ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
สัปดาห์ที่แล้วฉากแรกคดีดัง “แอม ไซยาไนด์” เพิ่งจะปิดไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ “ประหารชีวิต” นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม ไซยาไนด์” ในคดีที่ฆ่า น.ส.ศิริพร หรือก้อย ขันวงษ์ ยังคงเหลืออีก 14 คดี ที่พนักงานอัยการกำลังทยอยฟ้องศาล
แต่แทบทุกคดี พฤติการณ์ “แอม ไซยาไนด์” เป็นไปในแนวเดียวกัน จึงถูกฟ้องว่า ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตระเตรียมการเพื่อสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภคอื่นใด เพื่อให้บุคคลอื่นเสพหรือใช้ และการปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาได้ไล่เรียงแจกแจงพฤติการณ์การกระทำผิด ลำดับภาพเหตุการณ์ที่กระแสเงินหมุนเวียนเข้าบัญชี “แอม” ระหว่างปี 2563-2566 มีไม่ต่ำกว่า 95 ล้านบาท อันเป็นจังหวะเดียวกันกับที่มีผู้เสียชีวิตเหมือนใบไม้ร่วง 12 ศพ
ขณะศาลอ่านคำพิพากษากว่า 3 ชั่วโมง เบื้องหน้าบัลลังก์สูงข่มน่าเกรงขามนั้น ญาติของ “ก้อย ศิริพร” ผู้ตายสุดฉงน “แอม ไซยาไนด์” ยังคงร่าเริงยิ้มแย้มหัวเราะกับทนายความราวไม่สะทกสะท้าน
ทุกคนเกิดมาแล้วครั้งหนึ่งก็อยากจะมีชีวิตที่ยืนยาว การพรากชีวิตผู้อื่นด้วย “เจตนาฆ่า” ไม่ต้องอ่านบทบัญญัติในกฎหมายทุกคนก็รู้ว่าโทษมหันต์ เมื่อทำความผิดก็ต้องชดใช้ แต่การลงโทษจะหนักเบาแค่ไหน “ศาล” เป็นผู้วินิจฉัยและ “กำหนดโทษ” ตามที่กฎหมายบัญญัติ ถัดจากนั้น “ราชทัณฑ์” รับตัวผู้กระทำความผิดไป “ลงโทษ” ตามคำพิพากษา
แต่ในความเป็นจริง “ปัญหา” มีอยู่ว่า ระหว่าง “คำพิพากษา” ของศาลกับกระบวนการของ “ราชทัณฑ์” สิ่งไหนแน่กว่ากัน!?
คำว่า “แน่กว่า” ไม่ได้หมายถึง ใหญ่กว่า
แต่หมายถึง “ผล” ที่เกิดขึ้นจริงกับ “ผู้ต้องขัง” หรือ “นักโทษ”
เป็นเรื่องจริงที่รับรู้กันทั่วไปว่า ผู้ต้องขังหลายคนถูกตัดสิน “จำคุกตลอดชีวิต” แต่ติดคุกจริง 14-15 ปี
ที่ศาลตัดสินให้ “ประหารชีวิต” ประหารจริงๆ กี่ราย
คำถามจึงมีว่า “คำพิพากษาศาล” ที่สั่งให้ลงโทษจำเลยในคดีต่างๆ มี “ความแน่นอน” แค่ไหน
ในการกำหนดโทษจำเลยคดีอาญานั้น ศาลอิงทั้งจากกฎหมาย พฤติการณ์ในคดี ทัศนคติ รวมทั้งทฤษฎีการลงโทษทางอาชญาวิทยา ไม่ได้เลื่อนลอยหรือกำหนดแนวทางขึ้นตามอำเภอใจ
แต่เมื่อศาลพิพากษา “กำหนดโทษ” ไปแล้ว และเข้าสู่กระบวนการของ “ราชทัณฑ์” คำสั่งกำหนดโทษของศาลนั้นถูกลดทอน “ความควรจะเป็น” ลงไป!
ใช่หรือไม่ว่า เมื่อถึงเรือนจำ ผู้ต้องขังหรือนักโทษต่างก็เชื่อว่า “กระบวนการลดโทษ” ของราชทัณฑ์มีอิทธิพลเหนือ “คำพิพากษาศาล”
การพิจารณาเพื่อมอบสิทธิพิเศษ “ลดวันต้องโทษ” ให้กับผู้ต้องขังนั้น กระบวนการของราชทัณฑ์อาศัยเพียงแค่มือของ “คณะกรรมการ” ที่แต่งตั้งขึ้น
ขั้นตอนกระบวนการทำงานไม่จำเป็นต้องเปิดเผย หรือถามความเห็นความรู้สึกของเหยื่ออาชญากรรมหรือครอบครัวผู้สูญเสีย
ในงานวิจัยของ “รัฐพล โลนา” เรื่อง “การลดโทษจำคุกตามคำพิพากษา” จึงชี้ว่า
“การลดกำหนดโทษ” ตามคำพิพากษา ถ้าเกิดขึ้นมากเกินควร ย่อมส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ในการลงโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนั้น ในประเทศสิงคโปร์ถึงกับมีแนวความคิดว่า การกำหนดโทษไม่ใช่หน้าที่ศาลฝ่ายเดียว แต่เป็นหน้าที่ร่วมกันของคู่ความ ทั้งพนักงานอัยการ ทนายความ ต่างก็มีหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ศาลในการพิจารณากำหนดโทษที่เหมาะสม
“เหมาะสม” เพื่อการใด?
ภาษากฎหมายเรียกความเหมาะสมนั้นว่า “ได้สัดส่วน” กับพฤติการณ์ที่กระทำความผิดและสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบต่อส่วนรวม
ในงานวิจัยชิ้นเดิมได้ยกตัวอย่างแนวคิดที่เฉียบคมของ “ซีซ่าร์ เบคคาเรีย” นักกฎหมายและนักอาชญาวิทยา จากหนังสืออาชญากรรมกับการลงโทษว่า
“ความหนักเบาของการลงโทษ ต้องเป็นสัดส่วนกับความรุนแรงของอาชญากรรม โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดต้องทำให้บุคคลนั้น ต้องได้รับความสูญเสียมากยิ่งกว่าได้รับผลกำไรจากการประกอบอาชญากรรม โทษดังกล่าวต้องกำหนดให้เป็นอัตราส่วนที่พอเหมาะกับความผิด ไม่มากเกินไปจนโหดร้ายทารุณ และไม่น้อยจนทำให้ผู้กระทำความผิดคิดว่าคุ้ม”
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของราชทัณฑ์ไทยนั้นชอบอ้างทฤษฎีการลงโทษไม่ใช่การแก้แค้นทดแทน แต่เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟูผู้กระทำความ และคืนคนดีสู่สังคม ซึ่งในบางตอนของงานวิจัย “รัฐพล โลนา” ได้ให้ข้อมูลตอกย้ำว่า
สถิติผู้กระทำผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2560 มีการปล่อยตัวนักโทษ 100,501 คน พบว่า มีผู้กระทำผิดซ้ำในปีแรกที่ได้รับการปล่อยตัว จำนวน 15,602 คน คิดเป็นร้อยละ 15.5
กระทำผิดซ้ำในปีที่ 3 จำนวน 35,707 คน คิดเป็นร้อยละ 35.5 และ
กระทำผิดซ้ำในปีที่ 5 จำนวน 47,512 คน คิดเป็นร้อยละ 47.27
“เห็นชัดว่า ผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดไม่เป็นที่น่าพอใจ”!!
แล้วยังไงละทีนี้ การลดวันต้องโทษจำคุก พักการลงโทษ อภัยโทษ ตอบโจทย์อะไรให้กับสังคม
ระหว่าง คำพิพากษากำหนดโทษของศาล ที่มีกระบวนการเปิดเผย โปร่งใส กับ กระบวนการราชทัณฑ์ที่เป็นระบบปิด สังคมควรจะได้รับประโยชน์จากฝ่ายใด
หลังจากที่ศาลสั่งให้เอาตัวจำเลยไป “ขัง” ผู้มีหน้าที่ควบคุม “ผู้ต้องขัง” อ้างปัญหาและแนวคิดทฤษฎีไปปรับเปลี่ยน “การกำหนดโทษทางอาญา” ของศาลเสียใหม่ จนกระทั่งต่อมา มี “สถิติ” ที่พิสูจน์ได้ว่าแนวคิดและวิธีทำของราชทัณฑ์นั้นล้มเหลว
สูญเสียทั้ง “หลักแห่งความแน่นอน” ของคำพิพากษา และสูญเสียความเสมอภาคกันทางกฎหมายของบุคคล จนบรรดาผู้ต้องขังหรือนักโทษ “ดักทาง” ออกว่าควรทำอะไรและทำอย่างไรเพื่อจะได้มีอิสรภาพโดยเร็วที่สุด
แม้มีคำสั่ง “ประหารชีวิต” หรือ “จำคุกตลอดชีวิต” จากศาลก็ไม่ชวนให้สะทกสะท้าน!
คำสั่งประหารชีวิตไม่ใช่แนวคิดนิยมความรุนแรง
“ประหารชีวิต” อาชญากรอำมหิตผิดมนุษย์เพื่อปกป้องสังคม ประหารเพื่อตัดโอกาสการกระทำความผิด
เมื่อศาลมีคำสั่งให้ประหาร ควรประหารทันท่วงที!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022