ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP 29

ที่อาเซอร์ไบจาน ผ่านไปแล้ว เมื่อ 11-22 พฤศจิกายน

มีประเทศที่เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศ

รวมทั้งไทยด้วย

คอลัมน์ “สิ่งแวดล้อม” ของ ทวีศักดิ์ บุตรตัน (หน้า 44)

ให้ข้อมูล “อันไม่น่าแปลกใจ”

ไม่น่าแปลกใจ ที่การประชุม COP 29 ล้มเหลวไม่เป็นท่า

โดยเฉพาะเป้าหมายหลักที่ต้องการให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ร่ำรวย

ควักเงินช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจน

เพื่อนำไปรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไม่บรรลุผล

 

ยูเอ็นประเมินว่าเม็ดเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบางต้องการ

อยู่ระหว่าง 187,000 ล้าน-359,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แต่เมื่อปี 2565 ปรากฏว่าได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศร่ำรวยแค่ 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

เป็นเหตุให้นักสิ่งแวดล้อมเสียดสีว่า COP และยูเอ็นเป็นยักษ์ไร้กระบอง

ยิ่งกว่านั้น เป้าหมายการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ไม่คืบหน้า

เจ้าภาพ COP 29 ของปีนี้คืออาเซอร์ไบจาน

ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญการควบคุมเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น สหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” นั้น

“ทรัมป์” ประกาศมานานแล้วว่าไม่เคยเชื่อเรื่องความแปรปรวนของภูมิอากาศโลก

แถมยังเหน็บนักวิทยาศาสตร์ว่า “โลกเดือด” เป็นเรื่องโกหกพกลม

เมื่อคราวเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งแรก จึงได้สั่งรัฐบาลถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส

และระงับเงินสนับสนุนสหประชาชาติแก้ปัญหาโลกเดือด

ต้นปีหน้า “ทรัมป์” ขึ้นครองอำนาจเป็นวาระที่ 2

ใครๆ ก็เชื่อว่า “ทรัมป์” ไม่เอาด้วยกับข้อสัญญาแก้ปัญหา “โลกเดือด”

และอาจจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสอีกรอบ

แถมยังประกาศตั้ง “คริส ไรต์” เป็นว่าที่รัฐมนตรีพลังงาน

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

เนื่องจาก “ไรต์” เป็นเจ้าของบริษัทลิเบอร์ตี้ เอ็นเนอร์ยี่ ทำธุรกิจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

แต่ “ทรัมป์” ไม่สน เดินหน้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เพื่อลดต้นทุนการผลิตและผลักดันให้อุตสาหกรรมสหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ไม่ใช่เพียงทรัมป์

“โจ ไบเดน” ที่กำลังจะพ้นหน้าที่ ก็ได้ไม่เข้าร่วม “COP 29”

อีกทั้งผู้นำโลกคนอื่นๆ เช่น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โอลาฟ ซอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็ไม่ได้ร่วมด้วย

การประชุม COP 29 จึงล้มเหลวอย่างที่ว่า

 

พลิกไปที่หน้า 42 บทความพิเศษ ของ จักรกฤษณ์ สิริริน ว่าด้วย

“Chat GPT ใช้ไฟมากกว่า Google 10 เท่า หนึ่งในสาเหตุ โลกร้อน”

ให้ข้อมูลว่า การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence)

มีส่วนกระตุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้เกิดความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

เพราะต้องใช้ไฟฟ้าไปหล่อเลี้ยง Data Center มหาศาล

Google รับว่า Data Center มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 48%

เพราะ Data Center อุดมไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แรงๆ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากในการประมวลผล และสื่อสารข้อมูล

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA บอกว่า

การค้นหาผ่าน Google 1 ครั้ง ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.3 วัตต์/ชั่วโมง

ส่วนการค้นหาผ่าน ChatGPT ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft ใช้ไฟฟ้าราว 2.9 วัตต์/ชั่วโมง

ขณะที่ Google ซึ่งได้นำเทคโนโลยี AI คือ Gemini ใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ของบริษัท ก็ต้องการใช้ไฟฟ้าป้อน Data Center สูงและรวดเร็วเช่นกัน

รวดเร็วจนไม่สามารถจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าปราศจากคาร์บอนมาใช้ได้ทัน

 

เสียงเรียกร้องให้โลกเร่งหาแหล่งพลังงานอื่น เพื่อมาทดแทนพลังงานฟอสซิล ยังไม่เป็นจริง

ภาวะ “โลกเดือด” จึงเป็นค่าใช้จ่าย

ที่มวลมนุษยชาติต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ •