สถานการณ์น่าห่วงของ ‘สื่อมวลชนโลก’ จากยุค ‘เขมรแดง’ ถึง ‘โซเชียลมีเดีย’

คนมองหนัง

“ฤทธี ปานห์” คือคนทำหนังวัย 60 ปีชาวกัมพูชา ซึ่งมีผลงานโดดเด่นจากภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่อง ที่เปิดโปง-สำรวจสภาพเลวร้ายของ “ระบอบเขมรแดง” ทั้งยังเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมมาแล้ว

ผลงานเรื่องล่าสุดของ “ฤทธี ปานห์” คือ “Meeting with Pol Pot” ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวเล่าเรื่อง (fiction film) ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือ “When the War Was Over : Cambodia and the Khmer Rouge Revolution” เขียนโดย “เอลิซาเบธ เบคเกอร์” นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน

ที่ถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางเยือนกัมพูชาในยุค “เขมรแดง” ของเธอ พร้อมด้วยเพื่อนสื่อมวลชน “ริชาร์ด ดัดแมน” และ “มัลคอล์ม คอลด์เวล” (อาจารย์ของ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ”) ปัญญาชนฝ่ายซ้ายชาวสก๊อตที่มีจุดยืนปกป้อง-สนับสนุน “ระบอบเขมรแดง” แต่สุดท้ายกลับถูกสังหารในระหว่างทริปการเดินทางดังกล่าว

โดยใน “Meeting with Pol Pot” ผู้กำกับฯ ชาวกัมพูชา ได้ปรับเปลี่ยนให้ตัวละครสื่อมวลชน-ปัญญาชนชาวตะวันตกทั้งสามคน กลายเป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมด

ทั้งนี้ นอกจากจะพยายามเผยให้เห็นถึงระบอบอำนาจ-อุดมการณ์อันวิปริตผิดเพี้ยน จนนำไปสู่การสังหารผู้เห็นต่างเป็นจำนวนมากแล้ว

“ฤทธี ปานห์” ยังใช้หนังเรื่องนี้ รวมถึงสาระจากหนังสือของเบคเกอร์ วิพากษ์สถานภาพของ “สื่อมวลชนโลกยุคปัจจุบัน” ไว้อย่างน่าสนใจ

ดังที่เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า

 

“นี่ (หนังสือ ‘When the War Was Over : Cambodia and the Khmer Rouge Revolution’) คืองานเขียนที่มีความสำคัญมากๆ ในยุคสมัยนั้น และยังคงมีความสำคัญในยุคสมัยนี้

“มีนักข่าวถูกสังหารไปเท่าไหร่ที่กาซ่าหรือที่แอฟริกา? อะไรคือบทบาทของสื่อมวลชนและหลักจริยธรรมของพวกเขาในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง?

“คุณควรจะนำเสนอเรื่องราวที่คุณพบเห็นมากับตาหรือไม่? หรือคุณควรทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็นหรือเปล่า?

“หลักการทางวารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์มีความสัมพันธ์กับเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร?

“คำถามเหล่านี้คือเรื่องที่ผมสนใจ และมันก็ปรากฏอยู่ในหนังสือที่เขียนโดยเบคเกอร์ ทั้งยังสะท้อนสถานการณ์ในทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี”

Irène Jacob as LIse in Meeting With Pol Pot

“ตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นกับสำนักข่าวกระแสหลักและช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ หลังการมาถึงของทวิตเตอร์และอินสตาแกรม

“มันกลายเป็นภาวะเลี่ยงที่ไม่ได้ ที่พวกเราจะต้องเลือกข้างอย่างฉับพลันทันที ทั้งๆ ที่ในฐานะมนุษย์ เราจำเป็นจะต้องหยุดคิดทบทวนอะไรบางอย่าง ในบางเวลา

“เราต้องการเวลาสัก 30 นาที หรืออาจจะถึงหนึ่งวัน เพื่อจะค่อยๆ ประมวลทรรศนะความคิดเห็นของตนเอง

“แต่โชคร้ายว่า พอคุณตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้าแล้วเปิดทีวี หรือเปิดดูโซเชียลเน็ตเวิร์ก คุณก็จะได้พบเจอกับข่าวคราวของสงครามและความขัดแย้ง รวมถึงผู้คนที่กรีดร้องตะโกนใส่กันระหว่างแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องเหล่านั้น

“นี่เหมือนจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะมันเป็นการถกเถียงที่ไร้ซึ่งวุฒิภาวะ

“คุณต้องการเพียงแค่จะมีชีวิตอยู่ด้วยตัวของคุณเอง คุณเริ่มต้นจากการพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปของโลกตั้งแต่เช้าตรู่ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครคือคู่สนทนาของคุณ หรือคุณเอาข้อมูลที่ตัวเองพูด/พิมพ์มาจากแหล่งไหน”

 

“เราลืมวิธีการเขียนบทความ วิธีการรายงานข่าวสถานการณ์ต่างๆ และวิธีการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนไปหมดแล้ว

“มันเหมือนกับว่า พวกเราต่างเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ข้อมูลที่มีมันกลับมากมายมหาศาลจนเกินไป มาไวไปไวเกินไป จนเราไม่มีเวลาที่จะคิดใคร่ครวญและหาวิธีการโต้ตอบกับข้อมูลพวกนั้นอย่างเหมาะสม

“พวกเราต่างทำงานกันเหมือนเครื่องจักรกล ก่อนที่เราจะมีปฏิกิริยาสนองตอบต่อประเด็นหนึ่งๆ ประเด็นนั้นๆ ก็จะถูกกลบทับโดยประเด็นอื่นๆ เสียแล้ว จนผู้คนไม่มีความสามารถที่จะตอบสนองกับสิ่งใด พวกเขาจึงเชื่อในทุกๆ เรื่อง แม้ในเรื่องที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่พวกเขากลับไม่เคยลงมือทำอะไรเลย

“แล้วผมก็ยังรู้สึกหวาดกลัวต่อแนวคิดเรื่องอุดมการณ์บริสุทธิ์, ความเชื่อแบบสุดโต่ง และวัฒนธรรม ‘โว้ก’ (การตื่นรู้ต่อการกดขี่ในมิติต่างๆ และการเรียกร้อง ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ ทุกด้านอย่างเข้มข้น)

“ผมมีความสงสัยว่า ผู้คนจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ถ้าพวกเขาจำเป็นจะต้องเลือกข้างอยู่ตลอดเวลา? คุณต้องอยู่กับพวกเขา หรือไม่ก็ต้องมาอยู่กับพวกเรา คุณคือศัตรูของผม ถ้าคุณไม่ได้เป็นพวกเดียวกันกับผม” •

 

เนื้อหาจาก https://www.cinemaexpress.com/international/interviews/2024/Aug/05/rithy-panh-sometimes-fiction-cannot-be-filmed-well

 

| คนมองหนัง