่อ ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า ธรรมชาติได้ออกแบบพวกมันมาอย่างเหมาะสมสอดคล้อง

 

ช่วงเวลาที่ “ตาม” เสือ ผมมีโอกาสพบร่องรอย และกลิ่นที่มันทิ้งไว้มากกว่าพบเจอตัว

โดยเฉพาะกลิ่นฉี่ หรือที่นักวิจัยเรียกว่า “สเปรย์”

ในแทบทุกด่าน หรือเส้นทางเดินในป่า เสือ ผู้เป็นเจ้าของอาณาเขต จะพ่นฉี่ไว้ตามต้นไม้, พุ่มไม้ไว้

จุดประสงค์หลักของการสเปรย์นี้คือ การประกาศอาณาเขต เสือโคร่งทำเช่นนี้ทั้งเสือตัวเมีย และเสือตัวผู้

ในพื้นที่ราว 200 ตารางกิโลเมตร ที่เสือตัวผู้ครอบครอง นักวิจัยพบว่า จะมีเสือโคร่งตัวเมียอยู่ในพื้นที่สามตัว พื้นที่ของตัวอาจทับซ้อนกันบ้าง ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนนี่แหละ เราจะพบต้นไม้ที่มีกลิ่นสเปรย์ ต้นไม้ริมด่าน ยิ่งต้นเอนๆ มีเปลือกหนาเป็นร่อง จะถูกสเปรย์มาก

ไม่แค่ต้นที่มีเปลือกหนาเป็นร่อง เสือจะเลือกพ่นฝั่งที่ต้นไม้ไม่ค่อยโดนแสงอาทิตย์ด้วย ทั้งนี้ เจตนาเพื่อไม่ให้แสงแดดเผากลิ่นระเหยไปง่ายๆ

เพียงแค่เห็นวิธีที่เสือพ่นฉี่ ผมยอมรับว่า ทุกสิ่งที่สัตว์ป่าทำนั้นมีเหตุผล

เสือดาว – เสือดาวใช้พื้นที่ทับซ้อนกับเสือโคร่งได้ ด้วยเหตุผลว่า เหยื่อของพวกมันนั้นต่างกัน แต่มีบางครั้งที่เสือดาวจบชีวิตลงเพราะเข้ามายุ่งกับเหยื่อที่เสือโคร่งล่าได้

ในการตามเสือ นักวิจัยและผู้ช่วยนอกจากจะมีเครื่องรับสัญญาณ รวมทั้งตำแหน่งของเสือที่ส่งผ่านมาจากดาวเทียมแล้ว ทักษะต่างๆ ในการสังเกตร่องรอยสัตว์ป่า ล้วนจำเป็น

การติดตามเสือด้วยกลิ่น คือสิ่งสำคัญที่เราต้องทำเสมอ สเปรย์ หรือฉี่เสือ มีลักษณะพิเศษ ไม่ได้เหม็นฉุน ค่อนข้างหอมคล้ายๆ ดอกไม้ป่าบางชนิดด้วยซ้ำ

ขณะเดินตามด่าน จมูกคอยสูดหากลิ่น เราจะพบรอยตีน, รอยคุ้ย การตะกุยดินก็คือการแสดงสัญลักษณ์ เพื่อบอกถึงการครอบครองพื้นที่เช่นกัน

ทุกวัน เราเดินไปตามด่านที่เสือใช้ เสาะหากลิ่นตามต้นไม้ริมลำห้วยที่เสือลงไปกินน้ำ บริเวณที่เสือใช้นอน ร่องรอยทำให้เรารู้ถึงวิถีในแต่ละวันของเสือ

ภาพชัดเจนส่วนใหญ่ที่ผมเห็น ขณะติดตามเสือ

เกิดขึ้นเพราะการดม

 

เดือนพฤศจิกายน สายหมอกหนาทึบเริ่มเข้าครอบคลุมป่าดิบแล้ง เช้าๆ ชะนีส่งเสียงประกาศอาณาเขต บนด่าน ร่องรอยเสือดาว, กวาง, หมูป่า มาก

ต้นไม้ทยอยเปลี่ยนสีใบ อีกสักพัก สีเหลือง สีแดง จะครอบคลุมทั่วผืนป่า

ช่วงเวลาแห่งความแล้ง เริ่มต้นอีกไม่นาน ความหนาวเย็นจะจากไป ความแล้งจริงจังจะเริ่มต้น

เป็นเวลาที่สายน้ำในลำห้วยสายย่อยๆ ยังมี เพราะสายฝนในปีนี้เพิ่งจะทิ้งช่วง รวมทั้งตามปลัก และหนองน้ำ

เปลี่ยนฤดูกาล ป่าเข้าสู่ความแห้งแล้ง ที่มาพร้อมกับฤดูเห็บ ซึ่งนับเอาคนเป็นแหล่งอาหารด้วยเช่นกัน มีการล่าเกิดขึ้นบ่อยๆ เราพบซากที่ถูกเสือล่า

เสือดาวตัวหนึ่งเป็นซาก อยู่ไม่ไกลจากซากกวางตัวผู้โตเต็มวัย

เสือโคร่งไม่ได้ฆ่าเสือดาวเพื่อกิน เสือหวงเหยื่อ นั่นเรารู้ดี

ต้นไม้ใกล้ๆ หลายต้น มีร่องรอยที่เสือสเปรย์ไว้

เสือแจ้งเตือนไว้แล้วว่า นี่เป็นพื้นที่ห้ามบุกรุก

การเข้ามายุ่งกับซากที่เสือโคร่งฆ่าไว้ คือสิ่งอันไม่สมควรกระทำ

เสือดาวตัวหนึ่ง รับรู้บทเรียนนี้ด้วยชีวิต

 

ใบไม้เปลี่ยนสี มีบ้างบางต้นเริ่มทิ้งใบร่วงหล่นคลุมพื้น มันส่งเสียงแกรกกรากเวลาเดินย่ำ

ทุกวัน ผมเดินตามผู้ช่วย นักวิจัยไปตามด่าน ดมตามต้นไม้ที่สงสัย เพื่อหากลิ่นสเปรย์

ด้วยการ “ดม” ทำให้ผมเริ่ม “เห็น” วิถีของเสือ

การรับบทเรียนจากสัตว์ป่า ทำให้รู้ และเข้าใจอีกด้วยว่า

สิ่งที่ อ๊องตวน เดอ แซ็งแตก ซูว์เปรี เขียนไว้ใน เจ้าชายน้อย ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1943 เป็นความจริง •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ